ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติกักพืชกักพืชพ.ศ. 2507
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติกักพืชกักพืชพ.ศ. 2507

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
กักพืช
พ.ศ. ๒๕๐๗
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักพืช
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“พืช” หมายความว่า พันธุ์พืชทุกชนิดทั้งพืชบก พืชน้ำ และพืชประเภทอื่น รวมทั้งส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตา ตอ แขนง หน่อ กิ่ง ใบ ราก เหง้า หัว ดอก ผล เมล็ด เชื้อ และสปอร์ของเห็ด ไม่ว่าที่ยังทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว และให้หมายความรวมถึงตัวห้ำ ตัวเบียน ตัวไหม ไข่ไหม รังไหม ผึ้ง รังผึ้ง และจุลินทรีย์ด้วย
“พืชควบคุม” หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชควบคุม
“พืชควบคุมเฉพาะ” หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชที่ต้องมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าก่อนส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
“เชื้อพันธุ์พืช” หมายความว่า กลุ่มเซลล์ที่มีหน่วยพันธุกรรมหลากหลาย ซึ่งถ่ายทอดได้ ที่รวมตัวกันเป็นชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตและขยายพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเมล็ด เนื้อเยื่อหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช และให้หมายความรวมถึงสารพันธุกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดลักษณะที่สารพันธุกรรมนั้นควบคุมอยู่ได้ ทั้งนี้ เฉพาะที่ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์
“ดิน” หมายความว่า ดินชนิดที่มีอินทรีย์วัตถุหรือเป็นที่อาศัยของศัตรูพืชได้
“ศัตรูพืช” หมายความว่า สิ่งซึ่งที่เป็นอันตรายแก่พืช เช่น เชื้อโรคพืช แมลง สัตว์หรือพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช
“พาหะ” หมายความว่า เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช
“สิ่งต้องห้าม” หมายความว่า พืช ศัตรูพืช และพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งต้องห้าม
“สิ่งกำกัด” หมายความว่า พืช ศัตรูพืช และพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งกำกัด
“สิ่งไม่ต้องห้าม” หมายความว่า พืชอย่างอื่นที่ไม่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด
“เจ้าของ” หมายความรวมถึง ตัวแทนเจ้าของ ผู้ครอบครองสิ่งของและผู้ควบคุมยานพาหนะขนส่งสิ่งของนั้นด้วย
“การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช” หมายความว่า กระบวนการประเมินหลักฐานด้านชีววิทยาหรือด้านวิทยาศาสตร์อื่น และด้านเศรษฐกิจเพื่อบ่งชี้ว่าศัตรูพืชชนิดใดควรจะต้องมีการควบคุม และระดับความเข้มงวดของมาตรการสุขอนามัยพืชที่จะนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืชชนิดนั้น
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งให้ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ
“นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือไม่ก็ตาม
“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ
“ด่านตรวจพืช” หมายความว่า ด่านตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อตรวจพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน
“สถานกักพืช” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่สำหรับกักพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืช เพื่อสังเกตตรวจสอบและวิจัย
“เขตควบคุมศัตรูพืช” หมายความว่า ท้องที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นเขตป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช
“ใบรับรองสุขอนามัยพืช” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะเพื่อรับรองว่าพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะที่ส่งออกปลอดจากศัตรูพืชตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
“ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะเพื่อรับรองว่าพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะที่ได้นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร และถูกส่งต่อไปประเทศอื่นปลอดจากศัตรูพืชของประเทศไทยตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
“ใบรับรองสุขอนามัย” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกพืชควบคุมเฉพาะเพื่อรับรองว่าพืชควบคุมเฉพาะที่ส่งออกปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกักพืช
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ
 
มาตรา ๕ ทวิ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกักพืช” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประมงหรือผู้แทน อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้แทน อธิบดีกรมป่าไม้หรือผู้แทน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนกระทรวงมหาดไทยแห่งละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการ งานธุรการ และดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการให้แก่คณะกรรมการ
 
มาตรา ๕ ตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
 
มาตรา ๕ จัตวา นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๕ ตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
 
