ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
การประมง
พ.ศ. ๒๔๙๐
                  
 
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พระยามานวราชเสวี
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง
 
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐
(๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐
(๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. ๑๒๐
(๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐
(๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒
(๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๗
(๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑
(๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐
และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือมีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง ปู แมงดาทะเล หอย เต่า กระ ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้ รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ
(๑ ทวิ) “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้สัตว์น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อเป็นวัตถุดิบ
(๒) “ทำการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ
(๓) “เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดาที่ใช้ทำการประมง
(๔) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด
(๕) “ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญา หรือด้วยประการใด
(๖) “บ่อล่อสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๗) “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๘) “ประทานบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล
(๙) “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต
(๑๐) “อาชญาบัตร” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง
(๑๑) “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๒) “เครื่องมือประจำที่” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง
(๑๓) “เครื่องมือในพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง
(๑๔) “เครื่องมือนอกพิกัด” หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด
(๑๕) “สถิติการประมง” หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
(๑๖) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๗) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง
(๑๘) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
ที่จับสัตว์น้ำ
                  
 
มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ
(๑) ที่รักษาพืชพันธุ์
(๒) ที่ว่าประมูล
(๓) ที่อนุญาต
(๔) ที่สาธารณประโยชน์
 
มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต
ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์
 
มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือ ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ
 
มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้
 
มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ
 
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
การทำการประมงในที่ว่าประมูลเฉพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
 
มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ
 
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาต
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์
 
มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้
บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
 
มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำไม่ว่าในกรณีใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี
 
มาตรา ๒๐ ทวิ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำโดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐
 
มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้
 
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้
 
หมวด ๒
บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
                  
 
มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
 
มาตรา ๒๔ การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมวด ๓
การจดทะเบียนและการขออนุญาต
                  
 
มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
 
มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงชนิดหนึ่งชนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๒๗ เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติรัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรเฉพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน
 
มาตรา ๒๘ บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับอาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้
 
มาตรา ๒๘ ทวิ บุคคลใดเป็นเจ้าของเรือ ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือเพื่อทำการประมง จนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าว
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคำวินิจฉัยแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพราะไม่พบตัวบุคคลดังกล่าวหรือไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดคำวินิจฉัยไว้ในที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงานภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นพยานในการนั้น
 
มาตรา ๒๙ เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคลใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้
 
มาตรา ๓๐ บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่าเป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้
รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัวบุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว
 
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๓๒ รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในเขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ
(๒) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด
(๓) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด
(๔) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ
(๕) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว
(๖) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง
(๗) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด
 
มาตรา ๓๓ การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทนเอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้นอายุ มิให้ถือว่าการทำการประมงหรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต
 
มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศกำหนดเขตโดยอนุมัติรัฐมนตรี
 
มาตรา ๓๕ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ
 
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้
 
มาตรา ๓๗ ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๓๘ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือคืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็นสมควร
 
มาตรา ๓๙ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อนเวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร
สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงินอากร และเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง
 
มาตรา ๔๐ ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายในเวลาตามที่เห็นสมควร
(๒) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (๑) แล้วผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง
(๓) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือจัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิดชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๔๑ เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการยึดและการขายทอดตลาด
 
มาตรา ๔๒ ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๖ นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้
 
มาตรา ๔๓ กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม
 
มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสมแห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลาสำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี
 
มาตรา ๔๕ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาตจะเลือก
 
มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตร ไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
 
หมวด ๔
สถิติการประมง
                  
 
มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๔๘ เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา ๔๗ แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้
 
มาตรา ๔๙ คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการหรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น
 
มาตรา ๕๐ บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา ๔๘ ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ
 
มาตรา ๕๑ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอหรือผู้แทน ตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้
 
หมวด ๕
การควบคุม
                  
 
มาตรา ๕๒ โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้รับอนุญาต เข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาต หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน
 
มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งเกินจำนวนหรือปริมาณ หรือเล็กกว่าขนาดที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณีที่สัตว์น้ำที่ห้ามบุคคลมีไว้ในครอบครองเป็นชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชน ให้กำหนดลักษณะของสัตว์น้ำนั้นว่าจะมีอันตรายอย่างใด และกำหนดเวลาสำหรับผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำนั้นในครอบครองอยู่แล้วส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งด้วย
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่ในกรณีสัตว์น้ำตามวรรคสอง จะขออนุญาตหรืออนุญาตมิได้ และในระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการขออนุญาตจนถึงวันที่ได้รับคำสั่งไม่อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่มิให้นำมาตรา ๖๗ ทวิ มาใช้บังคับ
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคสี่ยื่นคำขออนุญาตแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาต อธิบดีมีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง
ในกรณีมีการส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคสองหรือวรรคห้า ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรแก่ผู้ส่งมอบ
ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มิให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นเฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้บุคคลใดนำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำแห่งหนึ่งแห่งใด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๕๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำแห่งใด ๆ หรือเรือทำการประมงของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจการทำการประมง เครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำ หลักฐานบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของผู้รับอนุญาตได้ทุกเมื่อ ผู้รับอนุญาตต้องอำนวยความสะดวกและชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกประการ
 
