ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ. 2530
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ. 2530

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พ.ศ. ๒๕๓๐
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
เป็นปีที่ ๔๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“กองทุนนายจ้างเดียว” หมายความว่า กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างเพียงรายเดียว
“กองทุนหลายนายจ้าง” หมายความว่า กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างหลายราย
“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนโดยวิธีใดและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่นายจ้างหักไว้หรือจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างเพื่อประโยชน์ในการทำงาน
“นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และไม่ว่าการตกลงนั้นจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่
“นายทะเบียน” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
การจัดตั้ง
                       
 
มาตรา ๕ กองทุนจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนนั้น ทั้งนี้ จะจัดตั้งเป็นกองทุนนายจ้างเดียวหรือกองทุนหลายนายจ้าง ซึ่งอาจมีนโยบายการลงทุนนโยบายเดียวหรือหลายนโยบายก็ได้
 
มาตรา ๖ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งกองทุนขึ้นตามมาตรา ๕ แล้ว ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างที่ได้จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะให้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
 
มาตรา ๗ กองทุนที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล
 
มาตรา ๗/๑ กองทุนประกอบด้วยทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินสะสมและเงินสมทบ
(๒) เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างตามมาตรา ๖ วรรคสอง
(๓) เงินเพิ่มตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม
(๔) ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) ทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนหรือดอกผลของทรัพย์สินในกองทุน
(๖) ทรัพย์สินของลูกจ้างที่โอนย้ายมาทั้งจำนวนจากกองทุนเดิมหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ การโอนทรัพย์สินดังกล่าวเข้ากองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่นายทะเบียนประกาศกำหนด
(๗) ทรัพย์สินอื่นตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนด
 
มาตรา ๘ ในการขอจดทะเบียนกองทุน ถ้าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ และมีข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา ๙ และข้อบังคับนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือวัตถุประสงค์ของกองทุน ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้ และให้ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่กองทุนนั้น
ให้นายทะเบียนประกาศการจดทะเบียนกองทุนในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๙ ข้อบังคับของกองทุนอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ ซึ่งต้องมีคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และมีคำว่า “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย
(๒) ที่ตั้งสำนักงาน
(๓) วัตถุประสงค์
(๔) วิธีรับสมาชิกและการสิ้นสมาชิกภาพ
(๕) ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ วิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการกองทุน
(๖) ข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน
(๗) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ
(๘) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ หรือเมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา ๒๕ ทั้งนี้ ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้าง โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
(๙) ข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของกองทุน
(๑๐) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมสมาชิกแยกตามนโยบายการลงทุนหรือตามรายนายจ้างในกรณีที่เป็นการจัดตั้งกองทุนที่กำหนดให้มีนโยบายการลงทุนหลายนโยบาย หรือกองทุนหลายนายจ้าง
(๑๑) รายการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของกองทุน ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไข และยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนแล้ว
 
มาตรา ๑๐ ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ข้อบังคับนั้นจะต้องกำหนดให้หักค่าจ้างเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
ลูกจ้างและนายจ้างอาจตกลงกันให้จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งโดยอนุมัติรัฐมนตรีก็ได้
ให้นายจ้างส่งเงินตามวรรคหนึ่งเข้ากองทุนภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง ในกรณีที่นายจ้างส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนล่าช้ากว่าสามวันทำการ ให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มให้กองทุนในระหว่างเวลาที่ส่งล่าช้าในอัตราร้อยละห้าต่อเดือน ของจำนวนเงินสะสมหรือเงินสมทบที่ส่งล่าช้านั้น
 
มาตรา ๑๑  ให้กองทุนมีคณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วยผู้แทนซึ่งลูกจ้างเลือกตั้งและผู้แทนซึ่งนายจ้างแต่งตั้ง มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนและเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการกองทุนจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือการเปลี่ยนกรรมการ ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือเปลี่ยนกรรมการ
 
หมวด ๒
การจัดการกองทุน
                       
 
มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้หน่วยงานใดในสังกัดปฏิบัติหน้าที่แทน และจะมอบหมายให้แต่งตั้งพนักงานของหน่วยงานนั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
 
