ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือพ.ศ. 2550
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือพ.ศ. 2550

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือ
ด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก
พ.ศ. ๒๕๕๐
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๕๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาว่าด้วยองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกซึ่งรัฐบาลแห่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
“องค์การ” หมายความว่า องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญา
“บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่” หมายความว่า คณะมนตรีขององค์การ เลขาธิการขององค์การเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการขององค์การ และผู้เชี่ยวชาญขององค์การ
 
มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่าองค์การเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(๒) ให้องค์การ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ และผู้แทนรัฐสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ขององค์การหรือการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่ขององค์การเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การดังคำแปลอนุสัญญาท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่รัฐบาลแห่งประเทศไทยจะได้ทำความตกลงต่อไปกับองค์การในเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเช่นเดียวกับที่รัฐบาลแห่งประเทศไทยได้ให้แก่ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๔
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



พิธีสารว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน
ขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ
                       
 
รัฐภาคีพิธีสารนี้
 
คำนึงถึงอนุสัญญาว่าด้วยองค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดให้ลงนาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๖ ดังที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และโดยเฉพาะข้อ ๙ (๖) ของอนุสัญญาที่แก้ไขแล้วนี้
รับทราบว่า องค์การจะได้จัดทำความตกลงว่าด้วยสำนักงานใหญ่กับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ ในวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๙
พิจารณาว่า ความมุ่งหมายของพิธีสารนี้คือเพื่ออำนวยให้เกิดความสำเร็จตามความมุ่งประสงค์ขององค์การ และเพื่อประกันการปฏิบัติภาระหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพขององค์การ
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑
การใช้ถ้อยคำ
 
เพื่อความมุ่งประสงค์ของพิธีสาร
(ก) “อนุสัญญา” หมายถึง อนุสัญญาว่าด้วยการดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ รวมทั้งภาคผนวกของอนุสัญญา ซึ่งเปิดให้ลงนาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๖ ดังที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว
(ข) “ภาคีอนุสัญญา” หมายถึง รัฐซึ่งอนุสัญญาใช้บังคับ
(ค) “องค์การ” หมายถึง องค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ
(ง) “ภาคีที่ตั้งสำนักงานใหญ่” หมายถึง ภาคีอนุสัญญาที่องค์การได้ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การอยู่ในอาณาเขต
(จ) “ภาคีพิธีสาร” หมายถึง รัฐซึ่งพิธีสารนี้ หรือซึ่งพิธีสารฉบับนี้ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี ใช้บังคับ
(ฉ) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่” หมายถึง ผู้อำนวยการและบุคคลใดก็ตามที่องค์การว่าจ้างให้ทำงานเต็มเวลา และอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ขององค์การ
(ช) “ผู้แทน” ในกรณีภาคีพิธีสารและภาคีสำนักงานใหญ่ หมายถึง ผู้แทนขององค์การ และในแต่ละกรณี หมายถึง หัวหน้าคณะผู้แทน ผู้แทนสำรอง และที่ปรึกษา
(ซ) “เอกสาร” รวมถึงต้นฉบับ จดหมายโต้ตอบ เอกสาร ภาพถ่าย ฟิล์ม แถบบันทึกที่ผลิตจากกระบวนการทางแสงและแม่เหล็กแถบบันทึกข้อมูล งานนำเสนอที่เป็นกราฟฟิคและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นของหรือยึดถือไว้โดยองค์การ
(ฌ) “กิจกรรมเป็นทางการ” ขององค์การ หมายถึง กิจกรรมที่ดำเนินงานโดยองค์การตามวัตถุประสงค์ดังระบุไว้ในอนุสัญญา และรวมถึงกิจกรรมทางด้านบริหารขององค์การ
(ญ) “ผู้เชี่ยวชาญ” หมายถึง บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบงานพิเศษของหรือในนามของและโดยค่าใช้จ่ายขององค์การ
(ฎ) “ทรัพย์สิน” หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่สามารถจะถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของได้รวมทั้งสิทธิตามสัญญา
 
