พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร
พ.ศ. ๒๕๔๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑
เป็นปีที่ ๕๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงรูปแบบของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร พ.ศ. ๒๕๔๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๕ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่าคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรเป็นนิติบุคคล
(๒) ให้คณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ผู้แทนสมาชิก ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคณะมนตรีและผู้แทนสมาชิก และเจ้าพนักงานของคณะมนตรีได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ฉบับลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร
มาตรา ๕ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งใดอ้างถึงประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๕ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ หรืออ้างถึงบทบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงพระราชบัญญัตินี้ หรืออ้างถึงบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
อนุสัญญาจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร
ท้ายพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร
พ.ศ. ๒๕๔๑
รัฐบาลผู้ลงนามในอนุสัญญานี้
โดยพิจารณาเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ได้มาซึ่งระบบศุลกากรอันมีความกลมกลืน และมีแบบเดียวกันในขั้นสูงที่สุดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะศึกษาปัญหาที่มีอยู่เป็นประจำในการพัฒนา และปรับปรุงวิชาการทางศุลกากร และกฎหมายศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ ให้ดีขึ้น
โดยที่ตระหนักอยู่ว่า การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในเรื่องเหล่านี้จักเป็นประโยชน์แก่การค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงตัวประกอบต่าง ๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการนี้ด้วย
จึงได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
ข้อ ๑
ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรคณะหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “คณะมนตรี”) ขึ้นไว้ ณ ที่นี้
ข้อ ๒
(ก) สมาชิกคณะมนตรี ได้แก่
(๑) ภาคีผู้ทำสัญญาของอนุสัญญานี้
(๒) รัฐบาลแห่งดินแดนที่มีการศุลกากรแยกต่างหาก ซึ่งเสนอโดยภาคีผู้ทำสัญญาผู้มีความรับผิดชอบในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์แบบของรัฐบาลนั้น โดยรัฐบาลนั้นมีความเป็นอิสระในการดำเนินความสัมพันธ์ทางพาณิชย์ภายนอก และซึ่งการรับเข้าเป็นสมาชิกแยกต่างหากนั้น ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีแล้ว
(ข) รัฐบาลใด ๆ แห่งดินแดนที่มีการศุลกากรแยกต่างหาก ซึ่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีตามวรรค (ก) (๒) ข้างต้นย่อมหมดสภาพเป็นสมาชิกในเมื่อภาคีผู้ทำสัญญาผู้มีความรับผิดชอบในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์แบบของรัฐบาลนั้น ได้แจ้งให้คณะมนตรีทราบถึงการถอนตัวออกจากสมาชิกภาพของรัฐบาลนั้นแล้ว
(ค) แต่ละสมาชิกจะตั้งผู้แทนได้หนึ่งคน และผู้แทนสำรองอีกคนหนึ่งหรือมากกว่านั้นเป็นผู้แทนของตนในคณะมนตรี ผู้แทนนั้น ๆ อาจมีคณะที่ปรึกษาช่วยเหลือด้วยก็ได้
(ง) คณะมนตรีอาจรับผู้แทนของรัฐบาลใด ๆ ซึ่งมิได้เป็นสมาชิก หรือผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศใด ๆ ไว้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วยก็ได้
ข้อ ๓
การหน้าที่ของคณะมนตรีได้แก่
(ก) ศึกษาปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับความร่วมมือกันในเรื่องศุลกากร ซึ่งภาคีผู้ทำสัญญาได้ตกลงให้ส่งเสริมตามความมุ่งประสงค์ทั่วไปของอนุสัญญานี้
