ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเลพ.ศ. 2550
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเลพ.ศ. 2550

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล
พ.ศ. ๒๕๕๐
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การช่วยเหลือกู้ภัย” หมายความว่า การกระทำหรือกิจกรรมใดที่ได้กระทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งประสบภยันตรายในทะเลหรือน่านน้ำใด ๆ
“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด
“เรือเดินทะเล” หมายความว่า เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
“ทรัพย์สิน” หมายความว่า ทรัพย์สินใด ๆ ที่ไม่ได้มุ่งหมายให้ติดตรึงถาวรอยู่กับแนวชายฝั่งและให้หมายความรวมถึงสิทธิที่จะได้รับค่าระวางด้วย
“ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า ความเสียหายอย่างมากทางกายภาพแก่สุขอนามัยของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตทางทะเล หรือทรัพยากรในน่านน้ำชายฝั่งทะเลในน่านน้ำในประเทศหรือบริเวณต่อเนื่องใกล้เคียง ซึ่งเกิดขึ้นจากมลพิษ การปนเปื้อน อัคคีภัย การระเบิดหรืออุบัติภัยร้ายแรงอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
“เงินตอบแทน” หมายความว่า เงินรางวัล หรือเงินค่าทดแทนพิเศษ ซึ่งต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(๑) การช่วยเหลือกู้ภัยที่กระทำในน่านน้ำในประเทศ โดยไม่มีเรือเดินทะเลเข้ามาเกี่ยวข้อง
(๒) เรือรบ หรือเรืออื่นใดที่รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินการ โดยไม่ได้ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการพาณิชย์ในขณะที่ทำการช่วยเหลือกู้ภัยนั้น และได้รับความคุ้มกันของรัฐตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
(๓) แท่นที่ตั้งอยู่กับที่หรือลอยน้ำ หรือฐานขุดเจาะในทะเลที่เคลื่อนที่ได้ หากแท่นหรือฐานขุดเจาะนั้นอยู่ในที่ตั้งในขณะที่กำลังทำการสำรวจ แสวงหาประโยชน์ หรือผลิตทรัพยากรแร่ธาตุใต้ท้องทะเล
 
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมวด ๑
การปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัย
                  
 
ส่วนที่ ๑
สัญญาการช่วยเหลือกู้ภัย
                  
 
มาตรา ๗ ในการทำสัญญาการช่วยเหลือกู้ภัย ให้นายเรือมีอำนาจทำสัญญาแทนเจ้าของเรือและให้เจ้าของเรือหรือนายเรือมีอำนาจทำสัญญาแทนเจ้าของทรัพย์สินบนเรือ
 
มาตรา ๘ ในการบังคับตามสัญญาการช่วยเหลือกู้ภัย ถ้าศาลเห็นว่าสัญญานั้นได้ตกลงทำขึ้นภายใต้ความกดดันโดยมิชอบหรือความกดดันอันเกิดจากภยันตรายที่คุกคาม และมีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม หรือเห็นว่าเงินตอบแทนตามสัญญานั้นได้กำหนดไว้สูง หรือต่ำจนเกินไปเมื่อคำนึงถึงสภาพการปฏิบัติการที่ได้เกิดขึ้นจริง ศาลอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ไม่ใช้สัญญานั้นทั้งหมดหรือบางส่วนบังคับแก่คู่สัญญา และใช้บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับแทน
(๒) ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของสัญญานั้น
(๓) เพิ่มหรือลดจำนวนเงินตอบแทนที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นให้เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติการที่ได้เกิดขึ้นจริง
 
ส่วนที่ ๒
หน้าที่ในการช่วยเหลือกู้ภัย
                  
 
มาตรา ๙ ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยมีหน้าที่ต่อเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าของทรัพย์สินอย่างอื่นที่ประสบภยันตราย ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยด้วยความระมัดระวังตามสมควร
(๒) ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) ต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
(๓) ขอความช่วยเหลือจากผู้ช่วยเหลือกู้ภัยรายอื่นเมื่อมีเหตุอันควร
(๔) ยอมให้ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยรายอื่นปฏิบัติการหรือเข้าร่วมปฏิบัติการ เมื่อได้รับการร้องขออันควรจากเจ้าของเรือ นายเรือหรือเจ้าของทรัพย์สินอย่างอื่นที่ประสบภยันตราย ทั้งนี้ ถ้าปรากฏว่าการร้องขอดังกล่าวมีขึ้นโดยไม่มีเหตุอันควร ให้การปฏิบัติการหรือเข้าร่วมปฏิบัติการของผู้ช่วยเหลือกู้ภัยรายอื่นนั้นไม่มีผลกระทบต่อเงินรางวัลที่พึงจะได้รับ
 