ข้อ ๒
ความคุ้มกันขององค์การจากเขตอำนาจศาลและการบังคับคดี
 
(๑) เว้นแต่องค์การได้สละความคุ้มกันอย่างชัดแจ้งในกรณีหนึ่งใดโดยเฉพาะ ให้องค์การภายในขอบข่ายของกิจกรรมทางการขององค์การ ได้รับความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล เว้นแต่ที่เกี่ยวกับ
     (ก) กิจกรรมทางพาณิชย์ใด ๆ
     (ข) การฟ้องคดีแพ่งโดยบุคคลที่สาม สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุโดยสาเหตุจากยานยนต์ หรือยานพาหนะขนส่งอื่น ที่เป็นของหรือที่ใช้ในนามขององค์การ หรือในเรื่องของความผิดทางจราจรที่เกี่ยวกับยานพาหนะขนส่งเช่นว่านั้น
     (ค) การอายัดตามคำสั่งถึงที่สุดของศาล ซึ่งเงินเดือนและค่าจ้างรวมทั้งสิทธิในการได้รับบำนาญซึ่งองค์การค้างจ่ายบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่หรืออดีตบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่
     (ง) การฟ้องแย้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนพิจารณาของศาลที่องค์การเป็นฝ่ายเริ่มคดี
(๒) แม้จะเป็นกรณีตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ภาคีของอนุสัญญาหรือบุคคลที่กระทำการแทนมีสิทธิเรียกร้องจากภาคีอนุสัญญาเหล่านั้นนำคดีฟ้องร้องต่อศาลของภาคีพิธีสารในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสิทธิและพันธกรณีตามอนุสัญญา
(๓) ทรัพย์สินและสินทรัพย์ขององค์การ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดและผู้ใดถือครองให้ได้รับความคุ้มกันจากการค้น การหน่วงเหนี่ยว การเรียกเกณฑ์ การยึด การริบ การเวนคืน การอายัดทรัพย์ระหว่างคดี หรือการบังคับคดี ไม่ว่าจะโดยการกระทำทางบริหาร ทางปกครอง หรือทางศาล เว้นแต่ที่เกี่ยวกับ
     (ก) การอายัดหรือการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลถึงที่สุด ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ดำเนินต่อองค์การตามกรณีในวรรคหนึ่ง
     (ข) การฟ้องคดีที่กระทำตามกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้องอันจำเป็น เป็นการชั่วคราวที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและการสืบสวนในเรื่องอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์หรือพาหนะขนส่งอื่นซึ่งเป็นของหรือใช้ในนามขององค์การ
     (ค) การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะและที่มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมโดยพลัน ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าการเวนคืนนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาระหน้าที่และการปฏิบัติงานขององค์การ
 
ข้อ ๓
การละเมิดมิได้ซึ่งบรรณสาร
 
บรรณสารขององค์การจะละเมิดมิได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดและไม่ว่าผู้ใดถือครอง
 
ข้อ ๔
การยกเว้นจากภาษีและอากร
 
(๑) ภายในขอบข่ายแห่งกิจกรรมทางการขององค์การ ให้องค์การทรัพย์สินและรายได้ขององค์การได้รับยกเว้นจากภาษีทางตรงในประเทศทั้งปวงและภาษีอื่นที่โดยปกติไม่รวมอยู่ในราคาของสินค้าและบริการ
(๒) หากองค์การ ภายในขอบข่ายแห่งกิจกรรมทางการของตน ได้มาซึ่งสินค้าหรือใช้บริการที่มีมูลค่าสูง และหากราคาสินค้าหรือบริการเหล่านี้ได้รวมภาษีและอากรไว้แล้ว ให้ภาคีพิธีสารดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งกลับหรือคืนจำนวนเงินภาษีหรืออากรนั้น ทั้งนี้ เท่าที่กระทำได้
(๓) ให้สินค้าที่องค์การได้มาภายในขอบข่ายแห่งกิจกรรมเป็นทางการของตนได้รับการยกเว้นจากข้อห้ามและข้อจำกัดทั้งปวงเกี่ยวกับการนำเข้าหรือการส่งออก
(๔) ไม่มีการยกเว้นให้สำหรับภาษีและอากรซึ่งเป็นเงินค่าภาระสำหรับการบริการพิเศษที่องค์การได้รับ
(๕) ไม่ให้มีการยกเว้นสำหรับสินค้าที่ได้มาหรือบริการที่จัดให้องค์การเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่
(๖) สินค้าที่ได้รับการยกเว้นตามข้อนี้ไม่อาจโอน ให้เช่า หรือให้ยืมไม่ว่าจะเป็นอย่างถาวรหรือชั่วคราว หรือขายไป เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ภาคีพิธีสารที่ให้การยกเว้นกำหนดไว้
 