(ข) ตรวจสอบลักษณะทางวิชาการของระบบศุลกากรตลอดทั้งตัวประกอบทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับลักษณะทางวิชาการนั้น ๆ โดยมุ่งหมายที่จะเสนอวิธีที่ได้ผลในทางปฏิบัติแก่สมาชิกคณะมนตรี เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งความกลมกลืนและมีแบบเดียวกันในขั้นสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
(ค) เตรียมร่างอนุสัญญาและบทแก้ไขอนุสัญญา และเสนอแนะให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องรับเอาอนุสัญญาและบทแก้ไขนั้น ๆ ไปใช้
(ง) ทำข้อเสนอแนะเพื่อให้มีความแน่นอนในการตีความและการใช้เป็นแบบเดียวกัน สำหรับอนุสัญญาที่ได้ทำขึ้นอันเป็นผลงานของคณะมนตรี ตลอดทั้งอนุสัญญาว่าด้วยรายการจำแนกประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากร และการประเมินราคาสินค้าเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางศุลกากร ตามที่กลุ่มศึกษาของสหภาพศุลกากรแห่งยุโรปได้เตรียมการไว้ และเพื่อจุดมุ่งหมายที่ว่านี้ คณะมนตรีจะปฏิบัติการหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยชัดแจ้งตามอนุสัญญานั้น ๆ ให้ต้องตามบทบัญญัติของอนุสัญญา
(จ) ทำข้อเสนอแนะในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อระงับกรณีพิพาทเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้อนุสัญญาตามที่อ้างถึงในวรรค (ง) ข้างต้นให้ต้องตามบทบัญญัติของอนุสัญญานั้น ๆ คู่พิพาทอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจะรับเอาข้อเสนอแนะของคณะมนตรีเป็นข้อผูกพันก็ได้
(ฉ) ให้ความแน่นอนในการแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับข้อบังคับและระเบียบการศุลกากร
(ช) ให้ข่าวสารหรือคำแนะนำว่าด้วยเรื่องศุลกากรแก่รัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ภายในขอบเขตแห่งความมุ่งประสงค์ทั่วไปของอนุสัญญานี้ และทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ จะโดยริเริ่มขึ้นเองหรือโดยได้รับการร้องขอก็ตาม
(ซ) ร่วมมือกับองค์การระหว่างรัฐบาลอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องใด ๆ ในอำนาจของคณะมนตรี
ข้อ ๔
สมาชิกคณะมนตรีจะจัดหาข่าวสารและเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นในการบริหารการหน้าที่ของคณะมนตรีให้แก่คณะมนตรีตามที่ได้รับคำขอ แต่ทว่าสมาชิกย่อมไม่จำต้องเปิดเผยข่าวสารที่ไม่พึงเปิดเผย หากการเปิดเผยข่าวสารที่ว่านั้นจะเป็นการขัดขวางต่อการใช้กฎหมายของสมาชิกเอง หรือมิฉะนั้น จะเป็นการขัดกับสาธารณประโยชน์ หรือจะเป็นการเสียหายแก่ผลประโยชน์ทางพาณิชย์อันชอบธรรมของวิสาหกิจใด ๆ ทั้งสาธารณะและเอกชน
ข้อ ๕
ให้คณะมนตรีมีคณะกรรมการถาวรทางวิชาการคณะหนึ่งและสำนักงานเลขาธิการสำนักงานหนึ่งช่วยเหลือ
ข้อ ๖
(ก) คณะมนตรีจะเลือกตั้งประธานคนหนึ่ง และรองประธานไม่น้อยกว่า ๒ คนจากบรรดาผู้แทนของสมาชิกปีละครั้ง
(ข) คณะมนตรีจะสถาปนาระเบียบการประชุมของคณะมนตรีเอง โดยถือเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิก
(ค) คณะมนตรีจะสถาปนาคณะกรรมการกำหนดรายการสินค้าขึ้นคณะหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดรายการจำแนกประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรและคณะกรรมการประเมินราคาสินค้าคณะหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการประเมินราคาสินค้าเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางศุลกากร คณะมนตรียังอาจสถาปนาคณะกรรมการอื่น ๆ ได้อีกตามแต่จะปรารถนา เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญาตามที่อ้างถึง ในข้อ ๓ (ง) หรือเพื่อความมุ่งประสงค์อื่นใดภายในอำนาจของคณะมนตรี
(ง) คณะมนตรีจะเป็นผู้กำหนดการงานที่จะมอบหมายให้คณะกรรมการถาวรทางวิชาการทำและอำนาจหน้าที่จะมอบให้ใช้แทนด้วย
(จ) คณะมนตรีจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี ควบคุมการใช้จ่ายเงินของคณะมนตรี และสั่งการเกี่ยวกับการเงินของคณะมนตรีต่อสำนักงานเลขาธิการตามที่จะพิจารณาเห็นว่าเป็นการบังควร
ข้อ ๗
(ก) สำนักงานใหญ่ของคณะมนตรีจะตั้งอยู่ ณ กรุงบรัสเซลส์
