ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
จัดวางการรถไฟแลทางหลวง
พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
                       
 
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยมีเหตุสมควรที่จะจัดวางการรถไฟแผ่นดิน รถไฟราษฎร์และทางหลวงให้เรียบร้อยดียิ่งขึ้น และเพื่อรวบรวมบทกฎหมายข้อบังคับในเรื่องนี้เข้าไว้เป็นหมวดหมู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้
 
ข้อความเบื้องต้น
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔”
 
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) คำว่า “รถไฟ” หมายความว่ากิจการที่จัดทำขึ้นเพื่อหาประโยชน์ด้วยวิธีบรรทุก ส่งคนโดยสารและสินค้าบนทางซึ่งมีราง ส่วนรถไฟซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นตลอดทั้งสายบนถนนหลวงของนครหนึ่งหรือเมืองหนึ่งนั้น ให้เรียกว่า “รถราง”
(๒) คำว่า “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่าที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
(๓) คำว่า “ทางรถไฟ” หมายความว่าถนนหรือทางซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถ
(๔) คำว่า “เครื่องประกอบทางรถไฟ” หมายความว่า สถานี สำนักงานที่ทำการ คลังไว้สินค้า เครื่องจักรประจำที่ และสรรพสิ่งของทั้งปวงที่ก่อสร้างไว้เพื่อประโยชน์ของรถไฟ
(๕) คำว่า “รถ” หมายความว่ารถจักร รถบรรทุก รถคนโดยสารหรือรถขนของซึ่งมีล้อครีบสำหรับเดินบนราง
(๖) คำว่า “พัสดุ” หมายความว่ารางอะไหล่ ไม้หมอน หมุดควงและแป้นควง เครื่องอะไหล่สำหรับรถ เครื่องประกอบสำหรับสร้างสะพาน ของเครื่องใช้ในการก่อสร้าง เครื่องมือ วัตถุเชื้อเพลิง น้ำมันหยอดเครื่อง หรือของสิ่งอื่น ๆ ซึ่งรถไฟเก็บสะสมไว้ใช้
(๗) คำว่า “พนักงานรถไฟ” หมายความว่าบุคคลที่รถไฟได้จ้างไว้หรือได้มอบหน้าที่ให้กระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของรถไฟ
(๘) คำว่า “หัตถภาระ” หมายความว่าถุง ย่าม ห่อผ้า หรือกระเป๋าถือทุกชนิด ซึ่งผู้โดยสารนำไปในห้องรถโดยสาร เพื่อใช้สอยเองหรือเพื่อความสะดวก
(๙) คำว่า “ครุภาระ” หมายความว่าสรรพสิ่งของเครื่องใช้ทุกชนิดซึ่งผู้โดยสารอาจนำบรรทุกในรถสัมภาระ
(๑๐) คำว่า “ห่อวัตถุ” หมายความว่าห่อของ ถุง หีบ ตะกร้า และของสิ่งอื่น ๆ (รวมทั้งผลไม้ ผัก ปลา เป็ด ไก่ ห่าน ฯลฯ) ที่บรรทุกได้ในขบวนรถโดยสารตามอัตราระวางบรรทุกห่อวัตถุ
(๑๑) คำว่า “สินค้า” หมายความว่าสรรพสิ่งของหรือสินค้าทั้งปวงที่ส่งไปตามอัตราสินค้า
(๑๒) คำว่า “ของมีชีวิต” หมายความว่าสัตว์มีชีวิตทุกอย่างที่ส่งไปในขบวนรถสินค้าหรือขบวนรถอื่น
(๑๓) คำว่า “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่าบุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้สร้างรถไฟได้เป็นพิเศษ
(๑๔) คำว่า “ทางหลวง” หมายความว่าบรรดาถนนหลวง ทางเกวียนและทางต่าง อันอยู่ในความกำกับตรวจตราแห่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล
(๑๕) คำว่า “ทางราษฎร์” หมายความว่าถนนหนทาง ทางเกวียนและทางต่างอย่างอื่น ๆ นอกจากที่จัดเป็นทางหลวง
(๑๖) คำว่า “ทางน้ำ” หมายความว่า แม่น้ำ ลำน้ำ และคลองที่เรือเดินได้
 
มาตรา ๔ รถไฟจัดแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
(๑) รถไฟแผ่นดิน
(๒) รถไฟผู้รับอนุญาต
(๓) รถไฟหัตถกรรม
 
มาตรา ๕ การกำหนดประเภทรถไฟก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทรถไฟก็ดี ท่านบังคับว่าจำต้องมีประกาศพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๖ ในส่วนรถไฟทั้งหลายนอกจากรถไฟหัตถกรรม
(๑) ห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ
(๒) ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้น ๆ ได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
(๓) ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง รถและพัสดุของรถไฟ
 
มาตรา ๗  มาตรา ๗ ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้สืบไป แม้ถึงว่าจะมีข้อความกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี บทพระราชบัญญัติทั้งหลายนี้ซึ่งว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและความปราศภัยแห่งประชาชน กับทั้งว่าด้วยการสอดส่องและการกำกับตรวจตราโดยสภากรรมการรถไฟนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่บรรดารถไฟราษฎร์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาจักรในวันที่ออกใช้พระราชบัญญัตินี้ด้วย
 



ภาคที่ ๑
ว่าด้วยรถไฟแผ่นดิน
                       
 
ส่วนที่ ๑
ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป
                       
 
มาตรา ๘ รถไฟหลวงนั้น เป็นสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความบังคับบัญชาของกรมรถไฟ ขึ้นอยู่ในกระทรวงเศรษฐการ มีอธิบดีเป็นหัวหน้าบัญชากิจการ อยู่ภายใต้ความบังคับบัญชาและรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
 
มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการรถไฟขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย
(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธาน อธิบดีกรมรถไฟ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และ
(๒) กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งเจ็ดนาย เลือกจากผู้มีความรู้ความชำนาญในกิจการซึ่งเกี่ยวกับการรถไฟ หรือเกี่ยวกับกฎหมาย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการจะได้ประกาศตั้งขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการรถไฟมีหน้าที่ควบคุมรถไฟราษฎรตามอำนาจและหน้าที่ซึ่งมีบทกำหนดไว้ว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของสภากรรมการรถไฟ ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔
ในส่วนรถไฟหลวง ให้คณะกรรมการนี้มีหน้าที่รับปรึกษา ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเสนอในเรื่องต่อไปนี้
๑. โครงการและนโยบายของการรถไฟ
๒. การลงทุนใหม่
๓. งบประมาณประจำปี และ
๔. กิจการอย่างอื่นเกี่ยวด้วยการรถไฟ
คณะกรรมการรถไฟอาจร้องขอให้บุคคลภายนอกมาให้คำแนะนำและความเห็นและอาจเชิญเจ้าหน้าที่คนใด ๆ มาชี้แจงข้อความ หรืออาจตั้งอนุกรรมการขึ้นสอบสวนข้อความใด ๆ ได้
 
มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นผู้สั่งให้เรียกประชุมคณะกรรมการรถไฟ
การประชุมของคณะกรรมการนี้ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าแปดนาย จึงเป็นองค์ประชุม
การลงมติให้ถือเอาคะแนนข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
 
มาตรา ๑๒ ผู้บัญชาการจะได้ตั้งอาณาบาลรถไฟ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) จัดการสืบสวนในเรื่องที่ผู้โดยสารก็ดี หรือบุคคลอื่น ๆ ก็ดี หรือพนักงานรถไฟก็ดี ได้กระทำผิดหรือกระทำการเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขืนขัดต่อพระราชกำหนดกฎหมายและกฎข้อบังคับของรถไฟ แล้วให้จดหมายบันทึกเหตุการณ์นั้น ๆ ลงไว้ในสมุดบัญชีความ
(๒) รายงานเหตุการณ์ที่มีผู้กระทำผิดนั้นต่อกรมรถไฟแผ่นดินและแจ้งให้อัยการท้องที่ซึ่งมีอำนาจนั้นทราบ เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องฟ้องร้องเป็นคดีอาญา
(๓) จับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า หรือที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำผิดเป็นอาญาแผ่นดิน เมื่อเห็นว่าจำเป็น และให้ส่งตัวผู้ผิดนั้นไปยังอัยการ
(๔) รายงานเหตุการณ์เสียหายต่อกรมรถไฟแผ่นดิน และจัดการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนกรมรถไฟแผ่นดินต่อศาลซึ่งมีอำนาจที่จะรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
 
มาตรา ๑๓ อาณาบาลรถไฟเป็นผู้รับเรื่องราวหรือคำร้องขอค่าเสียหายของบุคคลผู้ซึ่งร้องทุกข์ว่าได้รับความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งอันเนื่องแต่การก่อสร้าง การบำรุง หรือลักษณะจัดการงานแห่งรถไฟ
 
มาตรา ๑๔ ในขณะที่อาณาบาลรถไฟไม่ได้อยู่ประจำการนั้น ให้นายสถานี พนักงานกำกับรถ หรือผู้แทนเมื่อกระทำการตามหน้าที่นั้น มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับอาณาบาลรถไฟทุกประการ
 
มาตรา ๑๕ กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะออกกฎข้อบังคับ และตั้งอัตราค่าระวางขึ้นไว้ได้ เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นในข้อต่อไปนี้ คือ
(๑) ว่าด้วยแบบและการสร้างรถ
(๒) ว่าด้วยวิธีจัดระเบียบการเดินรถและวางกำหนดอัตราให้รถวิ่งเร็วหรือช้าเพียงไร และให้เดินไปได้โดยสถานใด
(๓) ว่าด้วยอัตราค่าระวางซึ่งผู้โดยสารต้องเสีย
(๔) ว่าด้วยจำนวนผู้โดยสารในห้องรถห้องหนึ่ง ๆ ไม่ให้เกินกว่ากำหนดอย่างสูงตามที่จะได้ตั้งขึ้นไว้
(๕) ว่าด้วยการบรรทุกผู้โดยสารและจัดที่ให้ผู้โดยสารอยู่และว่าด้วยหัตถภาระของผู้โดยสารนั้น
(๖) ว่าด้วยรถขายอาหาร และห้องขายอาหาร
(๗) ว่าด้วยอัตราระวางบรรทุก ข้อสัญญาและข้อไขสัญญาที่กรมรถไฟแผ่นดินจะรับบรรทุก รับรักษาของ หรือรับฝากหัตถภาระ ครุภาระ ห่อวัตถุและสินค้าไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งของรถไฟในนามของผู้เป็นเจ้าของ ผู้ส่งของหรือผู้รับของนั้น
(๘) ว่าด้วยกำหนดเวลาที่รถไฟจะออกเดิน
(๙) ว่าด้วยการเดินรถ
(๑๐) ว่าด้วยเครื่องอาณัติสัญญาและโคมไฟของรถไฟ
(๑๑) ว่าด้วยการสับเปลี่ยนรถ หรือจัดให้รถหลีกรางกัน
(๑๒) ว่าด้วยกุญแจและเหล็กเปิดปิดราง รางซึ่งผ่านกัน และทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ
(๑๓) ว่าด้วยจัดการเพื่อระงับ หรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ และเกี่ยวกับประชาชนหรือพนักงานรถไฟ
(๑๔) ว่าด้วยความปราศภัย ความผาสุก และความเรียบร้อยของประชาชนในระหว่างเวลาเดินทาง อยู่ในรถหรือในที่ดินของรถไฟ แต่อัตราค่าระวางโดยสารและค่าบรรทุกอย่างสูงนั้น กรมรถไฟแผ่นดินและกระทรวงพาณิชย์ต้องกำหนดโดยมีข้อตกลงกันก่อน
กฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางดังกล่าวนี้ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้แจ้งความออกประกาศให้ใช้แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้ทีเดียว
 
