เวอร์ชันเต็ม: [-- พรบ.ยาสูบ พ.ศ.2509 --]

งานราชการ แนวข้อสอบ รับราชการ ก.พ. อบต. ครูผู้ช่วย ตำรวจ ธกส -> รวมพระราชบัญญัติ ในการสอบรับราชการ -> พรบ.ยาสูบ พ.ศ.2509 [สั่งพิมพ์] เข้าสู่ระบบ -> ลงทะเบียน -> ตอบกลับ -> ตั้งกระทู้

admin 2013-03-27 11:02

พรบ.ยาสูบ พ.ศ.2509

พระราชบัญญัติ
ยาสูบ
พ.ศ. ๒๕๐๙
 
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๙
เป็นปีที่ ๒๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยยาสูบ
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติยาสูบ พุทธศักราช ๒๔๘๖
(๒) พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๐
(๓) พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๒
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ต้นยาสูบ” หมายความว่า พืชนิโคเชียนาทาแบกกุ้ม (NICOTIANATABACUM)
“พันธุ์ยาสูบพื้นเมือง” หมายความว่า ต้นยาสูบที่ปลูกในประเทศไทยมาแต่ดั้งเดิม และเมื่อบ่มด้วยแดดแล้วใบเป็นสีน้ำตาล
“ใบยา” หมายความว่า ใบยาสดหรือใบยาแห้งของต้นยาสูบ
“ยาอัด” หมายความว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยาสูบซึ่งได้ป่นหรือย่อยและทำเป็นแผ่นโดยมีวัตถุอื่นเจือปนด้วยหรือไม่ก็ตาม
“ยาเส้น” หมายความว่า ใบยาหรือยาอัดซึ่งได้หั่นเป็นเส้นและแห้งแล้ว
“ยาสูบ” หมายความว่า บุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ บุหรี่อื่น ยาเส้นปรุง และให้รวมตลอดถึงยาเคี้ยวด้วย
“บุหรี่ซิกาแรต” หมายความว่า ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ไม่ว่าจะมีใบยาแห้งหรือยาอัดเจือปนหรือไม่ ซึ่งมวนด้วยกระดาษหรือวัตถุที่ทำขึ้นใช้แทนกระดาษ หรือใบยาแห้งหรือยาอัด
“บุหรี่ซิการ์” หมายความว่า ใบยาแห้งหรือยาอัด ซึ่งมวนด้วยใบยาแห้งหรือยาอัด
“บุหรี่อื่น” หมายความว่า ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ซึ่งมวนด้วยใบตอง กลีบบัว กาบหมาก ใบมะกา ใบจาก หรือวัตถุอื่นที่มิใช่กระดาษหรือวัตถุที่ทำขึ้นใช้แทนกระดาษและที่มิใช่ใบยาแห้งหรือยาอัด
“ยาเส้นปรุง” หมายความว่า ใบยาซึ่งมิใช่ใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองหรือยาอัด ซึ่งได้หั่นเป็นเส้นและปรุงหรือปนด้วยวัตถุอื่นนอกจากน้ำ
“ยาเคี้ยว” หมายความว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของใบยาแห้งนอกจากใบยาแห้งพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ซึ่งได้ปรุงหรือปนด้วยวัตถุอื่นนอกจากน้ำเพื่ออมหรือเคี้ยว
“ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเพาะปลูกต้นยาสูบ
“ผู้บ่มใบยา” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการบ่มใบยาสดเป็นใบยาแห้ง
“โรงบ่มใบยา” หมายความว่า สิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้บ่มใบยา
“สถานีบ่มใบยา” หมายความว่า สถานที่ตั้งโรงบ่มใบยา และให้รวมตลอดถึงสถานที่ซึ่งใช้เกี่ยวกับการซื้อขายหรือเก็บใบยาซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย
“ผู้อบใบยา” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการอบใบยาแห้งด้วยเครื่องจักรเพื่อปรับระดับความชื้น
“โรงอบใบยา” หมายความว่า โรงเรือนซึ่งติดตั้งเครื่องอบใบยาและให้รวมตลอดถึงโรงเรือนที่เก็บใบยาแห้งในบริเวณเดียวกันด้วย
“ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำยาอัด ยาเส้น หรือยาสูบเพื่อการค้า
“โรงอุตสาหกรรมยาสูบ” หมายความว่า สถานที่ซึ่งใช้ในการทำยาอัด ยาเส้น หรือยาสูบเพื่อการค้า และให้รวมตลอดถึงบริเวณแห่งสถานที่นั้นด้วย
“ซอง” หมายความรวมตลอดถึง ห่อ กะทอ กระป๋อง กล่อง ขวด หรือสิ่งอื่นซึ่งใช้บรรจุหรือผูกมัดยาเส้นหรือยาสูบ
“แสตมป์ยาสูบ” หมายความรวมตลอดถึงเครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบ
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพสามิต
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าแสตมป์ยาสูบไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
มาตรา ๕ ทวิ ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เสียค่าแสตมป์ยาสูบในอัตราทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณ ให้เสียค่าแสตมป์ยาสูบในอัตราที่คิดเป็นเงินสูงกว่า
 