(ข) คณะมนตรี คณะกรรมการถาวรทางวิชาการ และคณะกรรมการใด ๆ ที่คณะมนตรีจัดตั้งขึ้น อาจประชุมกัน ณ ที่ใดนอกจากที่สำนักงานใหญ่ของคณะมนตรีก็ได้ หากคณะมนตรีได้มีมติให้เป็นเช่นนั้น
(ค) คณะมนตรีประชุมกันอย่างน้อยปีละสองครั้ง การประชุมครั้งแรกจะมีขึ้นไม่ช้ากว่าสามเดือนหลังจากที่เริ่มใช้อนุสัญญานี้
ข้อ ๘
(ก) สมาชิกคณะมนตรีแต่ละรายจะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้หนึ่งคะแนนเสียง เว้นแต่กรณีที่สมาชิกรายใดจะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในปัญหาใดปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับการตีความ การใช้หรือการแก้ไขอนุสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งตามที่อ้างถึงในข้อ ๓ (ง) ที่ใช้อยู่ และซึ่งมิได้ใช้แก่สมาชิกรายนั้น
(ข) เว้นแต่ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๖ (ข) มติของคณะมนตรีจะต้องได้รับเสียงข้างมากสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน คณะมนตรีไม่อาจลงมติไม่ว่าในเรื่องใดนอกจากจะมีสมาชิกซึ่งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นมาประชุมเกินกว่าครึ่ง
ข้อ ๙
(ก) คณะมนตรีจะสถาปนาความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ องค์กรสำคัญ ๆ องค์คณะ สาขา และทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ และกับองค์การระหว่างรัฐบาลอื่นใดดังเช่นที่จะให้มีความร่วมมือกันอย่างดีที่สุดเพื่อสัมฤทธิผลในภารกิจของตนตามลำดับ
(ข) คณะมนตรีอาจจัดการตามที่จำเป็นเพื่อให้ความสะดวกในการปรึกษาหารือ และการร่วมมือกับองค์การมิใช่รัฐบาล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องใด ๆ ในอำนาจของคณะมนตรี
ข้อ ๑๐
(ก) คณะกรรมการถาวรทางวิชาการประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกคณะมนตรีสมาชิกคณะมนตรีรายหนึ่งอาจตั้งผู้แทนได้คนหนึ่ง และผู้แทนสำรองคนหนึ่งหรือมากกว่านั้นเป็นผู้แทนของตนในคณะกรรมการ ผู้แทนนั้น ๆ ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานชำนัญพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการศุลกากรและจะมีผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือด้วยก็ได้
(ข) คณะกรรมการถาวรทางวิชาการจะประชุมกันปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสี่ครั้ง
ข้อ ๑๑
(ก) คณะมนตรีจะแต่งตั้งเลขาธิการคนหนึ่งและรองเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งการหน้าที่ หน้าที่เงื่อนไขเกี่ยวกับบริการและระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งของเลขาธิการและรองเลขาธิการคณะมนตรีจะเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น
(ข) เลขาธิการจะแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ การแต่งตั้งและข้อบังคับสำหรับเจ้าหน้าที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรี
ข้อ ๑๒
(ก) แต่ละสมาชิกจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับคณะผู้แทนของตนในคณะมนตรี ในคณะกรรมการถาวรทางวิชาการและในคณะกรรมการใด ๆ ของคณะมนตรี
(ข) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของคณะมนตรีนั้น บรรดาสมาชิกคณะมนตรีจะเป็นผู้ออกตามส่วนสัดซึ่งคณะมนตรีจะได้กำหนดขึ้น
(ค) คณะมนตรีอาจตัดสิทธิออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกใดที่มิได้ชำระส่วนบำรุงส่วนของตนภายในสามเดือนนับแต่ได้รับแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระนั้น
(ง) แต่ละสมาชิกจะต้องชำระส่วนบำรุงประจำปีของตนเต็มจำนวนสำหรับปีงบประมาณ ซึ่งในระหว่างปีนั้นตนได้เข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรี และสำหรับปีงบประมาณซึ่งในระหว่างปีนั้นการแจ้งถอนตัวออกจากสมาชิกภาพได้มีผลบังคับ
ข้อ ๑๓
(ก) คณะมนตรีจะได้อุปโภคอำนาจตามกฎหมายในดินแดนของแต่ละสมาชิก ดังที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของอนุสัญญานี้ เช่นที่อาจจำเป็นแก่การปฏิบัติการหน้าที่ของคณะมนตรี