มาตรา ๑๖ กฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางที่ว่าด้วยการเดินรถและลักษณะจัดการงานแห่งรถไฟนั้น ให้พิมพ์และปิดประจำไว้ให้ประจักษ์แจ้งที่สถานีรถไฟทุกแห่ง เมื่อได้ทำเช่นนี้แล้วท่านให้สันนิษฐานว่าข้อความในกฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางนั้นเป็นอันทราบแก่ชนทั้งปวงผู้ซึ่งได้ใช้รถไฟนั้น
 
มาตรา ๑๗ รถไฟทหารบกนั้นสร้างและรักษาด้วยกำลังของทหารบก และใช้เงินในแผนกทหารบกด้วย
การบังคับบัญชาและกำกับตรวจตรารถเหล่านี้ ในเวลาสันติภาพให้อยู่ในอำนาจของผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
 


ส่วนที่ ๒
ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน
                       
 
มาตรา ๑๘ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งรัฐบาลต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น ให้อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน กล่าวคือ การบังคับให้ขายตามข้อความดังกล่าวไว้ในส่วนที่ ๒ นี้
 
มาตรา ๑๙ เมื่อได้ตกลงว่าจะสร้างทางรถไฟขึ้นแล้ว แต่ยังมิทันได้ตรวจวางแนวทางให้แน่นอน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินภายในที่ ๆ คิดว่าจะสร้างทางรถไฟขึ้นนั้นก่อน
พระราชกฤษฎีกานั้นให้มีอายุใช้ได้สองปี หรือตามกำหนดเวลาที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อทำการตรวจวางแนวทางให้แน่นอนดังแจ้งไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น
 
มาตรา ๒๐ ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ
 
มาตรา ๒๑ ภายในอายุเวลาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินนั้น พนักงานรถไฟมีสิทธิเข้าไปกระทำกิจการในที่ดินของชนทั้งหลายตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อตรวจวางแนวทางให้แน่นอน เป็นต้นว่า วัดระยะ ปักกรุย เก็บตัวอย่างศิลา ทรายและวัตถุอื่น ๆ แต่ให้พึงเข้าใจว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่ปกครองทรัพย์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะได้รับค่าทำขวัญ เพื่อทดแทนการเสียหายอันเกิดขึ้นจากการตรวจทำแผนที่สร้างทางรถไฟนั้น
 
มาตรา ๒๒ เมื่อเจ้าพนักงานได้ตรวจและวางแนวทางรถไฟอันแน่นอนได้ตลอดทั้งสายหรือทำได้แต่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งเพื่ออนุญาตให้จัดซื้อที่ดิน ในพระราชกฤษฎีกานั้นให้ลงกระทงความดังนี้ คือ
(๑) ความประสงค์ที่ให้จัดซื้อที่นั้นเพื่อเหตุการณ์ใด
(๒) ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องประสงค์ให้จัดซื้อและตำบลเขตแขวงซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
กับให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตที่ดินที่ต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟและเขตที่ดินทุกรายที่อนุญาตให้จัดซื้อหมดทั้งแปลงหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไว้ท้ายประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย
 
มาตรา ๒๓ พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินนั้นให้ลงพิมพ์ประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๒๔ ให้ทำสำเนาพระราชกฤษฎีกาโดยมีเจ้าหน้าที่รับรอง กับแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น มอบส่งให้ไว้ ณ สถานที่เหล่านี้ คือ
(๑) ที่ว่าการกรมรถไฟแผ่นดิน
(๒) ศาลารัฐบาลมณฑล ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการในตำบลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่
(๓) หอทะเบียนที่ดินในมณฑลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่
 
มาตรา ๒๕ จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟแผ่นดินทันทีแต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าปกครองยึดถือทรัพย์นั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้ว ตามความที่ท่านบัญญัติไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้
อนึ่งตั้งแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นต้นไป ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีสิทธิในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น จำหน่ายหรือโอนสิทธิในทรัพย์ให้แก่บุคคลผู้อื่นด้วยประการใด ๆ บุคคลผู้รับโอนหรือรับช่วงนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทำขวัญเท่านั้น
 
มาตรา ๒๖ เงินค่าทำขวัญนั้นท่านให้กำหนดให้แก่
(๑) เจ้าของที่ดินที่ต้องจัดซื้อ
(๒) เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ (กล่าวคือ สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างถึงแม้ว่าจะทำด้วยไม้ แต่ต้องเป็นเสาไม้จริงหรือปลูกเป็นเสาก่อวางคาน) ซึ่งมีอยู่ในที่ดินนั้นในวันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินหรือว่าได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
(๓) ผู้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ซึ่งต้องจัดซื้อ แต่การเช่าถือนั้นต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และได้ทำไว้ก่อนวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน หรือได้ทำขึ้นภายหลังวันในประกาศนั้นโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ และการเช่าถือนั้นยังไม่สิ้นอายุไปก่อนวันหรือภายในวันที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าปกครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น แต่เงินค่าทำขวัญในเรื่องเช่าถือดังว่ามานี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง ๆ โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก่อนถึงวันกำหนดในสัญญาเช่านั้น
(๔) เจ้าของต้นผลไม้หรือพืชพันธุ์ไม้ซึ่งอยู่ในที่ดินนั้นในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน หรือที่ปลูกขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
(๕) เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รื้อได้ซึ่งอยู่ในที่ดินนั้น ในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน แต่เงินค่าทำขวัญในเรื่องนี้พึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้อขนและค่าที่จะต้องปลูกสร้างขึ้นใหม่
มาตรา ๒๗ เมื่อต้องจัดซื้อสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้แต่ส่วนหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้จัดซื้อส่วนที่ยังเหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้นั้นด้วย
 
มาตรา ๒๘ เมื่อได้จัดซื้อที่ดินรายใดไว้ไม่หมดทั้งแปลง ทำให้เหลือเนื้อที่เป็นเศษอยู่ไม่ถึงส่วนหนึ่งในสามของจำนวนที่ดินนั้น และเศษที่เหลือนั้นมีน้อยกว่าหนึ่งร้อยตารางเมตร ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้จัดซื้อที่ดินนั้นหมดทั้งแปลงได้ แต่ที่ที่เหลือนั้นต้องไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน
 
มาตรา ๒๙ เงินค่าทำขวัญที่จะใช้เป็นค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้นั้น พึงกำหนดให้ตามราคาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายกันในตลาดในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินและตามแต่พฤติการณ์พิเศษเป็นเรื่อง ๆ ไป
เมื่อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ต้องจัดซื้อไว้แต่ส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นต้องลดน้อยถอยราคาลงไปแล้ว ก็ให้กำหนดค่าทำขวัญให้สำหรับส่วนที่เหลืออันต้องลดน้อยถอยราคาไปนั้นด้วย
เมื่อผู้เป็นเจ้าของอาศัยอยู่ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันต้องจัดซื้อนั้นก็ดี หรือประกอบกิจการค้าขายโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่นั้นก็ดี ให้กำหนดค่าทำขวัญให้สำหรับการเสียหายโดยตรง ซึ่งผู้นั้นได้เสียไปในการที่ต้องออกจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย
 
มาตรา ๓๐ เมื่อการสร้างทางรถไฟและเครื่องประกอบทางรถไฟกระทำให้ทรัพย์ซึ่งเหลือจากที่จัดซื้อนั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้น ท่านให้เอาจำนวนราคาทรัพย์ที่ได้ทวีราคาสูงขึ้นนี้หักทอนออกจากจำนวนเงินค่าทำขวัญ แต่ทั้งนี้อย่าให้ถือว่าราคาทรัพย์ที่ได้ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญ เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์กลับต้องใช้เงินให้อีกเลย
 
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้คิดค่าทำขวัญให้สำหรับราคาที่ได้ทวีสูงขึ้นในทรัพย์เหล่านี้ คือ
(๑) สิ่งปลูกสร้าง หรือเพิ่มเติม หรือการเพาะปลูก หรือการกระทำให้ที่เจริญขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการเช่าถือซึ่งได้กระทำขึ้นภายหลังวันในประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินโดยมิได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน (ยกเว้นแต่การทำนา หรือทำสวน ที่จัดทำอยู่ตามปรกติ)
(๒) สิ่งปลูกสร้าง หรือเพิ่มเติม หรือการเพาะปลูก หรือการกระทำให้ที่เจริญขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการเช่าถือซึ่งปรากฏว่าได้กระทำให้มีขึ้นก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินโดยกลอุบายฉ้อเพื่อประสงค์จะได้รับเงินค่าทำขวัญเท่านั้น
 
มาตรา ๓๒ ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน นับจำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดิน เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอจะโปรดเกล้า ฯ ให้มีกรรมการจัดซื้อที่ดินสามคน ๆ หนึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมรถไฟแผ่นดิน อีกสองคนเป็นเจ้าพนักงานในกระทรวงซึ่งปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานในกระทรวงเกษตราธิการ หรือเจ้าพนักงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตามแต่จะเห็นเป็นการสมควร
หน้าที่ของกรรมการจัดซื้อที่ดินนั้น คือ ตรวจดูที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องจัดซื้อ และพยายามไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
นามกรรมการจัดซื้อที่ดินและตำบลท้องที่ซึ่งกรรมการจะต้องออกไปกระทำการตามหน้าที่นั้น ให้ลงประกาศระบุในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๓๓ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่นำข้อความในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินออกโฆษณาให้ราษฎรในท้องที่ซึ่งให้จัดซื้อที่ดินนั้นทราบโดยปิดประกาศแจ้งความไว้ ณ ที่ว่าการ และโดยวิธีหนึ่งวิธีใดตามที่มีอำนาจจะโฆษณาการให้ทราบได้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่นั้นพึงแจ้งความให้ทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะอ้างว่าตนมีสิทธิ หรือผลประโยชน์ในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดการซื้อนั้นแล้ว ให้ผู้นั้นร้องขอต่อกรรมการจัดซื้อที่ดินภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันที่ได้ประกาศแจ้งความให้ทราบนั้น
 
มาตรา ๓๔ กรรมการจัดซื้อที่ดินมีหน้าที่ต้องตรวจพิจารณาคำร้องที่มีผู้ร้องขอไว้ด้วยวาจา หรือที่ยื่นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามข้อความในมาตราก่อนนี้
ถ้ามีข้อโต้เถียงไม่ตกลงกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินพยายามที่จะไกล่เกลี่ยให้ปรองดองตกลงกันได้
เมื่อได้พิจารณาคำร้องตลอดแล้ว ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินรวบรวมถ้อยคำสำนวนที่ร้องขอกรรมสิทธิ์ หรือร้องขออย่างอื่นซึ่งจะได้รับค่าทำขวัญนั้นเข้าไว้เป็นเรื่อง และแบ่งแยกให้รู้ว่าเป็นคำร้องที่ไม่มีข้อโต้เถียงประเภทหนึ่ง และเป็นคำร้องที่ยังมีข้อโต้เถียงอีกประเภทหนึ่ง
 
