พระราชบัญญัติไพ่
พุทธศักราช ๒๔๘๖
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐
และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔)
อาทิตย์ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๖
เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยไพ่ เพื่อให้รัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช ๒๔๘๖”
มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๒
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ไพ่” หมายความว่า ไพ่ซึ่งทำด้วยกระดาษหรือหนัง หรือซึ่งทำด้วยวัตถุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“นำไพ่เข้ามา” หมายความว่า นำหรือยังให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งไพ่ แต่ไม่หมายความรวมถึงการนำเข้ามาของผู้ควบคุมยานพาหนะตามหน้าที่ของผู้ขนส่ง
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีแต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพสามิต
มาตรา ๕ ห้ามมิให้ผู้ใดทำไพ่หรือนำไพ่เข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
มาตรา ๖ ไพ่ซึ่งกรมสรรพสามิตทำขึ้นนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดดัดแปลงแก้ไขหรือกระทำแก่ไพ่นั้นด้วยประการอื่นใดเพื่อขายอย่างไพ่
มาตรา ๗[๒] ห้ามมิให้ผู้ใดขายไพ่เป็นการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
การออกใบอนุญาต ผู้ขอต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ใบแทนใบอนุญาตฉบับละไม่เกินสิบบาท และใบอนุญาตนั้นให้มีอายุเพียงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต
มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไพ่ไว้ในครอบครองเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบใบ หรือขายไพ่ไม่ว่าจำนวนใดๆ เว้นแต่ไพ่นั้นเป็นไพ่ซึ่งกรมสรรพสามิตทำขึ้น หรือเป็นไพ่ที่มีตราซึ่งกรมสรรพสามิตได้กำหนดขึ้นประทับอยู่
มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งไพ่ที่กระทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๖
มาตรา ๑๐[๓] ให้เรียกค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามขนาดของไพ่และชนิดของวัตถุที่ทำไพ่นั้นขึ้นไม่เกินอัตราร้อยใบต่อสามสิบบาท
มาตรา ๑๐ ทวิ[๔] ในกรณีนำไพ่เข้ามา รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่เพื่อกรมสรรพสามิตก็ได้
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ไพ่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
มาตรา ๑๒ เพื่อที่จะดูว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใดๆ ในเวลาระหว่างตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อทำการตรวจค้นได้
มาตรา ๑๓ บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๔[๕] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับตามจำนวนไพ่ของกลางเป็นเงินสี่เท่าของราคาไพ่ที่กรมสรรพสามิตขายในประเภทเดียวกัน แต่ในกรณีทำไพ่ต้องไม่ต่ำกว่าสองพันบาท
มาตรา ๑๔ ทวิ[๖] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ มาตรา ๘ หรือ มาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตามจำนวนไพ่ของกลางเป็นเงินสี่เท่าของราคาไพ่ที่กรมสรรพสามิตขายในประเภทเดียวกันแต่ต้องไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔ ตรี[๗] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔ จัตวา[๘] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๕ ผู้ใดซึ่งได้รับอนุญาตให้กระทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๑๖ บรรดาไพ่และเครื่องมือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้สำหรับกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้
มาตรา ๑๗ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งงดใช้ใบอนุญาตที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ได้มีกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือน เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือกระทำผิดต่อข้อกำหนดในใบอนุญาต
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตถูกสั่งงดใช้ใบอนุญาตตามความในมาตรา ๑๗ นั้น ถ้าอธิบดีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเสียได้
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงวางข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๕[๙]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับประทับตราไพ่และค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตให้ขายไพ่ตามพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช ๒๔๘๖ ไม่เหมาะสมกับค่าของเงินในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้สูงขึ้น และอัตราโทษซึ่งกำหนดไว้ในความผิดบางกรณียังเบาไป สมควรกำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้นด้วย
พระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๔[๑๐]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบภาษีอากรของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน สมควรปรับปรุงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดเก็บ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้