ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว  พุทธศักราช 2478
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว  พุทธศักราช 2478

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
จดทะเบียนครอบครัว
พุทธศักราช ๒๔๗๘
                       
 
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๘
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรวางวิธีการจดทะเบียนครอบครัวตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕
 
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘”
 
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) “นายทะเบียน” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ได้แต่งตั้งขึ้น
(๒) “การจดทะเบียน” หมายความว่า การจดข้อความลงในทะเบียนเพื่อความสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(๓) “การบันทึก” หมายความว่า การจดข้อความลงในทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์
 
มาตรา ๔ บุคคลที่จะเป็นพยานตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ คือ
(๑) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๒) บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(๓) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
 
มาตรา ๕ การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้จะทำที่สำนักทะเบียนแห่งใดๆ ดังที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงก็ได้ ในกรณีที่มีการจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องถึงกันมากกว่าแห่งหนึ่งให้หมายเหตุในทะเบียนต่างๆ ถึงการเกี่ยวข้องนั้นๆ ดังที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้บังคับตลอดถึงการบันทึกด้วย
 
มาตรา ๖ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๔ คำร้องขอจดทะเบียนต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียน ผู้ร้องต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนและต่อหน้าพยานสองคนซึ่งต้องลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนในขณะนั้นด้วย แต่ถ้าผู้ร้องไม่สามารถลงลายมือชื่อได้โดยวิธีหนึ่งวิธีใด ให้นายทะเบียนหมายเหตุไว้ในทะเบียน
โดยเฉพาะการจดทะเบียนสมรส นอกจากจะปฏิบัติตามความในวรรคก่อน ถ้าท้องที่ใด ข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นสมควรจะประกาศโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมให้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อกำนันท้องที่ที่ชายหรือหญิงฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายที่มีถิ่นที่อยู่ก็ได้
คำร้องเช่นว่านี้ต้องมีลายมือชื่อของผู้ร้องและพยานสองคนลงต่อหน้ากำนัน แต่พยานคนหนึ่งนั้นต้องเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่บ้านขึ้นไป หรือนายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้แทนราษฎร เทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด หรือทนายความ
เมื่อได้รับคำร้องโดยถูกต้องแล้ว ให้กำนันส่งคำร้องนั้นต่อไปยังนายทะเบียนโดยเร็ว เพื่อพิจารณารับจดทะเบียน ในการจดทะเบียนนี้ให้นายทะเบียนลงชื่อผู้ร้องและพยานในทะเบียนถือเป็นแทนการลงลายมือชื่อและให้ถือว่าการสมรสได้สมบูรณ์แต่วันที่กำนันรับคำร้องนั้น
 
มาตรา ๗ รายการที่ลงไว้ในทะเบียนนั้น ให้นายทะเบียนลงวันเดือน ปี และลายมือชื่อนายทะเบียนไว้เป็นสำคัญ
 
มาตรา ๘ เมื่อได้รับจดทะเบียนสมรสหรือหย่าโดยความยินยอม นายทะเบียนต้องออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้นมอบให้ฝ่ายละฉบับโดยไม่เรียกค่าธรรมเนียม
 
มาตรา ๙ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอดูทะเบียนได้โดยมิต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ถ้าขอสำเนารายการในทะเบียนซึ่งนายทะเบียนรับรอง ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๐ เมื่อมีการร้องขอให้จดทะเบียนสมรสแล้ว ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรสให้
การจดทะเบียนสมรสนั้น จะขอให้นายทะเบียนไปทำนอกสำนักทะเบียนก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๑ ถ้าบุคคลใดได้รับอนุญาตให้สมรสได้ โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้ยื่นสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่รับรองว่าถูกต้องแล้วนั้นต่อนายทะเบียน ในเมื่อร้องขอจดทะเบียน
 
มาตรา ๑๒ ถ้าผู้ที่จะพึงให้ความยินยอมได้ให้ความยินยอมโดยทำเป็นหนังสือตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๘ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ผู้ร้องขอนำหนังสือนั้นยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อบันทึกในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
ถ้าผู้ที่จะพึงให้ความยินยอมได้ให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๘ (๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ผู้ร้องขอนำพยานนั้นไปให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียน ถ้อยคำซึ่งพยานให้ไว้นั้นให้นายทะเบียนจดลงไว้แล้วให้พยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
 
