admin |
2011-10-05 10:38 |
การเตรียมตัวก่อนเข้าสอบภาค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง(สัมภาษณ์)
การสอบสัมภาษณ์เป็นเรื่องที่ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ก่อนอื่นคุณมีการเตรียมตัวที่ดีรู้เขารู้เราพอสมควร เช่น ศึกษาประวัติจังหวัดนั้นๆ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ของจังหวัด สินค้าเด่นระดับ OTOP แหล่งท่องเที่ยวเป็นแบบไหน ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ต้องรู้ประวัติบ้าง
ถ้าคุณเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ ต้องการรับข้าราชการคนใหม่ คุณมีเหตุผลอย่างไรในการเลือก ในทางกลับกัน ทำอย่างไรจะให้กรรมการสอบสัมภาษณ์เห็นความแตกต่างในความเหมือนข องผู้สมัครสอบสัมภาษณ์เช่นคุณ และเทคะแนนให้คุณ? หากคุณเอาใจกรรมการมาใส่ใจคุณ คุณจะสอบสัมภาษณ์ได้ไม่ยาก
1. เมื่อคุณทราบว่าสอบผ่านข้อเขียนแล้ว ขั้นแรก ให้คุณติดตามข่าววัน เวลา สอบสัมภาษณ์ให้ดี เตรียมเอกสารให้พร้อม เอกสารบางอย่างอาจต้องยื่นก่อนวันสอบสัมภาษณ์ เช่น ตอนสมัคร คุณยื่นไว้ไม่ครบ แต่เขาให้โอกาสคุณไปสอบข้อเขียนก่อน เอกสารที่ต้องเตรียมไปวันสัมภาษณ์ เบื้องต้น 1.1 บัตรประจำตัวผู้สอบ 1.2 บัตรประชาชน 1.3 สำเนาทะเบียนบ้าน 1.4 ปริญญาบัตร หรือวุฒิบัตร และทรานสคริป ฉบับภาษาไทย 1.5 ใบสมรส , ใบหย่า ,ใบเปลี่ยนเชื่อ ,ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี) 1.6 ใบรับรองแพทย์ 1.7 ใบสำคัญทางทหาร (ถ้ามี) 1.8 ใบเฉพาะวิชาชีพ (สำหรับบางตำแหน่ง เช่น ศึกษา3 ได้แก่ใบประกอบวิชาชีพครู ,วิศวกร3 ได้แก่ ใบอนุญาตวิชาชีพวิศวกรรม เป็นต้น)
กรณีถ่ายสำเนาควรถ่ายให้สะอาดๆ สุดๆ ไม่ใช่กระดำกระด่าง และให้ถ่ายเป็น A4 เท่านั้น
2. วางแผนเรื่องตารางเวลาให้รอบคอบ เพราะส่วนใหญ่คุณทำงานทุกวันอยู่แล้ว ธุรกิจยุ่งเหยิง จนลืมวันสำคัญในชีวิต ซึ่งเป็นวันตัดสินชะตาชีวิตคุณ ควรตรวจดูวันเวลาที่สอบสัมภาษณ์ รวมไปถึงลำดับที่เข้าสอบสัมภาษณ์ และควรไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลาเล็กน้อยโดยฉบับลำดับต้นๆ ต้องรอให้สัมภาษณ์ให้ทันที สำหรับลำดับท้ายๆ ควรไปรอตั้งแต่การเริ่มการสอบสัมภาษณ์ ไม่ใช่ไปตอนที่ตัวเองคิดว่าจะถูกเรียกสัมภาษณ์ มาสายอาจถูกตัดสิทธิได้ อย่าวางใจในระบบขนส่ง (รถไฟ รถทัวร์) ของเรามากนัก
3. เตรียมตัวด้านวิชาการไว้บ้าง ได้แก่ ลักษณะงานที่ปฏิบัติในตำแหน่งที่สอบได้ (ดูจากคู่มือรับสมัครสอบจะเขียนบรรยายไว้อย่างละเอียด) ศึกษาข้อมูลการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดูข่าวทางทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงก่อนสัมภาษณ์ 1-5 วัน
4. การเตรียมตัวที่จำเป็นอีกข้อหนึ่ง คือ เตรียมนำเสนอตัวเอง หรือจุดเด่นของคุณต่อหน้ากรรมการสัมภาษณ์ คุณควรฟิตซ้อมเรื่องนี้ไว้ตามสมควร เพื่อจะได้ราบรื่นในวันสอบจริง จะลองซ้อมด้วยตัวเองหน้ากระจก หรือซ้อมให้เพื่อนฟังก็ได้ ปกติในการสอบสัมภาษณ์กรรมการจะขอให้คุณนำเสนอตัวเอง เช่น ประวัติการศึกษา หน้าที่การงานในอดีตและปัจจุบัน เหตุผลและมูลจูงใจที่มาสอบตำแหน่งนี้ ส่วนเวลาที่เหลือจะเปิดโอกาสให้ตอบข้อซักถามกับกรรมการ