ข้อ ๕
เงิน เงินตรา และหลักทรัพย์
 
(๑) ในเรื่องการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการและการรับส่งเอกสารทั้งปวงขององค์การให้องค์การได้รับการปฏิบัติที่ได้รับความอนุเคราะห์ในดินแดนของแต่ละภาคีแห่งพิธีสารไม่น้อยกว่าที่ให้เป็นการทั่วไปแก่องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลที่มีฐานะเท่าเทียมกัน เกี่ยวกับลำดับก่อนหลัง อัตรา และภาษี สำหรับการไปรษณีย์และโทรคมนาคมทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เท่าที่จะสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศใด ๆ ที่ภาคีพิธีสารนั้นเป็นภาคีอยู่
(๒) ในเรื่องการติดต่อสื่อสารทางการขององค์การ องค์การอาจใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสมทั้งหลายได้ รวมทั้งการส่งข้อความโดยรหัสหรือใช้รหัส ภาคีพิธีสารนี้จะต้องไม่กำหนดข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารทางการหรือการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ทางการขององค์การไม่ให้มีการตรวจพิจารณาการติดต่อสื่อสารและสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้น
(๓) องค์การอาจติดตั้งและใช้เครื่องส่งวิทยุได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากภาคีพิธีสารที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
 
