ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาพ.ศ. 2535
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาพ.ศ. 2535

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
พ.ศ. ๒๕๓๕
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. ๒๕๓๕”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบและประกาศอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ความช่วยเหลือ” หมายความว่า ความช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการสืบสวน สอบสวน ฟ้องคดี ริบทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
“ประเทศผู้ร้องขอ” หมายความว่า ประเทศที่ร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้รับคำร้องขอ
“ประเทศผู้รับคำร้องขอ” หมายความว่า ประเทศที่ได้รับการขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้ร้องขอ
“ผู้ประสานงานกลาง” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ หรือขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศตามคำร้องขอความช่วยเหลือที่ผู้ประสานงานกลางส่งให้ตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
ผู้ประสานงานกลาง
                  
 
มาตรา ๖ ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายเป็นผู้ประสานงานกลาง
 
มาตรา ๗ ผู้ประสานงานกลางมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้ร้องขอและส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ
(๒) รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาลไทยและส่งให้ประเทศผู้รับคำร้องขอ
(๓) พิจารณาและวินิจฉัยว่าควรจะให้หรือขอความช่วยเหลือหรือไม่
(๔) ติดตามและเร่งรัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเสร็จสิ้นโดยเร็ว
(๕) ออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๖) ดำเนินการอย่างอื่นเพื่อให้การให้หรือการขอความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้บรรลุผล
 
มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นไม่เกินสี่คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้ข้าราชการอัยการคนหนึ่งตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งเป็นเลขานุการ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลาง ในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศและการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่อาจมีผลกระทบกระเทือนอธิปไตยความมั่นคง ประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมือง หรือความผิดทางทหาร
เมื่อมีการขอความช่วยเหลือตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๓๖ และผู้ประสานงานกลางได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๑ แล้ว ให้ผู้ประสานงานกลางส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการโดยทันทีเพื่อพิจารณาให้ความเห็น เว้นแต่คณะกรรมการจะมีมติกำหนดแนวปฏิบัติไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่คณะกรรมการมีความเห็นไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลาง ให้ผู้ประสานงานกลางเสนอความเห็นและคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการตามมาตรา ๑๑ วรรคห้า หรือมาตรา ๓๘ วรรคสอง แล้วแต่กรณี
 
หมวด ๒
การให้ความช่วยเหลือและการขอความช่วยเหลือ
                  
 
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
                  
 
มาตรา ๙ การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ประเทศไทยอาจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้ร้องขอได้แม้ว่าไม่มีสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาระหว่างกัน แต่ประเทศผู้ร้องขอต้องแสดงว่าจะให้ความช่วยเหลือในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอ
(๒) การกระทำซึ่งเป็นมูลกรณีของความช่วยเหลือนั้นเป็นความผิดที่มีโทษฐานใดฐานหนึ่งตามกฎหมายไทย เว้นแต่เป็นกรณีที่ประเทศไทยกับประเทศผู้ร้องขอมีสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาต่อกันและข้อความในสนธิสัญญาระบุไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
(๓) ประเทศไทยอาจปฏิเสธคำร้องขอความช่วยเหลือ หากคำร้องขอนั้นกระทบกระเทือนอธิปไตย ความมั่นคง หรือสาธารณประโยชน์ที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศไทย หรือเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมือง
(๔) การให้ความช่วยเหลือต้องไม่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางทหาร
 
มาตรา ๑๐ ประเทศที่มีสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญากับประเทศไทยหากประสงค์จะขอความช่วยเหลือตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้จากประเทศไทย ให้ทำคำร้องขอความช่วยเหลือส่งไปยังผู้ประสานงานกลาง แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาดังกล่าวกับประเทศไทย ให้ส่งคำร้องขอโดยวิถีทางการทูต
คำร้องขอความช่วยเหลือให้ทำตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด
 