(ข) คณะมนตรี ผู้แทนสมาชิก ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่ได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคณะมนตรีและผู้แทนสมาชิก และเจ้าพนักงานประจำคณะมนตรี จะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกัน ดังที่ระบุไว้ในภาคผนวกของอนุสัญญานี้
(ค) ภาคผนวกของอนุสัญญานี้ประกอบเข้าเป็นส่วนเดียวกันกับอนุสัญญา และการอ้างอิงใด ๆ ถึงอนุสัญญานี้ให้ถือรวมกันว่าเป็นการอ้างอิงถึงภาคผนวกด้วย
ข้อ ๑๔
ภาคีผู้ทำสัญญายอมรับบทบัญญัติแห่งพิธีสารเกี่ยวกับกลุ่มศึกษาของสหภาพศุลกากรแห่งยุโรปซึ่งได้เปิดให้ลงนาม ที่กรุงบรัสเซลส์ในวันเดียวกันกับอนุสัญญานี้ ในการกำหนดส่วนสัดส่วนบำรุงตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑๒ (ข) นั้น คณะมนตรีจะได้นำเรื่องสมาชิกภาพของกลุ่มศึกษานี้ขึ้นพิจารณาด้วย
ข้อ ๑๕
อนุสัญญานี้จะเปิดให้ลงนามจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๑
ข้อ ๑๖
(ก) อนุสัญญานี้จะต้องมีการสัตยาบันกันต่อไป
(ข) สัตยาบันสารจะต้องมอบไว้ ณ กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมซึ่งจะได้แจ้งให้รัฐบาลผู้ลงนามและที่ภาคยานุวัต และเลขาธิการทราบเรื่องการมอบสัตยาบันสารแต่ละรายนั้นด้วย
ข้อ ๑๗
(ก) เมื่อรัฐบาลผู้ลงนามได้มอบสัตยาบันสารไว้ครบเจ็ดรัฐบาลด้วยกันแล้ว อนุสัญญานี้จะเป็นอันใช้ได้ระหว่างรัฐบาลนั้น ๆ
(ข) สำหรับรัฐบาลผู้ลงนามซึ่งได้ให้สัตยาบันในภายหลังอนุสัญญานี้จะใช้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลนั้นได้นำสัตยาบันสารไปมอบไว้แล้ว
ข้อ ๑๘
(ก) รัฐบาลแห่งรัฐใดที่มิได้เป็นผู้ลงนามอนุสัญญานี้อาจภาคยานุวัตเข้าในอนุสัญญาได้ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ เป็นต้นไป
(ข) ภาคยานุวัตสารจะต้องมอบไว้ ณ กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมซึ่งจะได้แจ้งให้บรรดารัฐบาลผู้ลงนามและที่ภาคยานุวัต และเลขาธิการทราบเรื่องการมอบภาคยานุวัตสารแต่ละรายนั้นด้วย
(ค) อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้สำหรับรัฐบาลที่ภาคยานุวัตในเวลาที่ได้มอบภาคยานุวัตสารไว้ แต่ไม่ก่อนที่อนุสัญญาจะเริ่มใช้ตามความในวรรค (ก) ข้อ ๑๗
ข้อ ๑๙
อนุสัญญานี้มีกำหนดอายุไม่จำกัด แต่ไม่ว่าขณะใดเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้าปีนับแต่อนุสัญญานี้เริ่มใช้ตามวรรค (ก) ข้อ ๑๗ แล้ว ภาคีผู้ทำสัญญาใดอาจถอนตัวเสียก็ได้ การถอนตัวจะมีผลเมื่อครบหนึ่งปีหลังจากวันที่กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมได้รับแจ้งการถอนตัวนั้น กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมจะแจ้งการถอนตัวแต่ละรายให้รัฐบาลผู้ลงนามและที่ภาคยานุวัตและเลขาธิการทราบด้วย
ข้อ ๒๐
(ก) คณะมนตรีอาจเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขอนุสัญญานี้แก่บรรดาภาคีผู้ทำสัญญา
(ข) ภาคีผู้ทำสัญญาใดที่ยอมรับการแก้ไข จะได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมทราบเรื่องการยอมรับของตนเป็นลายลักษณ์อักษร และกระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมจะแจ้งให้รัฐบาลผู้ลงนามและที่ภาคยานุวัตทั้งปวง และเลขาธิการทราบเรื่องได้รับแจ้งการยอมรับนั้นด้วย
(ค) บทที่แก้ไขจะเริ่มใช้ต่อเมื่อครบกำหนดสามเดือนหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมได้รับแจ้งการยอมรับจากภาคีผู้ทำสัญญาทั้งปวง เมื่อการแก้ไขใดได้รับการยอมรับจากภาคีผู้ทำสัญญาทั้งปวงแล้ว กระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยมจะได้แจ้งให้รัฐบาลผู้ลงนามและที่ภาคยานุวัตทั้งปวงและเลขาธิการทราบถึงการยอมรับเช่นว่านั้น และวันที่ซึ่งบทที่แก้ไขนั้นจะเริ่มใช้ด้วย
(ง) ภายหลังที่บทที่แก้ไขได้เริ่มใช้แล้ว รัฐบาลใดจะให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัตอนุสัญญานี้มิได้ เว้นแต่จะยอมรับบทที่แก้ไขนั้นด้วย
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลของตนตามลำดับโดยถูกต้องแล้ว ได้ลงนามอนุสัญญานี้
