ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2550
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2550

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๐
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“องค์การ” หมายความว่า องค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยองค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙
 
มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่าองค์การเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
(๒) ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การ ให้องค์การ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และบรรณสารขององค์การบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ ผู้แทนของรัฐภาคี และผู้เชี่ยวชาญขององค์การ ตลอดจนสมาชิกของครอบครัว ซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในพิธีสารว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยความตกลง ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือที่รัฐบาลจะได้ทำความตกลงต่อไปกับองค์การ ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลใน คณะเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยหรือผู้มีถิ่นที่อยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ให้ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในพิธีสารดังกล่าวเฉพาะที่เป็นการกระทำตามหน้าที่อย่างเป็นทางการและภายในขอบเขตแห่งหน้าที่ของบุคคลนั้น
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



อนุสัญญาว่าด้วยองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก
                       
 
รัฐภาคีแห่งอนุสัญญฉบับนี้
 
ยอมรับ ความสำคัญของการแสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศทางสันติดเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อความรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาคนี้
ปรารถนา ที่จะกระชับความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในสาขาอวกาศ บนพื้นฐานแห่งการประยุกต์ใช้ประโยชน์โดยสันติจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ
ตระหนักถึง ความเป็นจริงในความมหาศาลของทรัพยากรทางวิชาการ การเงิน และบุคคลที่จำเป็นต่อการพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ มีถึงขนาดที่ควรจะรวมทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าด้วยกันเพื่อดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น
ยอมรับว่า อนุสัญญาฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐสมาชิกแห่งภูมิภาคในความร่วมมือพหุภาคีในด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศรวมทั้งการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างสันติโดยให้มีการนำทรัพยากรด้านเทคโนโลยี การเงินและบุคคลมารวมกัน เพื่อที่จะทำให้รัฐสมาชิกสามารถร่วมกันพัฒนาในส่วนของโครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาต่าง ๆ เหล่านั้น
เชื่อว่า การจัดตั้งองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก ที่เป็นอิสระเพื่อความร่วมมือพหุภาคีของภูมิภาคในการประยุกต์ใช้ประโยชน์โดยสันติจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศซึ่งอยู่บนพื้นฐานแห่งการใช้ประโยชน์อวกาศโดยสันติ หลักแห่งผลประโยชน์ร่วมกันและการเสริมซึ่งกันและกัน รวมทั้งการหารือและการพัฒนาด้วยความเทียมกัน จะปรับปรุงสมรรถนะของรัฐสมาชิกให้มีประสิทธิภาพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ประโยชน์โดยสันติ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อรัฐสมาชิกแต่ละรัฐมากขึ้น
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
 
บทที่ ๑ เรื่องทั่วไป
ข้อ ๑
การจัดตั้งองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก
 
๑. องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกได้จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญานี้ (ต่อไปในที่นี้เรียกว่า “องค์การ”)
๒. สำนักงานใหญ่ขององค์การ จะตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน (ซึ่งต่อไปในที่นี้เรียกว่า “รัฐเจ้าภาพ”)
๓. ในการหารือกับรัฐบาลของรัฐเจ้าภาพ องค์การอาจจัดให้มีสำนักงานสาขาและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องภายในดินแดนของรัฐเจ้าภาพ
๔. ในการหารือกับรัฐสมาชิกอื่น องค์การอาจจัดให้มีสำนักงานสาขาและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องภายในดินแดนของรัฐสมาชิกอื่นได้
 
ข้อ ๒
คำนิยาม
 
เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญาฉบับนี้
ก) “องค์การ” หมายถึง องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (แอ๊ปสโค)
ข) “รัฐบาลเจ้าภาพ” หมายถึง รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งองค์การ
ค) “รัฐสมาชิก” หมายถึง รัฐสมาชิกขององค์การ
ง) “คณะมนตรี” หมายถึง หน่วยงานสูงสุดขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกซึ่งประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการมอบอำนาจอย่างเป็นทางการจากรัฐสมาชิก
จ) “ประธาน” หมายถึง ประธานของคณะมนตรี
ฉ) “สำนักงานเลขาธิการ” หมายถึง องค์กรบริหารขององค์การ ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ช) “เลขาธิการ” หมายถึง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและเป็นตัวแทนทางกฎหมายขององค์การ
 
ข้อ ๓
สถานะทางกฎหมาย
 
ให้องค์การเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล องค์การเป็นหน่วยงานอิสระที่มิได้แสวงหากำไรที่มีนิติฐานะระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์
 
