- เจตคติต่อวิชาชีพของครูนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะคุณภาพของการสอนจะเป็นไปในรูปใดนั้น ความสำคัญส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเจตคติต่ออาชีพของผู้สอน และเจตคติของผู้สอนย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กด้วย (Serenson, 1964) ดังนั้นคุณภาพของครูจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ จากการศึกษาพบว่า ครูที่มีเจตคติไม่ดีต่อวิชาชีพของตน เช่น ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของวิชาชีพ ตลอดจนไม่มีความภาคภูมิใจ อีกทั้งไม่คิดที่จะปรับปรุงวิชาชีพให้ก้าวหน้าและไม่กระทำตนเป็นครูที่ดีในสายตาของเด็กนักเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปัญหาเรื่องระเบียบวินัยในชั้นเรียนซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการจัดการเรียนการสอน (Uruh, 1977 อ้างถึงใน บุหงา วัฒนา, 2533) อันเป็นเหตุให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาสร้างเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่เยาวชน ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด นั่นคือ สรุปได้อีกนัยหนึ่งว่า หากจะให้การสอนได้ผลดีมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ทำการสอนควรจะเป็นผู้ที่มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ & นิยะดา ศรีจันทร์, 2523)
- นักศึกษาก่อนเข้าไปศึกษาในสถาบันจะได้รับการทดสอบวัดแววความเป็นครู นั่นก็คือ การวัดเจตคติต่อวิชาชีพครูนั่นเอง เพื่อทางสถาบันจะได้รับทราบเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษา ถ้าเป็นเจตคติในทางที่ดี ก็จะได้สนับสนุนส่งเสริมให้คงอยู่ต่อไป แต่ถ้าเป็นเจตคติที่ไม่พึงประสงค์ก็จำเป็นต้องขจัด หรือเปลี่ยนแปลงเจตคติที่ไม่พึงปรารถนานี้ โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และสภาพแวดล้อมในทางที่จะส่งเสริมให้เกิดเจตคติต่อวิชาชีพครูในทางที่ดี หรือหาหนทางที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเจตคติต่อวิชาชีพครู เพราะถ้าผู้ประกอบวิชาชีพครูมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาชีพของตนแล้ว ก็ย่อมจะไม่มีความพอใจและแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ขวนขวายที่จะทำงานให้ได้ผลเต็มที่ นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาบุคคลหรือเยาวชนอย่างมาก (ส่งศรี ชมภูวงศ์, 2524) ดังนั้นในการวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาอิทธิพลหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติต่อวิชาชีพครู และผู้วิจัยยังสนใจที่จะศึกษาเจตคติต่อวิชาชีพครูของผู้ที่จะออกไปประกอบวิชาชีพครู และการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูระดับปริญญาตรี และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนเจตคติต่อวิชาชีพครู ผู้วิจัยจึงเลือกศึกษานักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในกลุ่มนักศึกษาที่ชั้นปีและสาขาวิชาต่างกัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง เมื่อนักศึกษาได้เข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในคณะศึกษาศาสตร์
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติต่อวิชาชีพครูนั้น มีอยู่หลายประการ ทั้งในด้านปัจจัยส่วนตัว ปัจจัยทางสังคมและจิตลักษณะ ซึ่งในการวิจัยได้ศึกษาปัจจัยส่วนตัว เฉพาะด้านเพศ ชั้นปี สาขาวิชา และผลการเรียน ปัจจัยทางสังคมศึกษาเฉพาะการปฏิบัติทางพุทธศาสนา และจิตลักษณะศึกษาเฉพาะการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม การหยั่งลึกทางสังคม นอกจากนี้ได้ศึกษาเรื่องพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นแรงจูงใจและแรงกระตุ้นให้นักศึกษา มีพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ต่อการศึกษา ดังนั้นเจตคติและความตั้งใจต่อการศึกษามีบทบาทสำคัญมาก ในอันที่จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ต่อการศึกษาของนักศึกษา กล่าวคือ ถ้านักศึกษามีเจตคติที่ดีและมีความตั้งใจในการศึกษาทำให้นักศึกษาประสบผลสำเร็จในการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับ ทิตยา สุวรรณชฎ (2520 อ้างถึงใน คำแสง ทะลังสี, 2542) กล่าวว่า เจตคติมีคุณสมบัติเป็นแรงจูงใจอันที่จะทำให้บุคคลประเมินและเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือจะเป็นแนวทางกำหนดพฤติกรรมของบุคคลนั้น จะเห็นได้ว่า การเรียนต่างๆ การเลือกประกอบอาชีพ ทั้งการทำงาน ถ้าบุคคลใดมีเจตคติที่ดีต่อสิ่งนั้น จะสามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ ดังนั้นพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ของนักศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้นักศึกษามีความมานะพยายาม มีความอดทนที่จะเอาชนะต่ออุปสรรค เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และพยายามทำสิ่งต่างๆ เหมาะสมต่อการศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ของนักศึกษา
