size="2">พระราชบัญญัติ
เครื่องหมายครุฑพ่าห์
พ.ศ. ๒๕๓๔
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายครุฑพ่าห์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ บรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้“เครื่องหมายครุฑพ่าห์” หมายความว่า เครื่องหมายรูปครุฑ พระครุฑพ่าห์ หรือพระครุฑพ่าห์ ไม่ว่าในอิริยาบถใด และไม่ว่ามีข้อความ ภาพหรือเครื่องหมายอื่นประกอบด้วยหรือไม่“ห้างร้านบริษัท” หมายความว่า กิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจ โดยใช้ชื่อทางธุรกิจว่า “ห้าง” “ร้าน” “บริษัท” หรือชื่ออื่นในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม“ตราตั้ง” หมายความว่า หนังสือรับรองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่ออกให้แก่บุคคลหรือห้างร้านบริษัท เพื่อแสดงว่าบุคคลหรือห้างร้านบริษัทตามที่ระบุชื่อเป็นผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในกิจการที่ระบุได้“เครื่องหมายตราตั้ง” หมายความว่า เครื่องหมายครุฑพ่าห์ที่มีข้อความประกอบเบื้องล่างว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” หรือข้อความเป็นอักษรต่างประเทศตามที่สำนักพระราชวังกำหนด ที่บุคคลหรือห้างร้านบริษัทมีสิทธิที่จะใช้ เมื่อได้รับตราตั้งแล้ว มาตรา ๕ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในราชการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๖ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในราชการในพระองค์พระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย มาตรา ๗ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในกรณีอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๘ การขอพระราชทานตราตั้ง คุณสมบัติอื่นของผู้ขอพระราชทานตราตั้งและการทำหรือใช้เครื่องหมายตราตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๙ บุคคลหรือห้างร้านบริษัท ที่ขอพระราชทานตราตั้ง ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้(๑) มีฐานะการเงินดี และไม่มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว(๒) ประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน(๓) คุณสมบัติอื่นใดที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๐ คำขอพระราชทานตราตั้งให้ยื่นต่อสำนักพระราชวัง เมื่อสำนักพระราชวังได้ตรวจสอบและพิจารณาเห็นว่าบุคคลหรือห้างร้านบริษัทใดที่ขอพระราชทานตราตั้งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๙ และสมควรได้รับพระราชทานตราตั้ง ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะบังคับบัญชาสำนักพระราชวังออกตราตั้งให้และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑ ตราตั้งเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานตราตั้งและใช้เครื่องหมายตราตั้งย่อมสิ้นสุดลง เมื่อปรากฏว่า(๑) สำนักพระราชวังเรียกคืน เพราะบุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง(ก) ตาย(ข) เลิกประกอบกิจการประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราตั้งนั้น(ค) โอนกิจการดังกล่าวให้ผู้อื่นดำเนินการ หรือ(๒) สำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอน ตามมาตรา ๑๑ ทวิ วรรคสอง มาตรา ๑๑ ทวิ เมื่อปรากฏกรณีตามมาตรา ๑๑ (๑) ให้สำนักพระราชวังเรียกให้บุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทาน ทายาท หรือผู้รับโอนกิจการ แล้วแต่กรณี ส่งคืนตราตั้งที่นายกรัฐมนตรีออกให้ตามมาตรา ๑๐ ภายในเวลาที่กำหนดเมื่อสำนักพระราชวังได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับตราตั้งคืนภายในเวลาที่กำหนด หรือเมื่อได้ตรวจสอบและพิจารณาเห็นว่า บุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้งขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ หรือคุณสมบัติอันเป็นเหตุให้การได้รับพระราชทานตราตั้งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีเหตุอื่นอันสมควรเพิกถอนตราตั้ง ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนตราตั้งที่ได้ออกให้ตามมาตรา ๑๐เมื่อสำนักพระราชวังได้รับตราตั้งคืนตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนตราตั้งตามวรรคสองแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๗ หรือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการทำหรือใช้เครื่องหมายตราตั้งที่ออกตามมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๓ ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ ตราตั้ง หรือเครื่องหมายตราตั้ง หรือมีสิทธิแต่สิทธิเช่นว่านั้นสิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา ๑๑ กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิหรือยังคงมีสิทธิต่อไป หรือไม่ยอมส่งคืนตราตั้งเมื่อถูกเรียกให้ส่งคืนตามมาตรา ๑๑ ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๔ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๕ หรือมีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๘ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ หรือเครื่องหมายตราตั้งให้คงเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบว่าด้วยการนั้น ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๕ ผู้ใดได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์หรือมีสิทธิใช้เครื่องหมายตราตั้งอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์หรือเครื่องหมายตราตั้งนั้นได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดได้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐวิสาหกิจนั้นแจ้งเป็นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการเลิกใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์นั้นให้เสร็จสิ้นภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการอานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ซึ่งเป็นดวงตราแผ่นดินชนิดหนึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการงานในราชการ และเป็นเครื่องหมายตราตั้งแสดงถึงห้างร้านหรือบริษัทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนแพร่หลายเป็นที่ทราบกันทั่วไป สมควรกำหนดให้การใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์เป็นไปโดยมีระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรให้ผู้ประกอบกิจการที่มิได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล สามารถขอพระราชทานตราตั้งและได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายตราตั้งในกิจการของตนได้ และสมควรให้ตราตั้งเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติที่เคยมีมาแต่เดิม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้