ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๕๒
 
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เป็นปีที่ ๖๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๕ มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒
(๒) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๔ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“หน่วยราชการ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นแต่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า หน่วยงานอื่นของรัฐนอกจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น
“รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
“ราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
 
มาตรา ๕ ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศโดยความเห็นชอบร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ระเบียบหรือประกาศนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
 
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
 
มาตรา ๖ ผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มีองค์ประกอบมีวิธีการสรรหา การเลือก และการให้ความเห็นชอบ และวาระการดำรงตำแหน่ง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
 
มาตรา ๗ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเป็นผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
 
มาตรา ๘ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันสมัคร
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) ไม่เคยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(๕) ไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(๖) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น
(๗) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้มีตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสามปีก่อนวันสมัคร
(๘) ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(๙) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๑๐) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๑๑) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
(๑๒) ไม่เคยถูกวินิจฉัยหรือมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
(๑๓) ไม่เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ
(๑๔) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
(๑๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
 
มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘
(๕) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๖) ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๗) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ของรัฐธรรมนูญ
(๘) วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
 
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งให้ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินให้แล้วเสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นใหม่
 
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งซึ่งมิใช่เป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
ในกรณีที่เหลือผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนสองคนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่อาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่
 
มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมร่วมกันพิจารณาแบ่งงานเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ละคนปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ และรับผิดชอบตามขอบเขตของงานที่ได้รับมอบหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกันกำหนด เว้นแต่กรณีตามวรรคสาม
ในการประชุมตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มาประชุม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่อาวุโสสูงสุดเป็นประธานในที่ประชุม
การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ (๕) (๖) (๗) และ (๘) มาตรา ๒๔ วรรคสาม มาตรา ๒๕ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา ๓๗ วรรคสอง มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ หรือกรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันและหากผู้ตรวจการแผ่นดินเหลืออยู่สองคน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เหลืออยู่ปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันได้
 
มาตรา ๑๓ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี
(ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
(ค) การตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล
(ง) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๒) ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
(๓) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น
(๔) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกปี ทั้งนี้ ให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
การใช้อำนาจหน้าที่ตาม (๑) (ก) (ข) และ (ค) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวมหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้
 
มาตรา ๑๔ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
(๒) กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา ๑๓ (๑) (ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย
 
มาตรา ๑๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) ให้หัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตาม (๑) พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐานหรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(๓) ขอให้ศาลส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(๔) ตรวจสถานที่ที่เกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนโดยแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ทราบล่วงหน้าในเวลาอันควร
(๕) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการรับคำร้องเรียนไว้พิจารณาและระเบียบว่าด้วยการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
(๖) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๙
(๗) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย เบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทางของพยานบุคคลและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
(๘) ออกระเบียบหรือปฏิบัติการอื่นใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
มาตรา ๑๖ ในการใช้อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๑๕ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดต่อไปได้ให้ยุติเรื่องนั้นและให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
 
มาตรา ๑๗ การจัดทำรายงานตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ ให้กระทำเป็นการสรุปโดยมิให้ระบุรายละเอียดอันเป็นการเปิดเผยความลับของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็น
 
มาตรา ๑๘ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรือทางอาญาเนื่องจากการที่ตนได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
 
มาตรา ๑๙ ผู้ที่ให้ถ้อยคำ หรือให้วัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือผู้ที่จัดทำและเผยแพร่รายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๓ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการที่ตนเปิดเผยข้อมูล หรือให้วัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานหรือจัดทำและเผยแพร่รายงานโดยสุจริต แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๒๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมอบหมาย หรือเป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการ หรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือพิจารณาสอบสวน หรือเป็นการรายงานตามอำนาจหน้าที่ หรือการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
 
มาตรา ๒๒ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
 
การร้องเรียน และการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง
 
 
ส่วนที่ ๑
การร้องเรียน
 
 
มาตรา ๒๓ บุคคล คณะบุคคล และชุมชน ย่อมมีสิทธิร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
การร้องเรียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องเรียนที่จะดำเนินการตามกฎหมายอื่น
 