มาตรา ๕ ตรี การเสียค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่านั้น ให้ถือมูลค่าตาม (๑) และ (๒) โดยให้รวมค่าแสตมป์ยาสูบที่พึงต้องชำระด้วย ดังนี้
(๑) ในกรณียาเส้นที่ทำในราชอาณาจักร ให้ถือตามราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบ
ในกรณีไม่มีราคาขายยาเส้น ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบ หรือราคาขายยาเส้น ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบมีหลายราคา ให้ถือตามราคาที่อธิบดีประกาศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บค่าแสตมป์ยาสูบ อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศมูลค่าของยาเส้นที่ผลิตในราชอาณาจักร เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าแสตมป์ยาสูบ โดยกำหนดจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบในตลาดปกติได้
ในกรณียาสูบที่ทำในราชอาณาจักร ให้ถือตามราคายาสูบตามที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ เป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบ
(๒) ในกรณียาเส้นหรือยาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ถือราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของยาเส้นหรือยาสูบ บวกด้วยอากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดในหมวด ๔ ลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร
ในกรณีที่ผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดอัตราอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าที่ได้รับยกเว้นหรือลดอัตราดังกล่าวมารวมในการคำนวณมูลค่าตาม (๒) ด้วย
ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตาม (๒) ได้แก่ ราคายาเส้นหรือยาสูบที่บวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เว้นแต่
(ก) ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ราคาในท้องตลาดสำหรับยาเส้นหรือยาสูบประเภทใดประเภทหนึ่ง ต้องเสียอากรตามราคาเป็นรายเฉลี่ยตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคายาเส้นหรือยาสูบในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
(ข) ในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคายาเส้นหรือยาสูบในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
 
มาตรา ๕ จัตวา เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมูลค่าของยาเส้นหรือยาสูบ ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาขายยาเส้นหรือยาสูบต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายตามแบบและภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๕ เบญจ ในกรณียาเส้นหรือยาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บค่าแสตมป์ยาสูบเพื่อกรมสรรพสามิตก็ได้
 
มาตรา ๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งใช้พันธุ์ยาสูบใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่สถานีทดลองปลูกพันธุ์ยาสูบ
 
มาตรา ๗ ผู้ใดทำการเพาะปลูกต้นยาสูบ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการเพาะปลูกต้นยาสูบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้สิ้นอายุเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันออกใบอนุญาต
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ปลูกต้นยาสูบพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบจำหน่ายใบยาสดแก่ผู้อื่นนอกจากผู้บ่มใบยาตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การจำหน่ายใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองหรือใบยาที่ผู้บ่มใบยาไม่รับซื้อ
 
