ครูอาชีวะ ขาดแคลน สอศ.ขออัตราพนักงานราชการ 14,564 อัตรา และขรก.ครู 1,409 อัตรา
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยภายหลัง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ว่า สอศ. ได้นำเสนอปัญหาต่างๆ ในการจัดการศึกษาสายอาชีพ พร้อมนโยบายเร่งด่วนที่กำลังจะดำเนินการ สุดท้าย รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ สอศ.เร่งเสนอ 3 โครงการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณมาแก้ปัญหาต่างๆ ของการจัดกรศึกษาสายอาชีพ
โครงการแรก ได้ให้ สอศ.เสนอครม.ขอกรอบอัตรากำลังเพิ่ม เพื่อนำมาแก้ปัญหาขาดแคลนครู เนื่องจากปัจจุบัน สอศ.ประสบปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนักและใช้วิธีจ้างครูชั่วคราวแทน โดย 34% ของครูที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นครูอัตราจ้าง ที่ใช้เงินของวิทยาลัยจัดจ้าง และ 70% ของบุคลากรสายสนับสนุนในปัจจุบันก็เป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งหากไม่จ้างบุคลากรกลุ่มนี้จะต้องลดจำนวนนักศึกษาลงไปถึง 2 แสนคน อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ สั่งให้ สอศ.ทำเรื่องเสนอขอกรอบอัตรากำลังใน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรก ให้เสนอขออัตรากำลังแบบพนักงานราชการ แบบเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการ แต่การขออัตรากำลังพนักงานราชการจะต้องใช้เวลาดำเนินการ เพราะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย กำลังคนภาครัฐ (คปร.) ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงให้ขออัตรากำลังแบบลูกจ้างชั่วคราวคู่ขนานกันไปด้วย
“ อัตรากำลังที่จะขอไปทั้งหมด 15,973 อัตราใช้งบประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท ซึ่ง สอศ.อยากได้แบบพนักงานราชการมากกว่า เพราะมีความมั่นคงกว่าโดยจะนำมาแยกรับเป็น พนักงานราชการสายผู้สอน 10,000 อัตรา พนักงานราชการสายสนับสนุน 4,564 อัตรา และข้าราชการครูในสถาบันการอาชีวศึกษา 1,409 อัตรา ทั้งนี้ ถ้า สอศ.ได้รับการอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการแล้วนั้น ก็จะยกเลิกการขอกรอบอัตรากำลังลูกกจ้างชั่วคราวไป อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ สั่งให้ทำข้อมูลแจงรายละเอียดด้วยว่าการขออัตรากำลังนั้นสำหรับสถานศึกษาประเภทใดบ้าง ระดับใดบ้าง และพื้นที่ใดบ้างเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย เพราะหาก ครม.ไม่สามารถอนุมัติกรอบอัตรากำลังได้ทั้งหมด อาจเลือกให้เฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็นก่อน”นายชัยพฤกษ์ กล่าว
นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า รมว.ศึกษาธิการ ยังมอบให้ สอศ.เสนอขอ ครม. 800 ล้านบาท ทำโครงการอุปกรณ์ยืมเรียน เนื่องจากที่ผ่านวิทยาลัยไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ ทำให้นักเรียนต้องจัดหาอุปกรณ์เองเพราะการเรียนในแต่ละสาขาวิชาจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ประจำตัว ซึ่งเดิมนั้น สอศ.วางแผนจะเสนอของบประมาณเพื่อซื้ออุปกรณ์ให้ประจำตัว แต่ พล.ร.อ.ณรงค์ มองว่าการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวผู้เรียนควรมีส่วนรับภาระ ซึ่งได้ชี้แจงว่าอุปกรณ์ในบางสาขามีหลากหลายและราคาสูง ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงเสนอว่าให้ดำเนินการในรูปแบบให้ยืมเรียนตลอดหลักสูตรและให้จัดซื้อให้กับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 1 ก่อน รวมทั้งให้ สอศ.ไปสำรวจว่าในแต่ละสาขาวิชาต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง วงเงินเท่าไรและทำรายละเอียดมาเสนอ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สอศ.มีข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว เช่น สาขาคหกรรม ต้องใช้ 1,140 บาทต่อคน สาขาเกษตรกรรม 800 บาทต่อคน
“ทั้ง 2 โครงการ รมว.ศึกษาธิการต้องการให้ทำรายละเอียดเสนอ ครม.ภายใน 1 เดือนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดครูโดยเร็ว และต้องการให้เด็กอาชีวะมีอุปกรณ์ใช้ครบครันทันที่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โดยจะขยายให้ครอบคลุมทั้งอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ สร้างวิทยาลัยแบบโรงเรียนประจำ (Boarding School : บอร์ดดิงสคูล) เพื่อให้นักเรียนอาชีวะได้มีโอกาสซึมซับบรรยากาศการเรียนแบบแคมปัส ซึ่งจะช่วยพัฒนาทางด้านวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม และให้นักเรียนมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ขณะเดียวกัน การเปิดโรงเรียนประจำในบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ที่มีเด็กด้อยโอกาสจะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าเรียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สอศ.มีแผนจะพัฒนาวิทยาลัย 3 แห่งให้เป็นบอร์ดดิงสคูลอยู่แล้ว แต่ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้ขยายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั้งนี้ 3 วิทยาลัยที่ สอศ.จะพัฒนาเป็นบอร์ดดิงสคูล ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี จังหวัดปัตตานี วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา จังหวัดน่าน และวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จังหวัดราชบุรี”นายชัยพฤกษ์ กล่าว
รูปภาพ: 22222.jpg