นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง
ม.รามคำแหง นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษามากที่สุดในประเทศไทย ว่ากันว่าคนที่จบออกมาจากรั้วสถาบันนี้จะมีลักษณะเด่นทางด้านความฉลาด และความมีวินัยเป็นหลัก ด้วยเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันที่เข้าง่าย แต่จบยาก
เนื่องจากรูปแบบการเข้าเรียนนั้นไม่ได้มีข้อบังคับ ทำให้นักศึกษาจึงต้องมีวินัยต่อตัวเองเป็นอย่างสูงในการเก็บเกี่ยววิชาเรียน อีกทั้งการสอบวัดผลบางส่วนก็เป็นแบบอัตนัย ที่ว่ากันว่ายากในการที่จะตอบให้ได้คะแนนมากที่สุด
นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงเรื่องของการพิชิตคะแนนการทำข้อสอบแบบอัตนัยที่จะสามารถกวดคะแนนจากผู้ตรวจข้อสอบได้อย่างฉลุยสวยงาม
การตอบข้อสอบในปัจจุบันของนักศึกษานั้นส่วนมาก นักศึกษาตอบกันตามความเคยชินที่เป็นแบบปรนัย
“นักศึกษาส่วนใหญ่ชินกับการตอบข้อสอบแบบปรนัย ข้อสอบปรนัยหมายถึงข้อสอบแบบที่ผู้สอบไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัว ดังนั้นในการตอบผู้ตอบอาจจะเดาถูกต้อง หรืออาจจะมีความรู้จริงก็ได้ แต่การตอบแบบปรนัย เมื่อไม่มีการขยายความ ไม่มีการแสดงแจ้งชัดให้เห็นว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นหรือคำๆนั้น ก็จะทำให้ผู้ตรวจข้อสอบไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ว่า ผู้ตอบรู้จริงในเรื่องนั้นหรือไม่
แต่ข้อสอบปรนัยที่มีคุณภาพจริงๆนั้นเขาก็มีวิธีการถามเพื่อที่จะผู้ตอบได้ตอบถูกก็ต่อเมื่อมีความรู้ในเรื่องนั้นจริงๆ ในชั้นนี้อยากจะบอกว่า การตอบแบบปรนัยนั้น คือการตอบแบบรวบยอด มองไปก็เห็นได้เพียงแต่ว่าถูกหรือผิด แต่ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าถูกเพราะอะไร ผิดเพราะอะไร หรือมีข้อยกเว้นในเรื่องนั้นหรือไม่อย่างไรจึงไม่เหมือนการตอบแบบอัตนัย”
สำหรับความหมายของ การตอบแบบอัตนัยนั้น หมายถึง การตอบที่ผู้ตอบสามารถแสดงความรู้และความคิดเห็นของผู้ตอบเองได้
“ การตอบแบบปรนัยหรืออัตนัยนั้นไม่ได้เป็นข้อสำคัญ เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นเหตุให้ผู้เรียนเรียนแบบปรนัยหรือเรียนแบบอัตนัย เรียนเพื่อหาคำตอบสั้นๆ แบบสรุป ส่วนคำตอบแบบอัตนัยนั้นผู้เรียนจะต้องหาคำอธิบาย ใช้ความคิดที่สละสลวยเป็นคำตอบ ตรงนี้จะเห็นว่าแตกต่างกัน คือคนที่สอบปรนัยเก่งนั้นมักจะเขียนอัตนัยไม่เก่ง ที่พูดเช่นนี้เพราะว่าเท่าที่ครูอยู่รามคำแหงมาสามสิบกว่าปี ดูทั้งข้อสอบ ปรนัยและอัตนัย เห็นได้ชัดว่าเดียวนี้เวลานักศึกษาสอบข้อสอบอัตนัยก็เขียนได้สั้นๆ
ขยายความไม่ค่อยจะเป็นหรืออาจะเป็นเพราะว่าจำได้เท่านั้น เพราะว่ากระบวนการที่คิดแบบปรนัยนั้นเป็นเรื่องการรวบยอดและไม่มีวิธีการอธิบาย แต่คำตอบที่เป็นอัตนัยนั้นต้องอธิบายและให้เหตุผลทั้งจากตำรา ความจำและสภาพข้อเท็จจริงต่างๆ”
ท่านอธิการแนะถึงวิธีฝึกคิดตอบแบบอัตนัยให้เป็น เพื่อที่จะทำข้อสอบอัตนัยให้ฉลุย โดยให้เริ่มจากการอ่านให้อ่านหนังสือเป็นแบบเชิงอัตนัยก่อน คืออ่านแล้วอธิบายความให้ได้และรู้จักฝึกคิดให้รอบด้าน
“ถ้าหากนักศึกษาเห็นข้อความใดๆ นักศึกษาควรจะคิดเป็นอัตนัย อ่านหนังสือให้อ่านเป็นเชิงอัตนัยและอธิบายความได้ ตำราว่าอย่างนี้ เราเห็นพ้องต้องกันกับตำราหรือไม่ เพราะอะไร ลองหัดอธิบายให้เกิดเป็นนิสัย และลองหัดเขียนเพื่อที่จะเขียนอธิบายความต่างๆได้”
ชี้ว่าข้อดีของการเรียนแบบนี้จะทำให้นักศึกษาเกิดทักษะในการคิดการอ่านการเขียน ไปพร้อมๆกันทั้ง 3 ทางดีกว่าคิดแบบปรนัยและตอบแบบปรนัยโดยตลอดตอบ
“หากทำแต่ปรนัยและจำอย่างเดียวก็จะตอบได้เฉพาะวิธีการของการตอบแบบปรนัยเท่านั้น ก็จะทำให้เราติดนิสัยไม่คิดให้รอบด้าน ไม่คิดให้กว้าง ไม่คิดให้ลึก ซึ่งเวลาที่เราไปทำงานทำการต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะติดตัวติดตนอยู่ด้วย ดังนั้นครูอยากจะให้นักศึกษาลองหัดคิดดูว่าถ้าคิดแบบปรนัยเป็นอย่างไร คิดแบบอัตนัยเป็นอย่างไร เอาง่ายๆก็คือว่า คิดแบบปรนัยนั้นคิดโดยแทบจะไม่ต้องหาเหตุผลใดมาอธิบาย เช่น 1+2 เท่ากับ 3 แต่ถ้าเป็นอัตนัยก็อาจจะบอกว่า 1+2 เท่ากับ 3 และ 5-2 ก็เท่ากับ 3 ในขณะเดียวกัน7-4 ก็เท่ากับ 3 เหมือนกันคิดไปได้รอบด้าน คิดไปได้กว้างกว่ามีตัวอย่างมากขึ้น มีคำอธิบายมากขึ้น เพราะฉะนั้น ลองฝึกหัดดูสำหรับการคิดแบบอัตนัยมันจะทำให้เรารู้จักวิธีการคิดให้กว้างไกลขึ้น และรอบด้าน ”อดีต อธิการบดี ม.รามฯ สรุป
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์