ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๕๐
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕
(๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๓๐
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ทางพิเศษ” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้น หรือได้รับโอนหรือได้รับมอบไม่ว่าจะจัดสร้างขึ้นในระดับพื้นดิน เหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ และให้หมายความรวมถึงสะพาน อุโมงค์ เรือสำหรับขนส่งรถข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นลงรถ ทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหล่ทาง เขื่อนกั้นน้ำ ท่อหรือทางระบายน้ำ กำแพงกันดิน รั้วเขต หลักระยะ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร อาคาร หรือสิ่งอื่นใดที่จัดไว้ในเขตทางเพื่ออำนวยความสะดวก หรือเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับงานทางพิเศษ
“รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง
“ผู้ครอบครอง” หมายความว่า ผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
การจัดตั้ง ทุน และทุนสำรอง
                       
 
มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการทางพิเศษขึ้นเรียกว่า “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “กทพ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “EXPRESSWAYAUTHORITYOFTHAILAND” เรียกโดยย่อว่า “EXAT” และให้มีตราเครื่องหมายของ “กทพ.”
รูปลักษณะของตราเครื่องหมายตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๗ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อที่มีอักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า “ทางพิเศษ” หรือ “ทางด่วน” ประกอบในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจอันอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นกิจการของ กทพ. เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กทพ.
 
มาตรา ๘ ให้ กทพ. เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) สร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ
(๒) ดำเนินงานหรือธุรกิจเกี่ยวกับทางพิเศษ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับทางพิเศษหรือที่เป็นประโยชน์แก่ กทพ.
 
มาตรา ๙ ให้ กทพ. มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดอื่นตามความเหมาะสม และจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้ แต่การตั้งสำนักงานสาขาภายนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน
 
มาตรา ๑๐ ให้ กทพ. มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๘ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๓) เรียกเก็บค่าผ่านทางพิเศษ หรือค่าบริการอื่น ตลอดจนค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในเขตทางพิเศษ
(๔) กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้และการรักษาทางพิเศษตลอดจนการใช้และการรักษาทรัพย์สิน การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในเขตทางพิเศษ
(๕) กู้หรือยืมเงินภายในและภายนอกราชอาณาจักร
(๖) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ กทพ.
(๗) จัดตั้งหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ กทพ.
(๘) ลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ กทพ.
(๙) ให้สัมปทานในการสร้างหรือขยายทางพิเศษ ต่ออายุสัมปทาน โอนสัมปทานหรือเพิกถอนสัมปทาน
(๑๐) ว่าจ้างหรือมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดประกอบกิจการส่วนหนึ่งส่วนใดของ กทพ. แต่ถ้ากิจการนั้นมีรัฐวิสาหกิจใดมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ และคณะกรรมการเห็นว่ารัฐวิสาหกิจนั้นสามารถจะดำเนินการให้บังเกิดผลและมีประสิทธิภาพได้ ให้ กทพ. ว่าจ้างหรือมอบให้รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นผู้ประกอบกิจการก่อนผู้อื่น
(๑๑) ทำการค้าและให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องใช้เกี่ยวกับทางพิเศษ
(๑๒) ให้เช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทพ. ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ กทพ. โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย
(๑๓) วางแผน สำรวจ และออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษ
(๑๔) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ กทพ.
 
มาตรา ๑๑ ทุนของ กทพ. ประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๖๔
(๒) เงินที่รัฐบาลจัดสรรเพิ่มเติมให้เป็นคราว ๆ เพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ
(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๔) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่รับโอนจากทางราชการ องค์การของรัฐ หรือที่ได้รับจากรัฐบาลต่างประเทศ หรือจากองค์การระหว่างประเทศ เมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว
 
มาตรา ๑๒ เงินสำรองของ กทพ. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองเพื่อการไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ ตามความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ
 
มาตรา ๑๓ ทรัพย์สินของ กทพ. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
 
หมวด ๒
คณะกรรมการและผู้ว่าการ
                       
 
มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ และผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
 
มาตรา ๑๕ ประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ว่าการ ต้องมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการบริหาร วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การผังเมือง เศรษฐศาสตร์ การคลัง หรือนิติศาสตร์
 
มาตรา ๑๖ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วยังต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง
(๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๓) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กทพ. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กทพ. หรือในกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของ กทพ. ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้นก่อนวันที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ หรือเป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ กทพ. เป็นผู้ถือหุ้น หรือในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีสัญญาร่วมงานหรือสัญญาสัมปทานกับ กทพ.
 