มาตรา ๒๔ การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ทำได้โดยทำเป็นหนังสือ ด้วยวาจาหรือด้วยวิธีการอื่น
ในกรณีร้องเรียนเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(๑) ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน
(๒) ระบุเหตุที่ทำให้ต้องร้องเรียนพร้อมด้วยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนตามสมควร
(๓) ใช้ถ้อยคำสุภาพ
(๔) ลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียน
หลักเกณฑ์และวิธีการการร้องเรียนด้วยวาจา หรือวิธีการอื่น ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
 
มาตรา ๒๕ การเสนอคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอโดยนำส่งด้วยตนเองส่งทางไปรษณีย์ มอบให้บุคคลอื่นนำส่ง หรือนำส่งด้วยวิธีการอื่นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้
หลักเกณฑ์และวิธีการการนำเสนอคำร้องเรียนด้วยวิธีการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
 
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาได้สอบสวนหรือพิจารณาเรื่องใดและเห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะส่งเรื่องนั้นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดำเนินการก็ได้ และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการดำเนินการเบื้องต้นต่อคณะกรรมาธิการ
 
มาตรา ๒๗ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องจากคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๒๖ แล้ว แม้ภายหลังคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนั้นต่อไป
 
ส่วนที่ ๒
การพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง
 
 
มาตรา ๒๘ เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ให้รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติการพิจารณา
(๑) เรื่องที่เป็นนโยบายซึ่งคณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เว้นแต่การปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๑๓ (๑) หรือ (๒)
(๒) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว
(๓) เรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๓ (๑) หรือ (๒)
(๔) เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือการลงโทษทางวินัยของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๓ (๒)
(๕) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔
 
มาตรา ๒๙ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจไม่รับพิจารณาหรืออาจยุติการพิจารณาเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๒) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๓) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้ยื่นเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการร้องเรียน และการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๔) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมหรือได้รับการชดใช้ความเสียหายอย่างเหมาะสมแล้ว และการพิจารณาต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๕) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่แสดงพยานหลักฐาน หรือไม่ดำ เนินการตามหนังสือที่ได้รับจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๖) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนตายโดยไม่มีทายาทเข้าแทนที่ และการพิจารณาต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๗) เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยสรุปผลการพิจารณาแล้ว เว้นแต่จะปรากฏพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไป
 
มาตรา ๓๐ เรื่องใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา ๒๘ และเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจไม่รับพิจารณาตามมาตรา ๒๙ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องนั้นไปให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้
 
มาตรา ๓๑ เมื่อมีการร้องเรียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้าและต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียน ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนได้ตามสมควร
เรื่องใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย สั่งไม่รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติเรื่อง ให้แจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบพร้อมทั้งเหตุผลที่ไม่รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติเรื่อง และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการจะส่งคำสั่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนั้นทราบด้วยก็ได้
เหตุผลตามวรรคสองให้ระบุข้อเท็จจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด และในกรณีให้ยุติเรื่องเพราะเหตุที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นมิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๓ (๑) (ก) (ข) (ค) หรือมาตรา ๑๓ (๒) ให้ชี้แจงเหตุผลให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมโดยละเอียดให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วย
 
มาตรา ๓๒ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดเสร็จแล้ว ให้จัดทำรายงานสรุปข้อเท็จจริง พร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขส่งให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบหรือพิจารณาดำเนินการต่อไป
เรื่องใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปรากฏว่าการกระทำในเรื่องใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นได้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือความไม่เสมอกันในกฎหมาย หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือล้าสมัย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีให้ส่งรายงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้หน่วยงานตามวรรคสองปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และระเบียบ หากหน่วยงานนั้นไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวในเวลาอันควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอไปยังองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไป และรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบเป็นกรณีเร่งด่วน
 
มาตรา ๓๓ ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องใดในเวลาอันควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ควบคุมหรือกำกับดูแลหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อให้สั่งการตามควรแก่กรณี และให้รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบโดยไม่ชักช้า
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งและระยะเวลาได้ล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว ข้าราชการพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันควร และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญหรือเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นกรณีเร่งด่วน
รายงานดังกล่าวให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
 
