สพฐ.หนุนออก พ.ร.บ.ทดสอบฯ ชี้ทุจริต ลอกข้อสอบผิด กม.มีโทษอาญา
สพฐ. ถือข้าง สทศ. ยกร่าง พ.ร.บ.การทดสอบฯ ชี้ปัญหาในไทยเกิดเพราะทุจริตต้องมีกฎหมายมาควบคุม แจงการจัดสอบบรรจุครูเร็วๆ นี้ เตรียมป้องกันทุจริตเข้ม จ้างมหา’ลัย 12 แห่งจากทั่วประเทศใน 12 เขตตรวจราชการดำเนินการทั้งกระบวนการ
วันนี้ (25 พ.ย.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณี รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้เสนอให้ยกร่าง พ.ร.บ.การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้การทุจริตการสอบถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย นอกจากถูกปรับตกในการสอบแล้วยังมีความผิดในคดีอาญา โดยจะให้พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้บังคับใช้ในการสอบเข้ารับราชการในหน่วยงานต่างๆ ด้วย ว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเรื่องการทุจริต กระทำผิดใดจะมีปัญหาสองอย่าง คือ ไม่ได้ออกกฎหมายตรงมากำกับครบทุกประเด็น อีกทั้งการกำกับบังคับใช้กฎหมายยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่จะให้ออกกฎหมายหรือระเบียบมาบังคับใช้ให้เคร่งครัด
ทั้งนี้ แม้แต่การสอบบรรจุคัดเลือกแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และการสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปเพื่อบรรจุในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่กำลังกำหนดปฏิทินดำเนินการสอบคัดเลือกในเร็วๆ นี้ สพฐ. ตั้งใจจะจ้าง 12 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศใน 12 เขตตรวจราชการออกข้อสอบภาค ก เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น ซึ่งก่อนจะออกข้อสอบจะมีการประชุมเพื่อกำหนดโครงสร้างข้อสอบ เกณฑ์ความยากง่ายที่เหมาะสมในการสอบให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้นอกจากจะออกข้อสอบแล้วต้องบริหารการสอบตั้งแต่การส่งข้อสอบ การประมวลการสอบ
“ในวันแรกจะสอบภาค ก และวันที่สองสอบภาค ข ให้มีความต่อเนื่องกันเพื่อความสะดวกในการเดินทางของครู หรือผู้เข้าสอบจะได้ไม่ต้องเดินทางกลับไปกลับมา การตรวจสอบข้อสอบไม่เกิน 1 วันจบ และหากมีกรณีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ข้อสอบรั่วในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็จะแก้ปัญหาเป็นรายเขตพื้นที่ไป ทั้งนี้ เหตุผลที่ให้หลายมหาวิทยาลัยออกข้อสอบเพราะกลัวว่าหากให้มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวออกข้อสอบอาจเกิดปัญหาการบริหารจัดการได้ เนื่องจากต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศ เช่น การจัดส่งข้อสอบไปยังพื้นที่ต่างๆ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นายกมล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการสอบ ผอ. และ รอง ผอ.สถานศึกษา นั้น ตนจะประสานไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้ผู้ตรวจราชการ 12 เขตมาช่วยกำกับติดตามในแต่ละพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ภายใน 2 อาทิตย์นี้ คาดว่า ปฏิทินการสอบคัดเลือกจะแล้วเสร็จ โดยลำดับแรกจะสอบคัดเลือกรองและผู้อำนวยการสถานศึกษาก่อนจึงจะสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เคยสมัครสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยมาก่อนแล้วมีปัญหาการทุจริตมาแล้วนั้นตนจะกำชับให้มีการตรวจประวัติที่ถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้สมัครสอบคัดเลือกด้วย