มาตรา ๙ ผู้ใดตั้งสถานีบ่มใบยาหรือสร้างโรงบ่มใบยาเพิ่มจำนวนขึ้นต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างสถานีบ่มใบยาหรือโรงบ่มใบยา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้มีอายุตลอดไป
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ตั้งสถานีบ่มใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๑๐ ผู้ใดทำการบ่มใบยา ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการรับซื้อใบยาสด การบ่มใบยา การเก็บรักษาใบยาแห้ง ตลอดทั้งการทำบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้สิ้นอายุเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันออกใบอนุญาต
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้บ่มใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง หรือใบยาพันธุ์ยาสูบอื่น ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้บ่มใบยาจำหน่ายใบยาแห้งแก่ผู้อื่นนอกจากผู้ซื้อใบยาตามมาตรา ๒๕ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การจำหน่ายใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๑๒ ผู้ใดตั้งโรงอบใบยาหรือเพิ่มจำนวนเครื่องอบใบยาต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างโรงอบใบยาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้มีอายุตลอดไป
 
มาตรา ๑๓ ผู้ใดทำการอบใบยา ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการอบใบยา การเก็บรักษาใบยา ตลอดทั้งการทำบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้สิ้นอายุเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันออกใบอนุญาต
 
มาตรา ๑๔ ผู้ใดทำการหั่นใบยา ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือต้องได้รับอนุญาตตามประกาศที่อธิบดีกำหนด
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ปลูกต้นยาสูบพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองที่หั่นใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๑๕ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดราคาใบยา
การซื้อขายใบยา ให้เป็นไปตามราคาที่อธิบดีประกาศกำหนด
 
มาตรา ๑๖ การประกอบอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรตเป็นการผูกขาดของรัฐ
 
มาตรา ๑๗ ผู้ใดประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ การนำยาอัด ยาเส้น หรือยาสูบออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบ ตลอดทั้งการทำบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้สิ้นอายุเมื่อสิ้นปีปฏิทิน
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ปลูกต้นยาสูบพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองซึ่งทำยาเส้นจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองที่ตนปลูกได้เอง
 
มาตรา ๑๘ ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ บรรจุยาเส้นหรือยาสูบในซองและปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัตินี้ ก่อนนำออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบ นอกจากยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
ยาเส้นหรือยาสูบที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปขายนอกราชอาณาจักรไม่ต้องปิดแสตมป์ยาสูบ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๘ ทวิ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผู้ใดมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัม นอกจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ
ให้ผู้มียาสูบที่ไม่ต้องปิดแสตมป์ยาสูบหรือผู้มียาสูบที่ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พุทธศักราช ๒๔๘๖ เกินกว่าห้าร้อยกรัม ปิดแสตมป์ยาสูบให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้ผู้ใดมียาเส้นที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ในครอบครองเกินกว่าหนึ่งกิโลกรัม นอกจากยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองหรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ
ให้ผู้มียาเส้นที่ไม่ต้องปิดแสตมป์ยาสูบหรือผู้มียาเส้นที่ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พุทธศักราช ๒๔๘๖ เกินหนึ่งกิโลกรัม ปิดแสตมป์ยาสูบให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๒๑ ผู้ใดขายยาเส้นหรือยาสูบ หรือนำยาเส้นหรือยาสูบออกแสดงเพื่อขายต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการรับยาเส้นหรือยาสูบมาขาย การขาย หรือการนำออกแสดงเพื่อขาย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้สิ้นอายุเมื่อสิ้นปีปฏิทิน
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นผู้ขาย และผู้ขายหรือผู้นำออกแสดงเพื่อขาย ซึ่งยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๒๒ การขายยาเส้นต้องขายทั้งซอง ห้ามแบ่งขาย นอกจากยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๒๓ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดราคายาสูบ
การขายยาสูบ ห้ามมิให้ขายเกินราคาที่อธิบดีประกาศกำหนด
 
มาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาเส้นหรือยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
ให้ผู้มียาเส้นไว้เพื่อขายที่ไม่ต้องปิดแสตมป์ยาสูบหรือผู้ขายยาเส้นหรือยาสูบที่ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พุทธศักราช ๒๔๘๖ ปิดแสตมป์ยาสูบให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๒๕ ผู้ใดซื้อใบยาแห้งจากผู้บ่มใบยา ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการซื้อใบยาแห้ง ตลอดทั้งการทำบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้สิ้นอายุเมื่อสิ้นปีปฏิทิน
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การซื้อใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง
 
มาตรา ๒๖ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเมล็ดพันธุ์ยาสูบ ต้นยาสูบ ใบยา ยาอัด ยาเส้นหรือยาสูบเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดี
การขออนุญาต การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขว่าด้วยการนำสิ่งของตามมาตรานี้เข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การขออนุญาตนำสิ่งของตามมาตรานี้เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเป็นตัวอย่างสินค้า หรือมิใช่เพื่อการค้าตามจำนวนอันสมควร จะขอเมื่อสิ่งของนั้นมาถึงด่านศุลกากรแล้วก็ได้
เฉพาะยาเส้นหรือยาสูบให้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัตินี้ก่อนที่จะรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร เว้นแต่อธิบดีจะอนุญาตให้ปิดภายหลังตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๒๘ ให้อธิบดีมีอำนาจผ่อนผันผู้เดินทางในบางกรณีนำยาเส้นหรือยาสูบติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร และจะผ่อนผันไม่ต้องปิดแสตมป์ยาสูบด้วยก็ได้ การผ่อนผันให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๒๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ดังที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ในกรณีที่ใบอนุญาตหายหรือชำรุดเสียหายมาก ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขอใบแทนใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตหายหรือชำรุดเสียหายมาก
 
มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเปลี่ยนสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต
การขอและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๓๑ การโอนใบอนุญาตจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต
การขอและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๓๒ ใบอนุญาตที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนสิ้นอายุใบอนุญาตนั้น
ผู้ใดทำยาเส้นเพื่อการค้าหรือขายยาเส้นอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะดำเนินการต่อไป ให้ขออนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๓๓ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินหกเดือน หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาต
(๑) ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้
(๒) ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ
(๓) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
คำสั่งเช่นว่านั้นให้ทำเป็นหนังสือและแจ้งให้ผู้ที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ถูกสั่งดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานปิดคำสั่งไว้ ณ สถานที่ที่ปรากฏในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง
 
มาตรา ๓๔ ผู้ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อรัฐมนตรีได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีหรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
 
มาตรา ๓๕ ยาเส้นหรือยาสูบที่ยังมีเหลืออยู่ในวันที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้ผู้ที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ขายหรือนำออกแสดงเพื่อขายได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง
 
มาตรา ๓๖ ผู้ใดถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วจะขออนุญาตใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง
 
มาตรา ๓๗ เมื่อเจ้าพนักงานต้องการทราบชนิดและปริมาณของเมล็ดพันธุ์ยาสูบ ใบยา ยาเส้น ยาสูบ หรือต้องการทราบรายละเอียดในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเพาะปลูกต้นยาสูบ การบ่มใบยา การอบใบยา การประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ ให้ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ ผู้บ่มใบยา ผู้อบใบยา หรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ แล้วแต่กรณี แจ้งให้เจ้าพนักงานทราบ
 
