เวอร์ชันเต็ม: [-- 10 คำถาม 10 คำตอบ เกี่ยวกับกลุ่ม ISIS ในอิรัก --]

งานราชการ แนวข้อสอบ รับราชการ ก.พ. อบต. ครูผู้ช่วย ตำรวจ ธกส -> Web SMF Internet ความรู้ทั่วไป -> 10 คำถาม 10 คำตอบ เกี่ยวกับกลุ่ม ISIS ในอิรัก [สั่งพิมพ์] เข้าสู่ระบบ -> ลงทะเบียน -> ตอบกลับ -> ตั้งกระทู้

decho 2015-02-08 01:11

10 คำถาม 10 คำตอบ เกี่ยวกับกลุ่ม ISIS ในอิรัก

นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธกลุ่มหนึ่งนามว่า ISIS ได้สร้างความตื่นตะลึงให้คน ทั้งโลก โดยเข้ายึดครองเมืองต่างๆในภาคเหนือของอิรักอย่างสายฟ้าแลบ เริ่มจากเมืองซามาร์รา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เมืองโมซุลในคืนวันที่ 9 มิถุนายน และเมืองไทกริตบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นทุกวันและรัฐบาลอิรักกำลังเสียเมืองต่างๆให้แก่กลุ่มกบฏ ISIS อย่างไม่อาจต้านทาน ได้ จนเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธ ISIS ว่าพวกเขาคือใครและต้องการทำอะไร และอีกหลายๆคำถามที่ เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกัน

[source: Yaser Al-Khodor.Courtesy Reuters]

1. กลุ่ม ISIS คือใคร และมีเป้าหมายอะไร เกี่ยวข้องกับองค์กรอัลกออิดะฮ์ใช่หรือไม่?

            ISIS หรือ ISIL หรือ "The Islamic State in Iraq and al-Sham" แปลว่า "รัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม (ซีเรีย)" แต่หากเรียก ISIL จะย่อมาจาก "The Islamic State in Iraq and Levant" แปลว่า "รัฐอิสลามในอิรักและเลแวนท์" ซึ่งเลแวนท์ ก็หมายถึงซีเรียเช่นเดียวกัน ดังนั้นในภาษาอังกฤษสามารถเรียกได้ทั้งสองแบบ แต่ในภาษาอาหรับนิยมเรียกชื่อย่อว่า "ดาอิซ" (daesh)        

            ดังนั้นไม่ว่าจะเรียกแบบใด ISIS ก็คือกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งประกาศจัดตั้งรัฐที่ยังไม่มีใครรับรอง โดยรวมดินแดนบางส่วนในอิรักและซีเรีย มีเป้าหมายสูงสุดคือ การจัดตั้งรัฐอิสลาม โดยรวมดินแดนในเลแวนท์ ซึ่งนอกจากซีเรียแล้ว ยังรวมถึงเลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ จอร์แดน ไซปรัส และภาคใต้ของตุรกีไว้ด้วยกัน

            การก่อตั้ง

            อาจกล่าวได้ว่าการที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรทำสงครามในอิรักเมื่อปีค.ศ.2003 คือการจุดประทุเชื้อของ ความรุนแรงและการก่อการร้ายในอิรักซึ่งต่อมาได้ลุกลามไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ในต้นปีค.ศ. 2004 กลุ่มติดอาวุธ กลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งขึ้น ใช้ชื่อว่า "ญามาอัต อัต-เตาฮีด อัล-ญิฮาด" หรือ "องค์กรแห่งเอกภาพในการศรัทธา และการญิฮาด"  (The Organization of Monotheism and Jihad- JTJ) มีผู้นำคือนายอบู มูซ๊าบ อัล-ซอรฺกอวี ชาวจอร์แดน

            ต่อมาในเดือนตุลาคมปีค.ศ. 2004 นายซอรฺกอวีได้ประกาศความจงรักภักดี (บัยอะ) ต่อนายอุซมา บินลาดิน ผู้นำองค์กรอัล-กออีดะ นายซอรฺกอวีจึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น "ตันซิม กออีดะ อัล-ญิฮาด ฟี บีลาด อัล-รอฟีดาน หรือ "องค์กรแห่งการญิฮาด ซึ่งมีฐานในประเทศแห่งสองแม่น้ำ" (The Organization of Jihad's Base in the Country of the Two Rivers- TQJBR) แม้การยอมรับต่อองค์กรอัล-กออีดะ จะทำให้กลุ่มนี้ได้รับการขนานนามว่า กลุ่มอัล-กออีดะฮ์แห่งอิรัก (Al-Qaeda in Iraq- AQI) แต่กลุ่มนี้ก็ไม่เคยใช้ชื่อดังกล่าวแทนชื่อกลุ่มนอกจากชื่อที่ประกาศใช้เป็นทางการ[2]

            ในเดือนมกราคมปีค.ศ. 2006 กลุ่มดังกล่าวได้เข้ารวมกับกลุ่มติดอาวุธอีกหลายกลุ่มในอิรักภายใต้องค์กรที่มีชื่อว่า "สภาที่ปรึกษามูญาฮีดีน (The Mujahijdeen Shura Council) และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนี้เอง กองกำลังของสหรัฐฯได้ ลอบสังหารนายซอรฺกอวี

            ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ทางกลุ่มได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เดาลัต อัล-อิรัก อัล-อิสลามียะ" หรือ "กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก" (Islamic State of Iraq- ISI) ภายใต้การนำขอนายอบู อับดุลเลาะห์ อัล-รอชิด อัล-บักดาดี (Abu Abdullah al-Rashid al-Baghdadi) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การปลดปล่อยดินแดนของชาวมุสลิมนิกายซุนนีจากการกดขี่ และยึดครองของกลุ่มชีอะฮ์และต่างชาติ กลุ่ม ISI ในอิรักมีแกนนำระดับสูงอีกคนที่เป็นชาวอียิปต์คือนาย อบู อัยยุบ อัล-มาสรี (Abu Ayyub al-Masri) ซึ่งต่อมาแกนนำทั้งสองก็ถูกสังหารในปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐฯและอิรัก เมื่อเดือนเมษายน ปีค.ศ. 2010 นายอบูบักรฺ อัล-บักดาดี จึงขึ้นเป็นผู้นำจนถึงปัจจุบัน

            วันที่ 9 เมษายน ปีค.ศ. 2013 ภายหลังจากกลุ่ม ISI ขยายปฏิบัติการไปยังประเทศซีเรียเพื่อล้มรัฐบาลนายบาชัร อัล-อัซซาด กลุ่ม ISI จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม (ซีเรีย) ดังชื่อในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อย่อว่า ISIS หรือ ISIL นิยมเรียกชื่อย่อในภาษาอาหรับว่า "ดาอิซ" (Daesh)

            อย่างไรก็ตามสายสัมพันธ์กับองค์กรอัล-กออีดะฮ์ที่มีมายาวนานก็ขาดสะบั้นลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 ภายหลังจากกลุ่ม ISIS แสดงความท้าทายต่อองค์กรอัล-กออีดะอ์ โดยประกาศต้องการควบรวมกลุ่มอัล-นุสรอ ซึ่งเป็นกลุ่ม ติดอาวุธของอัล-กออีดะฮ์อีกกลุ่มในซีเรียเข้ากับ ISIS นับเป็นครั้งแรกที่องค์กรสาขาของอัล-กออีดะฮ์แสดงความกระด้าง กระเดื่องต่อองค์กรแม่

            นายบารัค เมนเดลซอน (Barack Mendelsohn) นักวิชาการรัฐศาสตร์ วิทยาลัยฮาเวอร์ฟอร์ด (Haverford College) กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลาหลายปี มีหลายสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างอัล-กออีดะฮ์กับ ISIS ซึ่งถูกมอง ว่าปกครองยาก" โดยเมนเดลซอนก็ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสององค์กรว่า "ดำเนินความสัมพันธ์บนพื้นฐานของ ผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์"[3]

            ปัจจุบันองค์กรอัล-กออีดะฮ์และ ISIS ได้เปลี่ยนสภาพจากองค์กรแม่-ลูกมากำลังกลายเป็นคู่ขัดแย้งที่แข่งขันกัน เผยแพร่อิทธิพลต่อกลุ่มอิสลามสุดโต่งทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่ากลุ่ม ISIS จะเข้ามาเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในระดับ โลกแทนองค์กรอัล-กอดีอะฮ์ในไม่ช้า

            เป้าหมาย

            ชื่อของกลุ่มบ่งชี้เป้าหมายของกลุ่มคือ เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย ดังเช่นพลเอก เรย์ ออเดียโน (Ray Odierno) ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯประจำอิรักกล่าวว่า "พวกเขาต้องการทำให้รัฐบาลอิรักเป็นง่อย และพวกเขาต้องการ จัดตั้งรัฐอิสลามในอิรัก"[4]

            อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลุ่ม ISIS จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้ เพราะกลุ่ม ISIS ไม่แข็งแกร่งพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลอิรักและซีเรียได้ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ พลังแห่งการ เปลี่ยนแปลงและการเผยแพร่แนวคิดอิสลามนิยมที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

            จำนวน

            นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ รายงานว่ากลุ่ม ISIS มีกองกำลังมากกว่า 6,000 คนในอิรัก และ 3,000-5,000 คนในซีเรีย ซึ่งรวมถึงกองกำลังต่างชาติหรือนักรบมูญาฮีดดีนนานาชาติอีกกว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 1,000 คนมาจากเชชเนีย และราว 500 คน มาจากชาติตะวันตกเช่นฝรั่งเศสและอังกฤษ[5] มีรายงานว่ากลุ่ม ISIS ยังมีทหารกองหนุนซึ่งเป็นชาวบ้าน อีกกว่า 15,000 คน

            นอกจากการสู้รบแล้ว กลุ่ม ISIS ยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย เช่นงานอาสาสมัคร ครูสอนศาสนา ให้ความรู้ ทางศาสนาแก่ชาวบ้าน แจกอาหารและเงิน ซ่อมถนนและไฟฟ้า[6] มีรายงานว่ากลุ่ม ISIS ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับ กลุ่มติดอาวุธในอิรักบางกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์จากการค้าอาวุธและยาเสพติดตามแนวชายแดนประเทศซีเรียและตุรกี กลุ่ม ISIS ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อและสังคมออนไลน์เพื่อเข้าถีงมวลชน ผ่านทางสื่อของมูลนิธิอิตติซัม (หัวหน้า นักรบมูญาฮีดีนเชชเนียคือ อุมัร อัล-ชิชานี ติดต่อเข้าร่วมรบผ่านทางอินเตอร์เน็ต)[7]