ทำ ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่สิบห้า เดือนธันวาคม คริสตศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยห้าสิบ (๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๐) เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ตัวบททั้งสองฉบับซึ่งรวมเป็นต้นฉบับเดียวกันมีความถูกต้องเท่ากัน จะได้มอบไว้ในบรรณสารของรัฐบาลเบลเยี่ยม โดยรัฐบาลเบลเยี่ยมจะได้ส่งสำเนาอนุสัญญาที่รับรองว่าถูกต้องไปให้รัฐบาลผู้ลงนามและที่ภาคยานุวัตทราบเป็นราย ๆ ต่อไป
ภาคผนวก
ต่อท้ายอนุสัญญาจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร
ความสามารถตามกฎหมาย เอกสิทธิ
และความคุ้มกันของคณะมนตรี
ข้อ ๑
บทนิยาม
มาตรา ๑
ในภาคผนวกนี้
๑. เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งข้อ ๓ คำว่า “ทรัพย์สินและสินทรัพย์” ให้รวมถึงทรัพย์สินและกองทุนซึ่งคณะมนตรีเป็นผู้บริหาร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการหน้าที่ตามธรรมนูญของคณะมนตรีนั้นด้วย
๒. เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งข้อ ๕ ความว่า “ผู้แทนสมาชิก” ให้ถือว่ารวมถึงบรรดาผู้แทน ผู้แทนสำรอง ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ และเลขานุการของบรรดาคณะผู้แทนด้วย
ข้อ ๒
สภาพนิติบุคคล
มาตรา ๒
คณะมนตรีจะมีสภาพเป็นนิติบุคคล และมีความสามารถที่จะ
(ก) ทำสัญญา
(ข) ได้มาและจำหน่ายไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์
(ค) จัดดำเนินการฟ้องคดี
ในเรื่องเหล่านี้ เลขาธิการจะกระทำการในนามของคณะมนตรี
ข้อ ๓
ทรัพย์สิน กองทุนและสินทรัพย์
มาตรา ๓
คณะมนตรี ทรัพย์สินและสินทรัพย์ของคณะมนตรี ไม่ว่าตั้งอยู่ ณ ที่ใด และผู้หนึ่งผู้ใดยึดถือไว้จะได้อุปโภคความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายทุกรูป เว้นเฉพาะในกรณีใดที่คณะมนตรีได้สละความคุ้มกันนั้นอย่างชัดแจ้ง อย่างไรก็ดีเป็นเข้าใจว่าการสละความคุ้มกันนั้นจะไม่ขยายไปถึงมาตรการบังคับคดีใด ๆ ด้วย
มาตรา ๔
สถานที่ของคณะมนตรี จะละเมิดมิได้
ทรัพย์สินและสินทรัพย์ของคณะมนตรี ไม่ว่าจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด และผู้หนึ่งผู้ใดยึดถือไว้ จะได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การริบ การเวนคืน และการแทรกสอดในรูปอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครอง ศาล หรือฝ่ายนิติบัญญัติ
มาตรา ๕
บรรณสารของคณะมนตรี และโดยทั่วไปเอกสารทั้งปวงที่เป็นของคณะมนตรี หรือที่คณะมนตรียึดถือไว้ จะละเมิดมิได้ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด
มาตรา ๖
โดยมิต้องถูกกำกัดด้วยการควบคุม ข้อบังคับเกี่ยวกับการเงิน หรือกำหนดเลื่อนการชำระหนี้ชนิดใด ๆ
(ก) คณะมนตรีอาจถือไว้ซึ่งเงินตราชนิดใด ๆ และดำเนินการบัญชีในเงินตราใด ๆ ก็ได้
(ข) คณะมนตรีอาจโอนกองทุนของคณะมนตรีได้โดยเสรีจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือภายในประเทศใด ๆ และแปลงผันเงินตราใด ๆ ซึ่งคณะมนตรียึดถืออยู่ให้เป็นเงินตราอื่นใดก็ได้
มาตรา ๗
ในการใช้สิทธิตามมาตรา ๖ ข้างต้นนี้ คณะมนตรีจะต้องคำนึงถึงข้อทักท้วงใด ๆ ซึ่งสมาชิกรายหนึ่งรายใดของคณะมนตรีได้กระทำขึ้นตามสมควร และจักต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อทักท้วงเช่นว่านั้น เท่าที่คณะมนตรีจะพิจารณาเห็นว่าการดำเนินการเช่นนั้นย่อมทำได้โดยไม่เป็นการริดรอนผลประโยชน์ของคณะมนตรี
มาตรา ๘
คณะมนตรี สินทรัพย์ รายได้และทรัพย์สินอื่นของคณะมนตรี จักได้รับ
(ก) ยกเว้นจากภาษีทางตรงทั้งปวง อย่างไรก็ดี เป็นที่เข้าใจกันว่าคณะมนตรีจะไม่เรียกร้องให้มีการยกเว้นภาษี ซึ่งความจริงมิได้มากไปกว่าค่าภาระเพื่อบริการสาธารณูปโภค
(ข) ยกเว้นจากศุลกากร และข้อห้าม ข้อกำกัด ว่าด้วยการนำเข้าและการนำออกเกี่ยวกับสิ่งของที่คณะมนตรีนำเข้าหรือนำออกเพื่อใช้เองอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี เป็นที่เข้าใจกันว่า สิ่งของที่นำเข้าภายใต้ความยกเว้นเช่นว่านี้ จะไม่นำออกขายในประเทศซึ่งได้นำสิ่งของนั้น ๆ เข้า เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลของประเทศนั้นได้ตกลงด้วยแล้ว