มาตรา ๑๒ ทวิ ให้นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการจัดการกองทุนและมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนชี้แจงข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนได้
ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าผู้จัดการกองทุนใดจัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่กองทุน นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนแก้ไขหรือระงับการกระทำนั้นหรือสั่งถอดถอนผู้จัดการกองทุนได้
 
มาตรา ๑๒ ตรี ให้นายทะเบียนจัดทำรายงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลการจัดการกองทุนเสนอต่อรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละสองครั้ง
เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีอาจสั่งให้นายทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานหรือชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพิ่มเติมก็ได้
 
มาตรา ๑๓ การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้างและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 
มาตรา ๑๔ ในการจัดการกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย
 
มาตรา ๑๕ ให้นายจ้างแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของตนออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนโดยเด็ดขาด
 
มาตรา ๑๖ ในการลงทุนหรือหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายเดิมหรือนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๗ ให้ผู้จัดการกองทุนจัดทำบัญชีเพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินของกองทุนทุกกองทุนโดยให้บันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายของกองทุนตามประเภทของกองทุนดังต่อไปนี้
(๑) กรณีกองทุนหลายนายจ้าง ให้บันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายของกองทุนตามส่วนได้เสียของลูกจ้างแยกตามรายนายจ้าง ทั้งนี้ รายได้และค่าใช้จ่ายของกองทุนดังต่อไปนี้ ให้นำมาคำนวณเพื่อบันทึกเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายในบัญชีของลูกจ้างที่มีนายจ้างรายเดียวกัน
(ก) เงินเพิ่มที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน
(ข) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ลูกจ้างซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับและข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เป็นของกองทุน
(ค) ค่าเสียหายหรือดอกเบี้ยที่กองทุนต้องชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
(ง) เงินที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๒๓ วรรคสี่
(จ) รายได้หรือค่าใช้จ่ายอื่นตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนด
(๒) กรณีกองทุนที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้จัดทำบัญชีแยกทรัพย์สินของแต่ละนโยบายการลงทุนออกจากกัน ทั้งนี้ รายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหากเป็นผลมาจากการจัดการลงทุนตามนโยบายการลงทุนใด ให้บันทึกเป็นรายได้และค่าใช้จ่ายในบัญชีของนโยบายการลงทุนนั้น ส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายอื่นให้กระจายรายได้และค่าใช้จ่ายนั้นตามสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินของแต่ละนโยบายการลงทุนและบันทึกเป็นรายได้และค่าใช้จ่ายในบัญชีของนโยบายการลงทุนนั้น
 
มาตรา ๑๘ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๙ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๒๐ ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนก่อนครบกำหนดสัญญา เมื่อ
(๑) นายทะเบียนสั่งถอดถอนตามมาตรา ๑๒ ทวิ วรรคสอง
(๒) ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการกองทุน
(๓) กองทุนหรือผู้จัดการกองทุนบอกเลิกสัญญา หรือ
(๔) กองทุนเลิกตามมาตรา ๒๕
 
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนตามมาตรา ๒๐ (๑) (๒) หรือ (๓) ให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนเดิมพ้นตำแหน่ง และให้แจ้งการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่แก่นายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่แต่งตั้ง
 
มาตรา ๒๒ ลูกจ้างและนายจ้างจะขอตรวจดูบัญชีและเอกสารของกองทุน ณ สำนักงานกองทุนได้ในเวลาเปิดทำการ
 
หมวด ๓
การจ่ายเงินจากกองทุนและการเลิกกองทุน
                       
 
มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓/๒ และมาตรา ๒๓/๓ เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนและตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓/๑ โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ
ในกรณีสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตาย ถ้าลูกจ้างมิได้กำหนดบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนไว้โดยพินัยกรรมหรือทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการกองทุนหรือได้กำหนดไว้แต่บุคคลผู้นั้นตายก่อน ให้จ่ายเงินจากกองทุนตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) บุตรให้ได้รับสองส่วน แต่ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน
(๒) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน
(๓) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน
ถ้าผู้ตายไม่มีบุคคลดังกล่าวใน (๑) (๒) หรือ (๓) หรือมีแต่ได้ตายก่อนให้แบ่งเงินที่บุคคลนั้นมีสิทธิจะได้รับให้แก่บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ตามส่วนที่กำหนดในวรรคสอง
ถ้าผู้ตายไม่มีบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามวรรคสองหรือไม่มีทายาทตามกฎหมายแล้วให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุน
 
