ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

แชร์กระทู้นี้


พระราชบัญญัติ
การทะเบียนราษฎร
พ.ศ. ๒๕๓๔
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙
(๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓๔ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การทะเบียนราษฎร” หมายความว่า งานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
“ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร” หมายความว่า ข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับ ชื่อ ชื่อสกุล เพศ วันเดือนปีเกิดและตาย สัญชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา สถานะการสมรส วุฒิการศึกษา ชื่อบิดามารดาหรือผู้รับบุตรบุญธรรม ชื่อคู่สมรส และชื่อบุตร และข้อมูลอื่นที่จำเป็นเพื่อการดำเนินงานทะเบียนต่าง ๆ ในพระราชบัญญัตินี้
“เลขประจำตัว” หมายความว่า เลขประจำตัวประชาชนที่นายทะเบียนออกให้แก่บุคคลแต่ละคน
“บ้าน” หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย
“ทะเบียนบ้าน” หมายความว่า ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจำบ้าน และรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน
“ทะเบียนคนเกิด” หมายความว่า ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนเกิด
“ทะเบียนคนตาย” หมายความว่า ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนตาย
“ทะเบียนบ้านกลาง” หมายความว่า ทะเบียนซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน
“เจ้าบ้าน” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตาม
ในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน หรือเจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญหรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน
“ผู้อยู่ในบ้าน” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
“อำเภอ” ให้หมายความรวมถึงกิ่งอำเภอ
“ท้องถิ่น” หมายความว่า กรุงเทพมหานคร เทศบาล เมืองพัทยา และหน่วยการปกครองท้องถิ่นอื่นที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางโดยอนุมัติรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกลาง นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนสาขา นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนเฉพาะกิจ และนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนหรือผู้ช่วยนายทะเบียน
“นายทะเบียนผู้รับแจ้ง” หมายความว่า นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น และผู้ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้กำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการแจ้งการเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ การสร้างบ้านใหม่ การรื้อบ้าน และการกำหนดเลขประจำบ้าน โดยได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ดังกล่าวไว้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหรือยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งการเกิด การแจ้งการตาย การแจ้งการย้ายที่อยู่ การสำรวจตรวจสอบหรือปรับปรุงการทะเบียนราษฎร การจัดทำทะเบียนประวัติ การจัดทำบัตรประจำตัวหรือการอื่นใดอันเกี่ยวกับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายที่เกี่ยวด้วยสัญชาติได้
กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ไว้ด้วยก็ได้
 
มาตรา ๖ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจ หรือคัดสำเนารายการ หรือให้นายทะเบียนคัดและรับรองซึ่งสำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิดหรือทะเบียนคนตาย ได้ที่สำนักทะเบียนในวันเวลาราชการ
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการเกี่ยวกับบัตรประจำตัวหรือรายการทะเบียนราษฎรอื่นที่จัดทำตามพระราชบัญญัตินี้สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วยโดยอนุโลม
เมื่อได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้วให้นายทะเบียนดำเนินการโดยเร็ว
 
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น
กฎกระทรวง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
สำนักทะเบียนและนายทะเบียน
                  
 
มาตรา ๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๘/๑ ให้มีสำนักทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้
(๑) สำนักทะเบียนกลาง มีผู้อำนวยการทะเบียนกลาง รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง และผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง เป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกลาง มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรทั่วราชอาณาจักร
(๒) สำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร มีนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร เป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร
(๓) สำนักทะเบียนจังหวัด มีนายทะเบียนจังหวัดและผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด เป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตจังหวัด
(๔) สำนักทะเบียนอำเภอ มีนายทะเบียนอำเภอและผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตอำเภอ
(๕) สำนักทะเบียนท้องถิ่น มีนายทะเบียนท้องถิ่นและผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ
 
มาตรา ๘/๑ การจัดตั้งสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นตามมาตรา ๘ (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางประกาศ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งความพร้อมและความสะดวกในการให้บริการประชาชน รวมตลอดถึงการไม่ซ้ำซ้อนและการประหยัด
สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นตามมาตรา ๘ (๔) และ (๕) ที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วนั้น เมื่อคำนึงถึงสภาพตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจะยุบหรือควบรวมเข้าด้วยกันก็ได้
อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักทะเบียนที่จัดตั้งตามวรรคหนึ่งหรือควบรวมตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางประกาศกำหนด
 