            นักวิเคราะห์บางคนมองว่ากลุ่ม ISIS มีลักษณะเป็นกองทหารมากกว่ากลุ่มก่อการร้าย เจสสิก้า ลูอิส (Jessica Lewis) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลุ่ม ISIS จากวอชิงตัน ธิงค์ แทงค์ (Washington Think Tank) กล่าวว่า "นี่คือกองทัพที่เคลื่อนที่ ไปมาระหว่างอิรักและซีเรีย พวกเขายึดครองพื้นที่จำนวนมาก พวกเขามีรัฐบาลเงาทั้งในและรอบๆกรุงแบกแดด มีจุดมุ่ง หมายชัดเจนในการปกครองประเทศ ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการยึดกรุงแบกแดดหรือไม่ หรือต้องการทำลายโครงสร้าง รัฐบาลอิรักแต่ไม่ว่าอย่างไรผลลัพธ์ก็เหมือนกันคือความหายนะของประเทศอิรัก"[8] ลูอิสซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯประจำอิรักและอัฟกานิสถาน อธิบายการทำงานของกลุ่ม ISIS ว่า "มีระบบการบังคับบัญชาและสั่งการจากภาคสนามไปยังศูนย์บัญชาการที่เยี่ยมยอด มีงบประมาณและนักรบจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้มีเพียงนักรบต่างชาติ แต่ยังรวมถึงนักโทษแหกคุกอีกด้วย" ขณะที่นายอัยมาน จาเวด อัล-ตามีนี (Aymenn Jawad al-Tamini) ผู้ศึกษาเรื่องการญิฮาดในภูมิภาคตะวันออกกลางมองว่า "พวกเขามีทักษะสูงในการทำสงครามกองโจรในเขตเมือง (Urban Guerrilla warfare) ในขณะที่กองทัพอิรักขาดทักษะการรบในรูปแบบดังกล่าว"[9]

[source: AP]

2. ปัจจัยใดที่ทำให้กลุ่ม ISIS สามารถรักษาอิทธิพลในอิรักได้อย่างมั่นคง?

            ปัจจัยประการแรกที่ทำให้กลุ่ม ISIS ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมนิกายซุนนี สามารถรักษาและขยายอำนาจได้ คือ ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมอิรักนิกายซุนนีและนิกายชีอะฮ์

            แม้ประชากรชาวอิรักส่วนมากจะนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะอ์ แต่ชาวซุนนีคือผู้ที่ปกครองประเทศอย่าง ยาวนาน จนกระทั่งอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็นซึ่งนับถือนิกายซุนนีสิ้นอำนาจในปีค.ศ. 2003 นายซัดดัมได้ทำให้ชาว มุสลิมซุนนีเข้าใจมาตลอดว่า ชาวซุนนีคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้กระทั่งปัจจุบันชาวซุนนีรู้สึกว่าพวกเขา ถูกชาวชีอะฮ์แย่งอำนาจไปและให้อำนาจแก่พวกเขาน้อยเกินไป[10]

            สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สหรัฐฯบุกอิรักในปีค.ศ. 2003 ได้ทำให้ความความขัดแย้งระหว่างนิกาย ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลที่มีขึ้นภายหลังการโค่นอำนาจระบอบซัดดัม ก็ถูกมองว่าให้อำนาจอย่างมากล้นแก่ชาวชีอะฮ์ ภายใต้ความร่วมมือของสหรัฐฯ รัฐบาลไม่อาจเป็นรัฐบาลของปวงชนทุกหมู่เหล่าได้ ทำให้กระแสความไม่พอใจของ ชาวซุนนีต่อรัฐบาลอิรักยิ่งทวีคูณ ปัจจุบันชาวชีอะฮ์และซุนนีในอิรักไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งระหว่าง สองกลุ่มนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งที่มีผู้ชนะเพียงคนเดียว (a zero-sum game) เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง[11] หลายครั้งการลุแก่อำนาจและใช้อำนาจโดยพลการของรัฐบาล ได้ต่อเติมไฟแห่งความบาดหมางเช่น เหตุการณ์ตำรวจ ใช้ความรุนแรงเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมนิกายซุนนีที่ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน

            ดังนั้นตราบใดที่กลุ่มชีอะอ์ยังคงมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลอิรักและชาวซุนนีไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นธรรมและมีพื้นที่ทางการเมืองที่มากพอ ตราบนั้นกลุ่ม ISIS จะยังคงได้รับคะแนนนิยมในพื้นที่ของชาวซุนนีในภาคตะวันตกเฉียงเหนือต่อไป

            ปัจจัยประการที่สองที่ทำให้กลุ่ม ISIS มีแต้มต่อทางการเมืองในหมู่ชาวซุนนีคือ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ของนายกรัฐมนตรีอิรัก