ข้อ ๔
วัตถุประสงค์
 
วัตถุประสงค์ขององค์การ มีดังนี้
๑. ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านอวกาศของรัฐสมาชิก โดยกำหนดพื้นฐานแห่งความร่วมมือเพื่อการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศอย่างสันติ
๒. ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในอันที่จะช่วยเหลือรัฐสมาชิกในด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ การประยุกต์ใช้ประโยชน์ และการฝึกอบรมโดยดำเนินการ และนำนโยบายการพัฒนากิจการอวกาศไปปฏิบัติ
๓. ส่งเสริมความร่วมมือ การพัฒนาร่วมกับและการแบ่งปันความสำเร็จ ระหว่างรัฐสมาชิกในด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศโดยการใช้ประโยชน์จากการชักนำศักยภาพด้านความร่วมมือในภูมิภาค
๔. ขยายความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้องของรัฐสมาชิก และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในเชิงอุตสาหกรรม
๕. มีส่วนช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากอวกาศโดยสันติ ในกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ประโยชน์
 
ข้อ ๕
นโยบายด้านอุตสาหกรรม
 
๑. คณะมนตรีต้องจัดทำนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกอย่างคุ้มค่า
๒. ภาคอุตสาหกรรมของรัฐสมาชิกทั้งปวงจะต้องได้รับบุริมสิทธิ์/โอกาสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำโครงการและกิจกรรมขององค์การไปปฏิบัติ
๓. ในระหว่างการนำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การไปปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและผลผลิตจากเทคโนโลยีอวกาศที่เกี่ยวข้อง องค์การต้องทำให้แน่ใจว่ารัฐสมาชิกทั้งปวงจะมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนของเงินลงทุน ซึ่งอาจรวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี
๔. แนวคิด “ผลตอบแทนที่ยุติธรรม” สำหรับรัฐสมาชิกต้องเป็นเสาหลักของนโยบายด้านอุตสาหกรรมขององค์การ องค์การต้องพยายามเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของรัฐสมาชิก โดยการใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านอุตสาหกรรมที่มีอยู่ของรัฐสมาชิกในเบื้องต้น โดยการพัฒนา รวมทั้งการธำรงไว้ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังกล่าว ตลอดจนการกระตุ้นให้มีการพัฒนาโครงสร้างทางอุตสาหกรรมตามความต้องการของตลาด
๕. นโยบายด้านอุตสาหกรรมต้องมีเป้าหมายหลัก ดังนี้
  ก) การพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้แข่งขันได้โดยใช้การประกวดราคาแข่งขันอย่างเสรี
  ข) การกระจายเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐสมาชิก เพื่อก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะที่จำเป็นสำหรับโครงการและกิจกรรมขององค์การ
๖. ในการนำนโยบายด้านอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ ประธานคณะมนตรีจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะมนตรี
 
บทที่ ๒ ขอบเขตของความร่วมมือและกิจกรรมด้านความร่วมมือ
ข้อ ๖
ขอบเขตของความร่วมมือ
 
องค์การจะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามสาขาแห่งความร่วมมือ ดังนี้
๑. เทคโนโลยีอวกาศและโครงการการประยุกต์ใช้ประโยชน์
๒. การสำรวจโลก การจัดการภัยพิบัติ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การสื่อสารผ่านดาวเทียม การนำทางและกำหนดพิกัดด้วยดาวเทียม
๓. การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ
๔. การศึกษา การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์/ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
๕. การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อการพัฒนาโครงการขององค์การ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อสนเทศทางวิชาการ และข้อสนเทศอื่นที่เกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมขององค์การ
๖. โครงการความร่วมมืออื่น ๆ ที่รัฐสมาชิกได้ตกลงกัน
 
ข้อ ๗
กิจกรรมพื้นฐาน
 
๑. กิจกรรมพื้นฐานขององค์การจะรวมถึง
  ก) การจัดทำแผนงานด้านกิจกรรม และพัฒนาอวกาศขององค์การ
  ข) การวิจัยขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้
  ค) การขยายการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศที่ได้มีการพัฒนาถึงขั้นใช้งานได้แล้ว
  ง) การจัดกิจกรรมการศึกษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ประโยชน์
  จ) การบริหารงานและดูแลสำนักงานสาขา และสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนระบบเครือข่ายขององค์การ
  ฉ) ดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
๒. รัฐสมาชิกทั้งปวงต้องร่วมในกิจกรรมพื้นฐานดังกล่าวในวรรค ๑ ของข้อนี้
 
