ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติพ.ศ. 2547
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติพ.ศ. 2547

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๗
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
เป็นปีที่ ๕๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
 
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“กองทุนหมู่บ้าน” หมายความว่า กองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง แล้วแต่กรณี
“หมู่บ้าน” หมายความว่า หมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
“ชุมชนเมือง” หมายความว่า ชุมชนในเขตเทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือเขตพื้นที่อื่น ทั้งนี้ โดยมีขอบเขตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
“คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมือง แล้วแต่กรณี
“กรรมการกองทุนหมู่บ้าน” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือกรรมการในคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมือง แล้วแต่กรณี
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกของกองทุนหมู่บ้านหรือสมาชิกของกองทุนชุมชนเมือง แล้วแต่กรณี
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
กองทุนหมู่บ้าน
                  
 
มาตรา ๕ ในแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองให้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกชื่อว่า “กองทุนหมู่บ้าน” หรือ “กองทุนชุมชนเมือง” แล้วแต่กรณี โดยให้คณะผู้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านยื่นขอจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้านต่อนายทะเบียนกองทุนหมู่บ้านตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
กองทุนหมู่บ้านที่จดทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ สวัสดิการหรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นใดให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๒) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๓) รับฝากเงินจากสมาชิกและจัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๔) ให้กู้ยืมเงินแก่กองทุนหมู่บ้านอื่น เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๕) กระทำการใด ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต สวัสดิภาพ และสวัสดิการของสมาชิกหรือประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของกองทุนหมู่บ้านตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใด กำหนดให้กิจการกองทุนหมู่บ้านต้องดำเนินการหรือต้องเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียม อันเป็นภาระที่ไม่เหมาะสมหรือเกินสมควร คณะกรรมการอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการลดภาระดังกล่าวแก่กิจการของกองทุนหมู่บ้านได้ตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๖ ทุนหรือทรัพย์สินในการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านประกอบด้วย
(๑) เงินที่คณะกรรมการจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(๓) เงินที่สมาชิกนำมาลงหุ้นหรือฝากไว้กับกองทุนหมู่บ้านตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่กองทุนหมู่บ้านได้รับบริจาคโดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ
(๕) ดอกผล รายได้ หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้าน
 
มาตรา ๗ สมาชิกและกรรมการกองทุนหมู่บ้านต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
การคัดเลือกกรรมการกองทุนหมู่บ้านตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงชายและหญิงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
 
มาตรา ๘ การจัดตั้ง การจดทะเบียน และการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๙ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งตรวจสอบ กำกับ ดูแล และจัดสรรดอกผล รายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้าน
(๒) ออกประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการบริหารกองทุนหมู่บ้าน
(๓) จัดตั้งสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน หรือสำนักงานกองทุนชุมชนเมือง แล้วแต่กรณี
(๔) รับสมาชิกและจัดทำทะเบียนสมาชิก
(๕) จัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด
(๖) พิจารณาเงินกู้ยืมให้แก่สมาชิกหรือกองทุนหมู่บ้านอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนด
(๗) ทำนิติกรรม สัญญา หรือดำเนินการเกี่ยวกับภาระผูกพันของกองทุนหมู่บ้าน
(๘) จัดทำบัญชีของกองทุนหมู่บ้านตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(๙) สำรวจ และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ อุตสาหกรรมครัวเรือน และวิสาหกิจชุมชน ในเขตพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ตลอดจนข้อมูลและการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๑๐) พิจารณาดำเนินการใด ๆ เพื่อสวัสดิภาพ สวัสดิการ หรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นใดของสมาชิกและหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๑๑) ดำเนินการอื่นใดเพื่อให้สอดรับและเกื้อกูลกับกองทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๑๒) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้าน
(๑๓) รายงานผลการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งฐานะการเงินของกองทุนหมู่บ้านให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตลอดจนรายงานเรื่องดังกล่าวให้สมาชิกทราบตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๑๔) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
การดำเนินการใด ๆ ตาม (๑๐) ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมิใช่เงินที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
 