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นประสบภยันตราย เจ้าของเรือนายเรือหรือเจ้าของทรัพย์สินอย่างอื่น มีหน้าที่ต่อผู้ช่วยเหลือกู้ภัย ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในระหว่างการปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัย
(๒) ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) ต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
(๓) ต้องรับมอบเรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นคืน เมื่อเรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นนั้น ได้ไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยแล้ว และได้รับการร้องขอโดยมีเหตุอันควรจากผู้ช่วยเหลือกู้ภัย
 
มาตรา ๑๑ นายเรือมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตในทะเลตามความสามารถที่จะกระทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดภยันตรายอย่างร้ายแรงแก่เรือและบุคคลบนเรือของตนเจ้าของเรือไม่ต้องรับผิดในผลที่นายเรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
 
หมวด ๒
สิทธิของผู้ช่วยเหลือกู้ภัย
                  
 
มาตรา ๑๒ ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยมีสิทธิได้รับเงินรางวัล ถ้าการช่วยเหลือกู้ภัยนั้น เป็นประโยชน์ต่อการทำให้เรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นปลอดภัย
สิทธิในการได้รับเงินรางวัลย่อมไม่เสียไป แม้ว่าเรือที่ปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยจะเป็นเจ้าของเดียวกันกับเรือที่ประสบภยันตราย
 
มาตรา ๑๓ การกำหนดเงินรางวัล ให้ใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้ประกอบกัน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือกู้ภัย
(๑) มูลค่าของเรือและทรัพย์สินอย่างอื่นตามสภาพที่ช่วยเหลือกู้ภัยไว้ได้
(๒) ทักษะและความพยายามของผู้ช่วยเหลือกู้ภัยในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
(๓) ระดับของความสำเร็จของการช่วยเหลือกู้ภัย
(๔) สภาพและระดับความรุนแรงของภยันตราย
(๕) ทักษะและความพยายามของผู้ช่วยเหลือกู้ภัยในการช่วยเหลือกู้ภัยเรือ ทรัพย์สินอย่างอื่น และชีวิตบุคคล
(๖) เวลาที่เสียไปและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมทั้งความสูญเสียที่เกิดแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย
(๗) ความเสี่ยงต่อความรับผิดและความเสี่ยงอย่างอื่นที่เกิดแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการช่วยเหลือกู้ภัย
(๘) ความฉับพลันในการให้บริการ
(๙) เรือและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยมีไว้ใช้และที่ได้ใช้ในการช่วยเหลือกู้ภัย
(๑๐) การเตรียมพร้อม ประสิทธิภาพและมูลค่าของอุปกรณ์ต่าง ๆ ของผู้ช่วยเหลือกู้ภัย
 
มาตรา ๑๔ ผู้มีส่วนได้เสียในเรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นต้องจ่ายเงินรางวัลตามส่วนแห่งมูลค่าของเรือและทรัพย์สินอย่างอื่นตามสภาพที่ช่วยเหลือกู้ภัยไว้ได้
ในกรณีที่การช่วยเหลือกู้ภัยเป็นประโยชน์ต่อการทำให้เรือและทรัพย์สินบนเรือปลอดภัยผู้ช่วยเหลือกู้ภัยจะเรียกเอาเงินรางวัลทั้งหมดนั้นจากเจ้าของเรือก็ได้
ในกรณีที่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยใช้สิทธิตามวรรคสอง เจ้าของเรือซึ่งจ่ายเงินรางวัลไปนั้น มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้มีส่วนได้เสียในเรือหรือทรัพย์สินบนเรือตามส่วนที่ผู้มีส่วนได้เสียนั้นจะต้องจ่ายตามวรรคหนึ่ง
 
มาตรา ๑๕ เงินรางวัลจะต้องไม่เกินมูลค่าของเรือและทรัพย์สินอย่างอื่นตามสภาพที่ช่วยเหลือกู้ภัยไว้ได้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิเรียกร้อง
 
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยได้ปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยเรือ ซึ่งเรือลำนั้นเองหรือสินค้าบนเรือได้คุกคามต่อการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยเหลือกู้ภัยไม่ได้รับเงินรางวัลตามมาตรา ๑๓ หรือได้รับเงินรางวัลตามมาตรา ๑๓ แต่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายของผู้ช่วยเหลือกู้ภัย ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยนั้นมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนพิเศษตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้จากเจ้าของเรือลำนั้นเท่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย หรือส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยกับเงินรางวัลตามมาตรา ๑๓ แล้วแต่กรณี
ในกรณีตามที่ได้ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าการปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยซึ่งผู้ช่วยเหลือกู้ภัยได้ป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด เงินค่าทดแทนพิเศษซึ่งเจ้าของเรือพึงจ่ายให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย อาจเพิ่มขึ้นได้อย่างสูงถึงร้อยละสามสิบของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย ทั้งนี้ ศาลอาจเพิ่มเงินค่าทดแทนพิเศษขึ้นได้อีกหากศาลเห็นว่าเป็นธรรมและยุติธรรม โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๓ อย่างไรก็ตามเงินค่าทดแทนพิเศษทั้งหมดที่จะได้รับต้องไม่เกินสองเท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้หมายถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นโดยมีเหตุอันควรที่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยต้องจ่ายไป รวมถึงอัตราที่เป็นธรรมสำหรับอุปกรณ์และบุคลากรที่ได้ใช้ไปจริงและมีเหตุอันควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๓ (๘) (๙) และ (๑๐)
ถ้าผู้ช่วยเหลือกู้ภัยประมาทเลินเล่อและไม่ทำการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยนั้นอาจถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนพิเศษตามมาตรานี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่กระทบถึงสิทธิไล่เบี้ยของเจ้าของเรือ
 