ข้อ ๗
บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่
 
(๑) ให้บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ดังนี้
     (ก) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล แม้ภายหลังบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ได้พ้นจากหน้าที่ขององค์การแล้ว ในเรื่องการกระทำ รวมทั้งถ้อยคำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติภาระหน้าที่ทางการของตน อย่างไรก็ตาม ความคุ้มกันนี้จะไม่ใช้ต่อกรณีที่บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่กระทำความผิดทางจราจร หรือในกรณีความเสียหายอันเกิดจากยานยนต์หรือยานพาหนะขนส่งอื่น ซึ่งเป็นของหรือขับขี่โดยบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่นั้น
     (ข) ได้รับการยกเว้น พร้อมทั้งสมาชิกครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตน จากหน้าที่เกี่ยวกับการรับใช้ชาติ รวมถึงการรับราชการทหาร
     (ค) การละเมิดมิได้ซึ่งเอกสารทางการของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนภายในขอบข่ายกิจกรรมทางการขององค์การ
     (ง) การยกเว้น พร้อมทั้งสมาชิกของครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตน จากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมือง และการทะเบียนคนต่างด้าว
     (จ) ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ให้แก่บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของบรรดาองค์การระหว่างรัฐบาลในเรื่องเงินตรา และควบคุมการปริวรรตเงินตรา
     (ฉ) ได้รับ พร้อมทั้งสมาชิกของครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตน ซึ่งการอำนวยความสะดวกในการส่งตัวกลับประเทศในเวลาที่มีวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ให้แก่บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของบรรดาองค์การระหว่างรัฐบาล
     (ช) สิทธิในการนำเข้าโดยปลอดอากรซึ่งเครื่องตกแต่งบ้านและของใช้ส่วนบุคคล รวมทั้งยานยนต์ ในเวลาที่แรกเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในรัฐที่เกี่ยวข้องและสิทธิในการส่งของดังกล่าวออกโดยปลอดอากร เมื่อสิ้นสุดภาระหน้าที่ของตนในรัฐนั้น โดยทั้งสองกรณีให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เว้นแต่จะเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับเช่นว่า สินค้าที่ได้รับการยกเว้นตามอนุวรรคนี้ไม่ให้โอนให้เช่าหรือให้ยืมอย่างถาวรหรือชั่วคราว หรือขายไป
(๒) ให้เงินเดือนและค่าจ้างที่องค์การจ่ายบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ นับแต่วันที่บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่นั้นเริ่มมีภาระที่ต้องจ่ายเงินที่องค์การเรียกเก็บจากเงินเดือนของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ขององค์การภาคีพิธีสารนี้อาจนำเงินเดือนและค่าจ้างเหล่านี้มารวมคำนวณในการประเมินจำนวนภาระภาษีที่จะเรียกเก็บจากแหล่งรายได้อื่น ภาคีพิธีสารนี้ไม่จำเป็นต้องยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนของเงินบำนาญและเบี้ยหวัดซึ่งจ่ายให้แก่อดีตบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่
(๓) ในกรณีที่บุคคลใดคณะเจ้าหน้าที่อาจได้รับความคุ้มครองจากโครงการประกันสังคมขององค์การแล้ว ให้องค์การและบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ขององค์การได้รับการยกเว้นจากการจ่ายเงินสมทบภาคบังคับทั้งปวงแก่โครงการประกันสังคมแห่งชาติ การยกเว้นนี้ไม่ห้ามการเข้าร่วมโดยสมัครใจในโครงการประกันสังคมแห่งชาติ ตามกฎหมายของภาคีพิธีสารที่เกี่ยวข้องทั้งไม่เป็นการบังคับให้ภาคีพิธีสารจ่ายผลประโยชน์ตามโครงการประกันสังคมให้บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการยกเว้นตามความวรรคนี้
(๔) ภาคีพิธีสารไม่จำต้องให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) (ง) (จ) (ฉ) และ (ช) ของวรรค (๑) แก่คนชาติหรือผู้มีถิ่นพำนักถวรของภาคีพิธีสารนั้น
 
ข้อ ๘
ผู้อำนวยการ
 
(๑) นอกจากเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้แก่สมาชิกคณะเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๗ แล้วให้ผู้อำนวยการได้รับ
      (ก) ความคุ้มกันจากการจัดกุมและคุมขัง
      (ข) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาลทั้งทางแพ่งและทางปกครอง และการบังคับคดีที่ผู้แทนทางการทูตได้รับ ยกเว้นในกรณีความเสียหายที่เกิดจากยานยนต์หรือพาหนะขนส่งอื่นซึ่งเป็นของหรือขับขี่โดยผู้อำนวยการ
     (ค) ความคุ้มกันอย่างบริบูรณ์จากเขตอำนาจศาลในทางอาญา ยกเว้นในกรณีความผิดทางจราจรที่เกิดจากยานยนต์หรือพาหนะขนส่งอื่น ซึ่งเป็นของหรือขับขี่โดยผู้อำนวยการภายในอนุวรรค (ก) ข้างต้น
(๒) ภาคีพิธีสารไม่จำต้องให้ความคุ้มกันตามข้อนี้แก่คนชาติหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรของภาคีพิธีสารนั้น
 