ข้อ ๘
กิจกรรมทางเลือก
๑. นอกเหนือจากกิจกรรมพื้นฐานที่ระบุในข้อ ๗ แล้ว องค์การจะต้องให้คำแนะนำและจัดให้มีโครงการด้านเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อวกาศและการประยุกต์ใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมแก่รัฐสมาชิก สำหรับนำไปปฏิบัติร่วมกันโดยรัฐสมาชิกที่เลือกเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว
๒. โครงการเช่นว่านั้นจะดำเนินการตามหลักของผลตอบแทนจากการลงทุน รัฐสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมที่เลือกไว้ ตามสัดส่วนของการลงทุนที่รัฐสมาชิกเข้าร่วม
 
บทที่ ๓ สมาชิกภาพ
ข้อ ๙
สมาชิก
 
๑. องค์การจะเปิดรับสมาชิกทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
๒. รัฐสมาชิกจะมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการออกเสียงลงคะแนน
๓. รัฐสมาชิกทั้งปวงจะมีสิทธิเข้าร่วมโครงการความร่วมมือและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยองค์การ
๔. รัฐสมาชิกทั้งปวงจะต้องมีส่วนร่วมชำระค่าบำรุงสำหรับการดำเนินงานขององค์การ
๕. การเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ จะไม่มีผลกระทบต่อความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีของรัฐสมาชิกที่มีในปัจจุบันหรืออนาคต
๖. รัฐสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านอวกาศ อาจได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์โดยความเห็นชอบของคณะมนตรีอย่างเป็นเอกฉันท์ ผู้สังเกตการณ์จะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของคณะมนตรี
๗. รัฐที่มิได้อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ สามารถสมัครเป็นสมาชิกสมทบได้ คณะมนตรีอาจพิจารณาตัดสินโดยฉันทามติให้เข้าร่วมองค์การ คณะมนตรีอาจตัดสินโดยฉันทามติในเรื่องข้อกำหนดและเงื่อนไขในการเข้าเป็นสมาชิกร่วม (การชำระค่าบำรุง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมพื้นฐาน และกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ ขององค์การ ฯลฯ) สมาชิกสมทบจะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมของคณะมนตรี
 
บทที่ ๔ องค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่
ข้อ ๑๐
องค์กรขององค์การ
 
๑. องค์กรขององค์การ ประกอบด้วย
  ก) คณะมนตรี ที่จะมีประธานมนตรีเป็นหัวหน้า และ
  ข) สำนักงานเลขาธิการ ที่จะมีเลขาธิการเป็นหัวหน้าคณะ
๒. องค์การ สามารถจัดตั้งสถาบันย่อยขึ้นได้ตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานและการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
 
บทที่ ๕ คณะมนตรีขององค์การ
ข้อ ๑๑
องค์ประกอบของคณะมนตรี
 
๑. คณะมนตรีจะเป็นหน่วยงานสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินใจขององค์การ
๒. คณะมนตรีจะต้องประกอบด้วยรัฐมนตรีหรือผู้แทนระดับกระทรวงของหน่วยงานด้านอวกาศแห่งชาติของรัฐสมาชิก รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือผู้แทนระดับกระทรวงหนึ่งท่านเพื่อการเป็นตัวแทนในคณะมนตรี
๓. คณะมนตรีจะต้องเลือกประธานหนึ่งคนและรองประธานสองคน โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี
 
ข้อ ๑๒
ความรับผิดชอบของคณะมนตรี
 
คณะมนตรีจะต้อง
ก) กำหนดและให้ความเห็นชอบต่อนโยบาย ตลอดจนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ที่องค์การต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การ
ข) ให้ความเห็นชอบต่อการภาคยานุวัติ การตัดและการสิ้นสุดของสมาชิกภาพ และทำคำวินิจฉัยในเรื่องการรับเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์และสมาชิกสมทบ
ค) รับเอาและให้ความเห็นชอบต่อกฎข้อบังคับในการประชุมของตน
ง) รับเอาและให้ความเห็นชอบต่อรายงานประจำปีและแผนการดำเนินงานขององค์การ
จ) รับเอาและให้ความเห็นชอบต่อโครงการความร่วมมือและงบประมาณของโครงการ
ฉ) รับเอาและให้ความเห็นชอบต่ออัตราค่าบำรุงของรัฐสมาชิกและ และงบประมาณประจำปีขององค์การ
ช) ให้ความเห็นชอบต่อแผนงบประมาณห้าปีตามระดับปัจจุบันของทรัพยากรทางการเงิน และโดยกำหนดทรัพยากรทางการเงินที่จัดสรรให้องค์การ สำหรับช่วงเวลาห้าปีถัดไป
ซ) ให้ความเห็นชอบต่อรายงานค่าใช้จ่ายประจำปีและงบการเงินขององค์การ
ฌ) ให้ความเห็นชอบต่อบทบัญญัติในเรื่องการบริหารจัดการอื่น ๆ ทั้งหมดขององค์การ
ญ) ให้ความเห็นชอบและจัดพิมพ์รายงานดุลประจำปีขององค์การ ที่ผ่านการตรวจสอบบัญชีแล้ว
ฎ) แต่งตั้งเลขาธิการและให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ โดยคณะมนตรี การแต่งตั้งเลขาธิการอาจถูกเลื่อนออกไปเมื่อไรก็ได้เป็นเวลาหกเดือน ในกรณีเช่นนั้น ให้คณะมนตรีแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการสำหรับช่วงเวลานั้น ซึ่งจะรับผิดชอบต่อการปฏิบัติภารกิจโดยให้มีอำนาจและความรับผิดชอบตามที่คณะมนตรีจะกำหนดสำหรับบุคคลผู้นั้น
ฏ) ตัดสินใจให้ก่อตั้งสถาบันและสำนักงานสาขา และให้ความเห็นชอบต่อโครงสร้างของหน่วยงานเหล่านั้นตลอดจนของสำนักงานเลขาธิการและอัตรากำลังของพนักงานของหน่วยงานนั้น ๆ
ฐ) แต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่จะทำให้การประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล
ฑ) ตีความอนุสัญญาฉบับนี้ หากได้รับการร้องขอจากรัฐสมาชิกใด ๆ
 
