size="2">พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
แห่งเอเชียและแปซิฟิก
พ.ศ. ๒๕๓๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖
เป็นปีที่ ๔๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๖” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“องค์การ” หมายความว่า องค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่จัดตั้งขึ้นตามความตกลงองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๑ มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า องค์การเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย(๒) ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การ ให้องค์การ ทรัพย์สิน และสินทรัพย์ขององค์การ เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยองค์การให้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิกเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ขององค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ตกลงเข้าเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งความตกลงดังกล่าวกำหนดให้องค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิกเป็นผู้ดำเนินงานและปฏิบัติภารกิจอันเป็นหน้าที่ขององค์การให้เป็นไปตามความตกลง ดังนั้น เพื่อให้องค์การและเจ้าหน้าที่ขององค์การได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการดำเนินงานและการปฏิบัติงานขององค์การในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้