|
แนวคิดทฤษฎี |
- 1. ความหมายและแนวคิดเกี่ยวกับเจตคติ 2. เจตคติต่อวิชาชีพครูกับปัจจัยส่วนตัว 3. เจตคติต่อวิชาชีพครูกับปัจจัยทางสังคม 4. เจตคติต่อวิชาชีพครูกับจิตลักษณะ 5. ความหมายและทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ |
วัตถุประสงค์ |
-- 1. เพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติทางพุทธศาสนา จิตลักษณะ เจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ของนักศึกษาแต่ละชั้นปี
- 2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ของนักศึกษาที่มีปัจจัยส่วนตัว การปฏิบัติทางพุทธศาสนา และจิตลักษณะ แตกต่างกัน
- 3. เพื่อศึกษาตัวแปรทำนายเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ จากปัจจัยส่วนตัว การปฏิบัติทางพุทธศาสนาและจิตลักษณะ
|
สมมุติฐานการวิจัย |
-- 1. นักศึกษาที่มีปัจจัยส่วนตัวด้านเพศ ชั้นปี และสาขาวิชา ต่างกัน จะมีเจตคติจ่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์แตกต่างกัน โดยเพศหญิงจะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่าเพศชาย นักศึกษาในชั้นปีที่สูงกว่าจะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาในชั้นปีที่ต่ำกว่า และนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาต่างกันจะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์แตกต่างกัน
- 2. นักศึกษาที่มีผลการเรียนที่ดีกว่า จะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีผลการเรียนที่ต่ำกว่า
- 3. นักศึกษาที่มีการปฏิบัติทางพุทธศาสนามาก จะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการปฏิบัติทางพุทธศาสนาน้อย
- 4. นักศึกษาที่มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมสูงกว่าจะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมต่ำ
- 5. นักศึกษาที่มีการหยั่งลึกทางสังคมสูงกว่าจะมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการหยั่งลึกทางสังคมต่ำ
- 6. ตัวแปร 3 กลุ่ม คือ ปัจจัยส่วนตัว ปัจจัยทางสังคม และจิตลักษณะ ร่วมกันทำนายเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ได้
|
ระเบียบวิธีวิจัย |
- การวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) |
ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง |
- ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการประถมศึกษา สาขาวิชาการมัธยมศึกษา สาขาวิชาพลศึกษา และสาขาวิชาศิลปศึกษา ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2543 จำนวน 1,178 คน
- กลุ่มตัวอย่าง กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของ Yamane (1970 อ้างถึงใน ลัดดา อะยะวงศ์, 2533) ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 320 คน ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบโควต้า โดยกำหนด สาขาวิชาละ 80 คน ชั้นปีละ 80 คน ซึ่งในแต่ละสาขาวิชาและแต่ละชั้นปี แบ่งเป็นชาย 40 คน หญิง 40 คน
|
ตัวแปร |
- |
นิยามศัพท์ |
-- ปัจจัยทางสังคม หมายถึง กระบวนการรับรู้ของนักศึกษาจากกระบวนการทางสังคมซึ่งอาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ค่านิยมทางวัฒนธรรมและความเชื่อ ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบุคคล หรือการกระทำของบุคคลในสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ ศึกษาเฉพาะ การปฏิบัติทางพุทธศาสนา
- 1) การปฏิบัติทางพุทธศาสนา หมายถึง การกระทำของบุคคลในชีวิตประจำวันตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก จากการปฏิบัติขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง คือ การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา ซึ่งเป็นการงดเว้นการทำความชั่ว ทำแต่ความดี รักษาจิตใจให้ผ่องใส
- จิตลักษณะ หมายถึง ลักษณะทางจิตใจของคนเราที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาขึ้น
- 1) การใช้เหตุผลทางจริยธรรม หมายถึง การที่บุคคลเลือกเหตุผลที่จะกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสถานการณ์ต่างๆ ที่สมมติขึ้น ซึ่งจะแสดงถึงแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต่างๆ ของบุคคล ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของ Kohlberg ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ขั้น คือ 1. หลักการหลบหลีกการถูกลงโทษ 2. หลักการแสวงหารางวัล 3. หลักการทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ 4. หลักการทำตามหน้าที่ทางสังคม 5. หลักการทำตามคำสัญญา และ 6. หลักการยึดอุดมคติสากล
- 2) การหยั่งลึกทางสังคม หมายถึง ความสามารถในการรู้คิดและเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนและผู้อื่น พัฒนาขึ้นในระบบการรู้คิดของบุคคลเป็นขั้นตอนตามวัย (ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น) และตามประสบการณ์ทางสังคมที่ได้รับ
- แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หมายถึง ความปรารถนาหรือความต้องการที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ให้ได้รับความสำเร็จตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยมีการวางแผนหรือเตรียมการไว้เพื่อให้ได้รับความสำเร็จตามที่ปรารถนา และหากพบปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็จะอดทน มุ่งมั่น พยายามเอาชนะกับปัญหาอุปสรรคนั้นๆ เพื่อให้ได้รับความสำเร็จ
- พฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกของนักศึกษาต่อการศึกษาเพื่อให้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี โดยทุ่มเทความพยายามทั้งหมดที่มีอยู่จนสำเร็จ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
- เจตคติต่อวิชาชีพครู หมายถึง ความรู้สึกของนักศึกษาที่ตอบสนองต่อวิชาชีพครูเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักศึกษาต่อวิชาชีพครู และผลรวมของการประเมินความเชื่อทั้งหลายที่นักศึกษามีต่อวิชาชีพครู
|
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย |
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย- 1. แบบสอบถามปัจจัยส่วนตัว ได้แก่ เพศ ชั้นปี สาขาวิชา ผลการเรียน และศาสนาที่นับถือ เป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ
- 2. แบบวัดการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ผู้วิจัยใช้แบบวัดการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ของ ดวงเดือน พันธุมนาวิน และคณะ (2534) โดยนำไปทดลองใช้กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มพระสงฆ์ และกลุ่มฆารวาส ได้ค่าความเชื่อมั่น .74 และจากที่ จิรวัฒนา มั่นยืน (2536) ได้นำแบบวัดนี้ไปใช้กับนิสิตชั้นปีที่ 2, 3 และ 4 จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ 7 แห่ง ได้ค่าความเชื่อมั่น .82 แบบวัดมีลักษณะเป็นประโยคประกอบมาตรประเมินค่า 6 หน่วย จำนวน 10 ข้อ
- 3. แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ผู้วิจัยใช้แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโกศล มีคุณ (2542) ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น .83 มีลักษณะเป็นเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจแก้ปัญหา 12 เรื่อง แต่ละคำตอบจะมีมาตรประเมินค่า 6 หน่วย
- 4. แบบวัดการหยั่งลึกทางสังคม เป็นแบบวัดที่ผู้วิจัยนำมาจาก สุดใจ บุญอารีย์ (2540) โดยนำไปใช้กับนักศึกษาสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ได้ค่าความเชื่อมั่น .75 แบบวัดมีลักษณะเป็นประโยคประกอบมาตรประเมินค่า 6 หน่วย จำนวน 20 ข้อ
- 5. แบบวัดพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ ผู้วิจัยใช้แบบวัดของ คำแสง ทะลังสี (2542) ใช้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จำนวน 350 คน ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น .85 แบบวัดมีลักษณะเป็นประโยคประกอบมาตรประเมินค่า 6 หน่วย จำนวน 20 ข้อ
- 6. แบบวัดเจตคติต่อวิชาชีพครู เป็นแบบวัดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามทฤษฎีของฟิชไบน์ (Fishbein) จำนวน 20 ข้อ การหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ ผู้วิจัยหาความตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยนำเอาความเชื่อที่เด่นชัดจากการตอบของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 30 คน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาสร้างเป็นข้อคำถามปลายปิด จำนวน 20 ข้อ จากนั้นให้ประธานที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ตรวจสอบ การหาความเชื่อมั่นของแบบวัดเจตคติ ผู้วิจัยได้ดำเนินตามขั้นตอนของทฤษฎี Fishbein โดยเลือกเอาเฉพาะข้อความเชื่อที่มีความถี่สูงสุดถึงความถี่ 75 % เท่านั้น และไม่ต้องหาค่าความเชื่อมั่น เพราะถือว่าเป็นความเชื่อเด่นชัด แต่ผู้วิจัยนำไปหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ เพื่อให้ครบกระบวนการของการหาคุณภาพของเครื่องมือในการทำวิทยานิพนธ์ โดยนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาสถาบันราชภัฎอุดรธานี คณะครุศาสตร์ และได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .71
|
วิธีการรวบรวมข้อมูล |
- |
การวิเคราะห์ข้อมูล |
- ผู้วิจัยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS/PC for Windows ทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้- 1. แจกแจงค่าร้อยละของตัวแปรเพศ ชั้นปี และสาขาวิชา , ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลการเรียน
- 2. หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนที่ได้จากการตอบแบบวัดการปฏิบัติทางพุทธศาสนา แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม แบบวัดการหยั่งลึกทางสังคม แบบวัดพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ และแบบวัดเจตคติต่อวิชาชีพครู
- 3. ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Analysis of Variance) ระหว่างปัจจัยส่วนตัวกับเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ และระหว่างการปฏิบัติทางพุทธศาสนากับเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ และระหว่างจิตลักษณะกับเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์