ข้อ ๙
ผู้แทนของภาคี
 
(๑) ในการปฏิบัติภาระหน้าที่อย่างเป็นทางการและระหว่างการเดินทางไปและกลับจากสถานที่ประชุม ให้ผู้แทนภาคีพิธีสารและผู้แทนภาคีสำนักงานใหญ่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันดังนี้
      (ก) ความคุ้มกันจากการจับกุมหรือคุมขังในรูปแบบใด ๆ ระหว่างรอการพิจารณาคดีในศาล
      (ข) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล ซึ่งการกระทำรวมทั้งถ้อยคำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ซึ่งกระทำในระหว่างปฏิบัติภาระหน้าที่ทางการ ทั้งนี้ แม้ภายหลังสิ้นสุดภารกิจของผู้แทนของภาคีแล้ว อย่างไรก็ตาม จะไม่ได้รับความคุ้มกันนี้ ในกรณีความผิดทางจราจร ซึ่งกระทำโดยผู้แทนของภาคีหรือในกรณีความเสียหายอันเกิดจากยานยนต์หรือพาหนะขนส่งอื่นซึ่งเป็นของหรือขับขี่โดยผู้แทนของภาคีนั้น
       (ค) การละเมิดมิได้ซึ่งเอกสารทางการทั้งปวงของผู้แทนของภาคี
      (ง) การยกเว้น พร้อมทั้งสมาชิกครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตน จากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการทะเบียนคนต่างด้าว
      (จ) ได้รับการปฏิบัติในเรื่องการควบคุมและการปริวรรตเงินคราเช่นเดียวกับผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศที่มาปฏิบัติภารกิจเป็นทางการเป็นการชั่วคราว
      (ฉ) ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศที่มาราชการชั่วคราวในเรื่องพิธีการศุลกากรสำหรับเครื่องเดินทางส่วนตัวของผู้แทน
(๒) บทบัญญัติในวรรค ๑ ไม่ใช้บังคับในความเกี่ยวข้องระหว่างภาคีพิธีสารกับผู้แทนของภาคีพิธีสาร นอกจากนี้ บทบัญญัติในอนุวรรค (ก) (ง) (จ) และ (ฉ) ของวรรค (๑) จะไม่ใช้บังคับในความเกี่ยวข้องระหว่างภาคีพิธีสารกับคนชาติหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรของภาคีพิธีสารนั้น
 
ข้อ ๑๐
ผู้เชี่ยวชาญ
 
(๑) ในการปฏิบัติภาระหน้าที่ทางการที่เกี่ยวกับงานองค์การและระหว่างการเดินทางไปและกลับจากสถานที่ปฏิบัติภาระหน้าที่ของตน ให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ดังนี้
      (ก) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล ซึ่งการกระทำ รวมถึงถ้อยคำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้กระทำในการปฏิบัติภาระหน้าที่ทางการ ทั้งนี้ แม้ภายหลังจะสิ้นสุดภารกิจของผู้เชี่ยวชาญแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้รับความคุ้มกันในกรณีความเสียหายอันเกิดจากยานยนต์หรือพาหนะขนส่งอื่นที่เป็นของหรือขับขี่โดยผู้เชี่ยวชาญ
      (ข) การละเมิดมิได้ซึ่งเอกสารทางการทั้งปวงของผู้เชี่ยวชาญ
      (ค) ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ให้แก่พนักงานขององค์การระหว่างรัฐบาลในเรื่องเงินตราและการควบคุมการปริวรรตเงินตรา
      (ง) การยกเว้น พร้อมทั้งสมาชิกของครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตน จากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการทะเบียนคนต่างด้าว
      (จ) การอำนวยความสะดวกในเรื่องเกี่ยวกับสัมภาระส่วนบุคคลของผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกับที่ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างรัฐบาลอื่น
(๒) ภาคีพิธีสารไม่จำต้องให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่อ้างถึงในอนุวรรค (ค) (ง) และ (จ) ของวรรค (๑) แก่คนชาติหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรของภาคีพิธีสารนั้น
 
ข้อ ๑๑
การแจ้งชื่อบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ
 
ให้ผู้อำนวยการองค์การแจ้งชื่อและสัญชาติของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบทบัญญัติของข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๑๑ จะให้บังคับแก่ภาคีพิธีสารอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งทุกปี
 