มาตรา ๓๕ กรรมการจัดซื้อที่ดินพึงกระทำความตกลงกับผู้เป็นเจ้าของสิทธิที่ไม่มีข้อโต้เถียงดังกล่าวมานั้น และพยายามไกล่เกลี่ยให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญที่จะใช้ให้นั้น
(๑) ถ้าตกลงกันได้ก็ให้จดข้อที่ตกลงสัญญานั้นลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้ลงนามกรรมการจัดซื้อที่ดินกับผู้เป็นเจ้าของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าพยานคนหนึ่งเมื่อได้ใช้เงินค่าทำขวัญตามที่ตกลงกันนั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้ายึดถือปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้
(๒) ถ้าไม่ตกลงกัน ให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งความแก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเด็ดขาดครั้งที่สุดว่าจะให้ราคาแก่ฝ่ายนั้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถ้าฝ่ายนั้นไม่ทำคำรับภายในกำหนดเวลาสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนสำหรับชี้ขาดในเรื่องราคา และถ้าอนุญาโตตุลาการนั้นมีความเห็นก้ำกึ่งไม่ตกลงกันก็ให้อนุญาโตตุลาการนั้นเลือกผู้เป็นประธานขึ้นคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้ชี้ขาดหรือจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานชี้ขาดก็ได้ ตามบทในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น
 
มาตรา ๓๖ เมื่อบุคคลซึ่งต้องตามบทสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทำขวัญในฐานที่เป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นหาตัวไม่พบ ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินกำหนดจำนวนเงินค่าทำขวัญให้ตามราคาที่เห็นสมควร และวางเงินเท่าจำนวนนั้นต่อศาล เมื่อได้วางเงินดังว่านี้แล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้
ถ้าภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับตั้งแต่วันที่วางเงิน ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์มาอ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์นั้น และไม่ยอมรับเอาราคาตามที่กรรมการจัดซื้อที่ดินได้กำหนดไว้ ก็ให้กรมรถไฟแผ่นดินและผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์เลือกตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด ตามข้อความดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนนี้
เมื่อพ้นกำหนดเวลาหกเดือนนั้นแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์จะร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ นอกจากจะขอรับเงินค่าทำขวัญที่ได้วางไว้ต่อศาลดังกล่าวแล้วเป็นการใช้หนี้กันเสร็จ
 
มาตรา ๓๗ ในเวลาก่อนที่ได้ใช้ค่าทำขวัญให้แก่ผู้ที่ควรได้รับหรือก่อนสิ้นกำหนดเวลาหกเดือนดังกล่าวมาในมาตราก่อน ถ้ามีข้อโต้เถียงกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์ที่ต้องจัดซื้อนั้น หรือด้วยเรื่องเงินค่าทำขวัญว่าจะจ่าย หรือจะแบ่งปันกันประการใดก็ดี ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินหรือกรมรถไฟแผ่นดินสุดแล้วแต่เรื่อง พยายามไกล่เกลี่ยผู้ที่พิพาททุกฝ่ายให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
(๑) ถ้าตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ ให้นำเงินเท่าจำนวนที่ตกลงนั้นวางต่อศาลหลวง เมื่อได้วางเงินดังนี้แล้ว ให้กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้าปกครองทรัพย์นั้นได้
(๒) ถ้าไม่ตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ ให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งแก่ผู้พิพาทนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเด็ดขาดครั้งที่สุดว่าจะให้ราคาเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถ้าผู้พิพาทไม่ยอมรับเอาราคานี้ภายในกำหนดเวลาสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินกับผู้พิพาทมีสิทธิที่จะเลือกตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคน และถ้าอนุญาโตตุลาการทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ปรองดองตกลงกันได้ให้อนุญาโตตุลาการนั้นเลือกตั้งผู้เป็นประธานคนหนึ่งเป็นผู้ชี้ขาด หรืออนุญาโตตุลาการนั้นจะร้องขอต่อศาลให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานเพื่อชี้ขาดก็ได้ ตามบทแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น
ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นภายหลังเวลาที่กรมรถไฟได้ใช้เงินค่าทำขวัญแก่ผู้ที่ควรได้รับนั้นแล้วก็ดี หรือภายหลังกำหนดเวลาหกเดือนดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนนี้ก็ดี ท่านว่าผู้พิพาทนั้นจะฟ้องร้องได้แต่เฉพาะบุคคลผู้ซึ่งได้รับเงินค่าทำขวัญนั้นไป หรือผู้ที่ต้องชื่อระบุให้เป็นผู้รับเงินค่าทำขวัญตามที่วางไว้ต่อศาลเท่านั้น
 
มาตรา ๓๘ ถ้าว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญจะต้องกำหนดโดยการตั้งอนุญาโตตุลาการในเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งอนุญาตให้กรมรถไฟแผ่นดินเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้แต่ท่านว่าในการเช่นนี้ ให้กรมรถไฟแผ่นดินวางเงินตามจำนวนที่ศาลจะเห็นว่าพอเพียงเพื่อใช้ค่าทำขวัญนั้นก่อน
 
มาตรา ๓๙ ถ้าว่าผู้ที่ควรจะได้เงินค่าทำขวัญไม่ยอมรับเงินค่าทำขวัญตามข้อตกลงสัญญาหรือตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้นำจำนวนเงินค่าทำขวัญนั้นมาวางต่อศาลครบถ้วนแล้ว ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินย่อมมีสิทธิที่จะเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นได้
 
มาตรา ๔๐ ถ้าว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไม่ยอมให้กรมรถไฟแผ่นดินเข้าปกครองทรัพย์เหล่านั้นตามสิทธิที่ได้ให้ไว้โดยพระราชบัญญัตินี้ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอ ท่านว่าศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งบังคับขับไล่บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้นออกจากที่ได้ทันทีแต่ข้อนี้ไม่ขัดขวางต่อการที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้นจะฟ้องร้องว่ากล่าวต่อภายหลัง
 


ส่วนที่ ๓
ว่าด้วยการก่อสร้าง การบำรุง และลักษณะจัดการงาน
                       
 
มาตรา ๔๑ กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จำเป็นตามสมควรแก่การในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ต้องอยู่ในข้อบังคับดังกล่าวไว้ต่อไปนี้
กิจการที่ทำได้นั้นมีอาทิ คือ
(๑) ทำทางผ่านเสมอระดับหรือลอดใต้หรือข้ามที่ดิน ถนนใหญ่น้อย ทางรถไฟ ทางรถราง แม่น้ำหรือลำคลอง และทำการก่อสร้างได้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะทำขึ้นไว้แต่ชั่วคราวหรือว่าทำขึ้นไว้ตลอดกาลก็ดี
(๒) แก้ไขหรือเปลี่ยนทางน้ำไหล ถนนหนทางใหญ่น้อย หรือพูนดินให้สูงกว่าระดับ หรือขุดลดลงให้ต่ำกว่าระดับ ทั้งนี้จะทำขึ้นแต่ชั่วคราวหรือทำขึ้นไว้ตลอดกาลก็ได้
(๓) วางท่อ หรือทำทางระบายน้ำผ่าน หรือลอดใต้ที่ดินที่อยู่ข้างเคียงกับรถไฟ เพื่อไขน้ำเข้ามาหรือให้ออกไปจากรถไฟ
(๔) ปลูกหรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด เครื่องจักร เครื่องบอกอาณัติสัญญาและอื่น ๆ ตามแต่จะเป็นการสะดวก
 
มาตรา ๔๒ เมื่อทางรถไฟจะต้องผ่านข้ามทางหลวง ทางราษฎร์ หรือทางน้ำที่มีอยู่แต่เดิม กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องจัดการให้มีทางชั่วคราวขึ้น เพื่อให้ไปมาได้ในระหว่างเวลาที่กำลังทำการก่อสร้างอยู่นั้นตามแต่ที่จะจัดทำขึ้นได้ และเมื่อได้ทำการก่อสร้างนั้นเสร็จแล้ว ต้องจัดการให้มีทางถาวรเพื่อให้ไปมาได้
 
มาตรา ๔๓ เมื่อทางรถไฟผ่านทางหลวง ทางราษฎร์ หรือทางน้ำโดยมีสะพานข้ามแล้ว สะพานนั้นจะต้องสร้างให้สูงกว่าพื้นระดับทางหลวงหรือทางราษฎร์นั้นไม่น้อยกว่าสามเมตร หรือสูงกว่าระดับน้ำขึ้นสูงตามธรรมดาแห่งทางน้ำนั้นไม่น้อยกว่าสองเมตร
 
มาตรา ๔๔ เพื่อประโยชน์ในการสร้างทางรถไฟนั้น กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงย้ายคู ร่องน้ำ ท่อน้ำ หรือสายไฟฟ้า และมีอำนาจรื้อถอนสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งกีดขวางต่อการก่อสร้างนั้นได้ แต่การเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนนั้นต้องจัดทำไปในทางที่จะทำให้เกิดความเสียหายและทำความไม่สะดวกให้น้อยที่สุดตามแต่จะเป็นไปได้โดยพฤติการณ์ และทั้งต้องกระทำการนั้นอยู่ในความตรวจตราดูแลของบุคคลผู้ซึ่งจำหน่ายน้ำหรือไฟฟ้านั้น เมื่อได้แจ้งความให้บุคคลนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนลงมือทำการ ถ้ามีการเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ กรมรถไฟแผ่นดินต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายนั้น
 
มาตรา ๔๕ ภายในเวลาที่จำเป็นเพื่อการก่อสร้าง หรือเพื่อสร้างทางรถไฟให้แล้วเสร็จก็ดี หรือภายในเวลาที่ต้องจัดซ่อมทางรถไฟอย่างขนานใหญ่ก็ดี กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะสั่งให้เข้าปกครองที่ดินซึ่งติดต่อกับทางรถไฟนั้นได้ชั่วคราว (ยกเว้นแต่สิ่งปลูกสร้าง สวนที่ประดับประดาไว้ชม ถนน สวนปลูกต้นผลไม้ หรือสวนเพาะปลูก) เพื่อขุดเอาศิลา ดินสอพอง ทราย กรวด ดิน หรือวัตถุสิ่งอื่นที่ใช้ในการก่อสร้างหรือการซ่อม หรือเพื่อทำความสะดวกในการก่อสร้าง หรือการซ่อมทางรถไฟนั้น
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้มีคำสั่งดังว่ามานี้แล้ว ให้ทำหนังสือจดบันทึกรายการละเอียดแห่งทรัพย์ที่จะเข้ายึดถือปกครองนั้น แล้วให้เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินกับเจ้าของทรัพย์นั้นลงนามไว้เป็นสำคัญทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นหลักฐานในการที่จะคำนวณค่าเสียหายอันพึงเกิดขึ้นเนื่องแต่การที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้ายึดถือปกครองทรัพย์นั้น
เมื่อได้เลิกถอนการปกครองที่ชั่วคราวดังกล่าวมานั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินต้องใช้เงินค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของทรัพย์ เพื่อทดแทนการเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์นั้น
ถ้าการที่เข้าปกครองนั้น เป็นเวลานานเกินกว่าปีหนึ่งขึ้นไปก็ดี หรือการที่เข้าปกครองนับได้เกินกว่าห้าครั้งก็ดี เจ้าของทรัพย์มีสิทธิที่จะขอให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดซื้อที่นั้นได้ แต่ฝ่ายกรมรถไฟแผ่นดินนั้นย่อมมีสิทธิเสมอที่จะจัดซื้อที่นั้นไว้ได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่จะเห็นสมควร
 
มาตรา ๔๖ เมื่อทางรถไฟได้ตัดผ่านไปในที่ดินแห่งใดที่เป็นของเจ้าของเดียวกัน และทำให้ที่ดินนั้นขาดออกจากกันเป็นสองแปลง ท่านว่าเจ้าของที่ดินนั้นมีสิทธิที่จะเดินข้ามทางรถไฟจากที่แปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่งได้ เพื่อความจำเป็นที่จะต้องใช้หรือที่ได้มุ่งหมายว่าจะต้องใช้ที่ดินนั้นในขณะที่ที่ได้ขาดออกจากกัน แต่การที่จะเดินข้ามดังกล่าวนี้ ต้องไม่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางแก่การเดินรถไฟ และเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของได้แยกขายเป็นแปลง ๆ แล้ว สิทธิในทางเดินนั้นหาได้โอนไปยังผู้ซื้อด้วยไม่
 