ข้อ ๑๓
การประของคณะมนตรี
 
๑. คณะมนตรีจะประชุมตามที่และเมื่อจำเป็น แต่อย่างน้อยที่สุดปีละหนึ่งครั้ง การประชุมจะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ขององค์การ เว้นแต่คณะมนตรีจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๒. จะต้องมีการเข้าร่วมประชุมของผู้แทนอย่างเป็นทางการจากรัฐสมาชิกส่วนใหญ่จำนวนสองในสามของทั้งหมด จึงจะครบองค์ประชุมสำหรับการประชุมของคณะมนตรี
 
ข้อ ๑๔
การออกเสียง
 
๑. รัฐสมาชิกแต่ละรัฐในคณะมนตรีจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน
๒. เว้นแต่คณะมนตรีมีมติเป็นเอกฉันท์เป็นอย่างอื่น คณะมนตรีจะต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้การตัดสินชี้ขาดในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปโดยฉันทามติ
 
บทที่ ๖ สำนักงานเลขาธิการ
ข้อ ๑๕
องค์ประกอบของสำนักงานเลขาธิการ
 
๑. สำนักงานเลขาธิการจะเป็นองค์กรบริหารขององค์การ
๒. สำนักงานเลขาธิการจะต้องประกอบด้วยเลขาธิการและบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ
 
ข้อ ๑๖
เลขาธิการ
 
๑. เลขาธิการจะเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารขององค์การ และเป็นผู้แทนโดยนิตินัยขององค์การเลขาธิการจะมีอำนาจหน้าที่โดยสมบูรณ์ในการบริหารสำนักงานเลขาธิการขององค์การ
๒. ให้คณะมนตรีแต่งตั้งเลขาธิการหนึ่งคนสำหรับดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาห้าปีและอาจขยายวาระการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการได้อีกวาระหนึ่งเป็นเวลาห้าปี คณะมนตรีโดยมติเสียงข้างมากสามในสี่ของรัฐสมาชิกที่เข้าประชุมคณะมนตรี มีสิทธิถอดถอนเลขาธิการในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง
๓. เลขาธิการจะต้องเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี โดยไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
 
ข้อ ๑๗
ความรับผิดชอบของเลขาธิการ
 
๑. เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งที่ออกโดยคณะมนตรี เลขาธิการจะต้องรายงานต่อคณะมนตรีและจะต้องรับผิดชอบดังนี้
  ก) การปฏิบัติตามและการอนุวัติการนโยบายทุกเรื่องขององค์การ ตามที่คณะมนตรีปรารถนา
  ข) การทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
  ค) การจัดการและการดำเนินงานขององค์การ
  ง) การร่างรายงานประจำปี แผนการดำเนินงาน และงบประมาณด้านการเงินขององค์การ เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะมนตรี
  จ) จัดทำและอนุวัติการบทบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการภายในของสำนักงานเลขาธิการ
  ฉ) เสนอข้อเสนอต่อคณะมนตรีเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ที่จัดวางขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ
  ช) การบรรจุและการบริหารเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภายในจากรัฐสมาชิกตามกฎข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานที่กำหนดโดยคณะมนตรี
  ซ) การแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ประจำในรูปของสัญญา เพื่อปฏิบัติการตามงานที่ได้รับมอบหมายจากองค์การ
  ฌ) เจรจาและลงนามทำความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยความเห็นชอบของคณะมนตรี
๒. ความรับผิดชอบของเลขาธิการและคณะบุคคลเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหรือเจ้าหน้าที่ตามสัญญาก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์การจะเป็นในระดับระหว่างประเทศเท่านั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน บุคคลเหล่านั้นจะต้องไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลใด ๆ หรือจากองค์กรใด ๆ นอกองค์การ รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจะต้องเคารพความเป็นสากลของความรับผิดชอบของเลขาธิการและบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ และจะต้องไม่ใช้อิทธิพลใด ๆ ในลักษณะหรือรูปแบบใด ๆ ต่อบุคคลเหล่านั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับองค์การ
 