มาตรา ๓๘ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าตรวจสถานีบ่มใบยา โรงอบใบยา หรือโรงอุตสาหกรรมยาสูบ รวมตลอดทั้งเอกสารและบัญชีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างเวลาทำงานและมีอำนาจที่จะเข้าควบคุมสถานีบ่มใบยา โรงอบใบยา หรือโรงอุตสาหกรรมยาสูบ แล้วแต่กรณี เพื่อให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้บ่มใบยา ผู้อบใบยา หรือผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๓๙ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าตรวจที่เพาะปลูกต้นยาสูบ สถานที่ขายยาเส้นหรือยาสูบ ระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และมีอำนาจตรวจบัญชีเอกสารเกี่ยวกับการเพาะปลูกต้นยาสูบ การขายยาเส้นหรือยาสูบ รวมตลอดทั้งยาเส้นหรือยาสูบที่มีไว้ด้วย
ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ ผู้ขายยาเส้นหรือยาสูบ ต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามมาตรานี้
 
มาตรา ๔๐ ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมและปราบปรามตามพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจยึดยาเส้นหรือยาสูบของผู้กระทำผิดหรือของผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งหีบห่อยาเส้นหรือยาสูบนั้น
ยาเส้นหรือยาสูบรวมทั้งหีบห่อที่ได้ยึดไว้ตามความในวรรคแรก ถ้าไม่ทราบตัวเจ้าของ หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบและผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันยึด หรือวันทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมสรรพสามิต
ถ้ายาเส้นหรือยาสูบที่ยึดไว้นั้นจะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของยาเส้นหรือยาสูบ อธิบดีหรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีจะจัดการขายทอดตลาดยาเส้นหรือยาสูบรวมทั้งหีบห่อก่อนถึงกำหนดตามความในวรรคสองก็ได้ ได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนยาเส้นหรือยาสูบนั้น
 
มาตรา ๔๑ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจจัดให้มีขึ้น เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกซึ่งแสตมป์ยาสูบ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๔๒ การปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบ ให้เป็นไปตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้ว
 
มาตรา ๔๔ เมล็ดพันธุ์ยาสูบ ต้นยาสูบ ใบยา ยาอัด ยาเส้น ยาสูบ หรือเครื่องอุปกรณ์ในคดีกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งหีบห่อ ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเป็นของกรมสรรพสามิต
บุหรี่ซิกาแรตและเครื่องอุปกรณ์ในการผลิตบุหรี่ซิกาแรตในคดีกระทำผิดบทบัญญัติมาตรา ๑๗ หรือบุหรี่ซิกาแรตในคดีกระทำผิดบทบัญญัติมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๗ รวมทั้งหีบห่อ ให้ศาลสั่งริบเป็นของกรมสรรพสามิต
 
มาตรา ๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
 
มาตรา ๔๕ ทวิ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบใดไม่แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาขายยาเส้นหรือยาสูบตามมาตรา ๕ จัตวา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบใดแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาขายยาเส้นหรือยาสูบตามมาตรา ๕ จัตวา อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ วรรคสอง มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ วรรคสอง มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ วรรคสอง มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
 
มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
 
มาตรา ๔๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด หรือที่ยังขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท ถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในประเทศและมิได้มีประกาศกำหนดราคาขายปลีกไว้ต้องระวางโทษปรับกรัมละสองบาท แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท
 
มาตรา ๕๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด หรือที่ยังขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท ถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในประเทศและมิได้มีประกาศกำหนดราคาขายปลีกไว้ ต้องระวางโทษปรับกรัมละสามบาท แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท
 
มาตรา ๕๑ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๕๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๕๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๕๔ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวให้อธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบได้
 
มาตรา ๕๕ ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการกรมสรรพสามิตเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่จับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี


บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าแสตมป์ยาสูบ
 
 

หมายเลข
รายการ
อัตรา
 
  
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งสถานีบ่มใบยาสถานีละ     ๑,๐๐๐    บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้บ่มใบยา๒๐ บาท ต่อ ๑ โรงบ่ม
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งโรงอบใบยาโรงละ     ๑๐,๐๐๐    บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้อบใบยา๑,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ เครื่องอบ
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้ประกอบอุตสาหกรรม 
 