มาตรา ๒๓/๑ ในกรณีที่เป็นกองทุนหลายนายจ้าง การคำนวณเงินผลประโยชน์เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ ให้ผู้จัดการกองทุนคำนวณเงินผลประโยชน์ของลูกจ้างดังกล่าวจากบัญชีส่วนได้เสียของบรรดาลูกจ้างที่มีนายจ้างรายเดียวกัน
ในกรณีที่เป็นกองทุนที่มีหลายนโยบายการลงทุน การคำนวณเงินผลประโยชน์ของลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพ ให้ผู้จัดการกองทุนคำนวณจากทรัพย์สินในบัญชีของนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างรายนั้นมีส่วนได้เสีย
 
มาตรา ๒๓/๒ เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพเพราะการเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน หากลูกจ้างรายนั้นแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวด ให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินจากกองทุนตามเจตนาของลูกจ้าง โดยลูกจ้างรายนั้นยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ลูกจ้างรายนั้นและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมหรือเงินสมทบสำหรับลูกจ้างรายนั้นอีก ทั้งนี้ การรับเงินจากกองทุนเป็นงวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนประกาศกำหนด
 
มาตรา ๒๓/๓ เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ลูกจ้างรายนั้นมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับไว้ในกองทุน และคงการเป็นสมาชิกต่อไป โดยลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนโดยระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออกจากงาน
 
มาตรา ๒๔ สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๓/๒ และมาตรา ๒๓/๓ ไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
 
มาตรา ๒๕ กองทุนย่อมเลิก เมื่อ
(๑) นายจ้างเลิกกิจการ
(๒) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก
(๓) มีกรณีที่ข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เลิก หรือ
(๔) นายทะเบียนสั่งให้เลิกกองทุนตามมาตรา ๒๗
ในกรณีที่กองทุนจัดตั้งขึ้นโดยมีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย การที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัวจากกองทุนไม่เป็นเหตุให้กองทุนต้องเลิก เว้นแต่ข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เลิก
เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัว และจัดให้มีการชำระบัญชีกองทุนเฉพาะส่วนทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างของนายจ้างนั้นตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน เมื่อได้ชำระบัญชีแล้วให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี
 
มาตรา ๒๖ เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา ๒๕ (๑) (๒) หรือ (๓) ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กองทุนเลิกและให้คณะกรรมการกองทุนจัดให้มีการชำระบัญชีภายในสามสิบวัน และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่กองทุนเลิก เว้นแต่กรณีจำเป็นนายทะเบียนจะอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปได้ตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๒๗ นายทะเบียน โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้เลิกกองทุนได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการดำเนินงานของกองทุนขัดต่อวัตถุประสงค์ หรือขัดต่อกฎหมาย
(๒) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่ากิจการของกองทุนไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าเพราะเหตุใด
เมื่อนายทะเบียนสั่งให้เลิกกองทุนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีการชำระบัญชีและให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี
 
มาตรา ๒๘ เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา ๒๕ ให้นายทะเบียนประกาศการเลิกกองทุนในราชกิจจานุเบกษา และปิดประกาศไว้ที่สำนักงานของกองทุนหรือที่ทำการของนายทะเบียน
 
มาตรา ๒๙ การชำระบัญชีกองทุนให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างการชำระบัญชี ถ้าผู้ชำระบัญชีเห็นสมควรจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างบางส่วนก่อนก็ได้ และเมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ให้จ่ายเงินทั้งหมดที่ค้างชำระแก่ลูกจ้างให้เสร็จภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี ถ้ามีเงินเหลืออยู่ให้จัดการตามที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน
ค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนในการชำระบัญชี ให้จ่ายจากทรัพย์สินของกองทุน
 