มาตรา ๘/๒ ให้มีนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้
(๑) อธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้อำนวยการทะเบียนกลาง มีอำนาจออกระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดแบบพิมพ์เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และแต่งตั้งรองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง และผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง
(๒) ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร
(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด
(๔) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี เป็นนายทะเบียนอำเภอ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ
(๕) ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการเขต ปลัดเมืองพัทยาหรือหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เป็นนายทะเบียนท้องถิ่น และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น
ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตาม (๑) จะมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือจะมอบหมายให้ข้าราชการสังกัดกรมการปกครองช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดด้วยก็ได้
นายทะเบียนกรุงเทพมหานครตาม (๒) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานครหรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับกองในสำนักปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนกรุงเทพมหานครก็ได้
นายทะเบียนจังหวัดตาม (๓) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนจังหวัดก็ได้
นายทะเบียนอำเภอตาม (๔) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ หรือปลัดอำเภอปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนอำเภอก็ได้
นายทะเบียนท้องถิ่นตาม (๕) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น รองปลัดเทศบาลผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต รองปลัดเมืองพัทยา หรือรองหรือผู้ช่วยหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี ปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนท้องถิ่นก็ได้
 
มาตรา ๙ ในกรณีจำเป็นต้องมีสำนักทะเบียนสาขา หรือสำนักทะเบียนเฉพาะกิจในเขตท้องที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดตั้งและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบการปฏิบัติงาน การทะเบียนราษฎรสำหรับสำนักทะเบียนสาขาหรือสำนักทะเบียนเฉพาะกิจในเขตท้องที่ของสำนักทะเบียนดังกล่าว และให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการเขต ปลัดเมืองพัทยา หรือหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี แต่งตั้งนายทะเบียนและผู้ช่วยนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนดังกล่าวในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ
 
มาตรา ๑๐ เพื่อความถูกต้องของการทะเบียนราษฎร ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกเจ้าบ้าน หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้แสดงหลักฐานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น และเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยให้มีอำนาจเข้าไปสอบถามผู้อยู่ในบ้านใด ๆ ได้ ตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าบ้านทราบก่อน ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
ในการเข้าไปสอบถามตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า การดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อดำเนินการจัดทำหลักฐานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียน และดำเนินการแก้ไขข้อความรายการทะเบียนให้ถูกต้องแล้วแต่กรณี
การดำเนินการตามวรรคสาม รวมตลอดทั้งวิธีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงและการอุทธรณ์ของผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของนายทะเบียน รวมถึงการพิจารณาคำอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ก่อนที่จะรับฟังคำชี้แจงหรือการโต้แย้งได้
 
มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
หมวด ๒
การจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
                  
 
มาตรา ๑๒ เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาและควบคุมการทะเบียนราษฎร การตรวจสอบพิสูจน์ตัวบุคคลและประมวลผลข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ให้สำนักทะเบียนกลางดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด และปรับปรุงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ตรงต่อความเป็นจริงอยู่เสมอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับข้อมูลของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เข้ามาหรืออาศัยอยู่ในราชอาณาจักร จัดส่งข้อมูลที่มีอยู่ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางร้องขอ
 
มาตรา ๑๓ การจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามมาตรา ๑๒ ไม่รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลของบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) รายได้
(๒) ประวัติอาชญากรรม
(๓) การชำระหรือไม่ชำระภาษีอากร
(๔) ข้อมูลที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือ
(๕) ข้อมูลที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องแจ้ง
 