บทที่ ๗ การเงิน
ข้อ ๑๘
ข้อตกลงด้านการเงิน
 
๑. กองทุนสำหรับองค์การ จะจัดหาจากเงินค่าบำรุงของรัฐสมาชิก เงินให้เปล่าตามความสมัครใจของรัฐเจ้าภาพและรัฐสมาชิกอื่น ๆ เงินบริจาคและเงินอุดหนุนที่ได้รับจากองค์การอื่น ๆ และบริการต่าง ๆ ที่ให้แก่ผู้อื่น
๒. รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจะต้องมีส่วนร่วมในงบประมาณขององค์การ ตามข้อตกลงด้านการเงินที่คณะมนตรีเป็นผู้กำหนด
๓. คณะมนตรีโดยฉันทามติจะต้องกำหนดอัตราเงินค่าบำรุงของรัฐสมาชิกแต่ละรัฐ อัตราดังกล่าวจะต้องมีการทบทวนทุก ๆ สามปี
๔. อัตราเงินค่าบำรุงจากรัฐสมาชิกนั้นจะคำนวณตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของรัฐสมาชิกต่อจำนวนประชากร
๕. รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจะต้องจ่ายเงินค่าบำรุงขั้นต่ำให้แก่องค์การ ที่เรียกว่า “ขั้นต่ำสุด” ซึ่งกำหนดโดยการออกเสียงของที่ประชุมคณะมนตรีด้วยคะแนนเสียงข้างมากสองในสาม
๖. ไม่มีรัฐสมาชิกใดจะถูกเกณฑ์ให้จ่ายเงินค่าบำรุงเกินกว่าร้อยละ ๑๘ ของงบประมาณขององค์การที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว
๗. ภายใต้บังคับแห่งข้อกำหนดของคณะมนตรี เลขาธิการอาจยอมรับเงินบริจาค ของกำนัลหรือมรดกที่ให้แก่องค์การ ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่ก่อให้เกิดเงื่อนไขที่จัดต่อวัตถุประสงค์ขององค์การ
 
บทที่ ๘ ข้อพิพาท
ข้อ ๑๙
การระงับข้อพิพาท
 
ข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างรัฐสมาชิกสองรัฐหรือมากกว่านั้น หรือระหว่างรัฐสมาชิกใด ๆ กับองค์การในส่วนที่เกี่ยวกับการตีความหรือการใช้อนุสัญญาฉบับนี้จะมีข้อยุติโดยการปรึกษาหารือกันฉันท์มิตรในคณะมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้ให้ยุติข้อพิพาทนั้นโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎข้อบังคับเพิ่มเติมที่คณะมนตรีรับเอาโดยฉันทามติ
 
บทที่ ๙ บทบัญญัติอื่น ๆ
ข้อ ๒๐
การแลกเปลี่ยนบุคลากร
 
เมื่อได้รับการร้องขอจากองค์การ รัฐสมาชิกจะต้องอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานที่มอบหมายให้องค์การ และที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์การ การแลกเปลี่ยนบุคลากรนี้จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของรัฐสมาชิกที่เกี่ยวกับการเข้า การพำนักอยู่และการออกจากดินแดนของรัฐสมาชิก
 
ข้อ ๒๑
การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ
 
๑. องค์การ และรัฐสมาชิกจะต้องอำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ และการนำมาประยุกต์ใช้ รัฐสมาชิกมีสิทธิที่จะไม่มอบข้อสนเทศนั้นให้แก่องค์การได้ และในทางกลับกันหากเห็นว่าข้อสนเทศนั้นจะละเมิดความตกลงของตนที่มีต่อฝ่ายที่สาม หรือไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตน
๒. ในการดำเนินกิจกรรมขององค์การ องค์การจะต้องทำให้มั่นใจว่าผลงานทางวิทยาศาสตร์อันเนื่องมาจากการวิจัยและ/หรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และ/หรือทางเทคโนโลยีจะถูกนำออกเผยแพร่สู่สาธารณชน/ตีพิมพ์ ก็ต่อเมื่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้โดยนักวิทยาศาสตร์/วิศวกรภายในรัฐสมาชิกที่รับผิดชอบในการค้นคว้าทดลองภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การ องค์การจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในผลงานและข้อมูลสรุปซึ่งถือเป็นทรัพย์สินขององค์การ
 