(ค) ยกเว้นจากศุลกากร และข้อห้าม ข้อกำกัด ว่าด้วยการนำเข้าและนำออกในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์โฆษณาของคณะมนตรี
มาตรา ๙
แม้ว่าตามหลักทั่วไป คณะมนตรีจะไม่เรียกร้องขอยกเว้นอากรสรรพสามิตและภาษีในการขายสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่จะต้องชำระก็ตาม แม้กระนั้นเมื่อคณะมนตรีทำการซื้อรายใหญ่ ๆ เพื่อใช้เองอย่างเป็นทางการซึ่งทรัพย์สินที่ได้ถูกเรียกเก็บ หรือที่อาจถูกเรียกเก็บอากรหรือภาษีเช่นว่านั้น หากสามารถจะกระทำได้ ก็ให้สมาชิกคณะมนตรีดำเนินการทางธุรการตามที่เหมาะสมเพื่อขอยกหรือขอคืนจำนวนอากรหรือภาษีนั้นได้
ข้อ ๔
ความสะดวกเกี่ยวกับการสื่อสาร
มาตรา ๑๐
คณะมนตรีจะได้อุปโภคในดินแดนของแต่ละสมาชิกคณะมนตรี สำหรับการสื่อสารอย่างเป็นทางการของคณะมนตรี ซึ่งผลประติบัติที่ได้รับอนุเคราะห์ไม่น้อยกว่าที่สมาชิกนั้นได้ให้แก่รัฐบาลอื่นใด รวมทั้งที่ได้ให้แก่คณะทูตของรัฐบาลนั้น ในเรื่องลำดับก่อนหลัง อัตราและภาษีเกี่ยวกับไปรษณีย์ เคเบิล โทรเลข วิทยุโทรเลข โทรภาพ โทรศัพท์ และการสื่อสารอื่น ๆ และอัตราสำหรับหนังสือพิมพ์สำหรับการแจ้งข่าวสารแก่หนังสือพิมพ์และวิทยุ
มาตรา ๑๑
มิให้ทำการเปิดตรวจหนังสือโต้ตอบเป็นทางการ และการสื่อสารเป็นทางการอื่น ๆ ของคณะมนตรี
ความในมาตรานี้มิให้แปลความไปในทางที่จะไม่ยอมให้มีการป้องกันที่เหมาะสมเกี่ยวกับความมั่นคงดังที่จะได้กำหนดขึ้นตามความตกลงระหว่างคณะมนตรีกับสมาชิกคณะมนตรีรายหนึ่งรายใด
ข้อ ๕
ผู้แทนสมาชิก
มาตรา ๑๒
ผู้แทนสมาชิกในการประชุมของคณะมนตรี คณะกรรมการถาวรทางวิชาการ และคณะกรรมการของคณะมนตรี ขณะปฏิบัติการหน้าที่และระหว่างการเดินทางไปยังและมาจากสถานที่ประชุม จะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันดังต่อไปนี้
(ก) ความคุ้มกันจากการจับกุมตัวหรือการหน่วงเหนี่ยว กักขัง และจากการยึดหีบห่อส่วนตัวและความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายทุกชนิด เกี่ยวกับถ้อยคำที่พูดหรือที่เขียน และการกระทำทั้งปวงที่ตนได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่เป็นทางการ
(ข) ความละเมิดมิได้สำหรับกระดาษเอกสารและเอกสารทั้งปวง
(ค) สิทธิที่จะใช้รหัส และที่จะรับกระดาษเอกสารหรือหนังสือโต้ตอบโดยทางผู้ส่งหนังสือหรือถุงปิดผนึก
(ง) ความยกเว้นเกี่ยวกับตนเองและคู่สมรสของตนจากข้อกำกัดในการเข้าเมือง การจดทะเบียนคนต่างด้าวในรัฐที่ตนไปเยือนหรือผ่านเข้าไปในการปฏิบัติการหน้าที่ของตน
(จ) ความสะดวกเกี่ยวกับข้อกำกัดทางเงินตราหรือการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับที่ให้แก่ผู้แทนของรัฐบาลต่างประเทศในการปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการเป็นการชั่วคราว
(ฉ) ความคุ้มกันและความสะดวกเกี่ยวกับหีบห่อส่วนตัวเช่นเดียวกับที่ให้แก่สมาชิกในคณะทูตที่มีชั้นเทียบเท่ากัน
มาตรา ๑๓
เพื่อที่จะประกันให้ผู้แทนสมาชิกในการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมการถาวรทางวิชาการ และคณะกรรมการของคณะมนตรีมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการพูด และมีอิสรภาพบริบูรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้คงอำนวยความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำที่พูดหรือที่เขียน และการกระทำทั้งปวงที่ผู้แทนนั้น ๆ ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปอีก แม้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะมิได้ผูกพันในการปฏิบัติหน้าที่เช่นว่านั้นอีกต่อไปแล้วก็ตาม
มาตรา ๑๔
เอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้อำนวยให้แก่ผู้แทนสมาชิกมิใช่เพื่อคุณประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ เอง แต่เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาการปฏิบัติการหน้าที่โดยอิสระในส่วนที่เกี่ยวกับคณะมนตรีนั้นเอง ฉะนั้น สมาชิกรายหนึ่งจึงมิได้มีเฉพาะสิทธิเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ที่จะสละความคุ้มกันของผู้แทนของตนในกรณีใด ๆ ก็ตามที่สมาชิกนั้นเห็นว่าความคุ้มกันนั้นจะขัดขวางวิถีทางของความยุติธรรม และเป็นกรณีที่อาจสละเสียได้ โดยไม่เป็นการเสียหายแก่ความมุ่งประสงค์ในการที่ได้อำนวยความคุ้มกันนั้นให้
