ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
การรถไฟแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๙๔
                  
 
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔
เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นเอกเทศ
 
พระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การรถไฟแห่งประเทศไทย” หมายความว่า การรถไฟซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง
                  
 
มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการรถไฟขึ้น เรียกว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) รับโอนกิจการของกรมรถไฟจากกรมรถไฟ กระทรวงคมนาคม
(๒) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ
 
มาตรา ๗ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล
 
มาตรา ๘ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสาขาหรือผู้แทนขึ้น ณ ที่อื่นใดในราชอาณาจักรก็ได้ และจะตั้งสาขาหรือผู้แทนขึ้น ณ ต่างประเทศในเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก็ได้
 
มาตรา ๙  ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) สร้าง ซื้อ จ้าง รับจ้าง จัดหา จำหน่าย แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ
(๒) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง อาศัย ให้อาศัย จำหน่าย แลกเปลี่ยน และดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(๓) กำหนดอัตราค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าภาระดังกล่าว
(๔) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ
(๕) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน ลงทุน ร่วมลงทุน หรือออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๖) รับส่งเงินทางรถไฟ
(๗) รับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ
(๘) ดำเนินกิจการโรงแรมและภัตตาคาร รวมตลอดถึงกิจการอื่นอันเป็นอุปกรณ์แก่กิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร
(๙) จัดบริการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ
(๑๐) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวจะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้
(๑๑) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟ
 
มาตรา ๑๐ ให้โอนทรัพย์สินและหนี้ทั้งสิ้นของกรมรถไฟให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๑๑ ให้จ่ายเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากงบประมาณรายจ่ายสามัญของกรมรถไฟประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ กับเงินทั้งหมดในงบประมาณรายจ่ายวิสามัญลงทุนที่เกี่ยวกับการรถไฟในงบเงินกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและงบการรถไฟประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๑๒ ทุนประเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ประกอบด้วย
(๑) สินทรัพย์ที่รับโอนมาจากกรมรถไฟเมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว
(๒) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๑๑
 
มาตรา ๑๓ ทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
 
มาตรา ๑๔ บรรดาคดี การสอบสวน หรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการซึ่งกรมรถไฟเป็นคู่ความหรือเข้าเกี่ยวข้องในฐานะใด ๆ ที่ค้างอยู่ในชั้นไต่สวน สอบสวนพิจารณา หรือบังคับคดีนั้น ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นคู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในฐานะนั้น ๆ แล้วแต่กรณี แทนที่กรมรถไฟ และให้ถือว่าทนายความซึ่งกรมรถไฟได้แต่งตั้งไว้ในคดีหรือการพิจารณาดังกล่าวเป็นทนายความของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไปด้วย
 
มาตรา ๑๕ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ บรรดาที่กฎหมายให้ไว้แก่กรมรถไฟ
 
มาตรา ๑๕ ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการรถไฟ ให้ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการมีอำนาจสั่งให้บุคคลผู้ซึ่งปลูกสร้างสิ่งใดโดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายภายในระยะสี่สิบเมตรวัดจากขอบรางรถไฟด้านริมสุดของแต่ละด้านรางรถไฟแต่ต้องไม่เกินเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างนั้นภายในกำหนดเวลาอันสมควรได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการมีอำนาจรื้อถอนหรือทำลาย โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น
 
มาตรา ๑๖ พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และบรรดากฎข้อบังคับที่ได้ออกตามพระราชบัญญัตินั้น ให้คงใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้เพียงเท่าที่มิได้มีความบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ และที่มิได้มีความขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
เพื่อประโยชน์แห่งการนำพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อนมาใช้บังคับต่อไป ให้อ่านคำบางคำในพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับนั้น ดังต่อไปนี้
คำว่า “กรมรถไฟแผ่นดิน” และคำว่า “กรมรถไฟ” ให้อ่านว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทย”
คำว่า “ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน” และคำว่า “อธิบดีกรมรถไฟ” ให้อ่านว่า “ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย”
 
มาตรา ๑๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๕ (๑๓) และ (๑๔) และมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ หรือการออกกฎข้อบังคับใหม่ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ให้ทำโดยกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๘ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการและพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา
 
มาตรา ๑๙ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
 
มาตรา ๒๐ เงินสำรองของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ประกอบด้วย เงินสำรองเผื่อขาด และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ เช่น ค่าเสื่อมราคาและค่าทำให้ดีขึ้น เป็นต้น ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
 