ข้อ ๒๒
สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
 
๑. สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลทางวิชาการหรือเทคนิคตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย อันเป็นผลจากแผนงานหรือกิจกรรมใด ๆ ซึ่งดำเนินการโดยองค์การ หรือโดยการใช้ทรัพยากรขององค์การ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การ
๒. คณะมนตรีจะกำหนดแนวทาง และกระบวนการที่รัฐสมาชิกจะใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลทางวิชาการหรือเทคนิค ตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ที่องค์การเป็นเจ้าของ
๓. คณะมนตรีจะกำหนดแนวทางและกระบวนการที่องค์การและรัฐสมาชิกจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลทางวิชาการและเทคนิค ตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ที่รัฐสมาชิกเป็นเจ้าของ โดยอาศัยความตกลงและสัญญาที่เหมาะสม องค์การจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
 
ข้อ ๒๓
การปกป้องเทคโนโลยีและการควบคุมการส่งออก
 
๑. องค์การจะไม่ยอมให้มีการเข้าถึงโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งข้อสนเทศที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งต่าง ๆ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง/มาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้บรรลุความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนและบุคลากรของรัฐสมาชิกผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการสิ่งต่าง ๆ/ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองเหล่านั้น และรวมถึงการใช้มาตรการที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่จะคุ้มครองและดูแลการจัดการสิ่งเหล่านั้น ตลอดจนจัดทำและอนุวัติการแผนด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง
๒. เพื่อที่จะนำเอากิจกรรมความร่วมมือ แผนงานและโครงการต่าง ๆ ขององค์การไปปฏิบัติรัฐสมาชิกต้องทำความตกลงในเรื่องมาตรการป้องกันเทคโนโลยี และในกรณีที่เฉพาะเจาะจงที่ให้ส่งเสริมการทำความตกลงเช่นนั้นโดยองค์การที่มีอำนาจหน้าที่และองค์การอื่น ๆ ที่กำหนดไว้เพื่อที่จะจัดทำแผนด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง
๓. รัฐสมาชิก ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของประเทศนั้น ๆ และกฎหมายควบคุมการส่งออกที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งรวมอยู่ในรายการควบคุมการส่งออก
 
ข้อ ๒๔
ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ
 
๑. องค์การจะต้องร่วมมือกับทบวงการต่าง ๆ ในระบบของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศส่วนนอกในทางสันติ (คอปูโอส)
๒. องค์การมีสิทธิที่จะจัดตั้งหุ้นส่วนความร่วมมือกับรัฐต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่รัฐสมาชิกขององค์การและองค์การระหว่างประเทศและสถาบันอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์การ โดยความเห็นชอบของคณะมนตรีที่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งคณะมนตรีจะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกระบวนการที่เหมาะสม
 
ข้อ ๒๕
เอกสิทธิและความคุ้มกัน
 
๑. เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทั้งหลายที่องค์การ บุคคลของคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญขององค์การ และผู้แทนของรัฐสมาชิกจะได้รับในดินแดนของรัฐสมาชิกอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ขององค์การ จะกำหนดขึ้นโดยความตกลงที่เฉพาะเจาะจงซึ่งกระทำระหว่างองค์การกับรัฐอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่
๒. องค์การ บุคคลของคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญขององค์การ และผู้แทนของรัฐสมาชิกจะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในดินแดนของรัฐสมาชิกแต่ละรัฐเท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การ หรือที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น เอกสิทธิ์ความคุ้มกันเหล่านั้นจะเป็นเช่นเดียวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่คล้ายคลึงกันที่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐให้แก่องค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
 
ข้อ ๒๖
การใช้สิ่งอำนวยความสะดวก
 
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติที่ว่าการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดตั้งขึ้นและ/หรือเป็นขององค์การ สำหรับโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ จะไม่ถูกกระทบกระเทือน องค์การจะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกของตนให้รัฐสมาชิกได้ใช้ตามที่ร้องขอ คณะมนตรีจะจัดทำแนวทางและกระบวนการตลอดจนวิธีปฏิบัติซึ่งทำให้รัฐสมาชิกสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นได้
 
บทที่ ๑๐ ข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๒๗
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญา
 
