ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติเงินตรา  พ.ศ. 2501
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติเงินตรา  พ.ศ. 2501

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
เงินตรา
พ.ศ. ๒๕๐๑
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.๒๕๐๑”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑
(๒) พระราชบัญญัติเงินตราแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๓
(๓) พระราชบัญญัติเงินตราแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
(๔) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๕) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๔๘๒
(๖) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓
(๗) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๔
(๘) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๙) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๑๐) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๑๐) พุทธศักราช ๒๔๘๗
(๑๑) พระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๑
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“กองทุนการเงิน” หมายความว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก
“ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง” หมายความว่า ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรองที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ
“ซื้อหรือขายทันที” หมายความว่า ซื้อหรือขายโดยโอนตามคำสั่งทางโทรเลข
“หลักทรัพย์ต่างประเทศ” หมายความว่า
(๑) หลักทรัพย์ของรัฐบาลต่างประเทศหรือของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก
(๒) หลักทรัพย์ที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกค้ำประกันการชำระหนี้ตามหลักทรัพย์นั้น
(๓) ตราสารที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกออกให้เป็นหลักฐานว่า ผู้ถือตราสารได้มีส่วนร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลสมาชิก หรือองค์การของรัฐบาลสมาชิกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกตามจำนวนดังระบุไว้ในตราสารนั้น
“อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” หมายความว่า ความยิ่งหย่อนแห่งน้ำหนักและเนื้อโลหะของเหรียญกษาปณ์จากอัตราที่กำหนด
“เงินตราที่พึงเปลี่ยนได้” หมายความว่า เงินตราของประเทศที่รับปฏิบัติแล้วตามพันธะที่ตั้งไว้ตามหมวด ๘ แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
“ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงินที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
เงินตราและหน่วยของเงินตรา
                  
 
มาตรา ๖ เงินตราได้แก่เหรียญกษาปณ์และธนบัตร
 
มาตรา ๗ หน่วยของเงินตราเรียกว่า “บาท” หนึ่งบาทแบ่งเป็นหนึ่งร้อยสตางค์
คำว่า “บาท” นั้น จะใช้เครื่องหมาย “บ.” แทนก็ได้
 
มาตรา ๘ ค่าเสมอภาคของบาทได้แก่ค่าของบาทที่กำหนดโดยเทียบกับหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินหรือเทียบกับเงินตราสกุลอื่น หรือเทียบกับค่าที่คำนวณได้จากเงินตราสกุลอื่นหลายสกุลรวมกัน หรือเทียบกับหน่วยเทียบอื่นที่กองทุนการเงินกำหนดขึ้น การกำหนดค่าเสมอภาคของบาทดังกล่าวให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
ในกรณีที่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาทตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุสมควรรัฐมนตรีอาจประกาศให้ระงับใช้ค่าเสมอภาคของบาทชั่วคราว เป็นเวลาไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะประกาศให้ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระบบใดตามที่เห็นสมควรในระหว่างนั้น ด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาทตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีอาจประกาศให้ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระบบใดได้ตามที่เห็นสมควรโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
 
มาตรา ๑๐ ให้กระทรวงการคลังจัดทำและนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์
เหรียญกษาปณ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ละชนิด ราคา ที่นำออกใช้ ให้มีได้เพียงขนาดเดียว และจะมีขนาดเท่ากับเหรียญกษาปณ์ชนิด ราคา อื่นไม่ได้เว้นแต่กรณีการจัดทำและนำออกใช้เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก หรือเหรียญกษาปณ์ที่ใช้แทนเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน
ชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด ลวดลาย และลักษณะอื่นๆ (ถ้ามี) ของเหรียญกษาปณ์รวมทั้งอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๑ เหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๒ เหรียญกษาปณ์ชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เหรียญกษาปณ์ต่อไปนี้เป็นเหรียญกษาปณ์ชำรุด
(๑) เหรียญกษาปณ์ที่ถูกตัด หรือถูกตอก หรือถูกตี หรือถูกกระทำด้วยประการใดๆ ให้บุบสลาย หรือชำรุดจนเสียรูป หรือลวดลายลบเลือน หรือเปลี่ยนแปลงในดลภาค หรือบิดงอ หรือทำให้น้ำหนักลดลง ไม่ว่าโดยเหตุใดในลักษณะที่ปรากฏโดยชัดแจ้ง
(๒) เหรียญกษาปณ์ที่สึกหรอไปตามธรรมดาจนมีน้ำหนักลดลงเกินกว่าสองเท่าครึ่งของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด
 