มาตรา ๔๗ กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องความรำคาญที่ได้มีขึ้นชั่วคราวแก่บุคคลผู้ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำการก่อสร้างหรือที่ทำการบำรุงทางรถไฟ แต่ในเวลาที่ทำการอันใดอันหนึ่งที่จำเป็นนั้น กรมรถไฟแผ่นดินต้องใช้ความระวังตามความสมควรแก่การณ์นั้น
 
มาตรา ๔๘ กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์ที่อยู่ข้างเคียงในเรื่องความรำคาญ หรือการเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดแต่เสียงรถ ควันไฟ ประกายไฟ ความกระเทือนและเหตุอื่น ๆ ซึ่งเนื่องจากการที่รถไฟเดินไปมา เมื่อความรำคาญหรือการเสียหายนั้นย่อมต้องมีเป็นธรรมดาในการเดินรถไฟ และถึงแม้ว่าจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่เหตุแล้ว ก็ไม่สามารถจะป้องกันได้
มาตรา ๔๙ กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะเข้าทำสัญญากับผู้รับอนุญาตให้สร้างรถไฟ เพื่อให้รถของฝ่ายหนึ่งเดินบนทางรถไฟของอีกฝ่ายหนึ่งได้
 


ส่วนที่ ๔
ว่าด้วยการบรรทุกส่ง
                       
 
มาตรา ๕๐ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบ ในการที่ผู้โดยสารต้องบาดเจ็บเสียหายก็ดี หรือว่าครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้า ซึ่งรับบรรทุกนั้นแตกหักสูญหายก็ดี หรือว่าการบรรทุกส่งนั้น ช้าไปก็ดี ท่านให้บังคับตามพระราชกำหนดกฎหมายส่วนแพ่ง ว่าด้วยการบรรทุกส่ง เว้นไว้แต่จะต้องด้วยบทมาตราดังจะกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ จึงให้ใช้บทมาตรานั้น ๆ บังคับ
 
มาตรา ๕๑ กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าซึ่งบรรทุกส่งไป หรือมอบฝากไว้กับรถไฟนั้น แตกหักบุบสลายหรือว่าสูญหายไป เว้นไว้แต่พนักงานรถไฟจะได้รับของนั้นลงบัญชีประกันและได้ออกใบรับให้ไปเป็นสำคัญ
 
มาตรา ๕๒ เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนำห่อวัตถุหรือสินค้ามา เพื่อบรรทุกส่งไปโดยทางรถไฟพนักงานรถไฟผู้มีหน้าที่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าของหรือผู้ส่งของนั้นจดรายการละเอียดบอกจำนวนของน้ำหนัก และชนิดห่อวัตถุ หรือสินค้าที่นำมาส่งนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ลงชื่อกำกับไว้ด้วย ถ้าแม้ว่าไม่ยอมทำตามดังว่ามานี้ พนักงานรถไฟอาจปฏิเสธไม่ยอมรับไว้บรรทุกก็ได้
ผู้หนึ่งผู้ใดจงใจแสดงรายการสิ่งของอันเป็นความเท็จ ท่านว่ามีความผิดให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
 
มาตรา ๕๓ กรมรถไฟแผ่นดินต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหาย ในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าซึ่งได้รับจดลงบัญชีประกันนั้นเป็นอันตรายสูญหาย หรือว่าส่งเนิ่นช้าไป เว้นไว้แต่จะพิสูจน์ได้ว่าการที่สูญ หรือเสียหาย หรือเนิ่นช้านั้นเป็นด้วยพลาติศัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งวัตถุนั้นเอง หรือเป็นด้วยการชำรุดที่มัดห่อวัตถุนั้น ๆ
 
มาตรา ๕๔ ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องการพาสัมภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าไปกับตัวก็ดี หรือว่ามอบส่งให้บรรทุกไปก็ดี หรือว่าฝากไว้ก็ดี แต่วัตถุเหล่านั้นเป็นของที่อันตรายหรือที่อุจาดลามกแล้ว บุคคลผู้นั้นต้องแจ้งความบอกสภาพแห่งวัตถุนั้นแก่นายสถานีเป็นลายลักษณ์อักษร นายสถานีมีอำนาจที่จะไม่ยอมรับฝากหรือรับส่งบรรทุกวัตถุนั้นก็ได้ตามแต่จะเห็นเป็นการสมควร
ถ้าว่าไม่ได้แจ้งความให้ทราบดังว่ามานั้นก็ดี หรือว่าไม่ได้ขีดหมายบอกสภาพแห่งวัตถุนั้น ๆ ไว้นอกห่อให้เห็นโดยแจ้งชัดก็ดี ท่านว่าพนักงานรถไฟคนใดคนหนึ่งย่อมมีอำนาจที่จะงดส่งวัตถุนั้นเสียได้
ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าห่อใดห่อหนึ่งมีของที่เป็นอันตรายหรือที่อุจาดลามก ท่านว่าพนักงานรถไฟคนใดคนหนึ่งมีอำนาจที่จะเปิดห่อของนั้นออกตรวจดู เพื่อให้รู้ว่ามีของสิ่งใดอยู่ในห่อนั้นได้
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่แจ้งความให้พนักงานรถไฟทราบ หรือไม่ยอมทำตามคำสั่งของพนักงานรถไฟ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทมาตรานี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท และถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นแก่วัตถุนั้นไซร้ ผู้นั้นยังจำต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอีกโสดหนึ่งต่างหาก
 
มาตรา ๕๕ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าอันได้จดลงบัญชีประกันบรรทุกส่งไปหรือฝากไว้เป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดเป็นจำนวนเงินไม่เกินกว่าห่อละ ๑๐๐ บาท เว้นไว้แต่
(๑) ผู้ส่งหรือฝากของนั้นจะได้แจ้งจำนวน ราคา และบอกสภาพแห่งของที่มีอยู่ในห่อนั้น และ
(๒) ได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้น ตามอัตราค่าประกันให้แก่พนักงานรถไฟผู้มีหน้าที่ พนักงานรถไฟนั้นมีสิทธิที่จะสอบสวนตรวจตราดูตามที่เห็นสมควร เพื่อให้รู้แน่ว่าในห่อนั้นมีสิ่งของตรงตามที่ได้ระบุไว้นั้นหรือไม่
 
มาตรา ๕๖ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ราคาสัตว์ที่บรรทุกส่งไปเป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ
ค่าช้างเชือกหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
ค่าม้าตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท
ค่าลา ล่อ หรือปศุสัตว์ชนิดที่มีเขาตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐ บาท
ค่าแพะ แกะ สุกร สุนัข หรือสัตว์ชนิดอื่นตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๐ บาท
เว้นไว้แต่ผู้ส่งจะได้แจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบในขณะที่นำมาส่งนั้นว่ามีราคาสูงกว่าอัตราที่วางไว้ข้างบนนี้ และทั้งได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าประกันนั้นด้วย
แต่ทั้งนี้ถ้าว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นอันตรายหรือสูญหายไปด้วยเหตุอื่น นอกจากที่เป็นความผิดของพนักงานรถไฟแล้ว ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบเลย
 
มาตรา ๕๗ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่ารถ ล้อเลื่อนที่บรรทุกส่งไปเป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ
ค่ารถจักรสำหรับลากหรือรถยนต์คันหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
ค่ารถ เกวียน หรือรถบรรทุกของคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๕๐ บาท
ค่ารถจักรยานยนต์สองล้อหรือสามล้อคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐ บาท
ค่ารถ ล้อเลื่อนอย่างอื่นคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐ บาท
เว้นไว้แต่ผู้ส่งจะได้แจ้งความให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่นำมาส่งยังรถไฟนั้นว่ารถ ล้อเลื่อนนั้นมีราคาสูงกว่าอัตราที่ได้วางไว้ข้างบนนี้ และทั้งได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าประกันนั้นด้วย
 
มาตรา ๕๘ เมื่อใดกรมรถไฟแผ่นดินจะต้องใช้ราคาของที่ได้สูญหรือเสียหายไปโดยที่ผู้ส่งของได้ระบุแจ้งราคาไว้แล้ว ท่านให้ถือว่า การที่ระบุแจ้งราคาไว้นั้นเป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานว่าของสิ่งนั้นคงมีราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นจริง แต่ทั้งนี้ห้ามมิให้คิดค่าเสียหายให้เกินกว่ากำหนดราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นเลย
 
มาตรา ๕๙ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายนั้น ท่านว่าสิ้นอายุหมดลงตามกำหนดวันดังนี้ คือ
ถ้าเป็นครุภาระ หรือห่อวัตถุ เมื่อครบกำหนดสองวัน นับแต่วันรุ่งขึ้นจากวันที่ของได้มาถึงสถานีที่ได้จัดส่งไปนั้น
ถ้าเป็นสินค้า เมื่อครบกำหนดสองวันนับแต่วันรุ่งขึ้นจากวันที่กรมรถไฟแผ่นดินจะได้แจ้งความให้ผู้ที่จะรับของนั้นทราบ
ถ้าว่าไม่มีผู้ใดมารับครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ ท่านให้เก็บของเหล่านี้รักษาไว้ในคลังสินค้า แต่กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ของเป็นอันตราย หรือสูญหายไป เว้นไว้แต่จะเป็นเพราะความผิดของกรมรถไฟแผ่นดิน หรือเป็นเพราะความผิดของพนักงานในกรมนั้น
 
มาตรา ๖๐ เมื่อผู้ที่จะรับของนั้นได้รับของที่บรรทุกนั้นไว้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่รับของนั้นแล้ว ท่านว่าจะเรียกร้องขอค่าเสียหายที่ของสูญหรือเสียไป หรือที่บรรทุกส่งเนิ่นช้าไปนั้นมิได้เลย
 
มาตรา ๖๑ ข้อความที่เขียนไว้ในใบรับของ ใบส่งของ หรือใบสำคัญอย่างอื่นที่กรมรถไฟแผ่นดินทำให้แก่ผู้ส่งของ เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบของกรมรถไฟแผ่นดินนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย เว้นไว้แต่ผู้ส่งของนั้นจะได้ตกลงยินยอมตามข้อความที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบนั้นโดยแจ้งชัด
 
มาตรา ๖๒ กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะยึดของที่บรรทุกนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับใช้ค่าระวางบรรทุกและค่าที่ต้องใช้อย่างอื่นให้ครบถ้วน
 
มาตรา ๖๓ ถ้าหาตัวผู้ที่จะรับของนั้นไม่พบ กรมรถไฟแผ่นดินต้องแจ้งความไปให้ผู้ส่งของนั้นทราบโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ เพื่อขอให้บอกมาว่าจะให้จัดส่งของนั้น ณ ที่ใด และขอให้จัดการใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องเสียอย่างอื่นภายในกำหนดเวลา ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น
ถ้าผู้ส่งของละเลยไม่ทำตามคำแจ้งความนั้นไซร้ ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดได้
 
มาตรา ๖๔ ถ้าว่าผู้ที่จะรับของไม่มารับของที่บรรทุกนั้นไป หรือไม่ใช้ค่าระวางบรรทุกและค่าที่ต้องเสียอย่างอื่นที่จำเป็นต้องใช้นั้น กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะแจ้งความไปยังผู้ที่จะรับของนั้นโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ขอให้ใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องใช้อย่างอื่น และให้มารับของนั้นไปภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้น
ในเวลาเดียวกันนั้นให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งความบอกไปยังผู้ส่งของโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ด้วย
ถ้าผู้ที่จะรับหรือผู้ส่งของละเลยไม่ทำตามคำแจ้งความนั้นไซร้ ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินย่อมมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดได้
 