๑. รัฐสมาชิกใดที่ประสงค์จะเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาฉบับนี้ จะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และเลขาธิการจะต้องแจ้งให้รัฐสมาชิกทราบถึงการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสามเดือน ก่อนที่คณะมนตรีจะหารือกันในเรื่องข้อเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลง คณะมนตรีอาจเสนอข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาให้รัฐสมาชิกก็ได้
๒. การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาฉบับนี้จะต้องได้รับการรับเอาโดยคณะมนตรีโดยฉันทามติ
๓. หลังจากที่คณะมนตรีมีมติรับเอาข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว เลขาธิการจะต้องแจ้งให้รัฐสมาชิกทุกรัฐทราบอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการรับเอาข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญานั้น โดยขอความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากรัฐสมาชิกตามขั้นตอนภายในของตน
๔. หลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้งการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐสมาชิกทุกรัฐแล้ว เลขาธิการจะต้องเสนอต่อคณะมนตรีเพื่อทราบและส่งต่อให้รัฐบาลเจ้าภาพ รัฐบาลเจ้าภาพจะต้องแจ้งให้รัฐสมาชิกทุกรัฐทราบถึงวันที่มีผลใช้บังคับของข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาภายในสามสิบวันหลังจากวันที่ได้รับการแจ้งการยอมรับจากรัฐสมาชิกทุกรัฐ
 
บทที่ ๑๑ การให้สัตยาบัน การมีผลใช้บังคับ ฯลฯ
ข้อ ๒๘
การลงนามและการให้สัตยาบัน
 
๑. อนุสัญญาฉบับนี้จะเปิดให้มีการลงนามจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙
๒. อนุสัญญาฉบับนี้จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของการให้สัตยาบันหรือการยอมรับโดยรัฐที่อ้างถึงในวรรค ๑ ข้อ ๙ ของอนุสัญญานี้
๓. สัตยาบันสารหรือสารยอมรับจะต้องมอบไว้กับรัฐบาลเจ้าภาพ
 
ข้อ ๒๙
การมีผลใช้บังคับ
 
๑. อนุสัญญาฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับต่อเมื่อรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติอย่างน้อยห้ารัฐได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้และได้มอบสัตยาบันสารหรือสารยอมรับไว้กับรัฐบาลเจ้าภาพแล้ว
๒. หลังจากที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว รัฐที่ลงนามและอยู่ในระหว่างรอการมอบสัตยาบันสารหรือสารยอมรับ อาจเข้าร่วมในการประชุมที่มิใช่เป็นการประชุมลับในองค์การได้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงลงคะแนน ทั้งนี้ ภายใต้บังคับของแนวทางและกระบวนการที่คณะมนตรีเห็นชอบ
 
ข้อ ๓๐
การภาคยานุวัติ
 
๑. หลังจากที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับหรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาลงนามแล้ว สุดแล้วแต่ว่าระยะเวลาใดเกิดขึ้นภายหลัง รัฐใดตามที่นิยามไว้ในวรรค ๑ ของข้อ ๙ อาจภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้ได้โดยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของคณะมนตรี
๒. รัฐที่ประสงค์จะภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้จะต้องยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการต่อเลขาธิการซึ่งจะทำหน้าที่แจ้งให้รัฐสมาชิกทุกรัฐทราบถึงการร้องขอนั้นอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสามเดือนก่อนที่จะเสนอต่อคณะมนตรีเพื่อให้วินิจฉัย
๓. ภาคยานุวัติสารจะต้องมอบไว้กับรัฐบาลเจ้าภาพ
 
ข้อ ๓๑
การแจ้งให้ทราบ
 
รัฐบาลเจ้าภาพ จะต้องแจ้งให้รัฐผู้ลงนามและรัฐที่ภาคยานุวัติทุกรัฐทราบถึง
ก) วันที่ของการมอบสัตยาบันสาร สารยอมรับหรือภาคยานุวัติสารแต่ละฉบับ
ข) วันที่ของการมีผลใช้บังคับของอนุสัญญาฉบับนี้และของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงของอนุสัญญาฉบับนี้
ค) วันที่ของการถอนตัวของรัฐสมาชิกออกจากอนุสัญญาฉบับนี้
 
ข้อ ๓๒
การตัดสิทธิ
 
รัฐสมาชิกใดที่ไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้จะถูกตัดสมาชิกภาพขององค์การตามการวินิจฉัยของคณะมนตรีโดยเสียงข้างมากสองในสาม
 