มาตรา ๒๑ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
 
หมวด ๒
การกำกับ การควบคุม และการบริหาร
                  
 
มาตรา ๒๒  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้
 
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการจะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๒๔  ให้มีคณะกรรมการของการรถไฟแห่งประเทศไทยคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน และผู้ว่าการ เป็นกรรมการ
ให้ผู้ว่าการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่น
 
มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการต่าง ๆ ตามความในมาตรา ๙
(๒) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง และการถอดถอนพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
(๔) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย และข้อบังคับว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
(๔ ทวิ)  วางข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
(๕) ตั้งอัตรามาตรฐานค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ
(๖) กำหนดค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟเป็นครั้งคราว
(๗) กำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกซึ่งคณะกรรมการกำหนดตาม (๖) นั้น จะต้องประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อให้ประชาชนทราบ
ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานที่คณะกรรมการวางขึ้นตามความใน (๔) นั้น ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อบังคับที่มีข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๒๖ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการรถไฟ การขนส่ง วิศวกรรม พาณิชยกรรม การเศรษฐกิจ หรือการเงิน
 
มาตรา ๒๗  ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ คือ
(๑) มีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(๒) เป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
(๓) เป็นข้าราชการการเมือง
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
 
มาตรา ๒๘  ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
 
มาตรา ๒๙ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ตามความในมาตรา ๒๘ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗
ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการเข้าแทน แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
 
มาตรา ๓๐ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๓๑ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ
ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด และอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่าคณะกรรมการจะให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนสมรรถภาพ มติให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่ง ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนกรรมการทั้งหมดนอกจากผู้ว่าการ
การแต่งตั้ง การกำหนดเงินเดือน และการให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรานี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๓๒ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ว่าการ
(๑) ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น หรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเช่นว่านั้นโดยสุจริต และได้แจ้งให้คณะกรรมการทราบก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการ
(๒) เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในกิจการร่วมลงทุนตามมาตรา ๙ (๕) หรือในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามมาตรา ๙ (๑๐) หรือ (๑๑)
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
 
มาตรา ๓๓ ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เป็นเป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยทุกตำแหน่ง
ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๓๓ ทวิ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๓๔ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำการในนามของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเพื่อการนี้ผู้ว่าการอาจมอบอำนาจให้ผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา ๘ หรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๒๕ วรรคท้าย กำหนดว่านิติกรรมใดผู้ว่าการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดานิติกรรมที่ผู้ว่าการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าว ย่อมไม่ผูกพันการรถไฟแห่งประเทศไทย เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
 
มาตรา ๓๕ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นหรือลดขั้นเงินเดือนพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าพนักงานเช่นว่านั้นเป็นพนักงานชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่แย้งหรือขัดต่อข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
 
มาตรา ๓๖ เมื่อผู้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ แล้วแต่กรณีเป็นการชั่วคราว และให้นำมาตรา ๓๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ผู้รักษาการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ มีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ
 
มาตรา ๓๗ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย อาจได้รับเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
 
หมวด ๒ ทวิ
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการรถไฟ
                  
 
มาตรา ๓๗ ทวิ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟหรือเครื่องประกอบทางรถไฟ ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
 
หมวด ๓
ความสัมพันธ์กับรัฐบาล
                  
 
มาตรา ๓๘ ในการดำเนินกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนและความปลอดภัย
 
มาตรา ๓๙ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้
(๑) สร้างทางรถไฟสายใหม่
(๒) เลิกสร้างทางรถไฟที่ได้เริ่มสร้างแล้วหรือเลิกกิจการในทางซึ่งเปิดเดินแล้ว
(๓) เพิ่มหรือลดทุน
(๔) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินคราวละห้าล้านบาท
(๕) ลงทุนหรือร่วมลงทุนซึ่งมีวงเงินเกินห้าสิบล้านบาท
(๖) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๗) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์
(๘) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
(๙) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
มาตรา ๔๐ ข้อบังคับดังกล่าวในมาตรา ๒๕ (๓) และ (๔) ต้องเสนอรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ในระหว่างที่รอการพิจารณาของรัฐมนตรีนั้น ให้ใช้ข้อบังคับนั้นไปพลางก่อน และถ้ารัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบข้อบังคับดังกล่าวเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระทั่งกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ข้อบังคับนั้น
 
มาตรา ๔๑ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องไม่วางระเบียบว่าด้วยการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกเช่นว่านั้นอันจะเป็นการขัดกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีในทางเศรษฐกิจและการคลัง
ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งนโยบายดังกล่าวในวรรคก่อนให้คณะกรรมการทราบ
 
มาตรา ๔๒ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำงบประมาณประจำปีแยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
 