มาตรา ๑๓ ให้กระทรวงการคลังรับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) เหรียญกษาปณ์ชำรุดที่จะรับแลกเปลี่ยนได้ ต้องเป็นเหรียญกษาปณ์ที่มิใช่เหรียญกษาปณ์ทองคำ เหรียญกษาปณ์เงิน หรือเหรียญกษาปณ์ขัดเงา
(๒) เหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง (๑) ให้รับแลกเปลี่ยนได้ครึ่งราคาของเหรียญกษาปณ์นั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) เหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดตามมารตรา ๑๒ วรรคสอง (๒) ให้รับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของเหรียญกษาปณ์นั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่และสถานที่รับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุดตามวรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามกำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๓ ทวิ เมื่อเห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจถอนคืนเหรียญกษาปณ์ที่ออกใช้ ชนิดและราคาใดๆ โดยให้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อื่นได้
การถอนคืนเหรียญกษาปณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) ชนิด ราคา และลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน
(๒) ระยะเวลาให้นำเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืนมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อื่น ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ
(๓) พนักงานเจ้าหน้าที่และสถานที่รับเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน
เหรียญกษาปณ์ที่นำมาแลกเปลี่ยน ถ้าเป็นเหรียญกษาปณ์ชำรุดตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง ให้รับแลกเปลี่ยนตามมาตรา ๑๓
 
มาตรา ๑๓ ตรี เหรียญกษาปณ์ที่ได้รับจากการถอนคืนตามมาตรา ๑๓ ทวิวรรคสอง (๒) รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรมธนารักษ์นำไปยุบหลอมหรือทำลายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือจำหน่ายต่อไปได้ หรือสั่งให้กรมธนารักษ์จัดการจำหน่ายโดยให้ผู้ซื้อต้องนำไปยุบหลอมหรือทำลายตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมธนารักษ์กำหนด และต้องยุบหลอมหรือทำลายภายใต้การควบคุมและตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกำหนด
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาให้แลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๓ ทวิ วรรคสอง (๒) บรรดาเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืนไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เหรียญกษาปณ์ที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายเพราะพ้นกำหนดระยะเวลาการถอนคืน ถ้าผู้ใดนำเหรียญกษาปณ์มาขอแลกเปลี่ยนกับธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อื่นโดยแสดงเหตุผลและความจำเป็น ให้กระทรวงการคลังรับแลกเปลี่ยนตามมาตรา ๑๓ ทวิ ได้ตลอดไป
 
มาตรา ๑๔ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจจัดทำจัดการ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ต่อไป
ให้รัฐมนตรีประกาศ ชนิด ราคา สี ขนาด และลักษณะอื่นๆ ของธนบัตรที่จะออกใช้ในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่ในกรณีที่จะนำออกใช้ซึ่งธนบัตรถอนคืน
 
มาตรา ๑๕ ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน
 
มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้นำออกใช้ซึ่งธนบัตร เว้นแต่เป็นการแลกเปลี่ยนทันที กับ
(๑) ธนบัตรที่นำออกใช้ไปก่อนแล้ว ซึ่งถอนคืนจากธนบัตรออกใช้ หรือ
(๒) สินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีค่าเท่ากันและระบุไว้ในมาตรา ๓๐ ซึ่งจะต้องรับขึ้นบัญชีทุนสำรองเงินตราที่รักษาไว้ตามมาตรา ๒๖
ธนบัตรได้ชื่อว่าออกใช้นับแต่เวลาที่นำออกใช้และก่อนถอนคืน
 
มาตรา ๑๗ ธนบัตรที่ถอนคืนจากธนบัตรออกใช้จะเลิกใช้และทำลายเสีย หรือจะเก็บไว้ และนำออกใช้อีกก็ได้
 
มาตรา ๑๘ ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายธนบัตรต่อไปนี้ เป็นธนบัตรชำรุด
(๑) ธนบัตรครึ่งฉบับ คือครึ่งหนึ่งของธนบัตรซึ่งได้ถูกแยกตรงกลาง หรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืน
(๒) ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน หรือ
(๓) ธนบัตรขาดวิ่นหรือลบเลือน คือ ธนบัตรซึ่งส่วนหนึ่งขาดหาย หรือมีเหตุที่ทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ
 