มาตรา ๖๕ ตามข้อความที่บังคับไว้ในสองมาตราข้างบนนี้ ถ้าของที่บรรทุกนั้นเป็นของที่เก็บไว้นานไม่ได้อาจเสียไปแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดโดยไม่ต้องแจ้งความให้ผู้หนึ่งผู้ใดทราบก่อนก็ได้
ส่วนของที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้แจ้งความบอกให้ทราบว่าของได้มาถึงแล้วล่วงพ้นไป ๗ วัน ให้เอาของออกขายทอดตลาดได้
 
มาตรา ๖๖ เมื่อได้เอาของออกขายทอดตลาด หักค่าใช้จ่ายในการขายออกแล้วเหลือเงินเป็นจำนวนเท่าใด ให้กรมรถไฟแผ่นดินหักใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องใช้อย่างอื่นอันเกี่ยวกับสัญญาบรรทุกส่งนั้น ถ้ามีเงินเหลืออยู่อีก จึงให้มอบให้แก่ผู้ที่สมควรจะได้รับนั้นไป
 
มาตรา ๖๗ เงินค่าโดยสารหรือค่าระวางบรรทุกที่ได้ใช้ให้เป็นค่าโดยสารหรือค่าส่งครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้านั้น ให้พึงสันนิษฐานว่ากรมรถไฟแผ่นดินได้รับไว้โดยมีข้อไขว่า ถ้ามีที่สำหรับให้โดยสารหรือบรรทุกได้ในขบวนรถนั้น
ถ้าหากว่าในรถไฟไม่มีที่พอสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด หรือสำหรับบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าทั้งหมด ท่านว่าผู้โดยสารที่ได้ซื้อตั๋วไปทางไกลที่สุดมีสิทธิที่จะได้โดยสารไปก่อนผู้อื่นและถ้ามีผู้โดยสารซื้อตั๋วไปทางไกลเท่ากันหลายคน ผู้ที่ซื้อตั๋วได้ก่อนก็ควรได้ไปก่อนตามลำดับเลขที่ได้รับตั๋วก่อนและหลังนั้น ข้อบังคับนี้ให้ใช้ได้ตลอดไปถึงการรับบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุ และสินค้าด้วย
แต่ทั้งนี้ท่านว่านายและพลทหารและข้าราชการพลเรือนที่โดยสารไปในหน้าที่ราชการของรัฐบาลนั้น ควรจะได้รับเลือกให้ไปได้ก่อนผู้อื่น
 
มาตรา ๖๘ ผู้หนึ่งผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุก หรือค่ารับฝากครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าที่อ้างว่าได้เสียเกินอัตรานั้นคืน เว้นไว้แต่จะได้ยื่นคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรขอเงินที่เกินคืนจากกรมรถไฟแผ่นดินภายในกำหนด ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้ออกตั๋วโดยสารหรือวันที่ส่งมอบของนั้น ๆ
 
มาตรา ๖๙ กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะรับส่งจดหมาย หรือห่อวัตถุสำหรับกิจการของรถไฟ หรือจดหมายบัญชีของ หรือใบรับสำหรับลูกค้ารถไฟ
 
มาตรา ๗๐ ใบเบิกทางซึ่งออกให้ผู้หนึ่งผู้ใดโดยสารรถไฟโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารตลอดกาลหรือชั่วเที่ยวหนึ่งเป็นพิเศษนั้น ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินหรือผู้แทนจะต้องลงชื่อกำกับไว้จึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นอย่าให้ถือว่าใบเบิกทางนั้นใช้ได้เลย
 


ส่วนที่ ๕
ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน
                       
 
มาตรา ๗๑ เมื่อเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน ให้ขุดคู หรือปลูกต้นไม้เป็นรั้ว หรือกั้นรั้ว หรือขึงลวดกั้นทั้งสองข้างทางรถไฟ
 
มาตรา ๗๒ เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามเห็นสมควรแก่การ
 
มาตรา ๗๓ เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้น กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาอย่างถาวรปักไว้ให้เห็นแจ้งบนทางและถนนนั้น เพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน
 
มาตรา ๗๔ ภายในระยะสี่เมตรวัดจากศูนย์กลางทางรถไฟออกมา ห้ามมิให้ปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด เว้นไว้แต่จะเป็นการจำเป็นเพื่อการเดินรถ
 
มาตรา ๗๕ ผู้เป็นเจ้าของต้นไม้รั้วหรือต้นไม้ชนิดอื่นที่อยู่ริมเขตทางรถไฟ มีหน้าที่จำต้องตัดหรือรานกิ่งไม้หรือโค่นต้นไม้นั้นลงเป็นครั้งคราว ตามแต่นายช่างบำรุงทางในเขตนั้นจะสั่ง เพื่อมิให้กีดกั้นกำบังเครื่องอาณัติสัญญาตามทาง หรือเพื่อมิให้เกิดอันตรายขัดขวางต่อการเดินรถ
ถ้าผู้เป็นเจ้าของต้นไม้คนใดไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งของนายช่างบำรุงทางดังว่ามานี้ นายช่างบำรุงทางมีอำนาจที่จะจัดการให้ตัดรานกิ่งหรือโค่นต้นไม้นั้นเสีย แล้วคิดเอาเงินค่าใช้จ่ายในการนี้แก่เจ้าของนั้นก็ได้
 
มาตรา ๗๖ ในขบวนรถโดยสารทุกขบวนที่ต้องเดินเกินกว่า ๒๐ กิโลเมตร โดยไม่หยุดนั้น กรมรถไฟแผ่นดินต้องจัดให้มีเครื่องอาณัติสัญญาติดประจำไว้เพื่อบอกเหตุได้ในระหว่างคนโดยสารกับพนักงานกำกับรถ เครื่องอาณัติสัญญานี้ต้องรักษาไว้ให้ใช้ได้ดีตลอดไปด้วย
 
มาตรา ๗๗ ถ้าปรากฏว่าผู้โดยสารคนหนึ่งคนใดเป็นโรคติดต่อซึ่งอาจมีจำแนกไว้ในกฎข้อบังคับ ให้นายสถานีจัดแยกผู้นั้นกันไว้เสียห้องหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อมิให้ปะปนกับผู้อื่น แล้วโทรเลขบอกไปยังสถานีที่ผู้นั้นจะลงและสถานีปลายทาง เพื่อกำชับห้ามมิให้ผู้โดยสารอื่นเข้าไปในห้องนั้นจนกว่าจะได้จัดชำระล้างเชื้อโรคให้หมดสิ้นเมื่อรถไปถึง
 
มาตรา ๗๘  ผู้ใดกระทำผิดดังกล่าวไว้ในมาตรา ๗๙ จนถึงและรวมทั้งมาตรา ๘๙ ให้ลงโทษฐานลหุโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เว้นไว้แต่การกระทำเช่นนั้นประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แล้ว
 
มาตรา ๗๙ ผู้ใดกระทำการโดยเจตนาขัดขวางพนักงานรถไฟในเวลาทำการตามหน้าที่ก็ดี หรือทำการขัดขวางผู้มีหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายในการสอบวัด ก่อสร้างหรือบำรุงทางรถไฟก็ดี หรือถอนหมุดหรือหลักที่ปักไว้ในดิน เพื่อกิจการดังว่านั้นก็ดี หรือลบเลือนทำลายเครื่องหมายใด ๆ ที่ทำไว้สำหรับกิจการนั้น ๆ ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
 
มาตรา ๘๐ ผู้ใดมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย บังอาจขุดขนดิน ทราย ศิลา หญ้า ต้นไม้หรือสิ่งใด ๆ ไปจากมูลดิน คู สะพาน ทางระบายน้ำ กำแพงเขื่อน หรือทางถาวรของรถไฟ หรือภายในบริเวณรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษต้องระวางโทษชั้น ๓
 
มาตรา ๘๑ ผู้ใดรื้อถอน ทำลาย เคลื่อนเอาไปจากที่หรือทำให้เป็นอันตรายเสียหายแก่รั้วต้นไม้ รั้วกั้นเขต รั้วลวด เสาเครื่องหมายอาณัติสัญญา เครื่องจักร วัตถุอัดหมอน รางเหล็ก หมอนหรือสิ่งของชนิดใด ๆ ที่เก็บรักษาไว้ใช้ตามทางรถไฟนั้น ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
 
มาตรา ๘๒ ผู้ใดมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายบังอาจเปลี่ยนทางน้ำ หรือรางน้ำด้วยเจตนา หรือทำทำนบกั้นคูหรือทางระบายน้ำใต้สะพาน หรือปล่อยขยะมูลฝอยสิ่งโสโครกจากที่ทำการเหมืองแร่ให้ไหลมากีดขวาง หรือทำการอย่างอื่นให้กีดขวางแก่ทางน้ำ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดเสียหายแก่ทางรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓
 
มาตรา ๘๓ เมื่อเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินคนใดประสงค์จะตัดโค่นต้นไม้ หรือแผ้วถางป่าที่ติดต่อกับทางรถไฟก็ดี หรือที่มีสายโทรเลขโทรศัพท์ขึงผ่านข้ามไปก็ดี ผู้นั้นต้องแจ้งความประสงค์นั้นให้นายช่างบำรุงทางประจำเขตนั้นทราบล่วงหน้าก่อน ๗ วัน และผู้นั้นจำต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรในเมื่อทำการนั้น ๆ ตามแต่นายช่างบำรุงทางจะสั่ง เพื่อรักษาทางรถไฟมิให้เป็นอันตราย
ผู้ใดมิได้แจ้งความให้นายช่างบำรุงทางทราบล่วงหน้าก็ดี หรือมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของนายช่างบำรุงทางก็ดี โค่นต้นไม้ลงหรือถางป่าอันเป็นเหตุที่อาจเกิดอันตรายแก่รถไฟที่ผ่านไปมา หรืออาจทำให้เกิดเสียหายต่อสายโทรเลขโทรศัพท์ เครื่องอาณัติสัญญา หรือทาง ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓
 
มาตรา ๘๔ ผู้ใดบังอาจเข้าไปในที่ดินรถไฟ นอกเขตที่ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออกได้ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
 
มาตรา ๘๕ ผู้ใดขับรถ หรือล้อเลื่อนอย่างอื่น หรือไล่ต้องสัตว์ข้ามหรือไปตามทางรถไฟเว้นไว้แต่ตามเวลาและที่ที่กำหนดให้ไว้ก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งอันสมควรของพนักงานรถไฟก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
ผู้ใดมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงรักษาปศุสัตว์ ปล่อยให้สัตว์เที่ยวไปในที่ดินรถไฟ ให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่าตัวละ ๒ บาท
พนักงานรถไฟมีอำนาจนำหรือไล่ต้อนสัตว์นั้นไปยังโรงพักตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วมอบให้รักษาไว้จนกว่าจะได้รับเงินค่าปรับและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรักษานั้นได้
 
มาตรา ๘๖ ผู้ใดขว้างปาท่อนไม้ ก้อนศิลาหรือสิ่งอื่น ๆ ไปที่ขบวนรถไฟก็ดี หรือผ่านข้ามไปก็ดี หรือขว้างปาจากรถไฟก็ดี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในรถจักร รถลำเลียง รถคนโดยสารหรือรถบรรทุก หรือต่อผู้ยืนอยู่หรือเดินไปมาตามทางรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษ ชั้น ๔
 
มาตรา ๘๗ ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใด ๆ อันเป็นทรัพย์สมบัติของรถไฟเสียหายหรือชำรุด ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
 