ข้อ ๑๒
การสละเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน
 
(๑) เอกสิทธิ์ การยกเว้น และความคุ้มกันใด ๆ ที่ให้ตามพิธีสารนี้ ไม่ได้มอบให้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลของปัจเจกชน แต่เพื่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพตามภาระหน้าที่ทางการของบุคคลเหล่านั้น
(๒) หากผู้มีอำนาจหน้าที่ตามรายการข้างท้ายนี้มีความเห็นว่า เอกสิทธิของความคุ้มกันจะขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม และในทุกกรณีอาจสละสิทธิได้โดยไม่กระทบต่อความมุ่งประสงค์ของการได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เหล่านี้มีสิทธิและหน้าที่ในการสละเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเช่นว่านั้นได้
      (ก) ภาคีพิธีสาร ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้แทนของภาคีพิธีสาร
      (ข) สมัชชา ด้วยการเรียกประชุมสมัยวิสามัญหากจำเป็น ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์การหรือผู้อำนวยการขององค์การ
      (ค) ผู้อำนวยการองค์การ ในส่วนทึ่เกี่ยวกับบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ
 
ข้อ ๑๓
การให้ความช่วยเหลือปัจเจกชน
 
ให้บรรดาภาคีพิธีสารดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง การพักอาศัย และการออกจากเมืองของผู้แทน บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ
 
ข้อ ๑๔
การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎข้อบังคับ
 
โดยไม่กระทบต่อบทบัญญัติอื่นของพิธีสารนี้ ให้องค์การและบุคคลทั้งปวงที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามพิธีสาร เคารพต่อกฎหมายและกฎข้อบังคับของภาคีพิธีสารที่เกี่ยวข้อง และให้ความร่วมมือตลอดเวลากับพนักงานเจ้าหน้าที่ของภาคีเหล่านั้น เพื่อประกันการเคารพต่อกฎหมายและกฎบังคับของภาคีพิธีสารที่เกี่ยวข้อง
 
ข้อ ๑๕
มาตรการระวังภัยล่วงหน้า
 
แต่ละภาคีพิธีสารคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะดำเนินมาตรการระวังภัยล่วงหน้าตามที่จำเป็นเพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตน
 
ข้อ ๑๖
การระงับข้อพิพาท
 
ข้อพิพาทใดระหว่างภาคีพิธีสาร หรือระหว่างองค์การกับภาคีพิธีสารเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับพิธีการ ให้ตกลงกันด้วยการเจรจาหรือวิธีการอื่นตามที่ตกลงกัน หากข้อพิพาทนั้นไม่อาจตกลงกันได้ภายในสิบสองเดือน บรรดาภาคีที่เกี่ยวข้องโดยความตกลงร่วมกันอาจเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีองค์คณะสามคนเป็นผู้วินิจฉัย โดยภาคีแต่ละฝ่ายในข้อพิพาทจะเลือกอนุญาโตตุลาการข้างละหนึ่งคน และอนุญาโตตุลาการคนที่สาม ซึ่งจะเป็นประธานของคณะจะได้รับเลือกจากอนุญาโตตุลาการสองคนข้างต้น ถ้าอนุญาโตตุลาการสองคนข้างต้นไม่อาจตกลงกันได้เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการคนที่สามภายในสองเดือนนับแต่ที่ตนได้รับแต่งตั้ง ให้ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการคนที่สามให้คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาของตนเองและให้คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการถือเป็นเสร็จเด็ดขาดและผูกพันภาคีในข้อพิพาท
 
ข้อ ๑๗
ความตกลงเพิ่มเติม
 
องค์การอาจทำความตกลงประกอบเพิ่มเติมกับภาคีพิธีสารใดได้ เพื่อให้ข้อบทแห่งพิธีสารนี้มีผลกับภาคีพิธีสารนั้น เพื่อประกันการดำเนินภาระหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพขององค์การ
 
ข้อ ๑๘
การลงนาม การให้สัตยาบัน และการภาคยานุวัติ
 
(๑) พิธีสารฉบับนี้จะเปิดให้ลงนาม ณ กรุงลอนดอน ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๑ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๒
(๒) ภาคีทั้งปวงแห่งอนุสัญญา นอกเหนือไปจากภาคีสำนักงานใหญ่อาจเข้าเป็นภาคีพิธีสารนี้ได้โดย
      (ก) การลงนามที่ไม่ต้องมีการให้สัตยาบัน การยอมรับ หรือการให้ความเห็นชอบ หรือ
      (ข) การลงนามที่ต้องมีการให้สัตยาบัน การยอมรับ หรือการให้ความเห็นชอบตามด้วยการสัตยาบันสาร สารยอมรับ หรือสารให้ความเห็นชอบ หรือ
      (ค) การภาคยานุวัติ
(๓) การให้สัตยาบัน การให้การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติจะมีผลเมื่อได้มีการมอบกรรมสารที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้เก็บรักษา
(๔) ข้อสงวนต่อพิธีสารนี้อาจทำได้โดยเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
 