ข้อ ๓๓
การถอนตัว
 
๑. หลังจากที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับมาเป็นเวลาห้าปีแล้ว รัฐสมาชิกใดที่มีความประสงค์จะถอนตัวออกจากอนุสัญญาฉบับนี้จะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้เลขาธิการทราบล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งปี
๒. เลขาธิการจะต้องรีบแจ้งให้ประธานของคณะมนตรีและรัฐสมาชิกทั้งหมดทราบถึงคำขอถอนตัวของรัฐสมาชิกนั้น และประธานจะต้องเรียกประชุมคณะมนตรีภายใน ๙๐ วันเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับคำขอนั้นหรือไม่
๓. หลังจากการให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการต่อการถอนตัวแล้ว รัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะยังคงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเงินส่วนที่ถึงกำหนดของตนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ/กิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว และค่าบำรุงสำหรับปีที่การถอนตัวได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ
๔. การถอนตัวเช่นนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีตามสัญญาหรือตามความตกลงที่รัฐสมาชิกนั้นและองค์การ ได้ยอมรับไว้ก่อนการถอนตัวของรัฐสมาชิกนั้น
๕. รัฐที่ถอนตัวจากอนุสัญญาฉบับนี้จะคงสิทธิที่ได้รับไปแล้วอันเนื่องจากการเป็นสมาชิกขององค์การ จนถึงวันที่การถอนตัวจากสมาชิกภาพมีผลบังคับ
 
ข้อ ๓๔
การยุบเลิกองค์การ
 
๑. องค์การจะถูกยุบเลิก ณ เวลาใดก็ได้โดยความตกลงโดยฉันทามติระหว่างรัฐสมาชิกทั้งหมดขององค์การ
๒. องค์การจะถูกยุบเลิกเช่นกัน หากสมาชิกภาพขององค์การ มีจำนวนรัฐสมาชิกเหลือน้อยกว่าสี่รัฐ
๓. ในกรณีที่มีการยุบเลิกองค์การ คณะมนตรีจะต้องแต่งตั้งหน่วยงานชำระบัญชีอย่างเป็นทางการหนึ่งหน่วยงานเพื่อเจรจากับรัฐสมาชิกซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสำนักงานต่าง ๆ ขององค์การ ณ เวลาที่มีการชำระบัญชี ที่ปรึกษากฎหมายทั้งหลายขององค์การจะยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าขั้นตอนการชำระบัญชีจะเสร็จสิ้น
๔. หลังจากการเสร็จสิ้นของขั้นตอนการยุบเลิกองค์การ ทรัพย์สินที่เหลือใด ๆ ก็ตามจะต้องได้รับการจัดสรรแบ่งปันให้กับบรรดารัฐสมาชิกตามสัดส่วนของค่าบำรุงที่รัฐเหล่านั้นได้ชำระแล้ว ในกรณีที่มีการขาดดุล รัฐสมาชิกเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบตามสัดส่วนค่าบำรุงที่มีการประเมินกันไว้ในปีงบประมาณการเงินที่มีการชำระบัญชี
 
ข้อ ๓๕
การจดทะเบียน
 
ทันทีที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับ รัฐบาลเจ้าภาพจะต้องจดทะเบียนอนุสัญญานั้นไว้กับสำนักเลขาธิการของสหประชาชาติตามข้อ ๑๐๒ ของกฎบัตรสหประชาชาติ
เพื่อเป็นพยานในการนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้อง ได้ลงนามอนุสัญญาฉบับนี้
ทำขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ยี่สิบแปด เดือนตุลาคม พุทธศักราชสองพันห้าร้อยสี่สิบแปด เป็นภาษาอังกฤษเป็นต้นฉบับฉบับเดียว
ตัวบทของอนุสัญญาฉบับนี้ที่ได้ทำเป็นภาษาทางการภาษาอื่น ๆ ของรัฐสมาชิกขององค์การจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องโดยฉันทามติจากรัฐสมาชิกทั้งหมดขององค์การ ตัวบทอนุสัญญาเหล่านั้นจะต้องเก็บรักษาไว้ที่บรรณสารของรัฐบาลเจ้าภาพ ซึ่งจะต้องส่งสำเนาที่ได้รับการรับรองความถูกต้องให้กับรัฐที่ลงนามและรัฐที่ทำการภาคยานุวัติ ทุกรัฐ
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศมองโกเลีย
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐเปรู
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศไทย
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อ และในนามของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐตรุกี
 


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยองค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ และมีพันธกรณีที่จะต้องเข้าเป็นภาคีพิธีสารว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยความตกลง ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามพิธีสารนี้ภาคีแต่ละประเทศต้องให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่องค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การ และผู้แทนภาคีขององค์การ ตามที่ระบุไว้ในพิธีสาร ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการอนุวัติการให้เป็นไปตามข้อผูกพันในพิธีสารดังกล่าว รวมทั้งเพื่อให้องค์การมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้