เวอร์ชันเต็ม: [-- พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 --]

งานราชการ แนวข้อสอบ รับราชการ ก.พ. อบต. ครูผู้ช่วย ตำรวจ ธกส -> รวมพระราชบัญญัติ ในการสอบรับราชการ -> พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 [สั่งพิมพ์] เข้าสู่ระบบ -> ลงทะเบียน -> ตอบกลับ -> ตั้งกระทู้

admin 2012-02-11 13:44

พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546

พระราชบัญญัติ
คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๔๖
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
 
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๖”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
หมวด ๑
บททั่วไป
                  
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หมายความว่า ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว
“แหล่งภูมิศาสตร์” หมายความว่า พื้นที่ของประเทศ เขต ภูมิภาคและท้องถิ่นและให้หมายความรวมถึงทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำน้ำ เกาะ ภูเขา หรือพื้นที่อื่นทำนองเดียวกันด้วย
“สินค้า” หมายความว่า สิ่งของที่สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือโอนกันได้ ไม่ว่าจะเกิดโดยธรรมชาติหรือเป็นผลิตผลทางการเกษตร รวมตลอดถึงผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรมและอุตสาหกรรม
“ชื่อสามัญ” หมายความว่า ชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“นายทะเบียน” หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียน ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๒
การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
                  
 
มาตรา ๕ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขอขึ้นทะเบียนสำหรับสินค้าใดต้องไม่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) เป็นชื่อสามัญของสินค้าที่จะใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น
(๒) เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือนโยบายแห่งรัฐ
 
มาตรา ๖ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของต่างประเทศที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศนั้น และมีการใช้สืบเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
 
มาตรา ๗ ผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีดังนี้
(๑) ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า
(๒) บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการค้าเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีถิ่นที่อยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า
(๓) กลุ่มผู้บริโภคหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
 
มาตรา ๘ ผู้ขอขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๗ ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยและมีความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของต่างประเทศต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
(๒) มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ประกอบธุรกิจอย่างแท้จริงในประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
 
มาตรา ๙ การขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๐ คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะอื่นของสินค้า แหล่งภูมิศาสตร์และรายละเอียดอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๑ เมื่อได้รับคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าคำขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ หรือไม่ และให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอขึ้นทะเบียน
 
มาตรา ๑๒ การตรวจสอบคำขอตามมาตรา ๑๑ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเรียกให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำชี้แจงหรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยก็ได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องวินิจฉัยให้นายทะเบียนส่งเรื่องให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาและให้ความเห็น
 
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่คำขอขึ้นทะเบียนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งยกคำขอขึ้นทะเบียนนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานการตรวจสอบ และให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง
ผู้ขอขึ้นทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๔ เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ขอขึ้นทะเบียนแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้ขอขึ้นทะเบียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้นถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด
 
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่คำขอขึ้นทะเบียนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ และนายทะเบียนเห็นควรให้ขึ้นทะเบียนโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข ให้นายทะเบียนมีคำสั่งประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๖ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๑๕ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำคัดค้านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขอขึ้นทะเบียนได้
การยื่นคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๗ เมื่อมีการคัดค้านตามมาตรา ๑๖ ให้ส่งสำเนาคำคัดค้านให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการคัดค้าน
ให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนยื่นคำโต้แย้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาคำโต้แย้งดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน ในกรณีที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนไม่ยื่นคำโต้แย้ง ให้ถือว่าผู้ขอขึ้นทะเบียนละทิ้งคำขอ
ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านและคำโต้แย้ง ให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๘ เมื่อนายทะเบียนวินิจฉัยคำคัดค้านและคำโต้แย้งแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและผู้คัดค้านทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
ผู้ขอขึ้นทะเบียนและผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ไดัรับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้นถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ไห้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด
 
มาตรา ๑๙ เมื่อไม่มีการคัดค้านตามมาตรา ๑๖ หรือมีคำคัดค้านแต่นายทะเบียนหรือคณะกรรมการหรือศาล แล้วแต่กรณี มีคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดตามมาตรา ๑๘ หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำคัดค้าน ให้นายทะเบียนขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขอขึ้นทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง หรือวันที่นายทะเบียนได้รับคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาดังกล่าว  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๒๐ เมื่อนายทะเบียนขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๙ แล้ว ให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีผลตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน
 
หมวด ๓
การแก้ไขและเพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
                  
 
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่มีข้อผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในรายการที่รับขึ้นทะเบียน เมื่อผู้ขอขึ้นทะเบียนมีคำขอหรือเมื่อข้อผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนปรากฏแก่นายทะเบียน นายทะเบียนอาจมีคำสั่งให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนนั้นได้
 
มาตรา ๒๒ เมื่อนายทะเบียนได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๑๙ แล้ว หากปรากฏหลักฐานภายหลังว่าการขอขึ้นทะเบียนหรือการขึ้นทะเบียนได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริงในขณะที่รับขึ้นทะเบียน ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจขอให้นายทะเบียนส่งเรื่องให้คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนได้ การแก้ไขหรือเพิกถอนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งการแก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียน และให้ประกาศโฆษณาการแก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนนั้นตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ปรากฏว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๑๙ และการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕ หรือทำให้รายการเกี่ยวกับแหล่งภูมิศาสตร์หรือรายการอื่นเปลี่ยนแปลงไปจากที่ลงไว้ในทะเบียน ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจขอให้นายทะเบียนส่งเรื่องให้คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยแก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนได้ และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๔ เว้นแต่กรณีการเพิกถอนทะเบียนโดยเหตุตามมาตรา ๕(๒) เมื่อคณะกรรรมการมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนตามมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ถ้าผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น ถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด
 