มาตรา ๑๙ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดตามข้อจำกัดหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๒๐ เมื่อเห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจถอนคืนธนบัตรออกใช้ชนิดและราคาใดๆ โดยให้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรอื่นได้
การถอนคืนธนบัตรออกใช้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในประกาศถอนคืนธนบัตรออกใช้อย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
(๑) ชนิดและราคาของธนบัตรที่ถอนคืน
(๒) ระยะเวลาให้นำส่งธนบัตรที่ถอนคืนซึ่งต้องกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๓) พนักงานเจ้าหน้าที่และสถานที่รับธนบัตรที่ถอนคืน
 
มาตรา ๒๑ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้กำหนดให้นำส่งธนบัตรที่ถอนคืน ตามความในมาตรา ๒๐ บรรดาธนบัตรที่รัฐมนตรีประกาศถอนคืนไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับแลกเปลี่ยนกับธนบัตรอื่นได้ภายในสองปี นับแต่วันที่ธนบัตรถอนคืนตกเป็นเงินที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมาย
 
มาตรา ๒๒ บรรดาธนบัตรที่ตกเป็นเงินที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายตามความในมาตรา ๒๑ ซึ่งมิได้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรอื่นภายในเวลาที่กำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนได้ ให้ถือว่าเป็นธนบัตรที่ถอนคืนแล้วจากธนบัตรออกใช้และจะโอนสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีค่าเท่ากันซึ่งถือไว้เป็นทุนสำรองเงินตราตามมาตรา ๒๖ ให้เป็นรายได้ของแผ่นดินก็ได้
 
หมวด ๒
การดำรงไว้ซึ่งค่าของบาท
                  
 
มาตรา ๒๓ เพื่อประโยชน์ในการดำรงไว้ซึ่งค่าของบาทให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราซื้อหรือขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ตามที่ธนาคารพาณิชย์ในราชอาณาจักรจะเรียกให้ซื้อหรือขาย แต่การซื้อหรือขายคราวหนึ่งๆ ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนซึ่งรัฐมนตรีกำหนด
เงินตราต่างประเทศที่กำหนดโดยกฎกระทรวงนั้น ต้องเป็นเงินตราที่ประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินเงินตราได้
ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไม่จำต้องซื้อหรือขายทันทีตามวรรคหนึ่งในขณะที่ยังมีกฎหมายว่าด้วยการกำกัดการซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศใช้บังคับอยู่
 
มาตรา ๒๔ การซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรากับธนาคารพาณิชย์ตามาตรา ๒๓ นั้น อัตราซื้อหรือขายทันทีจะต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเสมอภาคของบาทได้ไม่สูงกว่าอัตราขั้นสูงและไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
มาตรา ๒๕ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราขั้นสูงและอัตราขั้นต่ำสำหรับการซื้อหรือขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศโดยธนาคารพาณิชย์หรือบุคคลอื่นได้ และเมื่อมีประกาศของรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ธนาคารพาณิชย์หรือบุคคลอื่นที่ซื้อหรือขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศต้องซื้อหรือขายในอัตราทีไม่สูงหรือต่ำกว่าอัตราที่กำหนดนั้น
ห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์หรือบุคคลอื่นรับเงินส่วนลด หรือเรียกเก็บเงินไม่ว่าประเภทใดเนื่องในการซื้อหรือขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศนอกจากค่าโทรเลข ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีประกาศตามวรรคหนึ่งหรือไม่
 
หมวด ๓
ทุนสำรองเงินตรา
                  
 
มาตรา ๒๖ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาทุนสำรองเงินตราไว้กองหนึ่งเรียกว่า “ทุนสำรองเงินตรา”
 
มาตรา ๒๗ บรรดาสินทรัพย์ที่มีอยู่ในทุนสำรองเงินตราซึ่งมีอยู่ก่อนและในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นทุนสำรองเงินตราตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๘ ทุนสำรองเงินตรานั้นให้กันไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากสินทรัพย์อื่นๆ บรรดาที่เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๒๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒ และมาตรา ๓๔ ห้ามมิให้จ่ายทุนสำรองเงินตรา เว้นแต่
(๑) ในขณะเดียวกันนั้นจะได้ถอนธนบัตรเป็นจำนวนเท่ากันคืนจากธนบัตรออกใช้ หรือ
(๒) ในขณะเดียวกันนั้นจะได้รับสินทรัพย์อย่างอื่นตามมาตรา ๓๐ มีค่าเท่ากันขึ้นบัญชีเป็นทุนสำรองเงินตรา
การจ่ายทุนสำรองเงินตราดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อได้มีคำสั่งของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทนซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
 