มาตรา ๘๘ พนักงานรถไฟคนใดเสพสุราจนมึนเมาในเวลาทำการตามหน้าที่บนรถไฟหรือทำกิจการอื่นของรถไฟก็ดี หรือละเลยไม่ทำการตามหน้าที่โดยความประมาทก็ดี หรือกระทำการนั้นด้วยอาการอันไม่สมควรก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษต้องระวางโทษชั้น ๒
ถ้ากิจการดังว่ามานี้ เมื่อละเลยเสียไม่กระทำ หรือกระทำโดยความประมาทอาจเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่ผู้โดยสารหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๔
ถ้าว่าเป็นด้วยความประมาทอย่างอุกฤษฐ์ จนเกิดอุบัติเหตุทำให้บุคคลตายหรือบาดเจ็บ ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๕๒ หรือมาตรา ๒๕๙
 
มาตรา ๘๙ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินตั้งขึ้นไว้ในข้อต่อไปนี้ คือ
(๑) ว่าด้วยการขึ้นรถหรือเข้าไปในสถานีต้องมีตั๋วหรือใบเบิกทางให้โดยสารได้เที่ยวใดหรือในห้องใดและชั้นใด
(๒) ว่าด้วยการโอนตั๋วหรือใบเบิกทางให้ผู้อื่นโดยมิชอบ
(๓) ว่าด้วยการส่งตั๋วหรือใบเบิกทางให้ตรวจหรือส่งมอบให้แก่พนักงานรถไฟ การเปลี่ยนแปลงขูดแก้ตั๋วหรือใบเบิกทางโดยเจตนา
(๔) ว่าด้วยการพาอาวุธปืนหรือกระสุนดินดำไปในรถไฟ
(๕) ว่าด้วยการทำความรำคาญหรือกระทำการลามกหรืออื่น ๆ
(๖) ว่าด้วยการขึ้นรถเมื่อรถกำลังเดิน หรือขึ้นในที่ที่ไม่ใช่ทางขึ้น หรือเข้าไปอยู่ในที่ต้องห้าม
(๗) ว่าด้วยการห้ามมิให้สูบบุหรี่
(๘) ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายบอกเหตุอันตรายในเวลาที่ไม่มีเหตุการณ์
(๙) ว่าด้วยการนำสัมภาระ หรือสัตว์เข้าไปในรถโดยสารโดยที่พนักงานรถไฟไม่ยอมรับว่าเป็นหัตถภาระ หรือเป็นของที่ผู้อื่นรังเกียจเพราะไม่สะอาดหรืออาจเป็นอันตรายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อย ฯลฯ
และกฎข้อบังคับอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นไว้ว่าด้วยความปราศภัย ความผาสุกและความเรียบร้อยของประชาชนในระหว่างเวลาเดินทางอยู่ในรถหรือในที่ดินรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
 
มาตรา ๙๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ก็ดี หรือกฎข้อบังคับที่ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชนและการเดินรถก็ดี หรือไม่ทำตามคำสั่งของพนักงานรถไฟผู้มีอำนาจที่จะออกคำสั่งได้ตามกฎหมายหรือตามกฎข้อบังคับนั้นก็ดี หรือกระทำการลามกหรือแสดงกิริยาชั่วร้ายอย่างใด ๆ ก็ดี ผู้นั้นอาจถูกขับไล่ออกจากรถไฟ หรือที่ดินรถไฟโดยมิต้องคิดค่าทำขวัญให้เลย
 
มาตรา ๙๑ เมื่อผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษเพียงแต่ปรับเป็นพินัยสถานเดียว อาณาบาลรถไฟมีอำนาจประณีประนอมยอมความได้ทันที โดยยอมรับเบี้ยปรับตามอัตราอย่างสูงที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ แล้วออกใบเสร็จให้เป็นสำคัญ ส่วนเงินพินัยที่เก็บได้นั้นให้กรมรถไฟแผ่นดินทำบัญชีส่งไปยังกระทรวงยุติธรรม
 
มาตรา ๙๒ ห้ามมิให้จับกุมพนักงานซึ่งกำลังทำการของรถไฟอยู่ตามหน้าที่อันเกี่ยวกับการเดินรถโดยตรง (ซึ่งถ้าไม่มีพนักงานผู้นั้นกำกับการอยู่แล้วอาจเกิดภยันตรายแก่ประชาชน) เว้นไว้แต่จะได้แจ้งความให้หัวหน้าของพนักงานผู้นั้นทราบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงให้จับกุมผู้นั้นได้
 
มาตรา ๙๓ เมื่อผู้ใดกระทำความผิดขึ้นในรถไฟเป็นเหตุให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตายหรือต้องบาดเจ็บสาหัส ให้อาณาบาลรถไฟแจ้งเหตุการณ์นั้นแก่พนักงานอัยการที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือกรมการอำเภอ หรือ นายตำรวจภูธรโดยพลัน
 
มาตรา ๙๔ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้บุคคลบาดเจ็บสาหัส หรือ ถึงแก่ความตายก็ดีหรือเมื่อรถไฟโดนกันโดยรถขบวนหนึ่งเป็นรถคนโดยสารก็ดี หรือเมื่อรถคนโดยสารทั้งขบวนหรือตอนใดตอนหนึ่งตกรางก็ดี ให้อาณาบาลรถไฟแจ้งความบอกไปให้ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินทราบ พร้อมกับรายงานการเสียหายและข้อที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนับโดยพลัน
ถ้ามีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตายก็ดี หรือเมื่อมีเหตุสงสัยว่าจะมีคนร้ายทำให้รถไฟตกรางก็ดี ให้อาณาบาลรถไฟส่งคำแจ้งความอย่างเดียวกันนั้นไปยังอัยการในท้องที่ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นให้ทราบด้วย
 


ภาคที่ ๒
ว่าด้วยรถไฟราษฎร์
                       
 
ส่วนที่ ๖
ว่าด้วยรถไฟผู้รับอนุญาต
                       
 
หมวดที่ ๑
ว่าด้วยการให้อนุญาต
                       
 
มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้สร้างรถไฟราษฎร์ขึ้นในพระราชอาณาจักร เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ
พระบรมราชานุญาตนั้นจะพระราชทานให้แต่เฉพาะเพื่อสร้างทางรถไฟแยกไปจากทางรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟหัตถกรรมก็ได้ การประกอบใจความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก็ดี หรือการที่จะปฏิบัติตามพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชกำหนดกฎหมายแห่งพระราชอาณาจักรนี้ทั้งสิ้น
 
มาตรา ๙๖ เมื่อบุคคลหรือบริษัทใดมีความประสงค์จะขออนุญาตสร้างทางรถไฟ ให้ยื่นเรื่องราวแสดงความประสงค์นั้นต่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
เรื่องราวนั้นให้เสนอต่อสภากรรมการรถไฟ เมื่อสภากรรมการเห็นสมควรจะเรียกร้องให้ยื่นรายละเอียดเพิ่มเติมอีกก็ได้ แล้วจะได้นำเรื่องราวนั้นยื่นต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนการที่จะให้อนุญาตหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่จะเห็นเป็นการสมควร
 
มาตรา ๙๗ ก่อนที่จะยื่นเรื่องราวขอรับอนุญาตนั้น จะยื่นเรื่องราวชั้นต้นขึ้นมาตามระเบียบอย่างเดียวกัน เพื่อขออนุญาตตรวจรังวัดพื้นที่ที่จะสร้างทางรถไฟนั้นเสียชั้นหนึ่งก่อนก็ได้
 
มาตรา ๙๘ ในเรื่องราวขออนุญาตนั้นต้องแสดงรายการละเอียดที่จำเป็นอันเกี่ยวกับการรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้น และทั้งต้องแสดงฐานะสินทรัพย์ของผู้ยื่นเรื่องราว กับให้ส่งแบบและงบประมาณการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ต้องการมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นด้วย
 
มาตรา ๙๙ ในเวลาที่ยื่นเรื่องราวนั้น ผู้ยื่นเรื่องราวต้องลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์รายวันให้ชนทั้งหลายทราบว่าได้ยื่นเรื่องราวไว้ กับให้มอบแบบการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ดินโดยชัดเจน ทั้งบอกถึงประเภทการงานและความสำคัญของการที่จะทำนั้นไว้ ณ ที่ว่าการฝ่ายปกครองในท้องที่ที่รถไฟจะผ่านไปนั้นด้วย
ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้มอบหมายแบบการก่อสร้างและแผนที่ไว้ต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองดังกล่าวนั้นเป็นต้นไป ผู้มีส่วนได้และเสียจะขอตรวจดูหนังสือสำคัญเหล่านั้นหรือขอคัดสำเนาไป และจะทำเรื่องราวขัดข้องยื่นต่อสภากรรมการรถไฟก็ได้
 
มาตรา ๑๐๐ สภากรรมการรถไฟต้องสืบสวนตรวจดูรายการก่อสร้างที่ส่งมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นได้ตามวิธีที่จะเห็นเป็นการสมควร ถ้ามีผู้ยื่นเรื่องราวขัดข้องต่อการนั้น ก็ให้สภากรรมการรถไฟตรวจพิเคราะห์ข้อขัดข้องนั้นด้วย
 
มาตรา ๑๐๑ ในระหว่างเวลาก่อสร้างทางรถไฟก็ดี หรือเมื่อได้เปิดให้รถเดินแล้วก็ดีถ้าผู้รับอนุญาตเห็นเป็นการจำเป็นต้องขยายทางรถไฟต่อออกไปอีก ให้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตเพิ่มเติมตามระเบียบเดิม
ส่วนการที่จะโอนอำนาจสร้างรถไฟนั้น ก็ให้ขออนุญาตก่อนตามระเบียบอย่างเดียวกัน
 
มาตรา ๑๐๒ ถ้าผู้รับอนุญาต
(๑) เป็นคนล้มละลาย หรือ
(๒) หยุดไม่เดินรถตลอดทั้งสายหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดเกินกว่า ๖ เดือน เว้นแต่เมื่อมีพลาติศัยเกิดขึ้น หรือ
(๓) ไม่ปฏิบัติตามความข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือไม่ทำการที่จำเป็นเพื่อป้องกันภยันตรายแก่ประชาชน หรือ
(๔) ละเลยไม่ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายอันเกี่ยวแก่รัฐประศาสโนบาย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่ประชาชน
ให้เรียกใบอนุญาตคืน แล้วให้ผู้บังคับบัญชาการรถไฟแผ่นดินนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอถอนอนุญาตนั้นเสียได้
 
มาตรา ๑๐๓ ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์จะเข้าปกครองยึดถือรถไฟสายใดก่อนสิ้นกำหนดอนุญาต รัฐบาลมีอำนาจที่จะเข้ายึดถือได้ในเวลาและตามข้อความดังกล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น ถ้าและในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตมิได้กล่าวความข้อนี้ไว้ รัฐบาลมีอำนาจเข้ายึดถือปกครองรถไฟได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังแต่วันที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตล่วงแล้ว ๒๐ ปี
 
มาตรา ๑๐๔ ในเมื่อรัฐบาลเข้ายึดถือปกครองรถไฟก่อนสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อสิ้นกำหนดแล้วก็ดี ให้เข้ายึดถือปกครองบรรดาสิ่งปลูกสร้าง รถ เครื่องจักร พัสดุและวัตถุอย่างอื่นด้วย
ส่วนที่ดินนั้นให้คิดเงินค่าทำขวัญให้ไม่เกินกว่าราคาที่ผู้รับอนุญาตได้ซื้อไว้นั้น
เมื่อถึงวันสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อได้ถอนอนุญาตเสียก็ดี ถ้ารัฐบาลไม่ได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้ายึดถือปกครองรถไฟนั้นให้ทราบแล้ว ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะขายที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือเครื่องใช้อย่างอื่นของรถไฟได้ตามแต่จะเห็นควร