มาตรา ๕๗ เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้นั้นพร้อมด้วยเรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
 
มาตรา ๕๘ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตรื้อถอนเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งได้กระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งประทานบัตรหรือใบอนุญาตได้สิ้นอายุแล้ว บรรดาที่เป็นของผู้รับอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวแล้วให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ออก
 
มาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการรื้อถอน ทำลายหรือยึดเครื่องมือซึ่งตั้งอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๘ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ได้รื้อถอนไปภายในเวลาอันสมควร ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าวให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ออก
 
มาตรา ๖๐ การประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัดประจำท้องที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
 
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
                  
 
มาตรา ๖๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ วรรคสอง มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๒ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๒ ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
 
มาตรา ๖๒ ตรี บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๖๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๔ บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมง ซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติโดยไม่มีอาชญาบัตรตามมาตรา ๒๘ หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษปรับสามเท่าของเงินอากรและให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้
เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน
 
มาตรา ๖๔ ทวิ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๘ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๕ บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๖ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท
 
มาตรา ๖๗ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๖ ละเลยไม่ปฏิบัติการเช่นว่านั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
 
มาตรา ๖๗ ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่งหรือวรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นสัตว์ชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๘ ผู้รับอนุญาตใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๖๙ เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น
 
มาตรา ๗๐ เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย
 
มาตรา ๗๑ ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาโดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ
 
มาตรา ๗๒ บุคคลใดทำลาย ถอดถอน หรือทำให้โคมไฟ เครื่องหมายหลักเขต แผ่นประกาศหรือสิ่งอื่น ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ในที่จับสัตว์น้ำบุบสลาย หรือเสียหายด้วยประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
บทเฉพาะกาล
                  
 
มาตรา ๗๓ ในกรณีที่ได้มีประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป
ประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และให้คงใช้ต่อไปได้จนหมดอายุแห่งประทานบัตร อาชญาบัตร และใบอนุญาตนั้น ๆ
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์
นายกรัฐมนตรี



บัญชีหมายเลข ๑
อัตราเงินอากรค่าที่อนุญาต
                  
 
ลำดับ
ประเภทที่อนุญาต
อัตราเงินอากร
๑. โป๊ะน้ำลึก
แห่งละ
๒๐๐.๐๐ บาท
๒. อวนรัง
แห่งละ
๒๐๐.๐๐ บาท
๓. โป๊ะน้ำตื้น
แห่งละ
๑๕๐.๐๐ บาท
๔. เฝือกรัง
แห่งละ
๑๕๐.๐๐ บาท
๕. จิบ
แห่งละ
๑๕๐.๐๐ บาท
๖. ลี่
แห่งละ
๑๕๐.๐๐ บาท
๗. สุก
แห่งละ
๑๕๐.๐๐ บาท
๘. โพงพาง
ช่องละ
๑๐๐.๐๐ บาท
๙. ร้านโจน
แห่งละ
๑๐๐.๐๐ บาท
๑๐. รั้วไซมาน
ช่องละ
 ๕๐.๐๐ บาท
๑๑. กั้นซู่รั้วไซมาน
ช่องละ
 ๕๐.๐๐ บาท
๑๒. ช้อนปีก
แห่งละ
 ๕๐.๐๐ บาท
๑๓. ยอปีก
แห่งละ
 ๕๐.๐๐ บาท
๑๔. บาม
แห่งละ
 ๒๕.๐๐ บาท
๑๕. ยอขันช่อ
แห่งละ
 ๒๐.๐๐ บาท
๑๖. ช้อนขันช่อ
แห่งละ
 ๒๐.๐๐ บาท
๑๗. จันทา
แห่งละ
 ๑๐.๐๐ บาท
๑๘. กร่ำ
ตารางเมตรละ
    ๑.๐๐ บาท
๑๙. บ่อล่อสัตว์น้ำ
ตารางเมตรละ
     ๐.๕๐ บาท
๒๐. ที่เลี้ยงหอย
ตารางเมตรละ
     ๐.๐๕ บาท

 