มาตรา ๑๔ บุคคลผู้มีหน้าที่แจ้งการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เจ้าของประวัติซึ่งปรากฏในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามมาตรา ๑๒ หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ในกรณีเจ้าของประวัติเป็นผู้เยาว์ ผู้อนุบาลในกรณีเจ้าของประวัติเป็นคนไร้ความสามารถหรือทายาทเจ้าของประวัติ หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น อาจขอให้นายทะเบียนดำเนินการได้ที่สำนักทะเบียนในวันเวลาราชการ ดังนี้
(๑) คัดและรับรองเอกสารข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ตามมาตรา ๑๒ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๒) แก้ไขเพิ่มเติม ลบ หรือทำให้ทันสมัยซึ่งข้อมูลใด ๆ ในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามความเป็นจริง
เมื่อได้รับคำขอตาม (๒) ให้นายทะเบียนมีคำสั่งโดยเร็ว คำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่รับคำขอหรือไม่ดำเนินการตามคำขอทั้งหมดหรือบางส่วน ให้คู่กรณียื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนจังหวัดนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการทะเบียนกลาง แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งจากนายทะเบียน
เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม ลบ หรือทำให้ทันสมัยซึ่งข้อมูลใด ๆ ในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร และการอุทธรณ์ให้กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๕ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอาจขอให้นายทะเบียนจัดส่งสำเนาเอกสารข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรได้ ทั้งนี้ เฉพาะเพื่อการอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐนั้น
หากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ผู้อำนวยการทะเบียนกลางอาจอนุญาตให้เชื่อมโยงได้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่ปรากฏภายในทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตายหรือทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในราชอาณาจักร คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางยินยอมให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนอื่นนอกจากทะเบียนตามวรรคสองเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีกำหนดก็ได้
ห้ามมิให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือพนักงานสอบสวนที่ได้ข้อมูลใดตามมาตรานี้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจหรือในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของทางราชการหรือตามวัตถุประสงค์ที่ร้องขอ
 
มาตรา ๑๖ ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน
การยกเว้นการให้เลขประจำตัวแก่บุคคล ให้กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๗ ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรต้องถือเป็นความลับ และให้นายทะเบียนเป็นผู้เก็บรักษาและใช้เพื่อการปฏิบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความหรือตัวเลขนั้นแก่บุคคลใด ๆ ซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือแก่สาธารณชน เว้นแต่ผู้มีส่วนได้เสียขอทราบเกี่ยวกับสถานภาพทางครอบครัวของผู้ที่ตนจะมีนิติสัมพันธ์ด้วย หรือเมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การสถิติ หรือเพื่อประโยชน์แก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือการดำเนินคดีและการพิจารณาคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ว่าในกรณีใดจะนำข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไปใช้เป็นหลักฐานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลมิได้
 
หมวด ๓
คนเกิด คนตาย
                  
 
มาตรา ๑๘ เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดดังต่อไปนี้
(๑) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด
(๒) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด
การแจ้งตาม (๑) และ (๒) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย
ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๙ ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออก ใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย
 
มาตรา ๑๙/๑ เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๑๙/๒ การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๑ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๑๙/๓ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา ๑๘ อาจร้องขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด และให้นำความในมาตรา ๑๙/๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองแจ้งแทนได้ แต่สำหรับกรณีของบิดามารดาให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการให้ต่อเมื่อได้ชำระค่าปรับตามที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเปรียบเทียบตามมาตรา ๔๗ (๒) และมาตรา ๕๑ แล้ว
 
มาตรา ๒๐ เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/๑ หรือมาตรา ๑๙/๓ ทั้งกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งโดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้
สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยให้ระบุสถานการณ์เกิดไว้ด้วย
 
มาตรา ๒๐/๑ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๒๑ เมื่อมีคนตายให้แจ้งการตายดังต่อไปนี้
(๑) คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย ในกรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ
(๒) คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพ แล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ ในกรณีเช่นนี้จะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้
กำหนดเวลาให้แจ้งตาม (๑) และ (๒) ถ้าในท้องที่ใดการคมนาคมไม่สะดวก ผู้อำนวยการทะเบียนกลางอาจขยายเวลาออกไปตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ
การแจ้งตาม (๑) และ (๒) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อผู้แจ้งด้วย
ให้นำความในวรรคสามของมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับกับการแจ้งตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๒ เมื่อมีการแจ้งตามมาตรา ๒๑ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกมรณบัตรเป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้ง เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๒๕
 
มาตรา ๒๓ เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๑
 
มาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ฝัง เผา ทำลาย หรือย้ายศพไปจากสถานที่หรือบ้านที่มีการตาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
เมื่อได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้เก็บ ฝัง เผา ทำลายหรือย้ายศพผิดไปจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องย้ายศพ เพื่อความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจกระทำได้
 
มาตรา ๒๕ ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และให้รอการออกมรณบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าว
 