หมวดที่ ๒
ว่าด้วยการกำกับตรวจตราของรัฐบาล
                       
 
มาตรา ๑๐๕ บรรดารถไฟที่ผู้รับอนุญาตได้สร้างหรือจัดการนั้น ให้อยู่ในความกำกับตรวจตราดูแลของกรมรถไฟแผ่นดินดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ และตามข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นด้วย
 
มาตรา ๑๐๖ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๐๗ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ออกความเห็นในเมื่อมีผู้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตสร้างรถไฟ
(๒) ตรวจดูข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนที่จะพระราชทาน กับออกความเห็นแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความนั้นที่จำเป็นตามแต่จะคิดเห็นว่าเป็นการสมควร
(๓) กำกับตรวจตราดูแลการก่อสร้างรถไฟ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะได้กระทำผิดต่อข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่
(๔) เมื่อผู้รับอนุญาตแจ้งมาให้ทราบว่าการก่อสร้างรถไฟสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก่อนเปิดทางให้รถเดิน ให้ออกความเห็นว่าในการที่จะเปิดทางให้รถเดินนั้นจะมีภยันตรายแก่ประชาชนหรือไม่
(๕) เข้าตรวจทางและกำกับตรวจตราการเดินรถได้ทุกเมื่อ เพื่อจะได้ทราบว่าผู้รับอนุญาตได้ปฏิบัติการตามความในพระราชบัญญัตินี้ และข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่ และเพื่อจะได้ทราบว่าไม่มีเหตุการณ์อันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ประชาชน
(๖) ตรวจสอบและออกความเห็นในเรื่องกฎข้อบังคับที่ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งขึ้นโดยได้อนุมัติจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
(๗) ไต่สวนในเรื่องอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะมีส่วนรับผิดชอบในเหตุนั้นด้วยหรือไม่
(๘) ตรวจกิจการอันจะต้องแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบว่าทางรถไฟ เครื่องจักร หรือรถทั้งหมด หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งจะต้องรุไม่ให้ใช้อีกต่อไป หรือจะต้องซ่อมแซมเสียให้ดีก่อน
(๙) ตรวจแผนผังรายการก่อสร้างหรือแบบที่คิดจะสร้าง ซึ่งผู้รับอนุญาตยื่นขึ้นมาขออนุญาตทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแก้ไขหรือขยายทางรถไฟ หรือขยายเขตที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือรถ
 
มาตรา ๑๐๘ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจแจ้งความไปให้ผู้รับอนุญาตทราบและบังคับให้ทำการดังต่อไปนี้ได้ภายในเวลาอันสมควร คือ
(๑) ให้งดเว้นใช้การ หรือซ่อมแซมแก้ไขทางรถไฟ เครื่องจักรหรือรถทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เรียบร้อย
(๒) ให้ใช้คนที่สามารถทำการเดินรถ และให้รักษารถไฟมิให้เป็นอันตราย
(๓) ให้ทำรั้วกั้นตามทางรถไฟในที่ที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน
(๔) ให้ปฏิบัติการตามความในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งกรมรถไฟแผ่นดินจำต้องกระทำเพื่อรักษาประโยชน์และความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในเรื่องจัดการรถไฟด้วย
 
มาตรา ๑๐๙ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจออกกฎข้อบังคับที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อระงับหรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ เช่น กำหนดให้มีเครื่องห้ามล้อและโคมไฟ ว่าด้วยสถานที่ตั้งสำนักงาน และโรงเรือนริมทางรถไฟ กำหนดให้รถเดินเร็วหรือช้า กำหนดจำนวนผู้โดยสารและอื่น ๆ
กฎข้อบังคับนี้เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ลงนามและแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบแล้ว ให้ใช้บังคับผู้รับอนุญาตได้ทีเดียว
 
มาตรา ๑๑๐ ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน พึงตั้งอาณาบาลรถไฟไปประจำทุกสถานีที่สำคัญและให้ผู้รับอนุญาตจัดหาสำนักงานที่ทำการให้ตามสมควร
 
มาตรา ๑๑๑ กรรมการรถไฟ หรืออาณาบาลรถไฟทุกคนมีอำนาจดังต่อไปนี้เพื่อรักษาการให้เป็นไปตามหน้าที่ คือ
(๑) เข้าตรวจตราทางรถไฟ ที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือของผู้รับอนุญาต
(๒) เรียกผู้ทำการก่อสร้างหรือผู้จัดการรถไฟคนใดคนหนึ่งมาไต่ถาม
(๓) สั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบรรทุกสมุดหนังสือ และเอกสารสำคัญซึ่งเห็นเป็นการจำเป็น
 
มาตรา ๑๑๒ ผู้รับอนุญาตจำต้องออกใบเบิกทางให้แก่กรรมการรถไฟ อาณาบาลรถไฟและบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ตั้งให้ไปตรวจ เพื่อเข้าออกในที่ดินรถไฟและเพื่อไปบนรถจักรหรือรถโดยสารได้เป็นพิเศษโดยมิต้องเสียค่าโดยสาร
 
มาตรา ๑๑๓ ผู้รับอนุญาตจำต้องทำบัญชีอันแท้จริงจดเงินรายรับประจำวันอันเป็นเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุกครุภาระ ค่าบรรทุกห่อวัตถุ หรือสินค้า และเก็บรักษาบัญชีนั้นไว้
 
มาตรา ๑๑๔ ผู้รับอนุญาตจำต้องยื่นบัญชีทุกครึ่งปีต่อสภากรรมการรถไฟแสดงยอดรายรับและรายจ่ายเงินทุกประเภท พร้อมกับบัญชีงบดุลซึ่งผู้อำนวยการและผู้ตรวจสอบบัญชีได้ลงนามรับรองว่าถูกต้อง
กรมรถไฟแผ่นดินพึงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือกว่านั้น แต่มิให้เกินกว่า ๓ คน เพื่อตรวจสอบบัญชีนั้น
 
มาตรา ๑๑๕ ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินมีอำนาจร้องขอต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมให้ตั้งผู้ตรวจการคนหนึ่งหรือกว่านั้นไปตรวจสอดส่องในแผนกการเงินของผู้รับอนุญาต แล้วให้ทำรายงานเสนอ
เมื่อได้ตั้งผู้ตรวจสอดส่องดังนี้แล้ว ผู้รับอนุญาตจำต้องปฏิบัติการตามข้อความที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัทว่าด้วยอำนาจตรวจสอดส่องการบริษัทนั้น
 
มาตรา ๑๑๖ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบัญชีอัตราค่าโดยสารอัตราค่าระวางบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุและสินค้าที่คงใช้อยู่ กำหนดอัตรานี้ถ้าเปลี่ยนแปลงเมื่อใด ให้แจ้งความไปให้สภากรรมการรถไฟทราบทุกครั้ง
 
มาตรา ๑๑๗ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตย้ายหรือเปลี่ยนทางรถไฟหรือกิจการที่เกี่ยวกับการเดินรถในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ทุกเมื่อ เมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน ในเรื่องเช่นนี้ ถ้าผู้รับอนุญาตได้กระทำการครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น ก็ให้คิดค่าทำขวัญให้แก่ผู้รับอนุญาตตามที่ได้เสียไปนั้น
 
มาตรา ๑๑๘ เมื่อสภากรรมการรถไฟออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว สภากรรมการมีอำนาจ
(๑) ห้ามการเดินรถไฟตามส่วนที่เห็นสมควรแก่การรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน
(๒) สั่งให้คนงานหรือผู้แทนของกรมรถไฟแผ่นดินไปทำกิจการตามที่ต้องการให้ทำนั้น แล้วคิดเอาค่าใช้จ่ายแก่ผู้รับอนุญาต
 
มาตรา ๑๑๙ ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของสภากรรมการรถไฟ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินเป็นโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลให้ลงโทษปรับผู้รับอนุญาตเป็นพินัยไม่เกินกว่าวันละ ๑๐๐ บาททุก ๆ วัน ตามจำนวนวันที่ละเลยมิได้ปฏิบัติการตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายนั้น
 


หมวดที่ ๓
ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน การก่อสร้าง
การบำรุง วิธีจัดการ และการบรรทุกส่ง
                       
 
มาตรา ๑๒๐ ห้ามมิให้ลงมือทำการก่อสร้าง หรือทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่ได้รับหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต
 
มาตรา ๑๒๑ เมื่อผู้รับอนุญาตได้รับหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จะจัดหาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟได้ แต่ให้พึงเข้าใจว่า
(๑) ถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเป็นของเอกชน ต้องร้องขอมาทางกรมรถไฟแผ่นดินให้ช่วยจัดหาซื้อให้ตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น
(๒) ถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเป็นของหลวงที่หวงห้ามไว้ให้ถือว่าผู้รับอนุญาตเป็นผู้เช่าที่หลวงนั้นตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาต โดยต้องเสียค่าเช่าตามอัตราที่วางไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น
 
มาตรา ๑๒๒ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินเป็นผู้จัดหาซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นแทนผู้รับอนุญาตดังว่ามานั้น ให้กรมรถไฟแผ่นดินใช้ข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้
แต่ในเรื่องนี้
(๑) ผู้รับอนุญาตต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ค่าทำขวัญ หรือเงินค่าผลประโยชน์ในการที่จัดหาซื้อทรัพย์นั้น ส่วนเงินที่จะต้องวางตามข้อความในพระราชบัญญัตินี้ผู้รับอนุญาตต้องเป็นผู้วางด้วยทั้งสิ้น
(๒) ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะตั้งผู้แทนไปเป็นกรรมการจัดหาซื้อที่ดินคนหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าเป็นการสะดวกที่จะจัดการในเรื่องหาซื้อที่ดินสถานใด ก็ให้ทำรายงานเสนอต่อสภากรรมการรถไฟ
(๓) กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จัดหาซื้อนั้น จะตกมาเป็นของผู้รับอนุญาตต่อเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามวิธีที่กฎหมายบังคับไว้ในการนี้ มิฉะนั้นอย่าให้ถือว่ากรรมสิทธิ์ได้เปลี่ยนมือกันเลย
 
มาตรา ๑๒๓ เมื่อผู้รับอนุญาตได้ซื้อหรือเช่าที่ดินแห่งใดไว้แล้วก็ดี ท่านว่าผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งในแร่หรือโลหะธาตุต่าง ๆ หรือป่าไม้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินหรือภายใต้พื้นดินนั้น หรือในการจับสัตว์น้ำนั้นเลย
 
มาตรา ๑๒๔ ถ้าในเวลาก่อสร้างรถไฟ ผู้รับอนุญาตมีความปรารถนาจะเปลี่ยนทางรถไฟเปลี่ยนทางโค้ง เปลี่ยนระดับทาง หรือเปลี่ยนแปลงแถวทางอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผิดไปจากแบบเดิมที่ยื่นไว้ ผู้รับอนุญาตต้องยื่นแบบและรายการละเอียดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนั้นต่อสภากรรมการรถไฟก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงทำการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้
 
มาตรา ๑๒๕ ในการก่อสร้างรถไฟ ผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนไปทำการก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแทนอุโมงค์ โค้งคูหา หรือทางที่ยกสูงพ้นพื้นระดับด้วยคูหาหรือเสาให้ผิดไปจากแบบ เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากสภากรรมการรถไฟก่อน
 
มาตรา ๑๒๖ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตเปิดรถไฟตลอดทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อรับส่งคนโดยสารหรือเพื่อรับบรรทุกสินค้า เว้นไว้แต่
(๑) จะได้แจ้งความให้สภากรรมการรถไฟทราบล่วงหน้า ๑ เดือน และ
(๒) การที่จะเดินรถนั้นผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้มีความเห็นชอบ และได้ให้อนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้รับอนุญาตแล้ว
 