ยาสูบ 
 
(๑) บุหรี่ซิกาแรต
ฉบับละ   ๑๐,๐๐๐    บาท
 
(๒) บุหรี่ซิการ์
ฉบับละ        ๕๐๐    บาท
 
(๓) ยาอัด
ฉบับละ        ๕๐๐    บาท
 
(๔) ยาเส้น
ฉบับละ        ๕๐๐    บาท
 
(๕) ยาเส้นปรุง
ฉบับละ        ๕๐๐    บาท
 
(๖) บุหรี่อื่น
ฉบับละ        ๒๕๐    บาท
 
(๗) ยาเคี้ยว
ฉบับละ        ๒๕๐    บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายยาเส้นหรือยาสูบ 
 
ยาเส้น 
 
ประเภท ๑ ขายโดยไม่จำกัดจำนวนฉบับละ        ๑๐๐    บาท
 
ประเภท ๒ ขายครั้งละไม่เกินน้ำหนัก ๒ กิโลกรัมฉบับละ         ๑๐    บาท
 
ประเภท ๓ ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบขายยาเส้นที่ทำจากใบยาที่ปลูกเอง
ฉบับละ         ๑๐    บาท
 
ยาสูบ
 
 
ประเภท ๑ ขายโดยไม่จำกัดจำนวน
ฉบับละ     ๑,๐๐๐    บาท
 
ประเภท ๒ ขายครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ มวน ถ้าเป็นยาเส้นปรุงหรือยาเคี้ยวครั้งละไม่เกินสิบกิโลกรัม
ฉบับละ        ๕๐๐    บาท
 
ประเภท ๓ ขายครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ มวน ถ้าเป็นยาเส้นปรุงหรือยาเคี้ยว ครั้งละไม่เกิน ๒๐๐ กรัม
ฉบับละ         ๒๐    บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซื้อใบยาแห้ง
ฉบับละ     ๓,๐๐๐    บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำใบยาแห้งออกนอกเขตจังหวัดฉบับละ          ๕๐    บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเมล็ดพันธุ์ยาสูบ ต้นยาสูบ ใบยา ยาอัด ยาเส้น หรือยาสูบ เข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ฉบับละ        ๑๐๐    บาท
๑๐
ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ฉบับละ ๑ ใน ๔ ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น ๆ แต่ไม่ต่ำกว่าห้าบาท
๑๑
ค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต
ฉบับละ ๑ ใน ๔ ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น ๆ แต่ไม่ต่ำกว่าห้าบาท
๑๒
ค่าธรรมเนียมการออกใบแทนใบอนุญาต
ฉบับละ ๑ ใน ๑๐ ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น ๆ แต่ไม่ต่ำกว่าห้าบาท
๑๓
ค่าแสตมป์ยาสูบสำหรับยาเส้นและยาสูบ
ตามมูลค่าร้อยละ ๙๐ หรือ ๓ บาทต่อปริมาณหนึ่งกรัม เศษของหนึ่งกรัมให้นับเป็นหนึ่งกรัม

 


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยยาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ได้ใช้มาเป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมถึง ๒ ครั้ง ถึงกระนั้นก็ยังไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าแสตมป์ยาสูบ ได้กำหนดไว้ตามค่าน้ำเงินในสมัยนั้นและบทกำหนดโทษยังต่ำกว่าที่ควรอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมอีกหลายประการ จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยยาสูบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
 
พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒เป็นต้นไป
 
มาตรา ๖ บุหรี่ซิการ์ที่ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และเป็นบุหรี่ซิกาแรตตามพระราชบัญญัตินี้ ที่ยังมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและยังมิได้นำออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบหรือรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร แล้วแต่กรณี ถ้าผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ หรือผู้นำเข้าปิดแสตมป์ยาสูบในอัตราบุหรี่ซิการ์ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้ปิดแสตมป์ยาสูบถูกต้องแล้ว
 