มาตรา ๑๗ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน หรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
 
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๗ ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖
 
มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กทพ. กำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึงการออกข้อบังคับในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐
(๒) การประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(๓) การบริหารและการควบคุมทางการเงิน
(๔) การจัดแบ่งส่วนงานและวิธีปฏิบัติงาน
(๕) การปฏิบัติงานของผู้ว่าการ และการมอบให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการ
(๖) การจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา เบี้ยประชุม ค่าตอบแทนและการจ่ายเงินอื่น ๆ
(๗) การบริหารงานบุคคล การบรรจุ แต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างการออกจากตำแหน่ง ถอดถอน วินัย การลงโทษพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น
(๘) กองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงาน ลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
(๙) การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง
(๑๐) เครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง
(๑๑) การรักษาความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ กทพ.
(๑๒) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในทางพิเศษ
(๑๓) การจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ
ข้อบังคับใดที่มีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
มาตรา ๒๐ เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ กทพ. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของ กทพ. และกำหนดค่าตอบแทนอนุกรรมการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และกำหนดค่าตอบแทนที่ปรึกษา โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา ๒๑ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๒๒ ผู้ว่าการนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ยังต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ (๓)
 
มาตรา ๒๓ ผู้ว่าการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกินสี่ปี เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างแล้วและผู้ว่าการมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ผู้ว่าการสามารถเข้ารับการคัดเลือกได้อีกแต่กระทำได้อีกเพียงคราวเดียว
 
มาตรา ๒๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๓ ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๒
(๔) ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๕) สัญญาจ้างสิ้นสุด
(๖) ถูกเลิกสัญญาจ้าง
 
มาตรา ๒๕ ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของ กทพ. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง
ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ กทพ.
 
มาตรา ๒๖ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัย พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ กทพ. และกำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้างโดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๒๗ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ กทพ. และเพื่อการนี้ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน กทพ. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
 
มาตรา ๒๘ ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตำแหน่งผู้ว่าการว่างลง ให้รองผู้ว่าการผู้มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้ทำการแทนหรือรักษาการในตำแหน่ง ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนหรือรักษาการในตำแหน่ง
ให้ผู้ทำการแทนหรือรักษาการในตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการ
 
มาตรา ๒๙ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๓๐ ประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง อาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๓๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการผู้ว่าการ พนักงาน และบุคคลซึ่งผู้ว่าการมอบหมายตามมาตรา ๔๑ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
หมวด ๓
การสร้าง การบำรุงรักษาและการดำเนินงานทางพิเศษ
                       
 
มาตรา ๓๒ เพื่อประโยชน์ในการสร้างหรือขยายทางพิเศษ การบำรุงรักษาทางพิเศษและการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางพิเศษ ให้ กทพ. มีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใด ๆ ซึ่งมิใช่โรงเรือนที่คนอยู่อาศัยหรือใช้ประกอบธุรกิจ เป็นการชั่วคราว โดยกำหนดเงินค่าตอบแทนให้ตามสมควรภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) การใช้สอยหรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสร้างหรือขยายทางพิเศษ การบำรุงรักษาทางพิเศษ หรือการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางพิเศษ
(๒) กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบถึงกำหนดเวลาและกิจกรรมที่จะต้องกระทำ รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นั้นล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนการเข้าใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น และให้ประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทราบ โดยอย่างน้อยให้ทำสำเนาหนังสือดังกล่าวปิดไว้ ณ ที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ และ ณ สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอแห่งท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับแจ้งเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศสำเนาหนังสือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
(๓) หากการใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์มีความจำเป็นที่จะต้องรื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งมิใช่โรงเรือนที่คนอยู่อาศัย หรือตัดฟันต้นไม้ ให้ กทพ. มีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หรือตัดฟันต้นไม้ได้เท่าที่จำเป็น
ในการปฏิบัติตามมาตรานี้ ให้พนักงานและลูกจ้างแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีที่การปฏิบัติตามมาตรานี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการกระทำของพนักงานและลูกจ้าง บุคคลนั้นย่อมเรียกค่าเสียหายจาก กทพ. ได้
 
มาตรา ๓๓ ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อป้องกันอันตรายหรือแก้ไขความเสียหายที่ร้ายแรงภายในทางพิเศษ ให้พนักงานหรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานมีอำนาจเข้าไปในที่ดิน หรือสถานที่ของบุคคลใดในเวลาใดก็ได้ แต่ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ก็ให้พนักงานแจ้งเหตุจำเป็นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบก่อน และให้นำมาตรา ๓๒ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๓๔ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่งโดยมิได้มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการได้มาและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดเจน ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ทั้งนี้ การคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทและการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไป ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ กทพ. สร้างหรือขยายทางพิเศษผ่านแดนแห่งกรรมสิทธิ์บน เหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำของบุคคลใดโดยไม่จำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
 