มาตรา ๕ เบญจ ในการประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
 
มาตรา ๕ ฉ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด และการกำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม การกำหนดพืชควบคุมและพืชควบคุมเฉพาะ
(๒) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการกำหนดด่านตรวจพืชและสถานกักพืช
(๓) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดกิจการที่สามารถนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามได้ตามมาตรา ๘ (๒) และการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามมาตรา ๘ (๒)
(๔) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งกำกัดตามมาตรา ๑๐ และการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบศัตรูพืชและกำจัดศัตรูพืช การขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อและการออกใบรับรองตามมาตรา ๑๕
(๕) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบพืชควบคุมเฉพาะที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยตามมาตรา ๑๕ ฉ
(๖) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
(๗) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีหรืออธิบดีให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกักพืชตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการเพื่อการกักพืช
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
 
มาตรา ๕ สัตต คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ให้นำมาตรา ๕ เบญจ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
 
มาตรา ๖ เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชชนิดใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของมนุษย์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี โดยประกาศนั้นจะระบุชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดหรือแหล่งกำเนิดของพืช ศัตรูพืช หรือพาหะดังกล่าว หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้
ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันศัตรูพืชชนิดใดโดยเฉพาะมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น รัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้เดินทางมาจากแหล่งที่มีศัตรูพืชชนิดนั้นกำลังระบาดอยู่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดไว้อีกด้วยก็ได้
สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพิกถอนเสีย
 
มาตรา ๖ ทวิ เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม
ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี และในการนำเข้าจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๖ ตรี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในแหล่งปลูกพืช สถานที่รวบรวมหรือเก็บรักษาเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ ทวิ วรรคหนึ่ง ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและศึกษาการใช้ประโยชน์ของเชื้อพันธุ์พืช ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกใบอนุญาตหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งปลูกพืชหรือสถานที่นั้นได้
 
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจพืชหรือเป็นสถานกักพืชได้
 
มาตรา ๘ บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการทดลองหรือวิจัย ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย หรือในกรณีการนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้ามซึ่งเป็นศัตรูพืชหรือพาหะที่ไม่ใช่พืชต้องมีหนังสือรับรองสิ่งต้องห้ามของหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งสิ่งต้องห้ามนั้นกำกับมาด้วย
(๒) การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งกำกัด เว้นแต่จะมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย
 
มาตรา ๑๐ การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดนั้น จะต้องนำเข้าหรือนำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๑ ผู้ใดนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืชหรือเขตควบคุมศัตรูพืช เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
(๒) ตรวจค้นสถานที่ บุคคล หรือยานพาหนะใด ๆ นอกเขตด่านตรวจพืชหรือนอกเขตควบคุมศัตรูพืชในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า พืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้ามที่อยู่ในความครอบครองเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งดังกล่าวหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม และถ้าการค้นในเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้
(๓) เก็บหรือนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก
(๔) ยึด หรือกักไว้ซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก
 
มาตรา ๑๓ เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่านดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจวินิจฉัยศัตรูพืช รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นว่าจำเป็นโดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
(๒) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืช หรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นว่าจำเป็น
(๓) สั่งให้ผู้นำเข้าซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือเชื้อพันธุ์พืชที่มีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วย ส่งสิ่งนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร
(๔) ทำลายเท่าที่เห็นว่าจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากและไม่อาจดำเนินการแก้ไขโดยวิธีตาม (๑) ได้
 
มาตรา ๑๓/๑ บรรดาสิ่งที่เก็บ ยึดหรือกักไว้ตามมาตรา ๑๒ (๓) และ (๔) และมาตรา ๑๓ (๒) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรือกักหรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร
ถ้าสิ่งที่เก็บ ยึดหรือกักไว้ตามวรรคหนึ่งเป็นของเสียหายง่าย หรือถ้าเก็บไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินค่าของสิ่งนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช หรือยานพาหนะในกรณีนำผ่านราชอาณาจักร หรือจากที่ ใด ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดหรือกักไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๑๕ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบศัตรูพืชและกำจัดศัตรูพืชตามอัตราที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ แล้วแต่กรณี ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ และการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๕ ทวิ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้ศัตรูพืชระบาดออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืชชนิดใดเป็นพืชควบคุมได้
บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมตามวรรคหนึ่งต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปด้วย
 
มาตรา ๑๕ ตรี ในกรณีที่ใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อหรือใบรับรองสุขอนามัย สูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญและผู้รับใบรับรองดังกล่าวต้องการใบแทน ให้ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
การขอรับใบแทน และการออกใบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๑๕ จัตวา เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปลูกพืชเพื่อการส่งออก บุคคลใดประสงค์จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชในโรงเรือนปลูกพืชหรือแปลงปลูกพืชเพื่อการส่งออก ให้ยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะปลูกพืชเพื่อการส่งออกต่อกรมวิชาการเกษตร
การขอขึ้นทะเบียนและการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
 
