ภาษาแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ระดับภาษาแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ ภาษาแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
.....๑ ภาษาแบบเป็นทางการ ภาษาแบบนี้ใช้ในโอกาสคัญๆ ทั้งที่เป็นพิธีการ เช่น ในงานราชพิธีและในโอกาสสำคัญที่เป็นทางการ เช่น การกล่าวเปิดการประชุมต่างๆ การกล่าวคำปราศรัย และการประกาศ เป็นต้น ภาษาแบบเป็นทางการอาจจัดเป็น ๒ ระดับคือ ภาษาระดับพิธีการ และภาษาระดับมาตรฐานราชการหรือภาษาระดับทางการ
.....๑.๑ ภาษาระดับพิธีการ มีลักษณะเป็นภาษาที่สมบูรณ์แบบและมีรูปประโยคความซ้อนให้ความหมายขายค่อนข้างมาก ถ้อยคำที่ใช้ก็เป็นภาษาระดับสูง จึงงดงามไพเราะและประณีต ผู้ใช้ภาษาระดับนี้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง นอกจากใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น ในงานพระราชพิธีแล้ว ภาษาระดับพิธีการยังใช้ในวรรณกรรมชั้นสูงอีกด้วย ดังตัวอย่างจากคำประกาศในการพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าดังนี้
"ขอพระบรมเดชานุภาพมหึมาแห่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช จงคุ้มครองประเทศชาติและประชาชาวไทยให้ผ่านพ้นสรรพอุปัทว์พิบัติทั้งปวง อริราชศัตรูภาบนอกอย่าล่วงเข้าทำอันตรายได้ ศัตรูหมู่พาลภายในให้วอดวายพ่ายแพ้ภัยตัว บันดาลความสุขความมั่นคงให้บังเกิดทั่วภูมิมณฑล บันดาลความร่มเย็น
แก่อเนกนิกรชนครบคามเขตขอบขัณฑสีมา"
(ภาวาส บุนนาค,"ราชาภิสดุดี." ในวรรณลักษณวิจารณ์เล่ม ๒ หน้า ๑๕๙.)
.....๑.๒ ภาษาระดับมาตรฐานราชการ แม้ภาษาระดับนี้จะไม่อลังการเท่าภาษาระดับพิธีการ แต่ก็เป็นภาษาระดับสูงที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบและถูกหลักไวยากรณ์ มีความชัดเจน สละสลวย สุภาพ ผู้ใช้ภาษาจึงต้องใช้รายละเอียดประณีตและระมัดระวัง ต้องมีการร่าง แก้ไข และเรียบเรียงไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ในโอกาสสำคัญที่เป็นทางการในการกล่าวคำปราศรัย การกล่าวเปิดการประชุม การกล่าวคำประกาศเกียรติคุณ นอกจากนี้ยังใช้ในการเขียนผลงานวิชาการ เรียงความ บทความวิชาการ หนังสือราชการ และคำนำหนังสือต่างๆ เป็นต้น
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างภาษาระดับมาตรฐานราชการในบทความวิชาการ
"บทละครไทยเป็นอีกรูปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมไทย บทละครของไทยเป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นทั้งเพื่ออ่านและเพื่อแสดง รูปแบบที่นิยมกันมาแต่เดิมคือบทละครรำ ต่อมามีการปรับปรุงละครรำให้ทันสมัยขึ้นตามความนิยมแบบตะวันตก จึงมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับรูปแบบละครจากตะวันตกมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย ทำให้การละครไทยพัฒนาขึ้น โดยมีกระ
บวนการแสคงที่แตกต่างไปจากละครไทยที่มีอยู่ มาเป็นละครร้อง ละครพูด และละครสังคีต"
(กันยรัตน์ สมิตะพันทุ, "การพัฒนาตัวละครในบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว."ในบท ความ วิชาการ ๒๐ ปี ภาควิชาภาษาไทย,หน้า ๑๕๘.)