มาตรา ๔๓ รายได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงาน ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา และเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและครอบครัว เงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองขยายงาน และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบตามความในมาตรา ๔๒ แล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายดังกล่าว นอกจากเงินสำรองที่ระบุไว้ในวรรคก่อน และการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเท่าจำนวนที่ขาด
 
มาตรา ๔๔ ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของการรถไฟแห่งประเทศไทย และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนกงานที่จะจัดทำในภายหน้า
 
หมวด ๔
การร้องทุกข์และการสงเคราะห์
                  
 
มาตรา ๔๕ ให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๔๖ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดให้มีกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและครอบครัวในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสพอุบัติเหตุเจ็บป่วย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
การจัดให้ได้มาซึ่งกองทุนดังกล่าวในวรรคก่อน การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนและหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุน ให้เป็นไปตามข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการกำหนด
ข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อน ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๕
การบัญชี การสอบ และการตรวจ
                  
 
มาตรา ๔๗ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญมีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำและมีสมุดบัญชีลงรายการ
(๑) การรับและจ่ายเงิน
(๒) สินทรัพย์และหนี้สิน
ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ
 
มาตรา ๔๘ ทุกปีให้คณะกรรมการตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อสอบและรับรองบัญชีของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นปี ๆ ไป
ห้ามมิให้ตั้งประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือผู้มีส่วนได้เสียในการงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำ เป็นผู้สอบบัญชี
 
มาตรา ๔๙ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุด บัญชีและเอกสารหลักฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเวลาอันสมควรได้ทุกเมื่อ และเพื่อการสอบบัญชี ให้มีอำนาจไต่ถามสอบสวนประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และผู้แทนหรือพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๕๐ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วยข้อความคำชี้แจงอันควรแก่การสอบบัญชีที่ได้รับ ตลอดจนความสมบูรณ์ของสมุดบัญชีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยรักษาอยู่ และต้องแถลงด้วยว่า
(๑) งบดุลและบัญชีซึ่งตรวจสอบนั้นถูกต้องตรงกับสมุดบัญชีเพียงไรหรือไม่
(๒) งบดุลและบัญชีซึ่งตรวจสอบนั้นแสดงการงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามข้อความคำชี้แจงและความรู้ของผู้สอบบัญชีเพียงไรหรือไม่
 
มาตรา ๕๑ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชีของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเมื่อรัฐมนตรีร้องขอ
 
มาตรา ๕๒ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันหลังจากวันสิ้นปีบัญชีของการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องโฆษณารายงานประจำปี แสดงบัญชีงบดุลบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน เพียงสิ้นปีบัญชี พร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชีที่คณะกรรมการตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๔๘
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี



พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒
 
มาตรา ๗ ผู้ว่าการ หรือพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ภายในระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้เก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และถ้าไม่ได้รับการต่ออายุการทำงานตามความในมาตรา ๓๓ ทวิ ก็ให้พ้นจากตำแหน่งในวันถัดจากวันครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมแก่การบริหารกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าไปได้เท่าที่ควร จึงจำต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๙
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีความประสงค์จะช่วยส่งเสริมกิจการโรงแรมในต่างจังหวัดให้เจริญยิ่งขึ้น แต่โดยที่พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ไม่ได้บัญญัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะดำเนินการดังกล่าวได้อย่างแจ้งชัด จึงสมควรแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการโรงแรมและภัตตาคารได้ และในขณะเดียวกันสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการในกรณีที่ผู้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงเสียด้วย
 
พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๔[
 
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้มา และการเข้าครอบครองซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่การสร้างทางรถไฟโดยเฉพาะในการนี้เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการรถไฟขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๐
 
มาตรา ๔ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนและประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดที่ดินที่มีความจำเป็นต้องเวนคืนโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ให้คงใช้บังคับได้
การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นอันใช้ได้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว สมควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๕[

 
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพและเหตุการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้กระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนากิจการการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป และให้อำนาจผู้ว่าการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในเขตสองข้างทางของรางรถไฟได้เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ และสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัว นอกจากนี้ สมควรกำหนดเครื่องแบบของพนักงานและแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ ลักษณะ และการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และลักษณะของผู้ว่าการให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติ มาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๓
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ หรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟได้ เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถประกอบกิจการได้ตามความเหมาะสมในทางธุรกิจ และห้ามผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบในหุ้นส่วน หรือเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นกรรมการในบริษัทที่ประกอบกิจการในลักษณะดังกล่าว และแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้