            นายนูรี อัล-อาลีกี นายกรัฐมนตรีของอิรักซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ เขาได้ทำให้อิรักกลายเป็นรัฐชีอะฮ์[12] เนด พาร์กเกอร์ อดีตสมาชิกสภาความสัมพันธ์ระหว่งประเทศ (CFR) กล่าวว่า การกระชับอำนาจของกลุ่มชีอะฮ์ผ่าน นายกรัฐมนตรีมาลีกี ในช่วงที่สหรัฐฯถอนกำลังทหารออกจากอิรักปลายปีค.ศ. 2011 สร้างความไม่พอใจให้กับชาวซุนนี ซึ่งเป็นชนส่วนน้อย และกลุ่ม ISI คือกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากความรู้สึกไม่เป็นธรรม"[13] รัฐบาลอิรักได้ปฏิเสธ ข้อเรียกร้องของชาวซุนนีที่ต้องการเพิ่มพื้นที่และสิทธิทางการเมือง ในเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาล โดยชาวซุนนีในเดือน เมษายนและธันวาคม ค.ศ. 2013 ตำรวจได้สังหารผู้ประท้วงชาวซุนนีที่ประท้วงด้วยความสงบ และใช้กฎหมายต่อต้านการ ก่อการร้ายจับกุมพลเมืองชาวซุนนีจำนวนมาก[14]นายกรัฐมนตรีมาลีกียังได้สร้างพันธมิตร ทางการเมืองกับกลุ่มติดอาวุธชาว ชีอะฮ์อีกหลากลุ่มที่มีเป้าหมายปองร้ายชาวซุนนี

            ด้วยเหตุนี้ทำให้กลุ่ม ISIS ที่ประกาศต่อสู้เพื่อชาวซุนนีได้คะแนนนิยมในหมู่ประชาชนชาวซุนนี นายไมเคิล ไนค์ (Michael Knights) ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกใกล้ศึกษา สถาบันวอชิงตัน (The Washington Institution for Near East Studies) กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรีมาลีกีได้ทำให้โฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม ISIS เป็นจริงและถูกต้อง และรัฐบาลอิรักและ สหรัฐฯเองยังมีส่วนทำให้กลุ่ม ISIS เติบโตอย่างรวดเร็ว จากการปล่อยนักโทษอัล-กออีดะฮ์จากเรือนจำ นอกจากนั้น การถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักปลายปีค.ศ. 2011 คือการให้พื้นที่หายใจแก่กลุ่ม ISIS เพิ่มขึ้นนั่นเอง"[15]

[source: BBC]

3. กลุ่ม ISIS เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเพียงกลุ่มเดียวในอิรักหรือ?

            กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลในอิรักมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม กลุ่มต่อต้านที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดนอกเหนือจากกลุ่ม ISIS คือกลุ่ม "ริญาล อัล-ตอริก อัล-นัคชฺบานดี" (JRTN) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มติดอาวุธนิกายซุนนีที่มีอุดมการณ์ชาตินิยม ต้องการ ยึดอำนาจคืนจากกลุ่มชีอะฮ์ เพื่อรื้อฟื้นระบอบเผด็จการซุนนีดังสมัยซัดดัม ฮุสเซ็น ต่างจากกลุ่ม ISIS ซึ่งมีอุดมการณ์ เน้นหนักไปทางศาสนา และต้องการตั้งรัฐอิสลามเพื่อรวมชาวซุนนีในอิรักและประเทศรอบๆ สมาชิกของกลุ่ม JRTN คืออดีตสมาชิกพรรคบาธ (Baath) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลสมัยอดีตประธานาซัดดัม ฮุสเซ็น

            แม้กลุ่ม ISIS และ JRTN จะมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือต่อสู้กับรัฐบาลชีอะฮ์ของนายมาลีกี

            เคิร์ค โซเวล (Kirk Sowell) นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมือง และผู้เชี่ยวชาญการเมืองอิรัก ได้เปรียบเทียบ กลุ่มสองกลุ่มนี้ว่า "แม้กลุ่ม ISIS ไม่ได้ครองใจคนรากหญ้า แต่พวกเขาคือ กลุ่มที่มีระบบการจัดการองค์กรที่ดีที่สุด มีนักรบที่เก่งกาจที่สุด ที่ผ่านประสบการณ์รบในอิรักและซีเรีย อย่างไรก็ตามกลุ่ม JRTN ก็มีการจัดการองค์กรที่ดี เช่นกันแต่ด้อยกว่ากลุ่ม ISIS ในเรื่องจำนวนนักรบและงบประมาณ"[16]

4. กลุ่ม ISIS เอาเงินทุนมาจากไหน?

            กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรียหรือ ISIS มีการจัดการงบประมาณที่น่าทึ่ง ต่างจากจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่น ในซีเรียและอิรัก ที่อาศัยเงิดอุดหนุนจากต่างชาติ แต่กลุ่ม ISIS สามารถหางบประมาณของตนเอง จากการส่งออกน้ำมัน (จากบ่อน้ำมันที่ยึดครอง) ขายไฟฟ้า (ให้กับรัฐบาลซีเรียซึ่งเป็นศัตรู) และเรียกเก็บภาษีในพื้นที่ยึดครอง    

            ในปีค.ศ. 2012 กลุ่ม ISIS หรือ ISI ณ ขณะนั้น ได้เริ่มทำการยึดบ่อน้ำมันในซีเรีย โดยขายน้ำมันพร้อมส่วนลด ให้กับใครก็ตามที่พร้อมจะจ่าย ดังนั้นการยึดครองบ่อน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในอิรัก คือการเพิ่มเงินทุนของกลุ่ม ISIS นั่นเอง ด้วยการจัดการเรื่องงบประมาณที่ดีเยี่ยมและไม่มีใครเหมือน ทำให้นักรบISISได้รับค่าตอบแทนสูงกว่านักรบกลุ่มอื่นๆ กระทั่งดีกว่าทหารอาชีพในกองทัพอิรักและซีเรีย นี่คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้การจัดการองค์กรของกลุ่ม ISIS มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว[17]

            นอกจากการขายน้ำมันจากบ่อน้ำมันที่ยึดครองแล้ว ล่าสุดกลุ่ม ISIS ยังมีรายได้จากการยึดแหล่งเงินในคลังของ ทางรัฐบาลอีกด้วย มีรายงานว่าในการยึดเมืองโมซุล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2014  กลุ่ม ISIS สามารถยึดเงินและ ทองคำ จากตู้นิรภัยของทางรัฐบาล ที่มีมูลค่าสูงถึง 14,000 ล้านบาท หรือ 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หน่วยข่าวกรองของอิรัก ประมาณการณ์ว่า นับตั้งแต่กลุ่ม ISIS ทำสงครามต่อต้านรัฐบาลในซีเรียและอิรัก พวกเขามีงบประมาณในคลังสะสมรวม 65,000 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[18] ซึ่งทำให้นิตยสารวอชิงตันโพสต์ระบุว่า กลุ่ม ISIS เป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[19] นอกจากนั้นมีรายงานว่ากลุ่ม ISIS ยังสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีในพื้นที่ยึดครองได้มากกว่า เดือนละ 260 ล้านบาท หรือ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[20]

            กลุ่ม ISIS ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและอาวุธจากประเทศซาอุดิอาระเบียและกาตาร์อีกด้วย ดังที่นายกรัฐมนตรีอิรักออกมากล่าวหาชาติทั้งสองในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2014 ว่า ให้การสนับสนุนกลุ่ม ISIS[21] และกลุ่มก่อการร้ายต่างๆเพื่อโค่นล้มรัฐบาลในซีเรีย อียิปต์ และลิเบีย[22]ซึ่งต่อมา ทั้งทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ ก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยกาตาร์กล่าวตอบโต้รัฐบาลอิรักว่าต้องการเบี่ยงเบนประเด็นจากการบริหาร ประเทศที่ผิดพลาด[23]

            สำหรับอาวุธของกลุ่ม ISIS นั้น ส่วนใหญ่ยึดมาได้จากทหารของอิรักที่พ่ายแพ้ หรือบางครั้งถึงกับทิ้งอาวุธและ วิ่งหนี ดังนั้นอาวุธของ ISIS ส่วนใหญ่ก็คืออาวุธของสหรัฐอเมริกานั่นเอง ตั้งแต่ปืน M16 ปืน M4 คาร์บิน เครื่องยิง    ลูกระเบิด M203 ปืนกล M59-1 M60 และ M240 เครื่องยิงจรวด (อาร์พีจี) พาหนะทางการทหารอย่างรถฮัมวี MRAPs รถถัง T-55 เครื่องยิงขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน ZU-23-2 เป็นต้น[24],[25] ล่าสุดในการยึดเมืองโมซุลเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2014 กลุ่ม ISIS ได้ยึดเฮลิคอปเตอร์ UH-60 แบล๊คฮอก  และเครื่องบินลำเลียง อย่างไรก็ตามนายปีเตอร์ เบอมอนท์ (Peter Beaumont) จากหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guerdian) ให้ความเห็นว่า กลุ่ม ISIS ไม่มีนักบินที่ได้รับการฝึกมา ให้ใช้ อากาศยานเหล่านี้ได้[26]

[source: Haidar Hamdani.AFP.Getty Images]

5. ชาวซุนนี ชีอะฮ์และเคิร์ด ใครได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งครั้งนี้

            อิรักมีประชากรประมาณ 31 ล้านคน มีประชากรที่มีชาติพันธุ์อาหรับคิดเป็นร้อยละ 80 ขณะที่ร้อยละ 15 คือชาวเคิร์ด ที่เหลือร้อยละ 5 คือชาวเติร์กเมน อัสซีเรียนและอื่นๆ

            ชาวอิรักร้อยละ 97 นับถือศาสนาอิสลาม โดยชาวมุสลิมส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะฮ์ คิดเป็นร้อยละ 65 ส่วนชาวมุสลิมที่นับถือนิกายซุนนีคิดเป็นร้อยละ 35 ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนาได้ทำให้ ชาวอิรักแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือชาวอิรัก (อาหรับ) นิกายชีอะฮ์ ชาวอิรัก (อาหรับ) นิกายซุนนี และชาวอิรัก (เคิร์ด) ที่แทบทั้งหมดนับถือนิกายซุนนี

