size="2">พระราชบัญญัติ
เครื่องราชอิสสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
พุทธศักราช ๒๔๘๔
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
อาทิตย์ ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔” มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ มาตรา ๕ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร มาตรา ๖ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้แบ่งเป็นชั้น นามและจำนวนดังต่อไปนี้
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า
ชั้นที่ ๑
ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ไม่จำกัดจำนวน อักษรย่อ ป.จ.ว.ปฐมจุลจอมเกล้า ๓๐ ดวง อักษรย่อ ป.จ.
ชั้นที่ ๒
ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ๒๐๐ ดวง อักษรย่อ ท.จ.ว.ทุติยจุลจอมเกล้า ๒๕๐ ดวง อักษรย่อ ท.จ.
ชั้นที่ ๓
ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ๒๕๐ ดวง อักษรย่อ ต.จ.ว.ตติยจุลจอมเกล้า ๒๕๐ ดวง อักษรย่อ ต.จ.ตติยานุจุลจอมเกล้า ๑๐๐ ดวง อักษรย่อ ต.อ.จ.
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน
ชั้นที่ ๑
ปฐมจุลจอมเกล้า ๒๐ ดวง อักษรย่อ ป.จ.
ชั้นที่ ๒
ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ๑๐๐ ดวง อักษรย่อ ท.จ.ว.ทุติยจุลจอมเกล้า ๑๐๐ ดวง อักษรย่อ ท.จ.
ชั้นที่ ๓
ตติยจุลจอมเกล้า ๒๕๐ ดวง อักษรย่อ ต.จ.
ชั้นที่ ๔
จตุตถจุลจอมเกล้า ๑๕๐ ดวง อักษรย่อ จ.จ. มาตรา ๗ เจ้านายหรือผู้มีเกียรติของต่างประเทศอาจได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นจำนวนต่างหากจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖ มาตรา ๘ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ คือ
สำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี
สำหรับพระมหากษัตริย์ มีลักษณะอย่างสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ดวงตรา ดารา และสายสร้อยนั้นประดับเพชรทั้งสิ้นส่วนสำหรับสมเด็จพระบรมราชินี มีลักษณะอย่างสำหรับพระราชทานฝ่ายใน แต่ดวงตราและดารานั้นประดับเพชรทั้งสิ้น
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า
ชั้นที่ ๑
ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ มีดวงตราด้านหน้าเป็นแฉก ๘ แฉก ลงยาสีชมพู มีรัศมีทองตามระหว่างแฉก มีใบชยพฤกษ์สองข้างลงยาสีเขียว กลางดวงมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอบลงยาสีขาบ มีอักษรทองว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ” เบื้องบนมีจุลมงกุฎรัศมี ลงยาสีเขียว สีแดง สีขาบ สีขาว ด้านหลังดวงตราเหมือนอย่างด้านหน้า แต่ที่กลางดวงตราเป็นรูปช้างไอราพต ลงยาสีขาว บนหลังช้างมีรูปตรีศูล ลงยาสีขาว ที่ขอบมีอักษรทองว่า “ปีระกาเบญจศก ศักราช ๑๒๓๕” รอบขอบเป็นรูปจักรลงยาสีขาว พื้นแดง ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๑๐ เซนติเมตร สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงมาทางขวากับมีดาราเป็นรัศมีทอง ๘ แฉก เงิน ๘ แฉก กลางดาราพื้นสีชมพูมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จ.จ.จ.” ทองประดับเพชร ขอบลงยาสีขาบ และมีอักษรทองว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ” รอบขอบเป็นเพชรสร่งเงินประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายและมีสายสร้อยลงยาหรือสายสร้อยทอง เป็นรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” ไขว้ ๑๖ องค์ ดอกบัว ๑๗ ดอก สลับกันไปตลอดสาย กลางสายสร้อยเป็นรูปช้างไอราพตมีจุลมงกุฎรัศมี มีเครื่องสูง ๒ ข้าง และมีราชสีห์คชสีห์เชิญ สำหรับห้อยดวงตราสวมแทนสายสะพาย กับให้มีแพรจีบสีขาวกลัดทับสายสร้อยเหนือบ่าทั้ง ๒ ข้างสายสร้อยลงยาหรือทองคำนี้ จะพระราชทานอย่างใดและสำหรับชาวต่างประเทศจะพระราชทานหรือไม่ สุดแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรนอกจากนี้ให้มีดวงตราตติยานุจุลจอมเกล้า ๑ ดวง ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายปฐมจุลจอมเกล้า มีลักษณะอย่างปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษแต่ไม่มีดวงตราตติยานุจุลจอมเกล้า
ชั้นที่ ๒
ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีดวงตราเหมือนชั้นที่ ๑ ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๕ เซนติเมตร สวมคอ และมีดาราเป็นรัศมีเงิน ๘ แฉก กลางดารามีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จ.จ.จ.” ทอง อยู่บนพื้นลงยาสีชมพู ขอบลงยาสีขาบ มีอักษรทองว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ” ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายทุติยจุลจอมเกล้า มีลักษณะอย่างทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษแต่ไม่มีดารา
ชั้นที่ ๓
ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีดวงตราเหมือนทุติยจุลจอมเกล้า แต่ย่อมกว่า ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๔ เซนติเมตร มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบและมีเข็มทองประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายตติยจุลจอมเกล้า มีลักษณะอย่างตติยจุลจอมเกล้าวิเศษแต่ไม่มีดอกไม้จีบตติยานุจุลจอมเกล้า มีลักษณะอย่างตติยจุลจอมเกล้าแต่เป็นตราเงินไม่มีแฉกและรัศมี
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน
ชั้นที่ ๑
ปฐมจุลจอมเกล้า มีลักษณะอย่างปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ย่อมกว่าและที่จุลมงกุฎและใบชยพฤกษ์ประดับเพชรกับที่ด้านหลังมีอักษรทองว่า “รัตนโกสินทรศก ๑๑๒” ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๗.๕ เซนติเมตร สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา หรือห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๕ เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้ายกับมีดาราเหมือนชั้นที่ ๑ สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้าแต่ย่อมกว่า ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ ๒
ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีดวงตราเหมือนชั้นที่ ๑ แต่ไม่ประดับเพชร ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๗.๕ เซนติเมตร สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา หรือห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๕ เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้ายทุติยจุลจอมเกล้า มีดวงตราห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ เหมือนทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ แต่ห้อยกับแพรแถบสะพายไม่ได้
ชั้นที่ ๓
ตติยจุลจอมเกล้า มีดวงตราเหมือนทุติยจุลจอมเกล้าแต่ย่อมกว่า ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๔ เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
ชั้นที่ ๔
จตุตถจุลจอมเกล้า มีดวงตราเหมือนตติยานุจุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่กาไหล่ทองลงยาสีขาบ ห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง ๔ เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย มาตรา ๙ ให้มีการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ดังต่อไปนี้๑. เมื่อบิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ บุตรชายจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ และการสืบตระกูลตามข้อนี้ให้มีตลอดไปจนกว่าจะหาตัวผู้สืบสายโลหิตที่เป็นชายไม่ได้๒. เมื่อบิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า บุตรชายจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ แต่การสืบตระกูลตามข้อนี้ เป็นอันสิ้นสุดแต่เพียงนี้๓. เมื่อบิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือทุติยจุลจอมเกล้า บุตรชายจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สืบตระกูลเมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว การสืบตระกูลตามข้อนี้เป็นอันสิ้นสุดแต่เพียงนี้การสืบตระกูลดังเช่นว่ามาทั้งหมดนี้ บุตรชายใหญ่ของจำนวนบุตรที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น เป็นผู้จะได้รับพระราชทานแต่ต้องเป็นบุตรซึ่งบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ในตระกูลรับรองยกย่อง ประกอบกับมีความประพฤติและหลักฐานดี สมควรที่จะรักษาเกียรติแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ หากบุตรชายใหญ่นั้นไม่สมควรจะได้รับพระราชทาน บิดาจะขอพระราชทานให้บุตรชายรองลงไปตามลำดับก็ได้ เมื่อทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะได้พระราชทานเป็นพิเศษ การสืบตระกูลโดยพระราชทานเป็นพิเศษเช่นนี้ เป็นอันสิ้นสุด แต่เพียงผู้ได้รับพระราชทานนั้นเท่านั้นเมื่อบุตรชายที่จะได้รับพระราชทานวิกลจริตหรือตายเสียก่อนได้รับพระราชทานก็จะพระราชทานแก่หลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายนั้น โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาในวรรคก่อน ถ้าไม่มีหลานดังกล่าวแล้ว จะได้พระราชทานแก่บุตรชายคนถัดไป ถ้าบุตรชายคนถัดไปวิกลจริตหรือตายก็จะได้พระราชทานแก่หลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนถัดไปนั้น โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีหลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนถัดไปนั้น ให้ได้แก่บุตรชายคนใดคนหนึ่งที่สมควร มาตรา ๑๐ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะพระราชทานในการสืบตระกูล ถ้าเป็นบุตรสืบตระกูลบิดา ให้ได้รับตติยจุลจอมเกล้า ถ้าเป็นหลานสืบตระกูลปู่ ให้ได้รับตติยานุจุลจอมเกล้า มาตรา ๑๑ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ให้มีประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญฉกร เว้นแต่ฝ่ายหน้าที่ได้รับปฐมจุลจอมเกล้า แล้วเลื่อนขึ้นรับปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือได้รับทุติยจุลจอมเกล้า แล้วเลื่อนขึ้นรับทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ไม่มีประกาศนียบัตร มาตรา ๑๒ เมื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้วายชนม์ ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้คืนภายในกำหนดสามสิบวัน ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ มาตรา ๑๓ เมื่อผู้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้รับพระราชทานชั้นสูงขึ้น ผู้รับพระราชทานต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรองหรือในกรณีที่ทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้คืนตามความในมาตรา ๔ ถ้าผู้รับพระราชทานส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ผู้รับพระราชทานจะต้องใช้ราคาเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น มาตรา ๑๔ บรรดาผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้อยู่แล้ว ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ มาตรา ๑๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประชากรและข้าราชการเพิ่มจำนวนมากขึ้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าซึ่งมีจำกัดจำนวนตามพระราชบัญญัติ ขณะนี้บางชั้นได้พระราชทานไปเกือบเต็มจำนวนแล้ว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้กำหนดตามพระราชบัญญัติครั้งหลังสุดในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ กับจำนวนประชากรและข้าราชการสมัยนั้นกับปัจจุบัน จำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่กำหนดไว้ยังต่ำ จึงควรเพิ่มจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าให้สูงขึ้นเพื่อสมดุลกับจำนวนประชากรและข้าราชการที่เพิ่มขึ้น