- 4. วิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) เพื่อหาตัวแปรทำนายเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์จากตัวแปร (ผลการเรียน การปฏิบัติทางพุทธศาสนา การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม และการหยั่งลึกทางสังคม) รวม 4 ตัวแปร โดยใช้วิธี Stepwise
|
สรุปผลวิจัย |
-- 1. นักศึกษาเพศชายและเพศหญิงมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาต่างกันมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่านักศึกษาชั้นปีที่ 4 มีเจตคติต่อวิชาชีพครูดีกว่านักศึกษาปีที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
- 2. นักศึกษาที่มีผลการเรียนแตกต่างกัน มีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- 3. นักศึกษาที่มีการปฏิบัติทางพุทธศาสนามาก มีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการปฏิบัติทางพุทธศาสนาน้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
- 4. นักศึกษาที่มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมสูงมีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
- 5. นักศึกษาที่มีการหยั่งลึกทางสังคมสูง มีพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการหยั่งลึกทางสังคมต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่มีเจตคติต่อวิชาชีพครูไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- 6. การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม สามารถทำนายเจตคติต่อวิชาชีพครู ได้ร้อยละ 5.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และการปฏิบัติทางพุทธศาสนา การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม และการหยั่งลึกทางสังคม สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ได้ร้อยละ 16.4 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
|
ข้อเสนอแนะ |
- ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย 1. ผลการวิจัย พบว่า การปฏิบัติทางพุทธศาสนาและการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมมีอิทธิพลต่อ เจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ ดังนั้นคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้อง ควรส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมในการจัดกิจกรรมการปฏิบัติทางพุทธศาสนาและกิจกรรมพัฒนาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมให้นักศึกษา เช่น การจัดการอบรม สัมมนาให้ความรู้, การร่วมอภิปราย โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมอภิปราย ให้รู้จักการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม 2. โรงเรียนและผู้แกครองควรให้ความสำคัญในการพัฒนาความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อสังคมและเป็นผู้มีพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ 3. คณะศึกษาศาสตร์และสถาบันฝึกหัดครู ควรส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการฝึกการหยั่งลึกทางสังคมให้มากขึ้น เช่น การฝึกอภิปราย, การเล่นบทบาทสมมติ เพราะผลการวิจัย พบว่า นักศึกษาที่มีการหยั่งลึกทางสังคมสูง มีพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์ดีกว่านักศึกษาที่มีการหยั่งลึกทางสังคมต่ำ และการหยั่งลึกทางสังคมมีความสำคัญต่อผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครู เพราะครูต้องมีความเข้าใจตนเองและผู้เรียนเป็นอย่างดี จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป- 1. ควรจะศึกษาว่าเมื่อนักศึกษามีเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์สูงหรือต่ำ จะส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของนักศึกษาเมื่อได้ไปประกอบอาชีพอย่างไร
- 2. ควรมีการศึกษาปัจจัยส่วนตัวในด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ภูมิหลังทางครอบครัว แบบแผนการอบรมเลี้ยงดู
- 3. ควรมีการศึกษาปัจจัยทางสังคมในด้านอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย เพื่อจะได้ทราบว่ามีปัจจัยทางสังคมใดบ้างที่มีอิทธิพลกับการเกิดเจตคติ และการมีพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์
- 4. ควรมีการศึกษาจิตลักษณะของนักศึกษาในด้านอื่นๆ เช่น ความเชื่ออำนาจในตน การมุ่งอนาคตและควบคุมตน เพื่อจะได้ทราบว่าจิตลักษณะด้านนี้มีอิทธิพลต่อเจตคติต่อวิชาชีพครูและพฤติกรรมใฝ่สัมฤทธิ์หรือไม่ และจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาวิชาชีพครูต่อไป
- 5. ควรมีการศึกษาเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาจากหลายสถาบัน เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้กว้างยิ่งขึ้น
- 6. ควรมีการศึกษาเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาว่าจะช่วยพัฒนาและส่งผลถึงพฤติกรรมของนักศึกษาอย่างไร และจะช่วยพัฒนาครูอย่างไร
|