มาตรา ๓๐ ให้สินทรัพย์ต่อไปนี้เป็นสิ่งอันชอบด้วยกฎหมายที่จะประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา
(๑) ทองคำ
(๒) เงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ หรือเงินตราต่างประเทศอื่นใดที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งนี้ ต้องเป็นรูปเงินฝากในธนาคารนอกราชอาณาจักรหรือในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(๓) หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ใน (๒)
(๔) ทองคำ สินทรัพย์ต่างประเทศ และสิทธิพิเศษถอนเงิน ทั้งนี้ที่นำส่งสมทบกองทุนการเงิน
(๕) ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง
(๖) ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน
(๗) หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ใน (๒) หรือเป็นบาท
(๘) ตั๋วเงินในประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพึงซื้อหรือรับช่วงซื้อลดได้ แต่ต้องมีค่ารวมกันไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนธนบัตรออกใช้
สินทรัพย์ตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องจัดดำรงไว้ให้มีค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบของจำนวนธนบัตรออกใช้
 
มาตรา ๓๑ การคำนวณค่าแห่งสินทรัพย์ที่เป็นหรือจะรับเข้าเป็นทุนสำรองเงินตรานั้น ให้คำนวณดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่มีราคาเป็นบาทหรือตั๋วเงินในประเทศ ให้คำนวณตามราคาที่ซื้อหรือรับช่วงซื้อลดไว้ หรือที่ตราไว้แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
(๒) ในกรณีที่เป็นสินทรัพย์ที่มีราคาหรือมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศหรือสิทธิพิเศษถอนเงิน ให้คำนวณตามราคาหรือจำนวนดังนี้
(ก) ทองคำและหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้คำนวณตามราคาในตลาดต่างประเทศเมื่อสิ้นปีแต่ละปี หรือถ้าเป็นทองคำหรือหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ซื้อในระหว่างปีใด ให้คำนวณตามราคาที่ซื้อจนถึงเวลาตีราคาเมื่อสิ้นปีที่ซื้อนั้น
(ข) ทองคำ สินทรัพย์ต่างประเทศ และสิทธิพิเศษถอนเงินที่นำส่งสมทบ กองทุนการเงินตามความในมาตรา ๓๐ (๔) ให้คำนวณตามจำนวนหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินที่กองทุนแจ้งไว้ครั้งหลังสุด
(ค) ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรองและใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน ให้คำนวณตามจำนวนหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินที่ตราไว้
(ง) เงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณตามจำนวนเงินฝากในขณะนั้น
(จ) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย ให้คำนวณตามราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่ซื้อหรือรับช่วงซื้อลดหรือที่ตราไว้แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
การคำนวณสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (๒) เป็นบาท ให้คำนวณดังนี้
(๑) ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาทหรือค่าเสมอภาคของบาทถูกระงับใช้ ให้คำนวณเป็นบาทตามอัตรากลางระหว่างอัตราซื้อและอัตราชายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศสกุลที่เกี่ยวข้องโดยใช้อัตราในตลาดในวันสิ้นปี หรือในกรณีที่เป็นสินทรัพย์ที่ซื้อในระหว่างปี ให้ใช้อัตราที่ใช้ในการตีราคาเมื่อสิ้นปีก่อน
(๒) ในกรณีที่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาท ให้คำนวณโดยแปลงราคาหรือจำนวนสินทรัพย์นั้นเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นที่อาจคำนวณกลับเป็นหน่วยเทียบของบาทได้ โดยใช้อัตรากลางระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นนั้นในตลาดต่างประเทศในวันสิ้นปี หรือในกรณีที่เป็นสินทรัพย์ที่ซื้อในระหว่างปี ให้ใช้อัตราที่ใช้ในการตีราคาเมื่อสิ้นปีก่อน แล้วให้คำนวณเป็นบาทตามค่าเสมอภาค
(๓) ในกรณีที่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาทโดยเทียบกับหน่วยเทียบที่กองทุนการเงินกำหนด และเงินตราต่างประเทศสกุลที่เกี่ยวข้องนั้นมีค่าเสมอภาคโดยเทียบกับหน่วยเทียบที่กองทุนการเงินกำหนดเช่นกัน ให้คำนวณเป็นบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเสมอภาค
 
มาตรา ๓๒ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตีราคาสินทรัพย์ที่เป็นทุนสำรองเงินตราทุกๆ ปี ไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันขึ้นปีใหม่
 