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ กทพ. ได้จัดทำทางหรือถนนเพื่อเชื่อมระหว่างทางพิเศษกับทางสาธารณะอื่น ผู้ใดจะสร้างทางหรือถนนหรือสิ่งอื่นใดเพื่อเชื่อมต่อกับทางหรือถนนนั้นหรือลอดหรือข้ามทางหรือถนนนั้น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กทพ.
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กทพ. กำหนด และเมื่อมีความจำเป็นแห่งกิจการทางพิเศษ กทพ. จะเพิกถอนเสียก็ได้
ทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองดำเนินการรื้อถอนทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ได้ส่งหนังสือแจ้ง ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้ กทพ. มีอำนาจดำเนินการเช่นว่านั้นได้เอง โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดนั้นเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
ในกรณีที่ กทพ. ไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองตามวรรคสามได้ให้ กทพ. ประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทราบโดยอย่างน้อยให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ และ ณ สถานที่ตามมาตรา ๓๒ (๒) โดยระบุกำหนดเวลาที่ กทพ. จะเข้าดำเนินการตามวรรคสาม ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศแจ้งความ
เมื่อ กทพ. ได้ปฏิบัติตามวรรคสี่แล้ว ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับหนังสือแจ้งนั้นแล้ว
ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางพิเศษ ให้ กทพ. มีอำนาจปิดกั้นทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดนั้นได้ และเมื่อหมดความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวแล้ว ให้ กทพ. ดำเนินการตามวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า
 
มาตรา ๓๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นใดหรือปลูกต้นไม้หรือพืชผลอย่างใด ๆ ในทางพิเศษ หรือเพื่อเชื่อมต่อกับทางพิเศษ เว้นแต่กรณีหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคมีความจำเป็นต้องปักเสาพาดสาย หรือวางท่อในเขตทางพิเศษ หรือเพื่อข้ามหรือลอดทางพิเศษ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำความตกลงกับ กทพ. ก่อนและถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในเหตุลักษณะของงานหรือในเรื่องค่าเช่า ให้เสนอรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่การดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยเอกชนที่ได้รับสัมปทาน กทพ. อาจเรียกเก็บค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่ดังกล่าวได้
โรงเรือนหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้น หรือต้นไม้หรือพืชผลที่ปลูกขึ้นโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่งให้ กทพ. มีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายตามควรแต่กรณี ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๓๖ วรรคสามวรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๓๘ ภายในระยะทางห้าสิบเมตรจากเขตทางพิเศษ ห้ามมิให้ผู้ใดสร้าง ดัดแปลง ติดหรือตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ทางพิเศษ หรือการจราจรในเขตทางพิเศษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กทพ.
การขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กทพ. กำหนดและให้นำมาตรา ๓๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๓๙ ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนด
(๑) ทางพิเศษสายใดตลอดทั้งสายหรือบางส่วนที่ต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ
(๒) อัตราค่าผ่านทางพิเศษตาม (๑) ตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตาม (๑)
 
มาตรา ๔๐ บุคคลใดใช้รถในทางพิเศษ บุคคลนั้นต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษตามมาตรา ๓๙ (๒) ตามวิธีการที่ กทพ. กำหนด
 
มาตรา ๔๑ ให้พนักงานซึ่งผู้ว่าการแต่งตั้งหรือบุคคลซึ่งผู้ว่าการมอบหมายให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บค่าผ่านทางพิเศษ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เรียกเก็บค่าผ่านทางพิเศษตามมาตรา ๓๙ (๒)
(๒) สั่งให้บุคคลใดที่ผ่านหรือจะผ่านทางพิเศษหยุดและตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าผ่านทางพิเศษ
(๓) แจ้งให้บุคคลใด ๆ มาชี้แจงหรือแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าผ่านทางพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔๒ ให้นำกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกมาใช้บังคับแก่การจราจรในทางพิเศษโดยอนุโลม และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษแก่การจราจรในทางพิเศษ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการจราจรในทางพิเศษได้
 
มาตรา ๔๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในทางพิเศษ ยกเว้นอำนาจเปรียบเทียบ
 
หมวด ๔
การร้องทุกข์และการสงเคราะห์
                       
 
มาตรา ๔๔ ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๔๕ ให้ กทพ. จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เพื่อสวัสดิการของพนักงาน ลูกจ้าง และครอบครัว ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ตายหรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
การจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามวรรคหนึ่ง การกำหนดหลักเกณฑ์การออกเงินสมทบให้กองทุนสงเคราะห์ การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
 
หมวด ๕
การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ
                       
 
มาตรา ๔๖ ให้ กทพ. จัดทำงบประมาณประจำปี โดยแยกเป็นงบลงทุน และงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
 
มาตรา ๔๗ รายได้ที่ กทพ. ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของ กทพ. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน ค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม รวมตลอดถึงค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา ๑๒ และเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามมาตรา ๔๕ และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ในกรณีที่รายได้ไม่เพียงพอสำหรับกรณีตามวรรคหนึ่ง นอกจากเงินสำรองตามมาตรา ๑๒ และ กทพ. ไม่สามารถหาเงินที่อื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ กทพ. เท่าจำนวนที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของ กทพ.
 
