size="2">พระราชบัญญัติ
ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
พ.ศ. ๒๕๒๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
เป็นปีที่ ๓๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๖และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๐๔ ลงวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้“อาหารสัตว์” หมายความว่า วัตถุที่มุ่งหมายเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ประกาศเป็นอาหารสัตว์ในราชกิจจานุเบกษา“ผลิต” หมายความว่า ทำ ผสม แปรสภาพ ปรุงแต่ง เปลี่ยนรูป หรือแบ่งบรรจุ“ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในทางการค้า และหมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร“ภาชนะบรรจุ” หมายความว่า วัตถุใด ๆ ที่ใช้บรรจุหรือหุ้มห่ออาหารสัตว์โดยเฉพาะ“ฉลาก” หมายความรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้รับใบอนุญาต ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งนิติบุคคลแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินกิจการด้วย“ผู้อนุญาต” หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นกับออกประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนด(๑) ชื่อ ประเภท ชนิดหรือลักษณะของอาหารสัตว์(๒) คุณภาพหรือมาตรฐานของอาหารสัตว์ ตามชื่อ ประเภท ชนิด หรืออายุของสัตว์ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตเพื่อขายหรือขายอาหารสัตว์นั้น(๓) ชื่อ ประเภท ชนิดหรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย(๔) ชื่อ ประเภท ชนิดหรือลักษณะของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ให้ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อขาย ตลอดจนอัตราส่วนหรือปริมาณที่ให้ใช้หรือห้ามมิให้ใช้วัตถุนั้นเกินกำหนด(๕) ชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ คุณสมบัติ และส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์(๖) วิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารสัตว์เพื่อป้องกันมิให้อาหารสัตว์ที่ผลิตเพื่อขายหรือขายเป็นอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพตามมาตรา ๓๔(๗) คุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุ และการใช้ภาชนะบรรจุ ตลอดจนวัตถุที่ห้ามใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารสัตว์เพื่อขาย หมวด ๑
คณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์คณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นรองประธานกรรมการ กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบสองคน ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากเกษตรกรสี่คน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกอง กองควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการ มาตรา ๘ ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ(๑) ตาย(๒) ลาออก(๓) รัฐมนตรีให้ออก(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทนในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว มาตรา ๑๐ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีหรืออธิบดี แล้วแต่กรณี ในเรื่องดังต่อไปนี้(๑) การกำหนดอาหารสัตว์(๒) การออกประกาศตามมาตรา ๖(๓) การวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๕๕(๔) การพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๕๑ หรือการเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓(๕) เรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย หรืออธิบดีร้องขอ มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำความในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๑๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ หมวด ๒
การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต หรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์หรือใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์จากผู้อนุญาตการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใด ขายอาหารสัตว์ตามมาตรา ๖ (๑) เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตขายอาหารสัตว์จากผู้อนุญาตการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖ เมื่อได้รับคำขอตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ ให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาต หรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผล ให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ซึ่งมีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงในกรณีมีเหตุจำเป็นที่ผู้อนุญาตไม่อาจออกใบอนุญาต หรือยังไม่อาจมีคำสั่งไม่อนุญาตได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งการขยายเวลาและเหตุจำเป็นแต่ละครั้งให้ผู้ขออนุญาตทราบก่อนสิ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือตามที่ได้ขยายเวลาไว้นั้น แล้วแต่กรณี มาตรา ๑๗ บทบัญญัติตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ ไม่ใช้บังคับแก่(๑) กระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจที่ผลิตหรือนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ของทางราชการ(๒) ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก ซึ่งอาหารสัตว์เพื่อเป็นตัวอย่างในทางวิชาการ หรือเพื่อใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ หรือเพื่อพิจารณาในการสั่งซื้อ(๓) สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมาย ซึ่งผลิตอาหารสัตว์เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ของสมาชิกของตน