ลักษณะเฉพาะของภาคเกษตรและสินค้าเกษตรและอาหาร
สินค้าเกษตรและอาหารของไทยสามารถแบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ จัดแบ่งตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ พืช ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ภาคเกษตรในภาพรวมมีสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงจาก ร้อยละ 29.83 ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒนาฯ) ฉบับที่ 1 เหลือเพียงร้อยละ 9.40 ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (สำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร, 2555) และหากพิจารณาในแต่ละหมวดนั้น พบว่า ภาคพืชจะมีสัดส่วนสูงที่สุดมาโดยตลอดที่มีการจัดเก็บข้อมูล ความสำคัญของภาคประมงนั้นมีความสำคัญในอันดับรองนับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 เป็นต้นมา มีสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ประมาณร้อยละ 1.40 และภาคปศุ-สัตว์มีสัดส่วนในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ประมาณ 1.25 ในขณะที่ภาคป่าไม้นั้นลดความสำคัญลงอย่างมากนับตั้งแต่การยกเลิกสัมปทานป่าไม้ โดยมีสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 0.09 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
การที่สัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของภาคเกษตรลดลงเมื่อเทียบกับภาคนอกการเกษตรนั้นมาจากลักษณะเฉพาะของภาคเกษตร และมาจากปัจจัยทางด้านการบริโภคของสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่ง ประยงค์ เนตยารักษ์ (2550) ได้สรุปไว้ดังนี้
• การผลิตสินค้าเกษตรต้องใช้เวลานาน
• การผลิตสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับธรรมชาติ นั่นคือ สภาพดิน แสงแดด น้ำ และอากาศ
• การผลิตสินค้าเกษตรมีลักษณะเป็นฤดูกาล
• สินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย
• ความไม่แน่นอนด้านราคาและผลผลิต
• ข้อมูลข่าวสารด้านราคาและเทคโนโลยีการผลิตไม่สมบูรณ์
• การรับภาระความเสี่ยงที่เกิดจากการตัดสินใจ
• หน่วยผลิตส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย
• การขนส่งสินค้าเกษตรมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น
• ผู้บริโภคมีข้อจำกัดในการบริโภคทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