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่มีการเลิกกองทุนหมู่บ้านใด ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สินของกองทุนหมู่บ้านนั้น ไปเป็นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่กองทุนหมู่บ้านใดยุบรวมกับกองทุนหมู่บ้านอื่นเพื่อจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านใหม่ หรือยุบรวมกับกองทุนหมู่บ้านอื่น ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สินของกองทุนหมู่บ้านนั้นไปเป็นของกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งใหม่หรือกองทุนหมู่บ้านที่ไปรวม แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่กองทุนหมู่บ้านใดแยกกองทุนหมู่บ้านบางส่วนเพื่อจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านใหม่ หรือแยกกองทุนหมู่บ้านบางส่วนเพื่อรวมกับกองทุนหมู่บ้านอื่น ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สินบางส่วนของกองทุนหมู่บ้านนั้น ไปเป็นของกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งใหม่หรือกองทุนหมู่บ้านที่ไปรวม แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
 
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
                  
 
มาตรา ๑๑ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” โดยเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อจัดสรรให้กองทุนหมู่บ้านสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ สวัสดิการ หรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นใดให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๒) เป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนและประสานงานในการกู้ยืมเงินระหว่างกองทุนหมู่บ้าน
(๓) ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านของตนเอง
(๔) สนับสนุนการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองทั้งในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อการแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(๕) สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
 
มาตรา ๑๒ ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติประกอบด้วย
(๑) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๓๑
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้รับบริจาคโดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ
(๔) ดอกผล รายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
 
มาตรา ๑๓ กิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
 
มาตรา ๑๔ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
 
มาตรา ๑๕ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ให้จ่ายจากเงินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
รายได้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติให้เป็นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
เงินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติส่วนที่ยังมิได้จัดสรรให้แก่กองทุนหมู่บ้าน ให้นำไปหาผลประโยชน์ได้โดยการฝากกับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารพาณิชย์ หรือซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ทรัพย์สินอื่นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติให้นำไปหาผลประโยชน์ซึ่งไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อความเสียหายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กทบ.” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
(๔) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากผู้แทนกรรมการกองทุนหมู่บ้านจำนวนสิบสี่คน
(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนห้าคน
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๕) และ (๖) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๕) ให้คำนึงถึงชายและหญิงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
ประธานกรรมการอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการได้
 
มาตรา ๑๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
 
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการมีมติให้ออก
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
 
มาตรา ๑๙ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย และแนวทางการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและสำนักงาน
(๒) จัดหาเงินทุนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และจัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้าน
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจ่ายเงินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
(๔) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการนำทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไปหาผลประโยชน์
(๕) ออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้าน
(๖) ออกระเบียบเกี่ยวกับการคัดเลือก คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งการบริหารงานและการประชุมของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน
(๗) ออกระเบียบเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก
(๘) ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลิก ยุบรวม หรือแยกกองทุนหมู่บ้าน
(๙) ออกระเบียบเกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
(๑๐) ออกระเบียบเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การปฏิบัติงานในหน้าที่และการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ
(๑๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัย และพัฒนากองทุนหมู่บ้าน
(๑๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายกองทุนในทุกระดับ
(๑๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๔) รายงานผลการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งจัดทำงบการเงินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๑๕) ติดตามผลและประเมินผลการดำเนินการของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านแล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
(๑๖) ออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ในกรณีที่มีการออกระเบียบใหม่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือสมาชิก ถ้ากรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือสมาชิกผู้ใดมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามขัดกับระเบียบใหม่ดังกล่าว ให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือสมาชิก แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๒๐ กรรมการและอนุกรรมการอาจได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้จ่ายจากเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ที่ปรึกษาอาจได้รับค่าตอบแทน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
 
มาตรา ๒๑ ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติมีสำนักงานใหญ่ เรียกว่า “สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “สทบ.” และอาจตั้งสาขาตามความจำเป็นก็ได้
 
มาตรา ๒๒ สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการต่าง ๆ ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
(๒) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
(๓) ดำเนินการและประสานงานกับส่วนราชการและองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(๔) ดำเนินการหรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้านและรายงานผลต่อคณะกรรมการ
(๕) ติดตามผลและประเมินผลการดำเนินการของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน
(๖) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการ
(๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
 