มาตรา ๑๑ เมื่อได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาและวินิจฉัยว่า คำร้องขอนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้ได้หรือไม่ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนและมีเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
ถ้าคำร้องขอนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะให้ความช่วยเหลือได้ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนและมีเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ให้ผู้ประสานงานกลางส่งคำร้องขอนั้นให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการต่อไป
ถ้าคำร้องขอนั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะให้ความช่วยเหลือได้ หรืออาจให้ความช่วยเหลือได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำเป็นบางประการ หรือมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือมีเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือพร้อมด้วยเหตุผล หรือแจ้งเงื่อนไขที่จำเป็นหรือเหตุขัดข้องให้ประเทศผู้ร้องขอทราบ
ถ้าผู้ประสานงานกลางเห็นว่าการดำเนินการตามคำร้องขอนั้นจะเป็นการแทรกแซงการสืบสวน การสอบสวน การฟ้องคดี หรือการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย ผู้ประสานงานกลางจะเลื่อนการดำเนินการตามคำร้องขอนั้นหรือดำเนินการตามคำร้องขอนั้นโดยกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นก็ได้ แล้วแจ้งให้ประเทศผู้ร้องขอทราบ
คำวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลางเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือให้ถือเป็นยุติ เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
มาตรา ๑๒ ให้ผู้ประสานงานกลางส่งคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดังนี้
(๑) คำร้องขอให้สอบปากคำพยาน จัดหาให้ซึ่งเอกสารหรือสิ่งของอันเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นการดำเนินการนอกศาล คำร้องขอให้จัดส่งเอกสาร คำร้องขอให้ค้น คำร้องขอให้ยึดเอกสารหรือสิ่งของ และคำร้องขอให้สืบหาบุคคล ให้ส่งอธิบดีกรมตำรวจดำเนินการ
(๒) คำร้องขอให้สืบพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ซึ่งเป็นการดำเนินการในศาล และคำร้องขอให้ดำเนินการริบหรือยึดทรัพย์สิน ให้ส่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีดำเนินการ
(๓) คำร้องขอให้โอนหรือรับโอนบุคคลที่ถูกคุมขังเพื่อสืบพยานบุคคลให้ส่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ดำเนินการ
(๔) คำร้องขอให้เริ่มกระบวนการคดีทางอาญา ให้ส่งอธิบดีกรมตำรวจและอัยการพิเศษฝ่ายคดีดำเนินการ
 
มาตรา ๑๓ เมื่อได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ประสานงานกลาง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามที่มีคำร้องขอนั้น เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้ส่งผลการดำเนินการตลอดจนเอกสารและสิ่งของที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ประสานงานกลาง
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจประสบอุปสรรค หรือไม่อาจดำเนินการตามคำร้องขอนั้นได้ ให้แจ้งเหตุขัดข้องให้ผู้ประสานงานกลางทราบ
 
มาตรา ๑๔ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือและแจ้งผลให้ผู้ประสานงานกลางทราบแล้ว ให้ผู้ประสานงานกลางจัดการส่งผลการดำเนินการตลอดจนเอกสารและสิ่งของที่เกี่ยวข้องให้แก่ประเทศผู้ร้องขอ
 
ส่วนที่ ๒
การสอบสวนและการสืบพยานหลักฐาน
                  
 
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้สอบปากคำพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานที่อยู่ในประเทศไทยในชั้นสอบสวน ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามคำร้องขอนั้น
ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบปากคำพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานตามคำร้องขอในวรรคหนึ่ง ในกรณีที่จำเป็นให้มีอำนาจค้นและยึดเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบปากคำพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้แจ้งผลการดำเนินการหรือส่งมอบพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการต่อไป
 
มาตรา ๑๖ ถ้าสนธิสัญญาระหว่างประเทศผู้ร้องขอกับประเทศไทยว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา กำหนดให้ต้องมีการรับรองความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจสั่งให้บุคคลผู้มีหน้าที่เก็บรักษาเอกสารรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาดังกล่าวหรือตามที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด
 
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้สืบพยานหลักฐานในศาลไทย ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแจ้งให้พนักงานอัยการดำเนินการตามคำร้องขอนั้น
ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่บุคคลซึ่งจะเป็นพยานหรือบุคคลซึ่งครอบครองหรือดูแลรักษาพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมีภูมิลำเนาหรือมีที่อยู่ในเขตศาลให้สืบพยานหลักฐานดังกล่าว และให้ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อศาลดำเนินการสืบพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอรับบันทึกคำเบิกความของพยานรวมทั้งพยานหลักฐานอื่นในสำนวนไปส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อดำเนินการต่อไป
 
ส่วนที่ ๓
การจัดหาและการให้เอกสารหรือข่าวสาร
ที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
                  
 
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้จัดหาเอกสารหรือข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐบาลไทย ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งไปยังหน่วยงานที่ครอบครองเอกสารหรือข่าวสารนั้น และให้หน่วยงานดังกล่าวส่งมอบเอกสารหรือแจ้งข่าวสารนั้นแก่ผู้ประสานงานกลาง
 
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่เอกสารหรือข่าวสารที่ต่างประเทศร้องขอตามมาตรา ๑๘ เป็นเอกสารหรือข่าวสารที่ไม่พึงเปิดเผยต่อสาธารณชน และหน่วยงานที่ครอบครองเอกสารหรือข่าวสารดังกล่าวเห็นว่าไม่อาจเปิดเผยหรือไม่สมควรเปิดเผยเอกสารหรือข่าวสารตามคำร้องขอ หรืออาจเปิดเผยได้โดยมีเงื่อนไข ให้หน่วยงานดังกล่าวแจ้งเหตุขัดข้องหรือเงื่อนไขในการเปิดเผยเอกสารหรือข่าวสาร ให้ผู้ประสานงานกลางทราบ
 