ข้อ ๑๙
การใช้บังคับและระยะเวลาของพิธีสาร
 
(๑) พิธีสารนี้จะใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่ภาคีอนุสัญญา ๑๐ ประเทศได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในวรรค ๒ ของข้อ ๑๘
(๒) พิธีสารนี้จะสิ้นสุดการใช้บังคับเมื่ออนุสัญญาสิ้นสุดการใช้บังคับ
 
ข้อ ๒๐
การใช้บังคับและระยะเวลาสำหรับรัฐ
 
(๑) สำหรับรัฐที่ได้ปฏิบัติตามวรรค ๒ ของข้อ ๑๘ หลังจากพิธีสารนี้มีผลใช้บังคับ พิธีสารใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่ลงนามหรือวันที่มอบสารเช่นว่าให้แก่ผู้เก็บรักษาตามลำดับ
(๒) ภาคีใดแห่งพิธีสารอาจบอกเลิกพิธีสารนี้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้เก็บรักษา การบอกเลิกจะมีผลเมื่อครบสิบสองเดือนหลังจากวันที่ผู้เก็บรักษาได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือในระยะเวลาที่นานกว่านั้นตามที่อาจระบุไว้ในหนังสือแจ้ง
(๓) ภาคีพิธีสารจะสิ้นสุดการเป็นภาคีพิธีสารในวันที่สิ้นสุดการเป็นภาคีอนุสัญญา
 
ข้อ ๒๑
ผู้เก็บรักษา
 
(๑) ผู้อำนวยการองค์การจะเป็นผู้เก็บรักษาพิธีสารนี้
(๒) ผู้เก็บรักษาจะต้องแจ้งภาคีทั้งปวงแห่งอนุสัญญาโดยพลัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับ
      (ก) การลงนามใด ๆ ในพิธีสาร
      (ข) การมอบสัตยาบันสาร สารยอมรับ สารเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารใด ๆ
      (ค) วันที่พิธีสารนี้ใช้บังคับ
      (ง) วันที่รัฐใดสิ้นสุดการเป็นภาคีพิธีสาร
      (จ) การติดต่อสื่อสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารนี้
(๓) เมื่อพิธีสารนี้ใช้บังคับแล้ว ให้ผู้เก็บรักษาส่งสำเนาพิธีสารฉบับจริงที่รับรองแล้วไปยังสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อการลงทะเบียนและการตีพิมพ์ตามข้อ ๑๐๒ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
 
ข้อ ๒๒
ตัวบทที่ถูกต้อง
 
พิธีสารนี้จัดทำเป็นฉบับเดียว เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน โดยทุกภาษาถูกต้องแท้จริงเท่าเทียมกัน และมอบไว้กับผู้อำนวยการองค์การซึ่งจะส่งสำเนาที่รับรองแล้วให้ภาคีอนุสัญญาแต่ละประเทศ
เพื่อเป็นพยานในการนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจเพื่อความมุ่งประสงค์นั้นโดยถูกต้องจากรัฐบาลของตนได้ลงนามพิธีสารนี้
ทำขึ้น ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่หนึ่ง เดือนธันวาคม คริสต์ศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบเอ็ด
 


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Convention of the Asia – Pacific Space Cooperation Organization (APSCO)) ที่รัฐบาลแห่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งตามอนุสัญญานี้ ภาคีอนุสัญญา แต่ละประเทศต้องให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาแก่องค์การ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ขององค์การ และผู้แทนรัฐสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การ ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การในประเทศไทยเป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว และเพื่อให้องค์การเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้