มาตรา ๑๕
บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๒ และ ๑๓ มิให้ใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ หรือที่บุคคลนั้นเป็นหรือได้เคยเป็นผู้แทนของรัฐนั้น
ข้อ ๖
เจ้าพนักงานของคณะมนตรี
มาตรา ๑๖
คณะมนตรีจะระบุประเภทต่าง ๆ ของเจ้าพนักงานที่จะใช้ความในข้อนี้ เลขาธิการจะได้แจ้งให้สมาชิกคณะมนตรีทราบชื่อของเจ้าพนักงานซึ่งรวมอยู่ในประเภทนั้น ๆ
มาตรา ๑๗
เจ้าพนักงานของคณะมนตรี จะ
(ก) ได้รับความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำที่พูดหรือที่เขียนและการกระทำทั้งปวงที่ตนได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่เป็นทางการและภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน
(ข) ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับเงินเดือนและเงินตอบแทนที่คณะมนตรีได้จ่ายให้แก่ตน
(ค) ได้รับความคุ้มกันจากข้อกำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการจดทะเบียนคนต่างด้าว รวมทั้งคู่สมรสและญาติผู้พึ่งอาศัยตนอยู่ด้วย
(ง) ได้รับเอกสิทธิเกี่ยวกับความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับที่ได้ให้แก่เจ้าพนักงานในคณะทูตที่มีชั้นเทียบเท่ากัน
(จ) ได้รับความสะดวกในการส่งตัวกลับประเทศในเวลาที่มีวิกฤติกาลระหว่างประเทศเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานในคณะทูตที่มีชั้นเทียบเท่ากัน รวมทั้งคู่สมรสและญาติผู้พึ่งอาศัยตน
(ฉ) มีสิทธิที่จะนำเครื่องเรือนและของใช้ต่าง ๆ เข้ามา โดยปลอดอากรในเวลาที่เข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในประเทศที่เกี่ยวข้อง และที่จะนำเครื่องเรือนและของใช้เช่นว่านั้นกลับไปยังประเทศภูมิลำเนาของตน โดยปลอดอากรเมื่อการหน้าที่ของตนสิ้นสุดลง
มาตรา ๑๘
นอกจากเอกสิทธิและความคุ้มกันดังได้ระบุไว้ในมาตรา ๑๗ แล้วเลขาธิการคณะมนตรียังจะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกัน ความยกเว้นและความสะดวก ที่ได้ให้แก่หัวหน้าคณะทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่เกี่ยวกับตนเอง คู่สมรส และบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๒๑ ปีอีกด้วย
รองเลขาธิการจะได้รับเอกสิทธิ ความคุ้มกัน ความยกเว้นและความสะดวกที่ให้แก่ผู้แทนทางทูตที่มีชั้นเทียบเท่ากัน
มาตรา ๑๙
เอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้ให้แก่เจ้าพนักงาน ก็เพื่อผลประโยชน์ของคณะมนตรีเท่านั้น มิใช่เพื่อคุณประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ เอง เลขาธิการย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะสละความคุ้มกันของเจ้าพนักงานผู้ใดผู้หนึ่งในกรณีใดที่เห็นว่าความคุ้มกันนั้นจะขัดขวางวิถีทางของความยุติธรรม และอาจสละเสียได้โดยไม่เป็นการเสียหายแก่ผลประโยชน์ของคณะมนตรี ในกรณีเกี่ยวกับเลขาธิการ คณะมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะสละความคุ้มกันเสียได้
ข้อ ๗
ผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อคณะมนตรี
มาตรา ๒๐
ผู้เชี่ยวชาญ (นอกจากเจ้าพนักงานที่อยู่ภายในขอบข่ายของข้อ ๖) ที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อคณะมนตรีจะได้รับเอกสิทธิความคุ้มกันและความสะดวกเช่นที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้โดยอิสระ ในระหว่างกำหนดเวลาที่ปฏิบัติภารกิจของตน รวมทั้งเวลาที่ได้ใช้ไปในการเดินทางเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของตนนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญจะได้รับ
(ก) ความคุ้มกันจากการจับกุมตัวหรือการหน่วงเหนี่ยวกักขัง และจากการยึดหีบห่อของตน