หมวด ๔
การใช้และการสั่งระงับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
                  
 
มาตรา ๒๕ เมื่อมีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าใดแล้ว ผู้ผลิตสินค้านั้นซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าดังกล่าว หรือผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับสินค้านั้นมีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนกับสินค้าที่ระบุ ตามเงื่อนไปที่นายทะเบียนกำหนด
 
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่บุคคลตามมาตรา ๒๕ ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้บุคคลนั้นปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่นายทะเบียนกำหนด หากยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรภายในเวลาดังกล่าว นายทะเบียนอาจมีคำสั่งเป็นหนังสือระงับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของบุคคลนั้นเป็นระยะเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ผู้ถูกระงับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามวรรคหนึ่งมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง การอุทธรณ์ให้เป็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้นถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด
 
มาตรา ๒๗ การกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ
(๑) การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อแสดงหรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่มิได้มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว
(๒) การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยประการใดที่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าและในคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการค้ารายอื่น
การกระทำดังกล่าวตามวรรคหนึ่งถ้าได้กระทำก่อนวันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ
 
หมวด ๕
การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าเฉพาะอย่าง
                  
 
มาตรา ๒๘  รัฐมนตรีอาจประกาศให้สินค้าประเภทใดเป็นสินค้าเฉพาะอย่างก็ได้โดยกำหนดในกฎกระทรวง
ภายใต้บังคับวรรคสี่ เมื่อประกาศให้สินค้าประเทศใดเป็นสินค้าเฉพาะอย่างตามวรรคหนึ่งการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับสินค้าที่มิได้มีแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอขึ้นทะเบียนเป็นการกระทำโดยมิชอบแม้ว่าผู้ใช้จะได้ระบุแหล่งภูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้านั้นไว้ด้วย หรือได้ใช้คำหรือได้กระทำการใดที่แสดงให้ทราบถึงแหล่งภูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้านั้นก็ตาม
การแสดงให้ทราบถึงแหล่งภูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้าตามวรรคสองให้รวมถึงการใช้คำว่า “ชนิด” “ประเภท” “แบบ” หรือคำหรือสิ่งทำนองเดียวกันประกอบกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ใช้กับสินค้านั้น
การกระทำตามวรรคสองมิให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบหากผู้ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นได้ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวเป็นระยะเวลาสิบปีติดต่อกันก่อนวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือโดยสุจริตก่อนวันดังกล่าว
 
มาตรา ๒๙ ในกรณีที่สินค้าเฉพาะอย่างที่กำหนดในกฎกระทรวงมีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เหมือนหรือพ้องกันแต่เป็นสินค้าที่มีแหล่งภูมิศาสตร์ต่างกัน เมื่อมีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าดังกล่าว ให้การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในกรณีนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
หมวด ๖
คณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
                  
 
มาตรา ๓๐ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้แทนสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบสี่คน โดยในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาคเอกชนอย่างน้อยหกคนซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
 
มาตรา ๓๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) พิจารณาสั่งให้แก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
(๕) พิจารณาแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา ๑๒
(๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๓๒ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
 
มาตรา ๓๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
 
มาตรา ๓๔ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
 
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่
 
มาตรา ๓๖ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่แทน
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
 
มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
 
มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
 
หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
                  
 
มาตรา ๓๙ ผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
 
มาตรา ๔๐ ผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๒๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
 
มาตรา ๔๑ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือสิ่งใดต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๔๒  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
 
มาตรา ๔๓ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร
 
นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม
                  
 
(๑) คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์                           ฉบับละ    ๑,๐๐๐     บาท
(๒) คำคัดค้านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์                  ฉบับละ    ๑,๐๐๐     บาท
(๓) คำอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียน                 ฉบับละ    ๑,๐๐๐     บาท
(๔) คำขอแก้ไขทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์                        ฉบับละ      ๒๐๐     บาท
(๕) คำขอเพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์                    ฉบับละ      ๒๐๐     บาท
 
(๖) คำขออื่น ๆ                                                         ฉบับละ      ๒๐๐     บาท

หมายเหตุ :– เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า โดยกำหนดให้มีการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์และห้ามการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันจะทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้าที่ระบุในทะเบียน ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวเป็นการอนุวัติการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีตามข้อ ๒๒ ถึงขัอ ๒๔ แห่งความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าในภาคผนวกท้ายความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลกด้วย แต่กฎหมายไทยในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะรองรับนโยบายการให้ความคุ้มครองและรองรับพันธกรณีดังกล่าวได้ สมควรมีกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 


เวอร์ชันเต็ม: [-- พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 --] [-- top --]


Powered by PHPWind v7.5 SP3 Code ©2003-2010 PHPWind
Time 0.056831 second(s),query:2 Gzip enabled

You can contact us