หมวด ๔
พนักงานเจ้าหน้าที่
                       
 
มาตรา ๓๐ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการจัดการกองทุน ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสำนักงานของกองทุนหรือของผู้จัดการกองทุนเพื่อตรวจสอบกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของกองทุนในเวลาทำงานปกติ
(๒) สั่งให้กรรมการ ผู้จัดการกองทุน หรือเจ้าหน้าที่ของกองทุนซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนส่งหรือแสดงบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นของกองทุน
(๓) เรียกบุคคลดังกล่าวใน (๒) มาเพื่อสอบถามหรือแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุน
 
มาตรา ๓๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนประกาศกำหนด
 
หมวด ๕
บทกำหนดโทษ
                       
 
มาตรา ๓๒ กองทุนใดไม่ใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และ “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศ แต่ไม่ใช้คำซึ่งมีความหมายดังกล่าวในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของกองทุน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๓๓ ผู้ใดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และ “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดังกล่าวในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาท จนกว่าจะได้เลิกใช้
 
มาตรา ๓๔ คณะกรรมการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๕ วรรคสาม หรือมาตรา ๒๖ หรือแต่งตั้งบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ เป็นผู้จัดการกองทุน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๕ ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๒ ทวิ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๓/๑ หรือมาตรา ๒๓/๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๖ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๓๗ นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๘[๓๔] (ยกเลิก)

 
มาตรา ๓๙ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๔๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๔๑ ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔ ให้ถือว่ากรรมการทุกคนเป็นผู้กระทำความผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจกับกรรมการอื่น หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
 
มาตรา ๔๒ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามมาตรา ๓๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบคดีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน
 
มาตรา ๔๓ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการทำการเปรียบเทียบตามมาตรา ๔๒ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิด หรือภายในห้าปีนับแต่วันที่กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อประสงค์จะให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน ตลอดจนส่งเสริมการระดมเงินออมภาคเอกชนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในการนี้สมควรวางหลักเกณฑ์การดำเนินการและจัดการกองทุนเพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมั่นคงและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๔ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐ ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ข้อบังคับนั้นจะต้องกำหนดให้หักค่าจ้างเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
 
มาตรา ๑๕ ให้ผู้จัดการกองทุนที่ได้รับแต่งตั้งให้จัดการกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จัดการกองทุนดังกล่าวได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนและการจัดการกองทุน รวมทั้งบทกำหนดโทษในเรื่องดังกล่าวที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนในระหว่างเวลาดังกล่าว
เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขให้ผู้จัดการกองทุนต้องปฏิบัติเพิ่มเติมได้
ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว และกองทุนประสงค์ที่จะให้ผู้จัดการกองทุนนั้นจัดการกองทุนตามบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ผู้จัดการกองทุนยื่นคำขอต่อนายทะเบียนและเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินการตามที่ยื่นขอได้
 
มาตรา ๑๖ ผู้จัดการกองทุนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๗ ความผิดตามมาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มีอำนาจเปรียบเทียบได้
 
มาตรา ๑๘ บรรดากฎกระทรวงที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดการกองทุน ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คำสั่ง และหนังสือเวียนเกี่ยวกับการจัดการกองทุน ให้ยังคงใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนประเภทหนึ่งซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ดังนั้น เพื่อให้การจัดการกองทุนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและหลักการเดียวกันกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล รวมทั้งเพื่อบรรเทาภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างและลูกจ้างให้น้อยลง สมควรปรับปรุงอำนาจของรัฐมนตรีและนายทะเบียนในการกำกับดูแลการจัดการกองทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้การจัดการกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม โดยกำหนดให้โอนย้ายทรัพย์สินของลูกจ้างในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ และกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนโยบายการลงทุนหลากหลายเพื่อให้สมาชิกได้เลือกตามความต้องการ รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเนื่องจากออกจากงานมีสิทธิคงเงินไว้ในกองทุน และลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเนื่องจากการเกษียณอายุมีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นงวด โดยลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุดังกล่าวยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่ไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก ทั้งนี้ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการออมเงินโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้