มาตรา ๒๐ ในการจัดหาเอกสารตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาเอกสารนั้นรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวตามแบบและวิธีการที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีสนธิสัญญากำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้น
 
ส่วนที่ ๔
การจัดส่งเอกสาร
                  
 
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้จัดส่งเอกสารทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอ และแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ประสานงานกลางทราบ
หากเอกสารทางกฎหมายที่ได้รับคำร้องขอให้จัดส่งเป็นเอกสารเพื่อเรียกบุคคลไปปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือศาลในประเทศผู้ร้องขอ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจัดส่งให้แก่ผู้รับล่วงหน้าพอสมควรก่อนกำหนดการปรากฏตัว
การแจ้งผลการส่งเอกสารให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีสนธิสัญญากำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้น
 
มาตรา ๒๒ บทบัญญัติว่าด้วยการลงโทษตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายของเจ้าพนักงานหรือคำสั่งของศาลมิให้นำมาใช้บังคับกับบุคคลซึ่งมิใช่คนสัญชาติของประเทศผู้ร้องขอที่ได้รับเอกสารทางกฎหมายให้ไปปรากฏตัวต่อเจ้าพนักงานหรือศาลในประเทศผู้ร้องขอ
 
ส่วนที่ ๕
การค้นและยึด
                  
 
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ค้น ยึด และส่งมอบสิ่งของ ถ้ามีเหตุที่จะออกหมายค้น หรือค้น หรือยึดสิ่งของได้ตามกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจออกหมายค้น ค้นหรือยึดสิ่งของนั้นได้
 
มาตรา ๒๔ การค้นและยึดสิ่งของตามมาตรา ๒๓ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๕ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจซึ่งทำการค้นและยึดสิ่งของตามคำร้องขอความช่วยเหลือจะต้องทำหนังสือรับรองการเก็บรักษารูปพรรณ ลักษณะและความบริบูรณ์แห่งสภาพของสิ่งของนั้น และส่งมอบสิ่งของที่ค้นและยึดได้พร้อมหนังสือรับรองนั้นให้แก่ผู้ประสานงานกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
หนังสือรับรองนั้นให้ทำตามแบบและวิธีการที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด
 
ส่วนที่ ๖
การโอนบุคคลที่ถูกคุมขังเพื่อสืบพยาน
                  
 
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ส่งบุคคลซึ่งถูกคุมขังในประเทศไทยไปเบิกความเป็นพยานในประเทศผู้ร้องขอ หรือขอส่งบุคคลซึ่งถูกคุมขังในประเทศผู้ร้องขอมาเบิกความเป็นพยานในประเทศไทย ถ้าผู้ประสานงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการจำเป็นและบุคคลซึ่งถูกคุมขังนั้นสมัครใจ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการส่งตัวบุคคลนั้นไปยังประเทศผู้ร้องขอหรือรับตัวบุคคลนั้นจากประเทศผู้ร้องขอเข้ามาในประเทศไทย
การส่งตัวและรับตัวบุคคลตามความในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๒๗ ระยะเวลาที่บุคคลซึ่งถูกส่งตัวไปเบิกความเป็นพยานในต่างประเทศและอยู่ภายใต้ความควบคุมของประเทศผู้ร้องขอ ให้ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ผู้นั้นถูกคุมขังในประเทศไทย
 
มาตรา ๒๘ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจคุมขังบุคคลที่ถูกคุมขังซึ่งถูกส่งตัวมาจากต่างประเทศเพื่อเบิกความเป็นพยานตลอดเวลาที่บุคคลนั้นอยู่ในประเทศไทย เมื่อบุคคลนั้นเบิกความเป็นพยานเสร็จแล้วให้แจ้งผู้ประสานงานกลางทราบ
 
มาตรา ๒๙ เมื่อผู้ประสานงานกลางได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามความในมาตรา ๒๘ ให้ผู้ประสานงานกลางส่งตัวบุคคลนั้นกลับไปยังประเทศผู้ร้องขอทันที
 
ส่วนที่ ๗
การสืบหาบุคคล
                  
 
มาตรา ๓๐ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้สืบหาตัวบุคคลซึ่งประเทศผู้ร้องขอต้องการตัวเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน ฟ้องคดี หรือการดำเนินการอื่นทางอาญา โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการสืบหาตัวบุคคลนั้น และแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ประสานงานกลางทราบ
 