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสเมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งมาตรา ๑๔๔๕ มาตรา ๑๔๔๖ และมาตรา ๑๔๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
มาตรา ๑๔ เมื่อชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย และโดยพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ นายทะเบียนไม่สามารถจะไปจดทะเบียนให้ได้ และผู้ใกล้ความตายจะทำคำร้องตามแบบก็ไม่ได้ ผู้นั้นจะร้องขอจดทะเบียนสมรสด้วยวาจาหรือด้วยกิริยาก็ได้ แต่ต้องร้องต่อพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นกำนันขึ้นไป หรือต่อนายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป หรือหัวหน้าสถานีตำรวจหรือต่อบุคคลซึ่งเป็นพยานได้ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน
ถ้าชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายตาย ให้ผู้ที่ได้รับคำร้องขอจดทะเบียนตามความในวรรคก่อน พร้อมด้วยชายหรือหญิงที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ถ้าหากมี ไปแสดงตนต่อนายทะเบียนโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ถ้อยคำแสดงพฤติการณ์แห่งการร้องขอแล้วขอจดทะเบียนสมรส
ถ้ากรณีดังกล่าวในวรรคต้นเกิดในเรือเดินทะเลระหว่างเดินทางจะร้องต่อนายเรือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานดังกล่าวในวรรคต้นก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในวรรคสองมาบังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๕ ถ้านายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าการได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้วก็ให้ศาลมีคำสั่งไปให้รับจดทะเบียน
 
มาตรา ๑๖ เมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสหรือให้หย่ากันแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน
 
มาตรา ๑๗ ถ้าการใดๆ อันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัวได้ทำขึ้นในต่างประเทศตามแบบซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นนั้นบัญญัติไว้ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้บันทึกในประเทศสยามก็ได้ แต่ต้องยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้นโดยมีคำรับรองถูกต้องพร้อมกับคำแปลภาษาไทย ซึ่งฝ่ายนั้นต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ถ้าการดังกล่าวแล้วได้ทำขึ้นในต่างประเทศตามแบบซึ่งกฎหมายสยามบัญญัติไว้ ให้เจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลสยามส่งสำเนาทะเบียนหรือบันทึกซึ่งได้รับรองถูกต้องแล้วไปยังกระทรวงต่างประเทศเพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย
 
มาตรา ๑๘ การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอและได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๔๙๘ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย
 
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่บิดามาขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายถ้าเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะให้ความยินยอมได้และได้มาให้ความยินยอมด้วยตนเองแล้วก็ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน
ถ้าเด็กและมารดาเด็กคนหนึ่งคนใดหรือทั้งสองคนไม่มาให้ความยินยอมด้วยตนเอง ให้นายทะเบียนมีหนังสือสอบถามไปยังผู้ที่ไม่มาว่าจะให้ความยินยอมหรือไม่ เมื่อนายทะเบียนได้รับหนังสือแจ้งความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวหรือบุคคลดังกล่าวได้มาให้ความยินยอมด้วยตนเองแล้ว ก็ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน แต่ถ้านายทะเบียนไม่ได้รับแจ้งความยินยอมภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบถึงเหตุที่ไม่อาจรับจดทะเบียนได้โดยไม่ชักช้า
บิดาจะร้องขอให้นายทะเบียนไปจดทะเบียนนอกสำนักทะเบียนก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๒๐ เมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว มาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้
 
มาตรา ๒๑ เมื่อมีการเพิกถอนการรับรองบุตร ให้นำมาตรา ๑๖ มาบังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๒ การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมเป็นผู้ร้องขอ
ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายให้ถ้อยคำว่า ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องรับบุตรบุญธรรมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ถ้าปรากฏต่อนายทะเบียนว่าการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่านั้น หรือถ้อยคำที่ได้ให้ไว้ไม่เป็นความจริง ห้ามมิให้รับจดทะเบียน
ถ้านายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ผู้ร้องขอจดทะเบียนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าการได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว ก็ให้ศาลมีคำสั่งไปให้รับจดทะเบียน
 
มาตรา ๒๓ การจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลงนั้น ให้นายทะเบียนรับจดเมื่อทั้งสองฝ่ายร้องขอ
ถ้าศาลพิพากษาให้เพิกถอนหรือเลิกการรับบุตรบุญธรรม ให้นำมาตรา ๑๖ มาบังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๔ ถ้าสามีภริยาซึ่งได้ทำการสมรสกันโดยสมบูรณ์ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ ร้องขอให้บันทึกฐานะของภริยาตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียน
 
มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่รักษาการเท่าที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้นๆ ให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อการนั้น และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะเรียก
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
(ตามมติคณะรัฐมนตรี)
นิติศาสตร์ไพศาลย์
รัฐมนตรี



พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๒
 
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๓
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้