            ท่ามกลางความขัดแย้ง ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ISIS และรัฐบาลอิรัก ก็คือ ชาวเคิร์ดนั่นเอง นายเคิร์ค โซเวว (Kirk Sowell) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอิรักระบุว่า "วิกฤตครั้งนี้ คือเครื่องช่วยชีวิตชาว เคิร์ด"[27]

            ชาวเคิร์ดในอิรักส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ด ทหารเคิร์ดยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่ฝักใฝ่รัฐบาลอิรักและกลุ่มที่เป็นเอกเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งมีจำนวนระหว่าง 80,000 ถึง 240,000 คน

            อย่างไรก็ตามชาวซุนนีและเคิร์ดจนยังไม่เคยขัดแย้งกันรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังทางการทหารต่อกัน ล่าสุดการที่กลุ่ม ISIS ยึดเมืองโมซุลซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของชาวเคิร์ดได้นั้น นายไมเคิล ไนค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออก กลาง ให้ข้อมูลว่า กลุ่ม ISIS ยึดครองเมืองโมซุลซีกตะวันตกเท่านั้น ส่วนซีกตะวันออก ยังคงอยู่ภายใต้การป้องกันของ ทหารชาวเคิร์ด นอกจากนั้นเขตยึดครองของกลุ่ม ISIS กับเขตปกครองของชาวเคิร์ดก็มีพื้นที่ติดต่อกันในหลายจุด[28]

            นอกจากนั้นชาวเคิร์ดได้ใช้โอกาสในสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงนี้ เข้ายึดเมืองเคอร์คุก (Kirkuk) ซึ่งอยู่ใกล้ บ่อน้ำมัน ขนาดใหญ่ที่กลุ่มเคิร์ดต้องการจะยึดครองมายาวนาน[29] ดังนั้นแม้จะมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ISIS และรัฐบาลอิรัก แต่ชาวเคิร์ดเล่นบทเป็นผู้อยู่เหนือความขัดแย้ง แต่ได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจมากที่สุด

[source: Sunni militiamen in 2010. Mahmud Saleh.AFP.Getty Images]

6.กลุ่ม ISIS ยึดครองพื้นที่ในอิรักได้มากแค่ไหน?

            แม้กลุ่ม ISIS จะถือกำเนิดในอิรักแต่ฐานอำนาจที่เป็นเหมือนเมืองหลวงของรัฐที่ไม่ได้รับการรับรอง (unrecognized state) นี้คือเมือง รอกกอ (Raqqa) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศซีเรีย ล่าสุดกลุ่ม ISIS ได้ยกกำลังเข้ายึด เมืองต่างๆในอิรักโดยยกพลจากเหนือลงใต้ กลุ่ม ISIS ได้ประกาศยึดเมืองต่างๆในอิรักและซีเรียได้แล้วในพื้นที่กว่า 16 จังหวัด ด้วยความยาวจากเหนือจดใต้รวมระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร โดยมีขนาดพื้นที่ยึดครองเท่ากับประเทศเบลเยี่ยม[30]

 

 7.ทำไมกองทัพอิรักที่มีความเหนือกว่าทั้งปริมาณและศักยภาพจึงไม่อาจต้านทานกลุ่ม ISIS ซึ่งมีจำนวนน้อยได้

            เหตุการณ์ลือลั่นที่สร้างชื่อให้กับกลุ่ม ISIS คือการที่กลุ่ม ISIS กรีฑาทัพเข้ายึดเมืองโมซุล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ลำดับสองของอิรัก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2014 การต่อสู้ในวันนั้นทหารอิรักที่มีจำนวนมากกว่า 30,000 นาย ต้องทิ้ง อาวุธ วิ่งหนี และพ่ายแพ้ต่อกองกำลัง ISIS ที่มีจำนวนเพียง 800 คน (อัตราส่วน 40:1) นอกจากนั้นยังมีตัวเลข ทหารอิรักที่หนีทัพในแต่ละเดือนนับร้อยคนอีกด้วย[31]

            สาเหตุหลักของความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของทหารอิรักนอกเหนือจากความแข็งแกร่งของกลุ่ม ISIS ก็คือ ทหาร อิรักไม่ต้องการสู้และตายเพื่อรัฐบาลอิรัก[32] อีกทั้งความแตกต่างทางนิกายศาสนาได้นำไปสู่ความแตกแยกในหมู่ทหาร ซึ่งมีทั้งชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์และซุนนี นายเจสัน ลูออล (Jason Lyall) ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า จากการที่กองทัพอิรักแตกออกตามนิกายศาสนา ทำให้ทหารอิรัก ที่เป็นซุนนี ไม่ต้องการจะต่อสู้กับกลุ่ม ISIS ที่เป็น ชาวซุนนีเช่นเดียวกัน พวกเขาไม่ต้องการต่อสู้เพื่อรัฐบาลอิรักซึ่งกดขี่ชาวซุนนี มีรายงานว่าในเมืองโมซุลที่มีประชากร ส่วนใหญ่เป็นชาวซุนนีนั้น แต่การสู้รบนั้นดำเนินในเขตชาวชีอะฮ์

            อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าท้ายที่สุดแล้วกลุ่ม ISIS คงไม่อาจยึดครองอิรักทั้งประเทศได้ ด้วยข้อจำกัดด้าน ศักยภาพ ทั้งนี้กลุ่ม ISIS มีกำลังในอิรักเพียง 7,000 คน (ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเมื่อร่วมสู้กับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่น) ในขณะที่ทหาร อิรักมีมากกว่า 250,000 คน(รวมทั้งตำรวจ) ซึ่งมีความเหนือกว่ามากทางด้านอาวุธ ปฏิบัติการของกลุ่ม ISIS จะกินพื้นที่ ได้เพียงนอกเมืองแบกแดด ส่วนทางภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวชีอะฮ์จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุความขัดแย้งนี้[33]

            ดังนั้นสาเหตุหลักที่ทำให้กองทัพอิรักอ่อนแอกว่ากลุ่ม ISIS คือความยุ่งเหยิง ไม่เป็นเอกภาพภายในกองทัพ ขาดการจัดการที่ดี และอ่อนด้อยประสบการณ์ และแรงต้านจากประชาชนที่นับถือนิกายซุนนีนั่นเอง

8. มีประเทศใดบ้างที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่ม ISIS และรัฐบาลอิรัก

            รัฐบาลอิรักกล่าวหาประเทศซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ว่า คือผู้สนับสนุนหลักด้านงบประมาณ แก่กลุ่ม ISIS ซึ่งทั้งสองชาติก็ออกมาปฏิเสธ นอกจากนั้นยังมีการจับตามองไปยังตุรกี ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในฐานะประเทศ หน้าด่านที่เป็นทางผ่านให้บรรดานักรบมูญาฮีดีนทั้งของกลุ่ม ISIS และกลุ่มอื่นๆเดินทางเข้าไปสู้รบในประเทศซีเรีย

            สำนักข่าวฟอกซ์นิวส์ได้รายงานถึงความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับกลุ่ม ISIS ว่า ตุรกีให้ความช่วยเหลือด้าน งบประมาณ การขนส่ง อาวุธและการฝึก เมื่อนักรบของISISบาดเจ็บจากการสู้รบในซีเรีย พวกเขาจะถูกส่งมารักษาตัวใน โรงพยาบาลที่ตุรกี ดังปรากฏภาพนายอบู มูฮัมหมัด หนึ่งในผู้บัญชาการกลุ่ม ISIS ในซีเรียเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล ในเมืองฮาเตย์ (Hatay) เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ นอกจากนั้นฝ่ายค้านได้กล่าวหารัฐบาลตุรกีว่ารับซื้อน้ำมันจากกลุ่ม ISIS ด้วยเงิน 25,000 ล้านบาท (800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกองทัพตุรกีได้ช่วยฝึกอาวุธแก่นักรบกลุ่ม ISIS และกล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรีตุรกี ได้หารือเป็นการลับกับนายยาซีน อัล-กอดี (Yasin al-Qadi) ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น และเป็นแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่ม ISIS[34]

            สำหรับฝ่ายรัฐบาลอิรัก ผู้สนับสนุนหลักนอกเหนือจากสหรัฐฯก็คืออิหร่าน นับตั้งแต่สหรัฐฯถอนกำลังทหาร ออกจากอิรักในปลายปีค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ประเทศที่มีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลอิรักมากที่สุดก็คืออิหร่าน รัฐบาลอิหร่าน ซึ่งเป็นชีอะฮ์ ไม่ต้องการให้รัฐบาลเพื่อนบ้านชีอะฮ์อีกสองประเทศคืออิรักและซีเรียต้องถูกกลุ่มซุนนีโค่นอำนาจ[35] รัฐบาล อิหร่านต้องการสร้างและรักษาสามเหลี่ยมทองคำแห่งชีอะฮ์ (Shi'a Triangle) คือรัฐบาลชีอะห์ในสามประเทศนอก อิหร่านคือ อิรัก ซีเรียและเลบานอน

            มีรายงานว่าอิหร่านได้ส่งหน่วยรบพิเศษที่มีชื่อหน่วยว่า "กู๊ดส์" (Quds) จำนวน 500 นาย เข้ามาช่วยรัฐบาลอิรัก ต่อสู้กับกลุ่ม ISIS[36] แม้อิหร่านจะออกมาปฏิเสธก็ตาม[37]  ซีไอเอได้ยกให้หน่วยกู๊ดส์เป็นหน่วยปฏิบัติการทางการทหาร ที่เก่งที่สุดหน่วยหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง[38] ปัจจุบันผู้นำของหน่วยประจำอิรักคือนายกอเซ็ม สุไลมานี วอลสตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ปัจจุบันนายสุไลมานีกำลังช่วยรัฐบาลอิรัก "จัดการ" กับความขัดแย้งอยู่ในแบกแดด วอลสตรีท ยังกล่าวยกย่องให้หน่อยกู๊ดส์มีความสามารถเหนือว่ากลุ่ม ISIS และรายงานว่ากองกำลังร่วมอิรัก-อิหร่านได้ยึดพื้นที่ เมืองไทกริสซึ่งเป็นบ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซ็น ได้คืนแล้วกว่าร้อยละ 85[39]

            อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือของอิหร่านก็เป็นดาบสองคมต่อรัฐบาลอิรัก แม้ด้านหนึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ รัฐบาลอิรักต่อสู้กับกลุ่ม ISIS ต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งการเข้ามาของอิหร่านได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวซุนนี[40] ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่ม ISIS คือผู้ได้ผลประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้  นอกจากนั้นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลอิหร่าน  ยังทำให้กลุ่มชาตินิยมเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล ชาวอิรักยังไม่อาจลืมภาพสงครามอิรัก-อิหร่านระหว่างปีค.ศ. 1980-1988

            สุดท้ายแล้ว การช่วยเหลือของอิหร่านเท่ากับเป็นการตอกย้ำคำอธิบายของกลุ่ม ISIS ต่อความขัดแย้งในอิรักว่า สงครามครั้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิรักกับกลุ่ม ISIS แต่คือสงครามระหว่างชีอะอ์กับซุนนี

[source: Tony Avelar.Christian Science Monitor.Getty Images]

9.มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่สหรัฐฯจะใช้ กำลังทหารกับกลุ่ม ISIS?

            สำหรับโอกาสในการใช้กำลังทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในอิรักนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ออกมา ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารกลับไปประจำการในอิรักอีก แต่ส่งทหารสหรัฐฯจำนวน 300 นายเข้าไปในอิรัก เพื่อเป็นที่ปรึกษา และช่วยฝึกกำลังพลให้แก่กองทัพอิรัก  นอกจากนั้นประธานาธิบดีโอบามายังเปิดทางและแสดงความพร้อมที่จะส่ง อากาศยานไร้คนขับหรือ "โดรน" หรือขีปนาวุธระยะไกล ช่วยเหลือรัฐบาลอิรักในการโจมตีกลุ่ม ISISได้[41]

 

10. แนวโน้มสถานการณ์ในอิรักจะเป็นอย่างไรต่อไป?

            การเลือกตั้งทั่วไปของอิรักเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พรรครัฐบาลเดิมชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้น ทำให้นายนูรี อัล-มาลีกี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องเป็นสมัยที่สามนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2006 อย่างไรก็ตามไม่ทันที่นาย มาลีกีจะจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ กลุ่ม ISIS ก็เริ่มปฏิบัติการสายฟ้าแลบยึดเมืองสำคัญทางตอนเหนือของอิรักได้หลายเมือง ท้าทายอำนาจของรัฐบาลอิรักอย่างมาก พร้อมกับเก้าอี้ตัวเก่าของนายมาลีกีที่กำลังสั่นคลอน

            ท่ามกลางความหลากหลายและขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา ตราบใดที่รัฐบาลอิรักไม่อาจเป็นรัฐบาล ของคนทุกหมู่เหล่าได้ ตราบใดที่อำนาจไม่ถูกกระจายอย่างเท่าเทียม ตราบใดที่ชาวซุนนียังรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรม ตราบนั้นอิรักก็ได้แต่นับรอวันเพื่อแตกออกเป็นเสี่ยงๆ กลุ่มติดอาวุธอย่าง ISIS จะยังจะคงมีอิทธิในการเมืองอิรักต่อไป โดยเฉพาะในหมู่ชาวซุนนี ถึงวันนี้ผู้มีอำนาจในการเมืองอิรักควรตะหนักได้แล้วว่าจะยอมถอยเพื่อเดินหน้า หรือจะยืดหยัดสู้ไม่ถอยและรอดูการพังทลายของชาติบ้านเมืองต่อไป

             หลังจากผ่านประสบการณ์ในสนามรบซีเรียมานานหลายปี วันนี้กลุ่ม ISIS คือกองกำลังที่แข็งแกร่งที่ผลิตนักรบ ชั้นยอด และดึงดูดนักรบอาสามูญาฮีดีนได้จากทั่วโลก ไม่ว่าสถานะของกลุ่ม ISIS จะเป็นอะไร ...รัฐอิสลามอิรักและซีเรีย กลุ่มติดอาวุธ กลุ่มกบฏแยกดินแดน หรือกระทั่งกลุ่มก่อการร้าย แต่วันนี้กลุ่ม ISIS ได้ประกาศให้โลกได้รับรู้แล้วว่าพวกเขา คือยอดนักรบที่ข้าศึกต้องหวาดกลัว เชคมูฮัมหมัด อัดนานี โฆษกกลุ่ม ISIS กล่าวถึงความสำเร็จของ ISIS ว่าเป็นตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เขากล่าวว่า "รัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIS) ไม่ได้เหนือกว่าศัตรูในเรื่อง อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือทรัพย์สิน สิ่งเดียวที่เรามีคือความศรัทธาในพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า"   



เวอร์ชันเต็ม: [-- 10 คำถาม 10 คำตอบ เกี่ยวกับกลุ่ม ISIS ในอิรัก --] [-- top --]


Powered by PHPWind v7.5 SP3 Code ©2003-2010 PHPWind
Time 0.024752 second(s),query:1 Gzip enabled

You can contact us