มาตรา ๒๓ ให้คณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของสำนักงาน
ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ผู้อำนวยการหรือบุคคลซึ่งผู้อำนวยการมอบอำนาจ เป็นนายทะเบียนกองทุนหมู่บ้านโดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด
ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
ในกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
นิติกรรมที่ผู้อำนวยการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดย่อมไม่ผูกพันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การปฏิบัติงานในหน้าที่ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๒๔ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงาน รัฐมนตรีอาจขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้น แล้วแต่กรณี
เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใด ๆ และให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในสำนักงาน สำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๒๕ ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๒๔ ขอกลับเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในสังกัดเดิมภายในกำหนดเวลาที่อนุมัติ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนตามข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติตามมาตรา ๒๔
 
การบัญชีและการตรวจสอบ
                  
 
มาตรา ๒๖ ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีให้สำนักงานจัดทำงบการเงินแสดงฐานะการเงินและทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบและประเมินผลการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและการดำเนินการของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านได้ตามที่เห็นสมควร ในการนี้ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบ
ให้ผู้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่งจัดส่งผลประกอบการและงบการเงินให้สำนักงาน และแสดงความเห็นภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
 
มาตรา ๒๘ ให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติแล้วรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ให้สำนักงานจัดทำบัญชีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
การปิดบัญชีให้กระทำปีละหนึ่งครั้งตามรอบปีงบประมาณ และให้จัดส่งงบการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความเห็นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว ให้เสนองบการเงินดังกล่าวต่อคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
การกำกับและควบคุม
                  
 
มาตรา ๒๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านดำเนินการจัดการกองทุนหมู่บ้านในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนหมู่บ้านไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของคณะกรรมการ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้พิจารณาสั่งระงับการจ่ายเงินของกองทุนหมู่บ้านหรือให้กองทุนหมู่บ้านชดใช้หรือให้ส่งคืนเงินที่เบิกจ่ายไปแล้ว โดยให้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือไปยังกองทุนหมู่บ้าน
หากกองทุนหมู่บ้านไม่เห็นด้วยกับคำสั่งตามวรรคสอง ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งของผู้อำนวยการ
 
บทเฉพาะกาล
                  
 
มาตรา ๓๐ ให้กองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นกองทุนหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการจดทะเบียนตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๓๑ เมื่อได้มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ เสร็จสิ้นลงแล้ว และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวดำเนินการตามมาตรา ๔๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยประกาศยุติการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในราชกิจจานุเบกษา
ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ เงินงบประมาณ รายได้และลูกจ้างของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ และของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ ไปเป็นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้
ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้กรรมการกองทุนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่กรรมการกองทุนหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้จนครบวาระ
ให้สมาชิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นสมาชิกต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้
ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้อำนวยการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ไปจนกว่าสัญญาจ้างผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้วให้ดำเนินการคัดเลือกผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป
ในระหว่างยังไม่มีการคัดเลือกผู้อำนวยการตามวรรคหก ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการไปจนกว่าผู้อำนวยการที่ได้รับคัดเลือกตามพระราชบัญญัตินี้จะเข้ารับหน้าที่
ให้นำบรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาใช้บังคับกับการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลมจนกว่าจะได้มีประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของคณะกรรมการที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดเป็นอย่างอื่น
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองด้วยการให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านหรือชุมชนตามภูมิปัญญาหรือทุนทางสังคมของตนเองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและการพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อการแก้ไขปัญหา การสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและองค์กรชุมชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของหมู่บ้านและชุมชนเมืองอันเป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะการจัดระบบสวัสดิการในชุมชนมีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นจึงได้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนแก่กองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกให้ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง และเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมทั้งกองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง สามารถพัฒนาเป็นสถาบันการเงินชุมชนในอนาคต โดยมีกระบวนทัศน์ด้านการบริหารและการพัฒนาที่มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่มีรูปแบบ วิธีการคิด และมุมมองที่เปิดกว้างมีคุณธรรม และมีการเรียนรู้ร่วมกันโดยอาศัยหลักของการเอื้ออาทรในรูปแบบกัลยาณมิตร ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาความคิด ความเข้าใจให้เป็นระบบในลักษณะของการบูรณาการทุกเรื่องเข้าด้วยกันและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายกองทุนในทุกระดับอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้