หรือของเกษตรกรในกลุ่มเดียวกันผู้ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๑๗ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศ มาตรา ๑๘ ประเภทของใบอนุญาตมีดังนี้(๑) ใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์(๒) ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์(๓) ใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๑) เป็นผู้รับใบอนุญาตตาม (๓) สำหรับอาหารสัตว์ที่ตนผลิต และผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒) เป็นผู้รับใบอนุญาตตาม (๓) สำหรับอาหารสัตว์ที่ตนนำเข้าด้วย มาตรา ๑๙ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตด้วยให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับการคุ้มกันตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตด้วย เว้นแต่ผู้รับใบอนุญาตจะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสุดวิสัยที่ตนจะล่วงรู้หรือควบคุมได้ มาตรา ๒๐ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ให้ใช้ได้ในระยะเวลาดังนี้(๑) ใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ให้ใช้ได้สามปีนับแต่วันออกใบอนุญาต(๒) ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต(๓) ใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ออกใบอนุญาต มาตรา ๒๑ ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ การออกใบอนุญาตหรือไม่ออกใบอนุญาตจะต้องกระทำให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ ซึ่งมีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนการขอต่ออายุใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ผู้ขอรับใบอนุญาตจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้อนุญาตจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น มาตรา ๒๒ ในกรณีที่ผู้อนุญาตไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตหรือการไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุดในกรณีที่ผู้อนุญาตไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ก่อนที่รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคสอง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนได้เมื่อผู้อุทธรณ์ร้องขอ หมวด ๓
หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับอาหารสัตว์
มาตรา ๒๓ ให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์เพื่อขายปฏิบัติดังนี้(๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตอาหารสัตว์เพื่อขายลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง(๒) จัดให้มีการวิเคราะห์อาหารสัตว์ที่มีการผลิตก่อนนำออกจากสถานที่ผลิต โดยมีหลักฐานแสดงรายละเอียดของการวิเคราะห์ ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่าสามปี(๓) จัดให้มีฉลากขนาดพอสมควรปิดหรือติดไว้ที่ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ให้เห็นได้ชัดเจน ข้อความในฉลากต้องเป็นภาษาไทยหรือจะมีภาษาต่างประเทศที่มีข้อความอย่างเดียวกันกำกับไว้ด้วยก็ได้ และอย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้(ก) ชื่ออาหารสัตว์ทางการค้า(ข) เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ และเลขทะเบียนอาหารสัตว์ตามใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์(ค) ชื่อผู้ผลิตและสถานที่ผลิต(ง) น้ำหนักสุทธิตามระบบเมตริกของอาหารสัตว์ที่บรรจุในภาชนะบรรจุนั้น(จ) ชื่อของวัตถุดิบที่สำคัญซึ่งใช้เป็นส่วนผสม(ฉ) คุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมีโดยเฉพาะโปรตีนตามที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว(ช) วัน เดือน ปี ที่ผลิตอาหารสัตว์ และวัน เดือน ปี ที่อาหารสัตว์ล่วงอายุ(ซ) วิธีใช้ ในกรณีที่เป็นหัวอาหารสัตว์ หรือวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ มาตรา ๒๔ เพื่อประโยชน์ในการส่งออก และเมื่อมีความจำเป็น ที่จะให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ผู้อนุญาตจะอนุญาตเป็นการเฉพาะคราวให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ตามมาตรฐานของต่างประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ ก็ได้ แล้วให้รายงานคณะกรรมการทราบ มาตรา ๒๕ ให้ผู้รับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์เพื่อขายปฏิบัติดังนี้(๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่นำเข้าซึ่งอาหารสัตว์เพื่อขายลักษณะ ขนาดของป้ายและข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง(๒) จัดให้มีใบรับรองของผู้ผลิตอาหารสัตว์ แสดงรายละเอียดการวิเคราะห์อาหารสัตว์ทุกครั้งที่นำเข้า(๓) จัดให้มีฉลากที่ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓ (๓) มาตรา ๒๖ ให้ผู้รับใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ปฏิบัติดังนี้(๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่ขายอาหารสัตว์ลักษณะ ขนาดของป้ายและข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง(๒) จัดให้มีการแยกเก็บอาหารสัตว์เป็นสัดส่วนต่างหากจากสิ่งที่อาจทำให้อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ(๓) รักษาฉลากที่ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓ (๓)หรือมาตรา ๒๕ (๓) แล้วแต่กรณี ให้คงอยู่โดยครบถ้วนและชัดเจน(๔) รักษาภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ให้คงอยู่ในสภาพเรียบร้อย ถ้าภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ชำรุด ห้ามมิให้นำมาขาย มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าวการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๘ ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตอาหารสัตว์เพื่อขาย สถานที่ขายอาหารสัตว์หรือสถานที่นำเข้าซึ่งอาหารสัตว์เพื่อขาย แล้วแต่กรณี มาตรา ๒๙ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะย้ายสถานที่ผลิตอาหารสัตว์เพื่อขายสถานที่ขายอาหารสัตว์ สถานที่นำเข้า หรือสถานที่เก็บอาหารสัตว์เพื่อขาย แล้วแต่กรณี ต้องแจ้งการย้ายสถานที่ดังกล่าวเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ย้าย มาตรา ๓๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดเลิกกิจการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต้องแจ้งการเลิกกิจการเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลิกกิจการและให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นอายุตั้งแต่วัน เลิกกิจการตามที่แจ้งไว้นั้น หมวด ๔
อาหารสัตว์ปลอมปน อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย ขายหรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ดังต่อไปนี้(๑) อาหารสัตว์ปลอมปน(๒) อาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน(๓) อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ(๔) อาหารสัตว์ที่มิได้ขึ้นทะเบียน(๕) อาหารสัตว์ที่อธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียน(๖) อาหารสัตว์อื่นที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๓๒ อาหารสัตว์ปลอมปนได้แก่อาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุอื่นเป็นส่วนผสมไม่ตรงกับที่ขึ้นทะเบียนไว้ ยกเว้นวัตถุซึ่งอาจมีได้โดยธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๓๓ อาหารสัตว์ผิดมาตรฐานได้แก่ อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ (๒) มาตรา ๓๔ อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพได้แก่ อาหารสัตว์ที่มีลักษณะต่อไปนี้(๑) อาหารสัตว์ที่ล่วงอายุไปจากที่แสดงไว้ในฉลาก(๒) อาหารสัตว์ที่เป็น รา บูด เน่า หรือมีวัตถุมีพิษเจือปนจนอาจเป็นอันตรายแก่สัตว์ตามลักษณะหรือปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด(๓) อาหารสัตว์ที่บรรจุในภาชนะบรรจุที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖ (๗) มาตรา ๓๕ เหตุที่ไม่รู้ว่าอาหารสัตว์ที่ผลิตเพื่อขาย ขาย หรือนำเข้าเพื่อขายเป็นอาหารสัตว์ปลอมปนหรืออาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพไม่เป็นข้อแก้ตัวให้ผู้รับใบอนุญาตพ้นผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีเหตุผลเชื่อว่าอาหารสัตว์นั้นไม่เป็นอาหารสัตว์ปลอมปนหรืออาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ มาตรา ๓๖ เพื่อประโยชน์แก่การควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะปราศจากอันตรายแก่สัตว์หรือมนุษย์ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ให้อธิบดีมีอำนาจ(๑) ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า หรือผู้ขายซึ่งอาหารสัตว์ดัดแปลงแก้ไขสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บอาหารสัตว์ได้(๒) ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า หรือผู้ขายซึ่งอาหารสัตว์งดผลิตหรือนำเข้าหรือขายอาหารสัตว์ที่ผลิตหรือนำเข้าโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ที่ปรากฏจากผลการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นอาหารสัตว์ที่ไม่ควรใช้เลี้ยงสัตว์(๓) ประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารสัตว์ให้ประชาชนทราบในกรณีที่เป็นอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑ หรือภาชนะบรรจุรายใดประกอบด้วยวัตถุที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖ (๗)ประกาศดังกล่าวใน (๓) ให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ด้วย(ก) ในกรณีที่ปรากฏตัวผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าโดยแน่ชัด ให้ระบุชื่อผู้ดำเนินการ สถานที่ดำเนินการพร้อมทั้งชนิดและลักษณะของอาหารสัตว์หรือภาชนะบรรจุนั้น และถ้าอาหารสัตว์หรือภาชนะบรรจุดังกล่าวมีชื่อทางการค้าหรือลำดับครั้งที่ผลิตหรือนำเข้า ให้ระบุชื่อทางการค้าและลำดับครั้งที่ผลิตหรือนำเข้านั้นด้วย แล้วแต่กรณี(ข) ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า แต่ปรากฏตัวผู้ขายให้ระบุชื่อผู้ขายและสถานที่ขาย พร้อมทั้งชนิดและลักษณะของอาหารสัตว์หรือภาชนะบรรจุนั้น หมวด ๕
การขึ้นทะเบียนและการโฆษณาอาหารสัตว์
มาตรา ๓๗ ผู้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์เพื่อขายหรือผู้รับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์เพื่อขายผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ชนิดใด ต้องนำอาหารสัตว์ชนิดนั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน และเมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์แล้ว จึงจะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์นั้นได้การขอขึ้นทะเบียนและการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๘ เมื่อได้มีประกาศตามมาตรา ๖ (๑) แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๔ ซึ่งผลิตอาหารสัตว์อยู่ก่อนวันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด งดผลิตอาหารสัตว์จนกว่าจะได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามมาตรา ๓๗ เว้นแต่ผู้อนุญาตจะได้อนุญาตให้ผลิตต่อไปได้เป็นการชั่วคราวภายในกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร มาตรา ๓๙ เมื่อได้มีประกาศตามมาตรา ๖ (๑) แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๔ ซึ่งนำหรือสั่งอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรอยู่ก่อนวันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนำอาหารสัตว์นั้นมาขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่ผู้อนุญาตจะผ่อนผันขยายระยะเวลาดังกล่าวให้ มาตรา ๔๐ ผู้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ต้องผลิตหรือนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ให้ตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ไว้ มาตรา ๔๑ การขอแก้ไขรายการทะเบียนอาหารสัตว์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่การขอแก้รายการทะเบียนอาหารสัตว์ และการอนุญาตให้แก้รายการทะเบียนอาหารสัตว์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๒ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ให้ใช้ได้ตลอดไป เว้นแต่ถูกสั่งยกเลิกหรือเพิกถอน มาตรา ๔๓ อาหารสัตว์ที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ไว้แล้ว หากปรากฏภายหลังว่าอาหารสัตว์นั้นไม่มีการผลิตหรือนำเข้าเกินสองปี หรืออาจเป็นอันตรายแก่สัตว์ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนทะเบียนอาหารสัตว์และประกาศในราชกิจจานุเบกษาผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนทะเบียนอาหารสัตว์มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุดการอุทธรณ์ตามวรรคสองย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนทะเบียนอาหารสัตว์ มาตรา ๔๔ ในกรณีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และยื่นคำขอรับใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าวการขอรับใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ และการออกใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของอาหารสัตว์อันเป็นเท็จ หรือเกินความจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดในคุณภาพของอาหารสัตว์นั้น มาตรา ๔๖ ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารสัตว์ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้น ให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ มาตรา ๔๗ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เลี้ยงสัตว์ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้(๑) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย หรือผู้ทำการโฆษณาระงับการโฆษณาอาหารสัตว์ที่เห็นว่าเป็นการโฆษณาโดยฝ่าฝืนตามมาตรา ๔๕(๒) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย หรือผู้ทำการโฆษณาระงับการผลิต การนำเข้า การขาย หรือการโฆษณาอาหารสัตว์ที่คณะกรรมการเห็นว่าอาหารสัตว์ดังกล่าวไม่มีคุณภาพหรือสรรพคุณตามที่โฆษณา หมวด ๖
พนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๔๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ผลิตอาหารสัตว์ สถานที่ขายอาหารสัตว์ สถานที่นำหรือสั่งอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรสถานที่เก็บอาหารสัตว์ ในระหว่างเวลาทำการ หรือเข้าไปในสถานที่เลี้ยงสัตว์ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือเข้าไปในยานพาหนะที่บรรทุกอาหารสัตว์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้เพื่อ(๑) ตรวจสอบอาหารสัตว์ ภาชนะบรรจุ เอกสารหรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ รวมตลอดทั้งวิธีการผลิตอาหารสัตว์ หรือวิธีการเก็บรักษา(๒) นำอาหารสัตว์หรือวัตถุที่สงสัยว่าเป็นอาหารสัตว์ในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อทดสอบ ตรวจ หรือวิเคราะห์(๓) ค้น ยึด หรืออายัดอาหารสัตว์ ภาชนะบรรจุ เอกสารหรือสิ่งใด ๆ เกี่ยวกับอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร มาตรา ๔๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๕๐ อาหารสัตว์ ภาชนะบรรจุ เอกสารหรือสิ่งใด ๆ ที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๔๘ (๓) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลโดยคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรืออายัด หรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมปศุสัตว์ เพื่อจัดการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด หมวด ๗
การพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา ๕๑ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ในกรณีที่มีการฟ้องผู้รับใบอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาตจะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้รอคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตต้องหยุดประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้น และในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ มาตรา ๕๒ ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตก่อนกำหนดเวลาได้ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว มาตรา ๕๓ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๑ (๑) หรือฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๕๔ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว ให้ปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง มาตรา ๕๕ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือแก้ไขคำสั่งของผู้อนุญาตได้คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุดการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๕๖ ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องขายหรือจำหน่ายอาหารสัตว์ของตนที่เหลืออยู่ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตอื่นหรือแก่ผู้ที่อธิบดีเห็นสมควรภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือวันที่ทราบคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะผ่อนผันขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้ หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๕๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๕๘ ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๕๙ ผู้ใดขายอาหารสัตว์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๖๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๖๒ ผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ปลอมปน หรืออาหารสัตว์ที่มิได้ขึ้นทะเบียนอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๑) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๓ ผู้ใดขายอาหารสัตว์ปลอมปนหรืออาหารสัตว์ที่มิได้ขึ้นทะเบียนอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๑) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๔ ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าอาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๕ ผู้ใดขายอาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๖๖ ผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๗ ผู้ใดขายอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๘ ผู้ใดผลิตเพื่อขาย ขาย หรือนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ที่อธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียนหรืออาหารสัตว์อื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๘ ทวิ ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าหรือขายอาหารสัตว์ที่ปรากฏจากผลการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นอาหารสัตว์ที่ไม่ควรใช้เลี้ยงสัตว์ตามมาตรา ๓๖ (๒) อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของอธิบดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๖๙ ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของอาหารสัตว์อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ หรือมาตรา ๔๗ หรือขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๑ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ผู้ดำเนินการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น บทเฉพาะกาล
มาตรา ๗๒ ใบอนุญาตประกอบอาหารสัตว์เพื่อการค้าและทำการค้าอาหารสัตว์ หรือใบอนุญาตทำการค้าอาหารสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ และถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไปและได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ดำเนินกิจการที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตไปพลางก่อนได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตใหม่หรือผู้อนุญาตแจ้งให้ทราบถึงการไม่อนุญาต ในกรณีไม่อนุญาตให้นำความในมาตรา ๕๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีได้รับใบอนุญาตใหม่ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต มาตรา ๗๓ หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนอาหารสัตว์ที่ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีอายุใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
(๑) ใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์
(ก) ประสิทธิภาพในการผลิตของเครื่องจักร
ไม่เกิน ๑๐ ตันต่อชั่วโมง ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท(ข) ประสิทธิภาพในการผลิตของเครื่องจักร
ส่วนที่เกิน ๑๐ ตันต่อชั่วโมง คิดเพิ่มจาก (ก) ตันละ ๑,๐๐๐ บาทเศษของหนึ่งตันให้คิดเป็นหนึ่งตัน(๒) ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท
(๓) ใบอนุญาตขายอาหารสัตว์
(ก) ขายส่งและขายปลีก ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(ข) ขายปลีก ฉบับละ ๒๐๐ บาท
(๔) คำขอใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว สูตรละ ๑,๕๐๐ บาท
(๕) การขอแก้ไขรายการในใบสำคัญการขึ้น
ทะเบียนอาหารสัตว์(ก) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสูตรอาหารสัตว์ ครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท
(ข) ในส่วนอื่น ๆ ครั้งละ ๕๐๐ บาท
(๖) ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบสำคัญ
การขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ ฉบับละ ๑๐๐ บาท(๗) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่า
ธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้ใช้บังคับมานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ยังไม่รัดกุมเพียงพอ และยังขาดมาตรการเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตอาหารสัตว์เพื่อขายการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ ตลอดจนการควบคุมในเรื่องอื่น ๆ สมควรปรับปรุงเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมากนิยมใช้อาหารสัตว์ซึ่งมีส่วนผสมของสารเร่งการเจริญเติบโตหรือสารเร่งเนื้อแดง และสารดังกล่าวบางชนิดเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายแก่สัตว์หรือมนุษย์ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้แต่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการผสมสารดังกล่าวในอาหารสัตว์ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของรัฐมนตรี อธิบดี และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะปราศจากอันตรายแก่สัตว์หรือมนุษย์ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้ครอบคลุมถึงกรณีการผสมสารดังกล่าวในอาหารสัตว์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้