ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ. 2550
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ. 2550

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
จดแจ้งการพิมพ์
พ.ศ. ๒๕๕๐
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
(๒) พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๓) พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๘
(๔) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
(๕) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“พิมพ์” หมายความว่า ทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร รูปรอย ตัวเลข แผนผังหรือภาพโดยวิธีการอย่างใดๆ
“สิ่งพิมพ์” หมายความว่า สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใดๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา
“หนังสือพิมพ์” หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน
“ผู้พิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์
“ผู้โฆษณา” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า
“บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย
“เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ ดังต่อไปนี้ คือ
(๑) สิ่งพิมพ์ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ
(๒) บัตร บัตรอวยพร ตราสาร แบบพิมพ์ และรายงานซึ่งใช้กันตามปกติในการส่วนตัว การสังคม การเมือง การค้า หรือสิ่งพิมพ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เช่น แผ่นพับหรือแผ่นโฆษณา
(๓) สมุดบันทึก สมุดแบบฝึกหัด หรือสมุดภาพระบายสี
(๔) วิทยานิพนธ์ เอกสารคำบรรยาย หลักสูตรการเรียนการสอน หรือสิ่งพิมพ์อื่นทำนองเดียวกันที่เผยแพร่ในสถานศึกษา
 
มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
สิ่งพิมพ์
                       
 
มาตรา ๗ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์และเผยแพร่ในราชอาณาจักรต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งด้วย
 
มาตรา ๘ ในสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์
(๒) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
(๓) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้
ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตาม (๑) และ (๒) มิให้ใช้ชื่อย่อ หรือนามแฝง
สิ่งพิมพ์ตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่บันทึกด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายหรือให้เปล่าด้วย
 
มาตรา ๙ ให้ผู้พิมพ์ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา ๘ จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายในสามสิบวันนับแต่วันเผยแพร่
 
มาตรา ๑๐ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้
การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย
สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย
 
หมวด ๒
หนังสือพิมพ์
                       
 
มาตรา ๑๑ หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักรต้องจดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องยื่นแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานซึ่งต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์แล้วแต่กรณี
(๒) ชื่อของหนังสือพิมพ์
(๓) วัตถุประสงค์และระยะเวลาออกหนังสือพิมพ์
(๔) ภาษาที่หนังสือพิมพ์จะออกใช้
(๕) ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์หรือสถานที่พิมพ์
(๖) ชื่อและที่ตั้งสำนักงานของหนังสือพิมพ์
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานตามวรรคสองแล้ว ให้รับจดแจ้งและออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้ยื่นจดแจ้งโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ผู้ยื่นจดแจ้งยังดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำให้ผู้ยื่นจดแจ้งดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนทุกเรื่องในคราวเดียวกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานการจดแจ้ง เมื่อได้ดำเนินการถูกต้องและครบถ้วนให้รับจดแจ้งพร้อมออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้แจ้งโดยพลัน
หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นจดแจ้ง การจดแจ้ง การเปลี่ยนรายการหลักฐานการจดแจ้ง การยกเลิกหลักฐานการจดแจ้ง การกำหนดแบบการจดแจ้งการพิมพ์และอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๒ ในหนังสือพิมพ์ให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์
(๒) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
(๓) ชื่อของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
(๔) ชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้ชื่อย่อหรือนามแฝง
 
มาตรา ๑๓ ชื่อของหนังสือพิมพ์ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อพระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์
(๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของบุพการีหรือของผู้สืบสันดาน
(๓) ไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับจดแจ้งไว้แล้ว
(๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
 
มาตรา ๑๔ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย
(๓) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
(๔) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดประสงค์จะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๕ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) มีสัญชาติไทย
(๓) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
(๔) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
 
มาตรา ๑๖ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของหุ้นทั้งหมด และต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย
ห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยในนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นหรือมีกรรมการเป็นผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิกถอนการจดแจ้ง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๗ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเปลี่ยนแปลงรายการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว
 
มาตรา ๑๘ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
 
หมวด ๓
บทกำหนดโทษ
                       
 
ส่วนที่ ๑
โทษทางปกครอง
                       
 
มาตรา ๑๙ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๐ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๑ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๒ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสามหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๓ ถ้าการกระทำผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดต่อเนื่องและพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษปรับรายวันอีกนับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองดังกล่าวตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องในอัตราดังต่อไปนี้
(๑) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ให้ปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งพันบาท
(๒) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๒๑ ให้ปรับอีกวันละไม่เกินสองพันบาท
(๓) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๒๒ ให้ปรับวันละไม่เกินสามพันบาท
 
มาตรา ๒๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาบรรณาธิการ หรือเจ้าของสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
ส่วนที่ ๒
โทษอาญา
                       
 
มาตรา ๒๕ ผู้ใดออกหนังสือพิมพ์โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับจดแจ้งตามมาตรา ๑๑ หรือรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ แล้วได้เป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ โดยฝ่าฝืนมาตรา ๗ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือ ปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
 
มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๑๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๒๘ หนังสือพิมพ์ซึ่งได้แจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว
 
มาตรา ๒๙ ผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน กอปรกับพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ประกาศใช้บังคับมานานแล้วบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสถานการณ์ในปัจจุบันนอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์อื่นๆ อีกหลายฉบับบัญญัติรองรับไว้เพียงพอต่อการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประชาชนแล้ว สมควรยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์ และคำสั่งของคณะปฏิรูปดังกล่าว และให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดี ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้