มาตรา ๒๖ ให้นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น แล้วแต่กรณีจัดทำทะเบียนคนเกิดทะเบียนคนตาย จากสูติบัตรและมรณบัตรตามแบบพิมพ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๒๗ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย หรือสูติบัตรและมรณบัตรให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๒๘ ให้กงสุลไทยหรือข้าราชการสถานทูตไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียน มีหน้าที่รับจดทะเบียนคนเกิดและคนตายที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักรสำหรับคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หลักฐานการจดทะเบียนดังกล่าวให้ใช้เป็นสูติบัตรและมรณบัตรได้
ถ้าในที่ซึ่งมีการเกิดหรือการตายตามวรรคหนึ่ง ไม่มีกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยประจำอยู่ ให้ใช้หลักฐานการเกิดหรือการตายที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แปลและรับรองว่าถูกต้องเป็นหลักฐานสูติบัตรและมรณบัตรได้
การจดทะเบียนคนเกิดและคนตายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
หมวด ๔
การย้ายที่อยู่
                  
 
มาตรา ๒๙ ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น
 
มาตรา ๓๐ ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน ให้แจ้งการย้ายออกภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก
(๒) เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่ในบ้าน ให้แจ้งการย้ายเข้าภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
นอกจากกรณีตาม (๑) และ (๒) ผู้ย้ายที่อยู่จะเป็นผู้แจ้งการย้ายออกและย้ายเข้า โดยไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันย้ายออกก็ได้ โดยให้นำสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมด้วยคำยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าบ้านที่เข้าไปอยู่ใหม่แสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การแจ้งย้ายตามมาตรานี้ ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ใบแจ้งย้ายที่อยู่ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๓๑ ในการแจ้งการย้ายที่อยู่เข้าในบ้านใด ถ้านายทะเบียนผู้รับแจ้งเห็นว่ามีผู้ย้ายเข้าอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคราวเดียวหรือหลายคราว และเมื่อได้ตรวจสภาพบ้านแล้วเห็นว่า การย้ายเข้าอยู่ในบ้านจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข นายทะเบียนผู้รับแจ้งมีอำนาจไม่รับแจ้งการย้ายเข้าอยู่ในบ้านได้
 
มาตรา ๓๒ การแจ้งย้ายผู้ใดเข้าอยู่ในบ้านตามมาตรา ๓๐ (๒) เจ้าบ้านต้องนำหลักฐานการย้ายออกของผู้นั้นตามมาตรา ๓๐ (๑) ไปแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งด้วย ทั้งนี้ มิให้นำความในมาตรานี้มาใช้แก่กรณีดำเนินการย้ายตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง และกรณีผู้ย้ายเข้ามาจากต่างประเทศโดยมีหลักฐาน
 
มาตรา ๓๓ เมื่อผู้อยู่ในบ้านใดออกจากบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไปอยู่ที่อื่นเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสามสิบวันนับแต่วันครบหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ และให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลาง
 
หมวด ๕
ทะเบียนบ้าน
                  
 
มาตรา ๓๔ ให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน บ้านใดยังไม่มีเลขประจำบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ
ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านให้แก่ผู้แจ้งซึ่งมีบ้านอยู่ในเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นภายในเจ็ดวัน ถ้ามีบ้านอยู่นอกเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นให้กำหนดเลขประจำบ้านภายในสามสิบวัน
ให้เจ้าบ้านติดเลขประจำบ้านไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้ง
ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจะกำหนดให้มีทะเบียนบ้านชั่วคราวตามระเบียบ เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบทางทะเบียนก็ได้
 
มาตรา ๓๕ ถ้ามีบ้านอยู่หลายหลังในบริเวณเดียวกัน ให้กำหนดเลขประจำบ้านเพียงเลขเดียว แต่ถ้าเจ้าบ้านประสงค์จะกำหนดเลขประจำบ้านเพิ่มขึ้นอีกให้ยื่นขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
บ้านที่ปลูกเป็นตึกแถว ห้องแถว หรืออาคารชุด ให้กำหนดเลขประจำบ้านทุกห้องหรือทุกห้องชุด โดยถือว่าห้องหรือห้องชุดหนึ่ง ๆ เป็นบ้านหลังหนึ่ง
 