มาตรา ๓๔ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเรื่องใดมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือมีมูลความผิดทางอาญา หรือมีมูลความผิดทางวินัย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนเรื่องนั้น ๆ และผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนและผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบทุกสามเดือน
 
การตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม
 
 
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๑๓ (๑) (ค) ให้นำบทบัญญัติหมวด ๒ การร้องเรียน และการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
 
มาตรา ๓๖ การดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท
(๒) ส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม
(๓) รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม ดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม
เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่นส่งประมวลจริยธรรมที่ได้จัดทำขึ้นไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จัดทำประมวลจริยธรรมดังกล่าวแล้วเสร็จ
 
มาตรา ๓๗ ในกรณีมีการร้องเรียนว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามประมวลจริยธรรม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยให้นำบทบัญญัติหมวด ๒ การร้องเรียน และการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อดำเนินการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่งแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตามประมวลจริยธรรม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมหากการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการโดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ
 
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามประมวลจริยธรรม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม เพื่อดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม
 
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม มีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้ที่รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้
การไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรฐานหรือหลักประกันไม่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือหลักประกันตามมาตรา ๓๑
 
การติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
 
 
มาตรา ๔๐ ในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจขอให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องชี้แจงและรายงานผลการดำเนินการเพื่อประกอบการพิจารณา
เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วพบว่าหน่วยงานใดยังไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในเรื่องใด ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วแจ้งไปยังผู้ควบคุมหรือกำกับดูแลหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นนั้น เพื่อให้สั่งการตามควรแก่กรณี และให้รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ
 
มาตรา ๔๑ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำการประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การประเมินผลที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบตามมาตรา ๔๓
 
มาตรา ๔๒ ในการประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามีข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินโดยความเห็นชอบร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี
 
การรายงานประจำปี
 
 
มาตรา ๔๓ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำ รายงานประจำ ปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาภายในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใดคนหนึ่งมาแถลงรายงานประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาด้วยตนเอง ในรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ผลการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ พร้อมทั้งข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะที่เสนอต่อหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(๒) ผลการปฏิบัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๓) การไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๔) การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๕) ผลการติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
(๖) อุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
รายงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเปิดเผยให้สาธารณะทราบตามวิธีการที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด ในการกำหนดวิธีการเปิดเผยนี้ ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดรูปแบบที่คนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ด้วย
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นสมควรรายงานให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาทราบเป็นพิเศษเฉพาะเรื่องเพราะเป็นกรณีเร่งด่วน หรือจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินก็ให้กระทำได้
 
มาตรา ๔๔ ให้นำความในมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับกับการจัดทำรายงานตามมาตรา ๔๓
 
บทกำหนดโทษ
 
 
มาตรา ๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๖ ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
บทเฉพาะกาล
 
 
มาตรา ๔๘ การดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ได้ดำเนินการไปแล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือที่ได้ดำเนินการแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
 
มาตรา ๔๙ บรรดากฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
 
มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
 
มาตรา ๕๑ ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีกฎหมายว่าด้วยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมาใช้บังคับ
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๘ บัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และมาตรา ๒๔๒ บัญญัติให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินและกำหนดให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
สั่งซื้อที่

ส่งเป็นไฟล์ทางอีเมล์ สนใจสั่งซื้อมาที่ โทร 085-0127724  Line : testthai1
สามารถนำไปปริ้นเพื่นอ่านได้เลย ในราคาเพียงส่ชุดละ 399 บาท  ได้รับภายใน 2-3 ชม.
ส่ง EMS ทางไปรษณีย์ เป็นหนังสือ +MP3  ราคา 679 บาท ได้รับภายใน 2-3 วัน
กรุณาชำระค่าสินค้าและบริการ
เลขที่บัญชี 491-2-00428-2 
ธ.กสิกรไทย  
ออมทรัพย์ ชื่อบัญชี decho pragay

ผลงานการสอบได้ของลูกค้า 
ติดตามข่าวการสอบราชการที่  https://www.facebook.com/testthai1
ดาวน์โหลดแนวข้อสอบรับราชการที่นี่  www.ข้อสอบงานราชการไทย.com

จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้