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่มีผู้ช่วยเหลือกู้ภัยหลายราย ให้ใช้เกณฑ์ตามมาตรา ๑๓ เป็นฐานของการคำนวณเงินรางวัลระหว่างผู้ช่วยเหลือกู้ภัยเหล่านั้น
 
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่การช่วยเหลือกู้ภัยได้ปฏิบัติการจากเรือไทย การแบ่งเงินรางวัลระหว่างเจ้าของเรือและคนประจำเรือให้พิจารณาว่าการปฏิบัติการนั้นเป็นการนำเรือเข้าเสี่ยงภัยหรือเป็นการปฏิบัติการที่อาศัยทักษะหรือความสามารถเฉพาะตัวของคนประจำเรือ ถ้าปรากฏว่าเป็นกรณีนำเรือเข้าเสี่ยงภัย ให้เงินรางวัลส่วนใหญ่ตกแก่เจ้าของเรือ แต่ถ้าเป็นกรณีที่อาศัยทักษะหรือความสามารถเฉพาะตัวของคนประจำเรือโดยเฉพาะ ให้เงินรางวัลส่วนใหญ่ตกแก่คนประจำเรือทุกคน โดยระหว่างคนประจำเรือด้วยกัน ให้ได้รับส่วนแบ่งเงินรางวัลในอัตราส่วนที่เท่ากัน ทั้งนี้ เว้นแต่จะตกลงกันโดยชัดแจ้งไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่การช่วยเหลือกู้ภัยได้ปฏิบัติการจากเรือต่างประเทศ การแบ่งเงินรางวัลระหว่างเจ้าของเรือและคนประจำเรือ ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่เรือนั้นชักธง
 
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่การช่วยเหลือกู้ภัยไม่ได้ปฏิบัติการจากเรือ การแบ่งเงินรางวัลระหว่างผู้ช่วยเหลือกู้ภัยกับลูกจ้างที่ตนได้ใช้ในการปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่สัญญาระหว่างผู้ช่วยเหลือกู้ภัยกับลูกจ้างนั้น
ในกรณีที่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่สัญญาระหว่างผู้ช่วยเหลือกู้ภัยกับลูกจ้างเป็นกฎหมายไทยให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๐ ผู้ที่กระทำการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยไม่มีสิทธิเรียกเงินตอบแทนจากผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตจากการกระทำนั้น
ในการช่วยเหลือกู้ภัยที่มีการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย ให้ผู้ที่กระทำการช่วยชีวิตนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากเงินตอบแทนที่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยได้รับ
 
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่มีการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย ถ้าผู้ที่กระทำการช่วยชีวิตได้กระทำการช่วยเหลือกู้ภัยด้วยในคราวเดียวกัน ศาลอาจเพิ่มเงินตอบแทนที่ผู้กระทำการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยจะได้รับก็ได้
 
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่มีการทำสัญญาไว้ก่อนเกิดภยันตราย การปฏิบัติตามสัญญานั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับเงินตอบแทน เว้นแต่การปฏิบัติการนั้นเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตหน้าที่ตามสัญญานั้น
 
มาตรา ๒๓ หากการช่วยเหลือกู้ภัยจำเป็นต้องมีขึ้นหรือต้องยากขึ้นเพราะความผิดหรือการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือกู้ภัย ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยนั้นอาจเสียสิทธิในการได้รับเงินตอบแทนไปทั้งหมดหรือบางส่วน
หากผู้ช่วยเหลือกู้ภัยกระทำการโดยกลฉ้อฉลหรือไม่สุจริต ย่อมสิ้นไปซึ่งสิทธิที่จะได้รับเงินตอบแทนโดยสิ้นเชิง
 