มาตรา ๓๓ ผลประโยชน์อันเกิดจากทุนสำรองเงินตราแต่ละปีให้ใช้เพื่อการต่อไปนี้
(๑) ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตร รวมตลอดถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงพิมพ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิมพ์ธนบัตรและสิ่งพิมพ์อื่นที่รัฐมนตรีเห็นชอบ และการตั้งเป็นทุนหมุนเวียนตามความจำเป็นเพื่อดำเนินกิจการโรงพิมพ์ดังกล่าวด้วย
(๒) ค่าใช้จ่ายในการออกและจัดการธนบัตร
(๓) ค่าเสื่อมราคาหรือสูญไปซึ่งสินทรัพย์ที่ถือไว้ในทุนสำรองเงินตรา
เงินคงเหลือหลังจากการจ่ายที่กล่าวแล้ว ให้รับขึ้นบัญชีสำรองพิเศษไว้
เงินคงเหลือหลังจากการจ่ายตามวรรคสอง เมื่อสิ้นปี ให้โอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษหรือบัญชีอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
 
มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ทุนสำรองเงินตรามีค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพราะการตีราคาตามมาตรา ๓๒ หรือเพราะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเสมอภาคของเงินตราต่างประเทศใดๆ ที่ถือไว้ในทุนสำรองเงินตราอันเป็นเหตุให้มีผลกำไรหรือขาดทุนผลกำไรหรือขาดทุนนั้นให้รับขึ้นหรือจ่ายจากบัญชีสำรองพิเศษตามความในมาตรา ๓๓ แล้วแต่กรณี ถ้ามีไม่พอจ่าย ก็ให้จ่ายรายได้ของแผ่นดินเท่าจำนวนที่ขาดอยู่นั้นไปใช้ทุนสำรองเงินตรา
ถ้าในปีต่อๆ ไป ผลประโยชน์อันเกิดจากทุนสำรองเงินตรามีเหลือจากการจ่ายตามมาตรา ๓๓ ให้ใช้คืนเงินรายได้ของแผ่นดินจนครบจำนวนที่ได้จ่ายตามความในวรรคก่อน และเมื่อเหลือเท่าใดจึงให้รับขึ้นบัญชีสำรองพิเศษไว้
 
มาตรา ๓๔/๑ สินทรัพย์ที่ได้รับบริจาคเพื่อกิจการของฝ่ายออกบัตรธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ให้นำเข้าบัญชีสำรองพิเศษ
 
มาตรา ๓๔/๒ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจโอนสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษเข้าเป็นสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา เพื่อการนำออกใช้ซึ่งธนบัตรได้
เมื่อมีการถอนธนบัตรตามวรรคหนึ่งคืนจากธนบัตรออกใช้ ให้โอนสินทรัพย์ที่มีค่าเท่ากันในบัญชีทุนสำรองเงินตรา เข้าเป็นสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษ
 
หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
                  
 
มาตรา ๓๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๓๖ ธนาคารพาณิชย์ใดซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอัตราที่ต่างไปจากอัตรากำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสามเท่าของจำนวนเงินที่ซื้อหรือขายต่างไปจากอัตราที่กำหนดนั้น หรือเป็นเงินหนึ่งพันบาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่ากัน
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ถ. กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยเงินตราเท่าที่ใช้กันมาในระยะเวลา ๓๐ ปีเศษแล้วนั้น มีจำนวนมากมายหลายสิบฉบับ ตัวบทในพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวง มีทั้งหลักจัดการเงินตราระบบถาวรอันเป็นอยู่แต่ดั้งเดิม แต่ถูกระงับการใช้บังคับไปโดยปริยายกับยังมีหลักจัดการเงินตราในระบบชั่วคราวใช้บังคับแทน เป็นการสับสนปะปนกันอยู่ และกระจัดกระจายไม่เป็นหมวดหมู่ เมื่อในปัจจุบันนี้ก็เป็นที่รับรองและได้ใช้หลักจัดการเงินตราระบบชั่วคราวซึ่งมีการต่ออายุกันตลอดมากว่า ๑๕ ปีแล้วเช่นนั้น จึงสมควรที่จะได้ปรับปรุงตัวบทกฎหมายว่าด้วยระบบเงินตราชั่วคราวโดยแก้ไขเล็กน้อย เพื่อใช้ถาวรสืบไปโดยไม่ต้องมีการต่ออายุกันเป็นคราวๆ เช่นแต่ก่อน
 
พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลไทยมีความจำเป็นที่จะขอกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างเขื่อนผาซ่อม แต่การกู้เงินดังกล่าวนี้จะกระทำได้โดยสะดวกต่อเมื่อรัฐบาลไทยได้เข้าเป็นสมาชิกถือตราสารของทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ถือตราสารนั้นได้เข้ามีส่วนร่วมกับทบวงการชำนัญพิเศษในการให้รัฐบาลสมาชิกและหรือหน่วยงานของรัฐบาลสมาชิกของทบวงการชำนัญพิเศษนั้นกู้เงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตราสารฉะนั้น จึงจำเป็นต้องขยายบทนิยามของคำว่า “หลักทรัพย์ต่างประเทศ” ในกฎหมายว่าด้วยเงินตราให้หมายความรวมถึงตราสารดังกล่าวด้วย และอีกประการหนึ่งได้ขยายอำนาจในการใช้ทุนสำรองเงินตราไปทำประโยชน์ในการจัดตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์ธนบัตรขึ้นเองโดยไม่ต้องจ้างพิมพ์จากต่างประเทศและเพื่อให้ต้นทุนการผลิตธนบัตรลดลง จึงให้โรงพิมพ์ธนบัตรรับพิมพ์ตราสารอื่นได้ด้วย
 
พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๔
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อที่จะให้ประเทศไทยได้ใช้สิทธิและปฏิบัติตามพันธะในฐานะที่จะเข้าเป็นภาคีบัญชีพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้โดยสมบูรณ์ จำเป็นต้องกำหนดให้ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงินที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นสินทรัพย์ที่ประกอบเป็นทุนสำรองเงินตราในส่วนที่ต้องดำรงไว้ให้มีค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบของยอดธนบัตรที่ออกใช้ได้ด้วยและในโอกาสเดียวกันนี้ สมควรกำหนดให้เงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ หรือเงินตราต่างประเทศอื่นใดที่กำหนดโดยกฎกระทรวงในรูปเงินฝากในธนาคารนอกราชอาณาจักรหรือในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเป็นสินทรัพย์ที่ประกอบขึ้นเป็นเงินสำรองเงินตราได้เช่นกัน กับทั้งสมควรเปลี่ยนแปลงการกำหนดนับอายุการฝากหรือไถ่ถอน เงินตราต่างประเทศและหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องจัดดำรงไว้เสียใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๖
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยการเงินระหว่างประเทศได้วิวัฒนาการไปเป็นอันมาก ทำให้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตราไม่เหมาะสม และสมควรปรับปรุงวิธีการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คล่องตัวและเหมาะสมกับเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
 
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ พ.ศ. ๒๕๒๑
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเกือบทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ ได้ตกลงให้ดำเนินการแก้ไขระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราขึ้นใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นอันจะเป็นประโยชน์แก่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบและดำเนินการแก้ไขระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราของตนให้สอดคล้องตามที่ได้ตกลงนั้นไปแล้ว ในฐานะที่ประเทศไทยเห็นชอบด้วยกับหลักการในข้อตกลงนั้นและรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการแก้ไขระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และโดยที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยรีบด่วนและเป็นความลับ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำการใดอันจะกระทบกระเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น
 
พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๖
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำและนำออกใช้เหรียญกษาปณ์ การรับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุดยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดให้เหรียญกษาปณ์ที่จัดทำและนำออกใช้แต่ละชนิดราคาต้องมีเพียงขนาดเดียว และให้มีการรับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุดได้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้สมควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการถอนคืนเหรียญกษาปณ์ไว้ด้วย โดยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ( ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
 
มาตรา ๕ บทบัญญัติมาตรา ๓๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้บังคับแก่สินทรัพย์ที่ได้รับบริจาคก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับด้วย
 
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขึ้นตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๕ และกำหนดให้มีการโอนเงินคงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีเพื่อนำเข้าบัญชีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเงินตราให้สอดคล้องกัน และโดยที่ในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีมีเงินซึ่งได้รับบริจาคเพื่อการตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาครวมอยู่ด้วย สมควรกำหนดให้โอนสินทรัพย์ที่ได้รับบริจาคดังกล่าวไปไว้ในบัญชีสำรองพิเศษเพื่อเก็บรักษาให้มั่นคงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค อนึ่ง เพื่อให้การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงสมควรให้สามารถโอนสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษเข้าเป็นสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตราได้ด้วย และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้