มาตรา ๗ ให้ผู้มีไว้ในครอบครองเกินห้าร้อยกรัม หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาเส้นตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และเป็นยาเส้นปรุงตามพระราชบัญญัตินี้ ปิดแสตมป์ยาสูบให้ถูกต้องในอัตรายาเส้นปรุงภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบทำบุหรี่ซิการ์โดยใช้ยาเส้นหรือยาเส้นปรุงมวนด้วยยาอัด ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติคล้ายกับกระดาษมวนบุหรี่ซิกาแรต และทำยาเส้นด้วยใบยาซึ่งมิใช่ใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองจำหน่ายให้ผู้ซื้อมวนด้วยกระดาษมากขึ้น เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนการจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมผูกขาดของรัฐจึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙
 
พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะยกเว้นภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ ในการขายยาเส้นหรือยาสูบ และเพื่อให้ผู้ปลูกต้นยาสูบพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ผู้บ่มใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง และผู้ทำยาเส้นจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ที่ตนปลูกได้เอง หรือใบยาพันธุ์ยาสูบอื่นตามที่กำหนดไม่ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๑
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบได้ใช้มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและค่าของเงินในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมบางประเภทให้สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ พ.ศ. ๒๕๒๓
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าแสตมป์ยาสูบได้กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ ทั้งนี้ ยังไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าแสตมป์ยาสูบท้ายพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ให้สูงขึ้น และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาเป็นการด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
 
พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๓
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะผ่อนคลายภาระให้แก่ราษฎรผู้เพาะปลูกและใช้สอยยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง สมควรยกเลิกค่าแสตมป์ยาสูบที่เก็บจากยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นไป
 
มาตรา ๖ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป สำหรับกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ยาเส้นหรือยาสูบที่การปฏิบัติจัดเก็บค่าแสตมป์ยาสูบยังค้างอยู่หรือที่ถึงกำหนดชำระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๒) ยาเส้นหรือยาสูบที่ทำในราชอาณาจักรโดยบรรจุซองและปิดแสตมป์ยาสูบครบถ้วนแล้ว แต่ยังมิได้นำออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๓) ยาเส้นหรือยาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับที่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบแล้ว แต่ยังมิได้นำออกจากอารักขาของศุลกากรก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้นำยาเส้นหรือยาสูบเข้ามาในราชอาณาจักร ยื่นบัญชีรายละเอียดยาเส้นหรือยาสูบตาม (๒) และ (๓) โดยแสดงรายการ ประเภท ชนิด และปริมาณ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ พร้อมทั้งระบุสถานที่เก็บยาเส้นหรือยาสูบนั้นและให้ยื่นบัญชีดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตแห่งท้องที่ที่โรงอุตสาหกรรมยาสูบที่ตั้งอยู่ หรือต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตแห่งท้องที่ที่มีการนำเข้ายาเส้นหรือยาสูบ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้นำเข้ายาเส้นหรือยาสูบผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบภาษีอากรของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน สมควรปรับปรุงค่าแสตมป์ยาสูบเพื่อให้มีความสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดเก็บ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๔
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ เป็นต้นไป
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บค่าแสตมป์ยาสูบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าแสตมป์ยาสูบท้ายพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ พ.ศ. ๒๕๒๓ ยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บค่าแสตมป์ยาสูบดังกล่าว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าแสตมป์ยาสูบเสียใหม่สำหรับยาเส้นและยาสูบที่ผลิตในประเทศและที่ผลิตในต่างประเทศให้เป็นอัตราเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ สำหรับยาเส้นและยาสูบไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและเพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ สำหรับยาเส้นและยาสูบ ให้สูงขึ้น และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้


เวอร์ชันเต็ม: [-- พรบ.ยาสูบ พ.ศ.2509 --] [-- top --]


Powered by PHPWind v7.5 SP3 Code ©2003-2010 PHPWind
Time 0.025599 second(s),query:1 Gzip enabled

You can contact us