มาตรา ๑๕ เบญจ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมพืชที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้พืชใดเป็นพืชควบคุมเฉพาะ โดยจะกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของพืช เชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าไว้ด้วยก็ได้
 
มาตรา ๑๕ ฉ บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมเฉพาะ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยกำกับไปด้วย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบตามอัตราที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกใบรับรองสุขอนามัยให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
การขอใบรับรองสุขอนามัย และการออกใบรับรองสุขอนามัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๖ บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ จะต้องเสียค่าป่วยการสำหรับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทางตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๑๗ เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อ ชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุม และให้กำหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จำเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการของกำนันและที่ทำการของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น
 
มาตรา ๑๘ เมื่อได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา ๑๗ แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืช หรือพาหะออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
มาตรา ๑๙ บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ให้ใช้บังคับในกรณีพืช ศัตรูพืช และพาหะตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗ ภายในเขตควบคุมพืช หรือที่จะนำออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสียอาจจะระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้เจ้าของจัดการทำลายพืช ศัตรูพืช และพาหะนั้นเสีย หรือในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลายเสียเอง โดยอธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำลายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริงก็ได้
 
มาตรา ๒๐ เมื่ออธิบดีเห็นว่าศัตรูพืชที่ได้ประกาศตามมาตรา ๑๗ ถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว หรือเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ให้อธิบดีประกาศเพิกถอนประกาศตามมาตรา ๑๗ นั้นเสีย
 
มาตรา ๒๐ ทวิ เงินที่ได้จากค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามมาตรา ๑๕ และค่าป่วยการตามมาตรา ๑๖ มิให้ถือว่าเป็นรายรับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้นำไปใช้จ่ายในกิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ จะจ่ายเพื่อการอื่นมิได้
 
มาตรา ๒๐ ตรี ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนมาตรา ๖ ทวิ วรรคสอง มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๐ จัตวา ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๕ ฉ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๒๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่พันบาท
 
มาตรา ๒๓ ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม มาตรา ๑๓ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๒๔ ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๒๕ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
 
มาตรา ๒๖ บรรดาพืช ศัตรูพืช หรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืช หรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับเขตควบคุมพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๘ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ กำหนดค่าตรวจสอบศัตรูพืชและค่าป่วยการ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม
 
(๑) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม                      ฉบับละ                 ๒๐๐    บาท
(๒) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืช                    ฉบับละ                 ๒๐๐    บาท
(๓) ใบรับรองสุขอนามัยพืช                                                     ฉบับละ                 ๒๐๐    บาท
(๔) ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ                      ฉบับละ                 ๒๐๐    บาท
(๕) ใบรับรองสุขอนามัย                                              ฉบับละ                 ๒๐๐    บาท
(๖) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืช                           ฉบับละ                 ๑๐๐    บาท
(๗) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ        ฉบับละ           ๑๐๐  บาท
(๘) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัย                               ฉบับละ           ๑๐๐  บาท


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ต่อเมื่อพืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอาจจะทำให้โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนที่จะมีการควบคุมและกักพืชไว้ ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศสมควรที่จะขยายการควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีกทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ และตราพระราชบัญญัติกักพืชขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน
 
พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและขาดประสิทธิภาพสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราเพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการกักพืชขึ้นทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกซึ่งพืชและเชื้อพันธุ์พืช การตรวจและควบคุมเชื้อพันธุ์พืช การกำหนดให้มีการจดทะเบียนสถานที่เพาะพืชเพื่อการส่งออก การออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้กำหนดให้แยกค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจสอบศัตรูพืชออกจากค่าธรรมเนียมทั่วไปเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในกิจการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กับได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๒๓ คำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือว่าเป็นคำขอออกใบรับรองสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๔ ใบรับรองปลอดศัตรูพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นใบรับรองสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๕ บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องนั้น ๆ ใช้บังคับ
 
มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกักพืช เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศให้พืช ศัตรูพืช และพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามและแก้ไขหลักเกณฑ์การนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้ามรวมทั้งเพิ่มเติมการควบคุมดูแลพืชที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน และควบคุมโรคและศัตรูพืชให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้