๒ ภาษาแบบไม่เป็นทางการ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน สามารถจัดเป็น ๓ ระดับ
คือภาษากึ่งทางการ ภาษาระดับกึ่งทางกลาง ภาษาระดับสนทนา และภาษากันเองหรือภาษาปาก
.....๒.๑ ภาษาระดับกึ่งทางราชการ มีลักษณะที่ยังคงความสุภาพอยู่ แต่ผู้ใช้ภาษาก็ไม่ระมัดระวังมากเท่า
การใช้ภาษาเป็นทางการ เพราะอาจใช้รูปประโยคง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ถ้อยคำที่ใช้เป็นระดับสามัญ บางครั้งมีภาษาระดับสนทนาเข้ามาปะปนด้วย ภาษาระดับกึ่งทางการในการติดต่อธุรกิจการงาน หรือใช้สื่อสารกับบุคคลที่ไม่สนิทสนมคุ้นเคยกัน และใช้ในการเขียนเรื่องที่ผู้เขียนต้องให้อ่ารู้สึกหมือนกำลังฟังผู้เขียนเล่าเรื่องหรือเสนอความคิดเห็น
อย่างไม่เคร่งเครียด เช่น การเขียนสารคดีท่องบทความแสดงความคิดเห็น หรือการเล่าเรื่องต่างๆ เช่น
ชีวประวัติ เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาระดับกึ่งทางการในบทความแสดงความคิดเห็น
"ฉะนั้นในช่วงเรียนอยู่ในระดับมัธยม ผู้ที่มีความขยันมุ่งมั่นจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้จะไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
รอบกายทั้งสิ้น ยกเว้นสิ่งที่เขาคิดว่าจะสามารถทำให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ชีวิตนักเรียนมัธยมจึงมีแต่ติว
ติวและติว กีฬาฉันไม่เล่น กิจกรรมฉันไม่มีเวลาทำ และยิ่งห้องสมุดฉันไม่ทราบว่าจะเข้าไปทำไม เพราะเวลาทั้งหมดจะต้องใช้ท่องตำราอย่างเดียว แล้วก็มักจะประสบความสำเร็จตามที่คิดเสียด้วย
คือสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้"
(เปล่งศรี อิงคนินันท์,"ต้องขอให้อาจารย์ช่วย",ก้าวไกล ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔, หน้า ๒๗.)
.....๒.๒ ภาษาระดับสนทนา มีลักษณะของภาษาพูดที่เป็นกลางๆ สำหรับใช้ในการสนทนากันในชีวิตประจำวัน ระหว่างผู้ส่งสารที่รู้จักคุ้นเคยกัน นอกจากนั้นยังใช้ในการเจรจาซื้อขายทั่วไป รวมทั้งในการประชุมที่ไม่เป็นทางการ มีลักษณะรูปประโยคไม่ซับซ้อน ถ้อยคำที่ใช้อยู่ในระดับคำที่มีคำสแลง คำตัด คำย่อปะปนอยู่ แต่ตามปรกติจะ
ไม่ใช้คำหยาบ ภาษาระดับสนทนาใช้ในการเขียนนวนิยาย บทความบทภาพยนตร์สารคดีบางเรื่อง และรายงานข่าว เป็นต้น
ตัวอย่างภาษาระดับสนทนาในข่าว
"จากกรณีที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เกจิดังแห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาได้อาพาธ
ลงอย่างกะทันหัน มีอาการอ่อนเพลียอย่างหนักเนื่องจากต้องตรากตรำทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลและเคาะหัว
ให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์จนไม่มีเวลาพักผ่อน เกิดอาการหน้ามืดจนกระทั่งลูกศิษย์ต้องหามส่งโรงพยาบาลมหาราช นายแพทย์เจ้าของไข้ได้ตรวจร่างกายแล้วแจ้งให้ทราบว่าเป็นไข้หวัด"
(เดลินิวส์,๒๗ มีนาคม ๒๕๓๙.)
.....๒.๓ ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปาก เป็นภาษาที่ใช้สนทนากับผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมากๆ เช่น ในหมู่เพื่อนฝูง
หรือในครอบครัว อละมักใช้พูดกันในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว ในโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครื้นเครง หรือในการทะเลาะด่าทอทอกัน ลักษณะของภาษาระดับกันเองหรือภาษาปากนี้มีคำตัด คำสแลง คำต่ำ
คำหยาบ ปะปนปยู่มาก ตามปรกติจึงไม่ใช้ในการเขียนทั่วไป นอกจากในงานเขียนบางประเภท เช่น นวนิยาย
หรือเรื่องสั้น บทละคร ข่าวกีฬา เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปากในนวนิยาย
"มึงจะไปไหน ไอ้มั่น...กูสั่งให้ปล่อยมันไว้อย่างนั้น ไม่ต้องสนใจ กูอยากนั่งดูมัน มองมันตายช้าๆ
เลือดไหลออกจนหมดตัว และหยุดหายใจในที่สุด ถึงจะสมกับความแค้นของกู"
("จราภา","นางละคร" สกุลไทย ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๑๖๒,หน้า ๑๐๗.)
ตัวอย่างการใช้ภาษาระดับกันเองหรือภาษาปากในข่าวกีฬา
"บิ๊กจา"เตรียมเดินเครื่องวางงานกีฬายาว จะเสนอตัวเป็นคณะกรรมาธิการวุฒิสภาการกีฬาดันงบหนุนซีเกมส์,
เอเชียนเกมส์ หร้อมกับความเป็นเจ้าเหรียญทอง ส่วนสมาคมตะกร้อรับว่าแตกเป็นเสี่ยง ให้พิสูจน์กันในตะกร้อ
คิงส์คัพหนที่ ๑๒ ใครผลงานดีได้พิจารณามาทำทีมชาติ
(เดลินิวส์, ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๙.)
อ้างอิง : อ.จันจิรา จิตตะวิริยะพงษ์
คู่มือภาษาไทย เอนทรานซ์ ม.4-6 . สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา,กรุงเทพมหานคร, 2543