ในวันสอบสัมภาษณ์ต้องแต่งกายให้เรียบร้อยและสะอาดสะอ้าน ทรงผม เล็บมือ ฯลฯ ต้องดูดี ผู้ชายควรสวมเชิ้ตสีสุภาพ ผูกเนคไทให้เรียบร้อยก็ดี ส่วนผู้หญิงควรนุ่งกระโปรง สวมเสื้อสไตส์สุภาพ (จะใส่สูทด้วยก็ได้) งดเว้นการย้อมผมในสีต่างๆ ชั่วคราว และไม่ควรโป้โชว์ ที่ทำให้หัวใจกรรมการหวั่นไหว เพราะไม่ช่วยคะแนนดีขึ้นแต่อย่างใด
5. ก่อนเข้าห้องสอบให้สำรวจว่าปิดเครื่องมือสื่อสารแล้วหรือยัง ถึงแม้คุณจะทำธุรกิจตลอดเวลาก็ตาม เพื่อจะไม่รบกวนการสัมภาษณ์และสะดุดให้เสียอารมณ์กรรมการ เมื่อเข้าไปในห้องสอบ ต้องมีท่าทีนอบน้อม ตามธรรมเนียมไทยที่ดี มีสัมมาคารวะ ทั้งขามาและขากลับ ต้องยกมือไหว้กรรมการทุกท่าน (ถึงแม้บางท่านจะอายุน้อยกว่าคุณก็ตามที)
6. ตอบทุกคำถามอย่างมั่นใจ แต่ไม่โอหัง หรือขี้โม้จนน่าหมั่นใส้ รวมทั้งไม่ใช้ท่าทีขี้เล่น หรือลุกลี้ลุกรน
7. ต่อไปนี้คือเกณฑ์ทั่วไปในการพิจารณาให้การสัมภาษณ์ บางครั้งดูเหมือนตอบคำถามกรรมการได้หมด แต่ตกสัมภาษณ์ เพราะการสอบสัมภาษณ์ มิใช่เป็นการตอบคำถามแต่เพียงอย่างเดียว แต่คณะกรรมการจะพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้ 1 ) ความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ รวมถึงความร่วมมือจากส่วนอื่นที่สัมพันธ์กับคุณ เช่น ครอบครัวคุณ ความมั่นใจว่าคุณจะเป็นข้าราชการที่ดี 2 ) บุคลิกภาพและความเป็นผู้นำ ดูจากเรื่องราวที่คุณแนะนำตัวเอง การจัดเวลานำเสนอ การแต่งกาย การพูดจา 3 ) การนำเสนอความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่น สังคม ประเทศชาติ
8. คำถามสุดฮิตติดชาร์ท ที่ถูกต้อนเป็นประจำ 1 ) ตำแหน่งคุณใหญ่โตดูแลงานมากมาย เงินเดือนก็เยอะ มารับราชการทำไม 2 ) เหตุใดมาสอบที่นี่ บ้านอยู่ ....... ใกลจากที่นี่จะตายไป 3 ) คุณอยู่แถวจังหวัด.... ทำไมไม่สอบจังหวัด...... เพราะอยู่ใกล้บ้านคุณ 4 ) คุณคิดว่า บรรจุตำแหน่งนี้แล้ว จะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ให้กับท้องถิ่นของคุณ 5 ) ที่ทำงานของคุณ ที่บ้านของคุณไม่สนับสนุนให้คุณรับราชการ คุณแอบมาสอบไม่มีปัญหาเหรอ 6 ) คุณต้องอยู่ที่นี่อย่างน้อย 2 ปีตามระเบียบใหม่ จะไม่มีปัญหากับครอบครัวเหรอ 7 ) ค่าครองชีพสูงมาก เงินเดือนคุณแค่นี้ จะไหวหรือ
เตรียมคำตอบของคำถามเหล่านี้ให้ดีๆ ไม่ต้องเกร็งว่าจะตอบผิด เพราะคำถามเหล่านี้ดูไหวพริบปฏิภาณ และปฏิกิริยาผู้ถูกสอบสัมภาษณ์ ตอบไปเถอะไม่มีถูกผิด ข้อสำคัญใช้วาจาให้สุภาพ ไม่ก้าวร้าว หรือโต้ตอบกรรมการ กรณีเจอคำถามยั่วโทสะ เพราะกรรมการต้องการทดสอบคุณเรื่องอารมณ์
สุดท้ายนี้ไม่ควรท้อใจว่าจะปิ๋ว เพราะรู้สึกตอบคำถามได้ไม่ค่อยดี จนลืมติดตามผลรอบสุดท้าย เพราะเมื่อสอบได้แล้ว ต้องมีการรายงานตัว นั่นคือสิ่งที่คุณรอมิใช่หรือ
ขอขอบคุณ : แอ๊คกรุ๊ป |
|