มาตรา ๔๘ ให้ กทพ. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๔๙ ให้ กทพ. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการสาธารณูปโภค แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าว และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
 
มาตรา ๕๐ ให้ กทพ. จัดทำงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
 
มาตรา ๕๑ ทุกปีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี และทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินของ กทพ. ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับงบการเงินนั้น
 
มาตรา ๕๒ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของ กทพ. เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนของ กทพ.
 
มาตรา ๕๓ ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และให้ กทพ. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่ล่วงมาแล้ว แสดงงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้วภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง
 
หมวด ๖
การกำกับและควบคุม
                       
 
มาตรา ๕๔ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กทพ. เพื่อการนี้จะสั่งให้ กทพ. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ กทพ. ได้
 
มาตรา ๕๕ ให้ กทพ. ทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงมาแล้ว และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหลัง
 
มาตรา ๕๖ ในกรณีที่ กทพ. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ กทพ. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๕๗ กทพ. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการ ดังต่อไปนี้
(๑) สร้างหรือขยายทางพิเศษ
(๒) กู้หรือยืมเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท
(๓) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ กทพ.
(๔) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินสิบล้านบาท
(๕) ให้เช่าหรือให้สิทธิใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาทหรือที่มีกำหนดเวลาการให้เช่าหรือให้สิทธิใด ๆ เกินห้าปี เว้นแต่การให้เช่าหรือให้สิทธินั้นเป็นการให้แก่หน่วยงานของรัฐ
(๖) ให้สัมปทานในการสร้างหรือขยายทางพิเศษ ต่ออายุสัมปทาน โอนสัมปทานหรือเพิกถอนสัมปทาน
(๗) จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(๘) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
 
หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
                       
 
มาตรา ๕๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
 
มาตรา ๕๙ ผู้ใดขัดขวางการกระทำของ กทพ. พนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งกระทำการตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๐ ผู้ใดกระทำการใด ๆ ให้ทางพิเศษอยู่ในลักษณะอันน่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๑ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทางพิเศษอันอาจเป็นอันตรายแก่รถ หรือบุคคลซึ่งใช้ทางหรือใช้บริการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานซึ่งผู้ว่าการแต่งตั้งหรือบุคคลซึ่งผู้ว่าการมอบหมายซึ่งสั่งตามมาตรา ๔๑ (๒) หรือ (๓) หรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๓ ผู้ใดหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าผ่านทางพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๖๔ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดตลอดจนงบประมาณของ กทพ. ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ไปเป็นของ กทพ. ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
 
มาตรา ๖๕ ให้ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของ กทพ. ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของ กทพ. แล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิม และให้นับเวลาการทำงานของบุคคลดังกล่าวใน กทพ. ต่อเนื่องกันด้วย สำหรับผู้ว่าการให้ถือว่าเป็นวาระการดำรงตำแหน่งวาระแรกตามพระราชบัญญัตินี้
ความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับกับผู้ว่าการ ซึ่ง กทพ. ดำเนินการจ้างตามสัญญาจ้างด้วย
 
มาตรา ๖๖ ให้ประธานกรรมการและกรรมการ กทพ. ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการของ กทพ. แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปตามวาระที่เหลืออยู่ และให้ถือว่าวาระดังกล่าวเป็นวาระการดำรงตำแหน่งวาระแรกตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๖๗ ให้บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศใด ๆ ของ กทพ. ที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศของ กทพ. ที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๖๘ ให้บรรดาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น
ในกรณีที่มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ และยังไม่เสร็จสิ้น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
 
มาตรา ๖๙ ให้ผู้ที่ใช้ชื่อที่มีอักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศ ซึ่งแปลหรืออ่านว่า “ทางพิเศษ” หรือ “ทางด่วน” ประกอบในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจอยู่แล้วอันอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นกิจการของ กทพ. ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ มาดำเนินการขออนุญาตใช้ชื่อดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
 
มาตรา ๗๐ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ มาดำเนินการขออนุญาตจาก กทพ. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ถ้า กทพ. มีคำสั่งไม่อนุญาต ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายดำเนินการรื้อถอนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งไม่อนุญาตหรือตามระยะเวลาที่ กทพ. กำหนด
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้การปฏิบัติงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่คล่องตัวเท่าที่ควร สมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้สามารถดำเนินกิจการในอันที่จะให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ทางพิเศษ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้