ส่วนที่ ๘
การเริ่มกระบวนการคดีทางอาญา
                  
 
มาตรา ๓๑ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศซึ่งมีอำนาจที่จะเริ่มกระบวนการคดีทางอาญาคดีใดคดีหนึ่งแต่ประสงค์จะให้เริ่มกระบวนการคดีทางอาญาคดีนั้นในประเทศไทย และคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลไทย ให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาว่าสมควรจะเริ่มดำเนินกระบวนการคดีทางอาญาตามคำร้องขอหรือไม่ ถ้าเห็นสมควรให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ประสานงานกลางทราบ
 
ส่วนที่ ๙
การริบหรือยึดทรัพย์สิน
                  
 
มาตรา ๓๒ ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ดำเนินการริบหรือยึดทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตอำนาจเพื่อขอให้ศาลพิพากษาริบหรือมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินนั้น
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากจำเป็นให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำการสอบสวนหรือจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนใดทำการสอบสวนแทนก็ได้
 
มาตรา ๓๓ ศาลจะพิพากษาให้ริบทรัพย์สินตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศก็ได้ เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศให้ริบทรัพย์สินนั้นและทรัพย์สินนั้นอาจถูกริบได้ตามกฎหมายไทย
ในกรณีที่ศาลต่างประเทศมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินก่อนมีคำพิพากษาหรือมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สินแล้วแต่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด และทรัพย์สินนั้นอาจถูกยึดได้ตามกฎหมายไทย ถ้าศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินนั้นไว้ก็ได้
การริบหรือยึดทรัพย์สินตามมาตรานี้ ให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งได้แม้ว่าการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีการริบหรือยึดทรัพย์สินนั้นจะมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรก็ตาม
 
มาตรา ๓๔ การสอบสวน การยื่นคำร้อง การพิจารณา การพิพากษา และการมีคำสั่งเกี่ยวกับการริบหรือยึดทรัพย์สินนั้น ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการริบทรัพย์สินมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๓๕ ทรัพย์สินที่ศาลพิพากษาให้ริบตามความในส่วนนี้ให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ศาลจะพิพากษาให้ทำให้ทรัพย์สินนั้นใช้ไม่ได้หรือทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้
 
ส่วนที่ ๑๐
วิธีขอความช่วยเหลือ
                       
 
มาตรา ๓๖ หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้เสนอเรื่องต่อผู้ประสานงานกลาง
 
มาตรา ๓๗ คำขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศและเอกสารทั้งปวงที่จะส่งไป ให้ทำตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด
 
มาตรา ๓๘ ให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาว่าสมควรจะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือไม่ โดยพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ รายละเอียด ข้อเท็จจริง และเอกสารประกอบ แล้วแจ้งให้หน่วยงานผู้ขอทราบ
คำวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลางเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือให้ถือเป็นยุติ เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
มาตรา ๓๙ หน่วยงานผู้ขอต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อประเทศผู้รับคำร้องขอในการใช้ข่าวสารหรือพยานหลักฐานตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในคำขอ
หน่วยงานผู้ขอต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อประเทศผู้รับคำร้องขอในการรักษาความลับของข่าวสารหรือพยานหลักฐานที่ขอรับความช่วยเหลือ เว้นแต่ข่าวสารหรือพยานหลักฐานนั้นจำเป็นต่อการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยอันเป็นผลจากการสืบสวน การสอบสวน การฟ้องคดี หรือการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ระบุไว้ในคำขอ
 
มาตรา ๔๐ บุคคลที่เข้ามาเบิกความเป็นพยานหรือให้ปากคำในประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้ จะไม่ถูกส่งหมายเพื่อดำเนินคดีใด ๆ หรือถูกคุมขังหรือถูกจำกัดเสรีภาพ โดยเหตุจากการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนบุคคลนั้นออกจากประเทศผู้รับคำร้องขอ
สิทธิในวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงเมื่อบุคคลนั้นมีโอกาสที่จะออกจากประเทศไทยภายในระยะเวลาสิบห้าวันหลังจากที่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานผู้ร้องขอแล้วว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทยต่อไปอีก แต่ยังคงอยู่ในประเทศไทยต่อไป หรือบุคคลนั้นได้กลับเข้ามาโดยสมัครใจหลังจากที่ได้ออกจากประเทศไทยแล้ว
 
มาตรา ๔๑ บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมาย
 
หมวด ๓
ค่าใช้จ่าย
                  
 
มาตรา ๔๒ บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ และการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการประกอบอาชญากรรมมีการกระทำร่วมกันเป็นเครือข่ายในดินแดนของหลายประเทศ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของแต่ละประเทศโดยลำพังไม่อาจป้องกันและปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวจำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ สมควรกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือและรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้