บัญชีหมายเลข ๒
อัตราเงินอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด
                  
 
ลำดับ
ชื่อเครื่องมือ
อัตราเงินอากร
๑.
ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น และช้อนหางเหยี่ยวมี
เครื่องยก                                                     ปากละ
 
๒๐.๐๐ บาท
๒.
ถุงโพงพาง                                                     ถุงละ
๒๐.๐๐ บาท
๓.
ถุงบาม                                                        ปากละ
๑๕.๐๐ บาท
๔.
เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา                                    ลำละ
๑๐.๐๐ บาท
๕.
แหยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป                               ปากละ
๑๐.๐๐ บาท
๖.
ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป           ปากละ
๑๐.๐๐ บาท
๗.
เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป                        สายละ
 ๕.๐๐ บาท
๘.
ข่ายหรืออวนต่าง ๆ ยาว                                 เมตรละ
 ๕.๐๐ บาท
๙.
เฝือกหรือเครื่องกั้น ยาว                                 เมตรละ
 ๑.๐๐ บาท

 


บัญชีหมายเลข ๓
อัตราเงินอากรค่าใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง
                  
 
ลำดับ
รายการ
อัตราเงินอากร
๑.
ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือนอกพิกัด
ในที่อนุญาต                                                       คนละ
 
๑๕.๐๐ บาท
๒.
ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง                     คนละ
๑๕.๐๐ บาท
๓.
ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุกด์                        คนละ
๑๕.๐๐ บาท

 


บัญชีหมายเลข ๔
อัตราค่าธรรมเนียม
                       
 
ลำดับ
รายการ
อัตราค่าธรรมเนียม
๑.
ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และ
อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ..............................................ปีละ
 
๑๕๐.๐๐ บาท
๒.
ค่าโอนประทานบัตร                                      ฉบับละ
 ๒๐.๐๐ บาท
๓.
ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร                          ฉบับละ
 ๒๐.๐๐ บาท
๔.
ออกใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาตประทานบัตร    ฉบับละ
 ๑๐.๐๐ บาท
๕.
ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง                 ปีละ
 ๑๐.๐๐ บาท
๖.
ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตรเพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติม
ผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง                       ครั้งละ
 
   ๕.๐๐ บาท

 


พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรงเพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่นปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า
อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น
 
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้มีปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ไว้ในครอบครอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบ หรือปลาโคก แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่ และบัดนี้มีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาด ถ้าปล่อยให้มีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครองอาจจะมีการผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไปจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง โดยห้ามมิให้มีสัตว์น้ำตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยที่เป็นกรณีเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ก่อนที่จะได้มีการขยายพันธุ์จนสายเกินที่จะป้องกันกำจัดได้ สมควรออกพระราชกำหนดโดยด่วน
 
พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓
 
มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ พ.ศ.๒๕๑๓
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้นำปลาปิรันยา (Piranha) หรือปลาคาริบี (Caribe) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus) จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหลายราย เพื่อจำหน่ายและเลี้ยงเป็นปลาประเภทสวยงาม ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายปลาแปบหรือปลาโคก แต่เป็นปลาที่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมากอาศัยอยู่เป็นฝูง ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น โค กระบือ ม้า ฯลฯ ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ ถ้าปล่อยให้บุคคลมีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครอง อาจจะมีการผสมขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายหรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ ปลาชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้โดยรวดเร็ว เพราะถิ่นกำเนิดเดิมมีอุณหภูมิอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและรีบด่วน จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดมีสัตว์น้ำตามระบุในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครองไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ที่มีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครองในวันพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้นำปลาชนิดนี้มาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานกรมประมงภายใน ๗ วัน โดยกรมประมงจะคิดค่าสัตว์น้ำให้ตามสมควรจึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรออกพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๖ ต่อไป
 
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
 
พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘
 
มาตรา ๑๕ บรรดาพระราชกฤษฎีกาและประกาศรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศรัฐมนตรีให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง แล้วแต่กรณี
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ใช้วัตถุมีพิษเพื่อทำการประมงอันอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคสัตว์น้ำได้ จึงสมควรจะได้กำหนดมาตรการควบคุมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมกับกำหนดความรับผิดของเจ้าของเรือ กรณีที่มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ ประกอบกับมีสัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ เช่น เต่า และกระ ได้ถูกจับจนเกินปริมาณที่สมควร หากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสมแล้ว สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทดังกล่าวจะถูกทำลายจนไม่มีเหลือสำหรับแพร่พันธุ์ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป จึงสมควรที่จะออกมาตรการห้ามครอบครองสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าว และโดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมไปถึงมาตรการเหล่านี้ อีกทั้งโทษบางมาตราที่บัญญัติไว้มีอัตราต่ำไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้