(ข) ความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายทุกชนิดเกี่ยวกับถ้อยคำที่พูดหรือที่เขียนหรือการอื่น ๆ ที่ได้กระทำไปในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน
(ค) ความละเมิดมิได้สำหรับกระดาษเอกสารและเอกสารทั้งปวง
มาตรา ๒๑
เอกสิทธิ ความคุ้มกันและความสะดวกที่ได้ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ ก็เพื่อผลประโยชน์ของคณะมนตรี มิใช่เพื่อคุณประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการย่อมจะมีสิทธิและหน้าที่ที่จะสละความคุ้มกันของผู้เชี่ยวชาญผู้ใดผู้หนึ่งเสียได้ ในกรณีใดที่เห็นว่าความคุ้มกันนั้นจะขัดขวางวิถีทางของความยุติธรรม และอาจสละเสียได้โดยไม่เป็นการเสียหายแก่ผลประโยชน์ของคณะมนตรี
ข้อ ๘
การใช้เอกสิทธิผิด
มาตรา ๒๒
ผู้แทนสมาชิกในการประชุมของคณะมนตรี คณะกรรมการถาวรทางวิชาการ และคณะกรรมการคณะมนตรีในขณะปฏิบัติการหน้าที่ของตน และระหว่างการเดินทางไปยังและมาจากสถานที่ประชุม และเจ้าพนักงาน ตามความหมายในมาตรา ๑๖ และมาตรา ๒๐ จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่ของดินแดนกำหนดให้ออกไปจากประเทศที่ตนกำลังปฏิบัติการหน้าที่อยู่เนื่องจากกิจกรรมใด ๆ ที่ได้ทำในตำแหน่งหน้าที่ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการใช้เอกสิทธิผิดเกี่ยวกับที่พำนักซึ่งได้กระทำลงโดยบุคคลใดเช่นว่านั้น ซึ่งมีกิจกรรมอยู่ในประเทศนั้น อันเป็นเรื่องนอกการหน้าที่เป็นทางการของตน บุคคลนั้นอาจถูกรัฐบาลแห่งประเทศนั้นกำหนดให้ออกไปเสียก็ได้ แต่ทว่า
(๑) ผู้แทนสมาชิกของคณะมนตรี หรือบุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มกันทางทูตตามมาตรา ๑๘ จะไม่ต้องถูกกำหนดให้ออกไปจากประเทศด้วยวิธีอื่นใด นอกเหนือจากวิธีการทางการทูตที่ใช้แก่ผู้แทนทางทูตที่ประจำประเทศนั้น
(๒) ในกรณีเจ้าพนักงานซึ่งมาตรา ๑๘ มิได้ใช้นั้น มิให้ออกคำสั่งให้ออกไปจากประเทศนอกจากจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นเสียก่อน และความเห็นชอบเช่นว่านั้นจะให้ได้ก็เฉพาะเมื่อได้หารือกับเลขาธิการคณะมนตรีแล้วเท่านั้น และถ้าได้ดำเนินการขับไล่เจ้าพนักงานผู้ใดออกจากประเทศ เลขาธิการคณะมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไปร่วมในการดำเนินการเช่นว่านั้นในนามของบุคคลที่ถูกดำเนินการนั้นได้
มาตรา ๒๓
เลขาธิการจักร่วมมือในทุกขณะกับเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมของสมาชิกคณะมนตรีในการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการรักษาความยุติธรรมตามสมควร จักประกันให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับของตำรวจ และจักป้องกันมิให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดเกี่ยวกับเอกสิทธิ ความคุ้มกันและความสะดวกบรรดาที่ได้ว่าไว้ในภาคผนวกนี้
ข้อ ๙
การระงับข้อพิพาท
มาตรา ๒๔
คณะมนตรีจะจัดหาวิธีการที่เหมาะสมในการระงับ
(ก) ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญา หรือข้อพิพาทอื่นใดที่มีลักษณะทางแพ่งซึ่งคณะมนตรีเป็นคู่พิพาทฝ่ายหนึ่ง
(ข) ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานผู้ใดของคณะมนตรี ซึ่งโดยตำแหน่งที่เป็นทางการของตนได้อุปโภคความคุ้มกัน หากความคุ้มกันนั้นมิได้สละเสียตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๙ และ ๒๑
ข้อ ๑๐
ความตกลงเพิ่มเติม
มาตรา ๒๕
คณะมนตรีอาจทำความตกลงเพิ่มเติมกับภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือภาคีผู้ทำสัญญาทั้งหมด เพื่อปรับปรุงบทบัญญัติของภาคผนวกนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายนั้นหรือภาคีผู้ทำสัญญาทั้งหมดนั้นก็ได้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๕ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ได้ออกใช้บังคับในระหว่างที่มีการปกครองโดยคณะปฏิวัติและใช้ชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติ สมควรปรับปรุงรูปแบบและบทบัญญัติของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้เป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้