มาตรา ๒๔ การช่วยเหลือกู้ภัยไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับเงินตอบแทน หากได้กระทำไปโดยฝ่าฝืนคำสั่งห้ามอันชัดแจ้งและมีเหตุผลอันสมควรของบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าของเรือหรือนายเรือ ในกรณีการช่วยเหลือกู้ภัยเรือ ทรัพย์สินบนเรือ หรือทรัพย์สินที่เคยอยู่บนเรือ
(๒) เจ้าของทรัพย์สินอย่างอื่นที่ประสบภยันตราย ในกรณีการช่วยเหลือกู้ภัยทรัพย์สินที่ไม่ได้อยู่และไม่เคยอยู่บนเรือ
 
หมวด ๓
สิทธิเรียกร้องเงินตอบแทนและการดำเนินคดี
                  
 
มาตรา ๒๕ ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยย่อมมีบุริมสิทธิทางทะเลเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องในเงินตอบแทนจากการช่วยเหลือกู้ภัยเรือ แต่หากมีการวางหลักประกันเพื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอันเป็นที่พอใจ ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยนั้นไม่อาจอ้างบุริมสิทธิทางทะเลเหนือเรือนั้นได้อีก
 
มาตรา ๒๖ หากผู้ช่วยเหลือกู้ภัยร้องขอ ให้บุคคลซึ่งต้องรับผิดในเงินตอบแทนจัดให้มีหลักประกันเพื่อสิทธิเรียกร้องในเงินตอบแทนอันเป็นที่พอใจ รวมถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิเรียกร้องนั้นด้วย
 
มาตรา ๒๗ ก่อนที่จะปล่อยสินค้าไปจากเรือ เจ้าของเรือต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ให้เจ้าของสินค้าจัดให้มีหลักประกันเพื่อสิทธิเรียกร้องในเงินตอบแทนอันเป็นที่พอใจ รวมถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิเรียกร้องนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ช่วยเหลือกู้ภัยจะร้องขอตามมาตรา ๒๖ หรือไม่ก็ตาม
 
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายเรือและทรัพย์สินอย่างอื่นที่ได้รับการช่วยเหลือกู้ภัยออกไปจากท่าเรือหรือสถานที่ที่เรือและทรัพย์สินอย่างอื่นนั้นมาถึงหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยโดยปราศจากความยินยอมจากผู้ช่วยเหลือกู้ภัย เว้นแต่มีการวางหลักประกันเพื่อสิทธิเรียกร้องในเงินตอบแทนของผู้ช่วยเหลือกู้ภัยต่อเรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง
 
มาตรา ๒๙ คำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการช่วยเหลือกู้ภัยตามพระราชบัญญัตินี้ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
 
มาตรา ๓๐ ในกรณีที่การเรียกร้องเงินตอบแทนเป็นข้อพิพาทเฉพาะเรื่องเงินตอบแทน ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลซึ่งต้องรับผิดในเงินตอบแทนจ่ายเงินตอบแทนในจำนวนที่ไม่โต้แย้งกัน เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนก่อนก็ได้ ศาลอาจพิจารณาสั่งให้ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยได้รับเงินตอบแทนตามจำนวนที่ร้องขอ
เมื่อผู้ช่วยเหลือกู้ภัยได้รับเงินตอบแทนตามจำนวนนั้นแล้ว ให้ลดหลักประกันที่วางไว้ตามมาตรา ๒๖ แก่บุคคลซึ่งต้องรับผิดในเงินตอบแทนตามส่วน
 
มาตรา ๓๑ สิทธิเรียกร้องในเงินตอบแทน ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในสองปีนับแต่วันที่การช่วยเหลือกู้ภัยสิ้นสุดลง ให้เป็นอันขาดอายุความ
 
มาตรา ๓๒ สินค้าซึ่งมิใช่เพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ของรัฐหนึ่งรัฐใดซึ่งได้รับความคุ้มกันของรัฐ ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้การยึด กัก หรือยึดหน่วงตามกฎหมาย เว้นแต่เป็นกรณีที่รัฐซึ่งเป็นเจ้าของสินค้านั้นให้ความยินยอม
 
มาตรา ๓๓ สินค้าเพื่อมนุษยธรรมซึ่งรัฐหนึ่งรัฐใดได้บริจาค ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้การยึด กักหรือยึดหน่วงตามกฎหมาย หากรัฐนั้นได้ตกลงจ่ายเงินตอบแทน
 
บทเฉพาะกาล
                  
 
มาตรา ๓๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การช่วยเหลือกู้ภัยที่กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการเดินเรืออาจต้องประสบภยันตรายอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่เรือ ทรัพย์สิน หรือบุคคลบนเรือ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือกู้ภัย การกำหนดเงินตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยจะส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเรือหรือทรัพย์สินที่ประสบภยันตรายทางทะเล และบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดแก่สิ่งแวดล้อม ประกอบกับการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเลมีลักษณะเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล สมควรมีกฎหมายพิเศษที่วางหลักเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือกู้ภัยและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับเงินตอบแทนของผู้ช่วยเหลือกู้ภัยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้