มาตรา ๑๒๗ เมื่อผู้รับอนุญาตมีความปรารถนาที่จะทำการซ่อมแซมขนานใหญ่หรือจะทำการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือการช่างอย่างอื่นอันเป็นการสำคัญ ให้ยื่นรายงานการนั้น ๆ และส่งแบบกับงบประมาณไปยังสภากรรมการรถไฟเพื่อขออนุมัติก่อน
 
มาตรา ๑๒๘ ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งกฎข้อบังคับหรืออัตราค่าระวางบรรทุกที่เห็นจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อความสะดวกในการเดินรถ แต่กฎข้อบังคับหรือกำหนดอัตราค่าระวางบรรทุกนั้นต้องเสนอต่อสภากรรมการรถไฟก่อน ต่อเมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ให้อนุมัติและลงนามเป็นหลักฐานแล้ว จึงจะนับว่าใช้ได้
 
มาตรา ๑๒๙ ถ้าอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขต้องการให้ผู้รับอนุญาตคนใดรับส่งถุงเมล์ผู้รับอนุญาตนั้นต้องรับเป็นธุระจัดการให้ ส่วนค่ารับส่งนั้น สุดแล้วแต่สภากรรมการรถไฟจะสั่งอนุญาตและกำหนดอัตราให้
 
มาตรา ๑๓๐ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ร้องขอมา ผู้รับอนุญาตจำต้องเป็นธุระจัดการรับส่งทหารบก ทหารเรือ หรือตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย
การรับส่งนั้นให้รับส่งบรรดาของใช้ พัสดุ อาวุธปืน กระสุนดินดำ และสัมภาระของเจ้าพนักงานนั้น ๆ ด้วย
 
มาตรา ๑๓๑ เมื่อมีการฉุกเฉินเกิดขึ้นอันเกี่ยวกับความมั่นคงภายนอกหรือภายในแห่งพระราชอาณาจักร รัฐบาลมีอำนาจสั่งทางเสนาบดีกระทรวงกลาโหมให้เข้ายึดถือปกครองทางรถไฟทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งเครื่องประกอบทางรถไฟ รถและสรรพพัสดุของผู้รับอนุญาตได้ชั่วคราว ตามที่จะเห็นสมควร
ผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รัฐบาลเข้ายึดถือปกครองนั้น มีสิทธิจะได้รับค่าทำขวัญตามที่จะตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกันตามที่อนุญาโตตุลาการจะกำหนดให้
อนึ่งรัฐบาลย่อมมีอำนาจที่จะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดการเดินรถอันเกี่ยวกับการทหารบกหรือทหารเรือก่อนเดินรถธรรมดา
 
มาตรา ๑๓๒ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตคนใดให้บุคคลภายนอกเช่าทางรถไฟตลอดทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือให้เช่าเครื่องประกอบทางรถไฟ โดยมิได้รับอนุญาตจากสภากรรมการรถไฟก่อน
แต่การที่ผู้รับอนุญาตได้ทำความตกลงเดินรถติดต่อกับรถไฟสายอื่นนั้น ไม่นับว่าเป็นการเช่าถือ
 
มาตรา ๑๓๓ ผู้รับอนุญาตจำต้องจัดการให้ความสะดวกตามสมควรเพื่อการชุมทางระหว่างรถไฟผู้รับอนุญาตกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟสายอื่น เมื่อสภากรรมการรถไฟได้มีความเห็นชอบให้สร้างชุมทางนั้นขึ้นแล้ว
 
มาตรา ๑๓๔ ในส่วนรถไฟราษฎร์นั้น ท่านบังคับไว้ว่า เมื่อได้เปิดเดินรถทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้างรถและพัสดุของรถไฟแต่เจ้าหนี้นั้นมีสิทธิที่จะขอให้ตั้งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ได้
 
มาตรา ๑๓๕ นอกจากข้อความที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ บทบัญญัติในส่วนที่ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยการก่อสร้าง การบำรุงและจัดการงาน และส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการบรรทุกส่งนั้น ให้พึงอนุโลมใช้ข้อบังคับแก่รถไฟผู้รับอนุญาตได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
 


หมวดที่ ๔
ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน
                       
 
มาตรา ๑๓๖ บทบัญญัติในส่วนที่ ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชนนั้น ให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่รถไฟผู้รับอนุญาตได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
 
มาตรา ๑๓๗ อาณาบาลรถไฟซึ่งผู้บัญชาการได้ตั้งขึ้นนั้นมีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป
ในขณะที่อาณาบาลรถไฟไม่ได้อยู่ประจำการนั้น ให้นายสถานีและพนักงานกำกับรถไฟของผู้รับอนุญาตหรือผู้แทน เมื่อกระทำการตามหน้าที่นั้น มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับอาณาบาลรถไฟทุกประการ
 
มาตรา ๑๓๘ นายหรือพลตำรวจพระนครบาล และนายหรือพลตำรวจภูธร เมื่อกระทำการตามหน้าที่มีอำนาจเข้าออกในที่ดินรถไฟและขึ้นบนรถได้ทุกเมื่อ เพื่อรักษาความเรียบร้อยแห่งประชาชน
 
มาตรา ๑๓๙ เมื่อได้อนุญาตให้ผู้รับอนุญาตวางรางรถไฟไปบนทางหลวงแห่งใด ผู้รับอนุญาตต้องใช้สิทธินั้นด้วยความระมัดระวังเพื่อให้บุคคลหรือยวดยานต่าง ๆ ผ่านไปมาในทางหลวงนั้น ได้โดยสะดวกและปราศจากภยันตราย กับจะต้องปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับว่าด้วยการไปมาในทางหลวงนั้นด้วย
 


ส่วนที่ ๗
ว่าด้วยรถไฟหัตถกรรม
                       
 
มาตรา ๑๔๐ รถไฟหัตถกรรมนั้นคือรถไฟที่ห้างหรือบริษัทซึ่งประกอบหัตถกรรมหรือพาณิชย์กรรมได้สร้างขึ้นไว้ใช้เฉพาะแต่รับส่งคนงานและบรรทุกสิ่งของที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้น กับสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับกิจการนั้น ๆ
ห้ามมิให้เรียกหรือรับค่าโดยสารหรือค่าระวางบรรทุกสินค้าแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด
 
มาตรา ๑๔๑ รถไฟหัตถกรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ
(๑) รถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะแต่ภายในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทเท่านั้นอย่างหนึ่ง และ
(๒) รถไฟหัตถกรรมที่เดินอยู่ทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นอีกอย่างหนึ่ง
 
มาตรา ๑๔๒ ห้ามมิให้เปลี่ยนประเภทรถไฟหัตถกรรมมาเป็นรถไฟผู้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตก่อนและทั้งได้รับอนุญาตตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๑๔๓ รถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะแต่ในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้น จะสร้างขึ้นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ แต่ห้ามมิให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองนั้นออกใบอนุญาตให้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติของกรมรถไฟแผ่นดินก่อน
ในการนี้ ให้ห้างหรือบริษัทนั้นยื่นแผนที่แสดงเขตแผนผังและงบประมาณสำหรับรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้นนั้นไว้ ณ ที่ว่าการของเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่พร้อมทั้งสำเนาอีกสำรับหนึ่งเพื่อนำเสนอต่อสภากรรมการรถไฟด้วย
ถ้าในเวลาใดเวลาหนึ่ง ห้าง หรือบริษัทนั้นมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงทางให้ผิดไปจากที่วางไว้เดิม ให้แจ้งความประสงค์ที่จะเปลี่ยนนี้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ให้ทราบก่อน ต่อเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะจัดทำการนั้นต่อไปได้
 
มาตรา ๑๔๔ บทบัญญัติในกฎหมายนี้ที่ว่าด้วยรถไฟผู้รับอนุญาตให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่รถไฟหัตถกรรมที่เดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นได้ ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
แต่ว่ารถไฟหัตถกรรมที่เดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้น ถ้าหากใช้ลากเข็นด้วยแรงคนหรือแรงสัตว์และเดินบนทางชั่วคราวเพื่อกิจการชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสองปี และมิได้มีการบังคับซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้อันว่าด้วยรถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะภายในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นเป็นบทบังคับ คำร้องขออนุญาตสร้างและเดินรถไฟชนิดนี้ และคำร้องขออนุญาตใช้ที่หลวงชั่วคราว เพื่อประโยชน์แห่งการนั้น ท่านให้ยื่นต่อสมุหเทศาภิบาลเพื่อให้แสดงความเห็นแล้วส่งต่อไปยังสภากรรมการรถไฟ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตตามคำร้องโดยกำหนดให้เสียค่าเช่าในการใช้ที่หลวงชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลภายนอก และความปลอดภัยแห่งประชาชนตามแต่จะเห็นควร การให้อนุญาตนั้นท่านว่าจะให้ได้ต่อเมื่อสมุหเทศาภิบาลได้แสดงความเห็นว่าควรให้อนุญาตเท่านั้น
ถ้าสภากรรมการรถไฟสั่งยกคำร้องเสีย เพราะเหตุรถไฟนั้นมิได้อยู่ในความหมายของวรรค ๒ แห่งมาตรานี้ไซร้ ท่านว่าการที่สั่งยกคำร้องเสียนั้นไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องในอันที่จะดำเนินการตามความในวรรค ๑
 
มาตรา ๑๔๕ ถ้าห้างหรือบริษัทใดที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและใช้รถไฟหัตถกรรมบังอาจรับส่งคนโดยสารหรือรับบรรทุกสินค้าของผู้อื่นโดยคิดเอาค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามความในหนังสืออนุญาตข้อใดข้อหนึ่งก็ดี ท่านว่าห้างหรือบริษัทนั้นมีความผิดต้องระวางโทษให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๑,๐๐๐ บาททุก ๆ คราวที่กระทำผิดนั้น
 


ภาคที่ ๓
ว่าด้วยทางหลวงและทางราษฎร์
                       
 
มาตรา ๑๔๖ ทางหลวงนั้นท่านจัดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) ทางหลวงของแผ่นดิน ซึ่งกรมทางเป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างและบำรุงรักษาในนามรัฐบาลประเภทหนึ่ง และ
(๒) ทางหลวงของมณฑล ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลได้สร้างขึ้นและบำรุงรักษา โดยได้รับอนุมัติจากกรมทางอีกประเภทหนึ่ง
นอกจากทางหลวงที่กล่าวแล้วนี้ ยังมีทางราษฎร์ที่พวกราษฎรในตำบลนั้นได้สร้างขึ้นและบำรุงรักษา
กรมทางมีอำนาจที่จะรับเอาทางหลวงของมณฑลหรือทางราษฎร์มาขึ้นอยู่ในกรมทาง และยกขึ้นเป็นทางหลวงของแผ่นดิน หรือจะลดชั้นทางหลวงของแผ่นดินลงเป็นทางหลวงของมณฑลหรือทางราษฎร์ก็ได้ตามที่จะเห็นสมควร
 
มาตรา ๑๔๗ กรมทางมีอำนาจที่จะดำริการเสมอทุกปีว่า
(๑) ควรสร้างทางหลวงของแผ่นดินสายใด หรือแต่ส่วนใดบ้าง
(๒) ควรจัดบำรุงด้วยวิธีใด เพื่อให้ทางหลวงของแผ่นดินที่มีอยู่แล้วให้ดีอยู่คงที่
 
มาตรา ๑๔๘ ทางหลวงของแผ่นดินนั้น ให้นายช่างและคนงานในกรมทางก่อสร้างและบำรุงรักษา
 
มาตรา ๑๔๙ เมื่อได้ปรึกษาหารือกับกรมทางแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลมีอำนาจที่จะดำริการดังต่อไปนี้ว่า
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้