มาตรา ๓๖ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๓๗ การเพิ่มชื่อและรายการของบุคคลลงในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลาง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๓๘ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว
ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๓๙ ให้นายทะเบียนอำเภอ และนายทะเบียนท้องถิ่นมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านเก็บรักษา เมื่อมีการเพิ่ม เปลี่ยนแปลง หรือจำหน่ายรายการในทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านนำสำเนาทะเบียนบ้านไปให้นายทะเบียนบันทึกรายการให้ถูกต้องตรงกับต้นฉบับทุกครั้ง
ถ้าสำเนาทะเบียนบ้านชำรุดจนใช้การไม่ได้หรือสูญหาย ให้เจ้าบ้านขอรับสำเนาทะเบียนบ้านใหม่ได้ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้อำนวยการทะเบียนกลางเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีสำเนาทะเบียนบ้านต่อไปในเขตสำนักทะเบียนใด ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางมีอำนาจยกเลิกการใช้สำเนาทะเบียนบ้านในเขตสำนักทะเบียนนั้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๔๐ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๔๑ ผู้ใดรื้อบ้านที่มีเลขประจำบ้านโดยไม่ประสงค์จะปลูกบ้านใหม่ในที่ดินบริเวณนั้นอีกต่อไปหรือรื้อเพื่อไปปลูกสร้างบ้านในที่อื่น ให้แจ้งการรื้อบ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รื้อบ้านเสร็จเพื่อจำหน่ายเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้าน
บ้านที่รื้อถอนโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนจำหน่ายเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้านและแจ้งย้ายผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นไปไว้ในทะเบียนบ้านกลางตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
มาตรา ๔๒ การย้ายบ้านซึ่งเคลื่อนย้ายได้ หรือการย้ายแพหรือเรือหรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่ประจำไปอยู่หรือจอด ณ ที่อื่น ถ้าอยู่หรือจอดเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เจ้าบ้านต้องแจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่หรือจอดใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
 
หมวด ๖
การสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎร
                       
 
มาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์ของการทะเบียนราษฎร ให้มีการสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎรบางท้องที่หรือทั่วราชอาณาจักรได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๔๔ เมื่อได้ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๔๓ แล้ว ให้นายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายเป็นหนังสือมีอำนาจเข้าไปในบ้านในเขตท้องที่ที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเพื่อสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎรเท่าที่จำเป็นในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
ให้เจ้าบ้านชี้แจงตอบคำถามตามความจริงและให้ลงลายมือชื่อในรายการสำรวจตรวจสอบเพื่อรับรองข้อความในรายการที่สำรวจตรวจสอบนั้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ หรือบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหนังสือหลักฐานแห่งการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่แก่เจ้าบ้านก่อนเข้าไปสำรวจตรวจสอบ
 
มาตรา ๔๕ ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางรวบรวมรายงานยอดจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรที่มีอยู่ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีที่ล่วงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
การประกาศยอดจำนวนราษฎรตามความในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
 
หมวด ๗
การมอบหมายให้แจ้งแทน
                  
 
มาตรา ๔๖ ในกรณีการแจ้งตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๒๑ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งได้มอบหมายให้ผู้ใดไปแจ้งแทนและเมื่อผู้ได้รับมอบหมายได้แจ้งต่อผู้มีหน้าที่รับแจ้งตามมาตรานั้น ๆ แล้ว ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่นั้นได้แจ้งแล้ว
การปฏิบัติตามมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่งหรือวรรคสองของเจ้าบ้านว่าด้วยเรื่องสำเนาทะเบียนบ้าน ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
                  
 
มาตรา ๔๗ ผู้ใด
(๑) ไม่มาตามที่นายทะเบียนเรียก ไม่ยอมแจ้งชื่อ ไม่ยอมแจ้งข้อเท็จจริง หรือแสดงหลักฐาน ไม่ยอมให้นายทะเบียนเข้าไปสอบถามในบ้านตามมาตรา ๑๐
(๒) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/๑ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒
(๓) ฝ่าฝืนมาตรา ๒๔ หรือ
(๔) ไม่ยอมให้นายทะเบียนเข้าไปในบ้านเพื่อสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎร ไม่ยอมชี้แจงหรือตอบคำถาม หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อตามมาตรา ๔๔
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
 
มาตรา ๔๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๔๘/๑[ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ วรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐกระทำผิดตามมาตรานี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นกับการกระทำความผิดนั้นและได้จัดการตามสมควรเพื่อมิให้เกิดการกระทำความผิดนั้นแล้ว
 
มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
 
มาตรา ๕๐ ผู้ใด ทำ ใช้ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือกระทำการเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านหรือเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่งเป็นคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
 
มาตรา ๕๑ ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มีอำนาจเปรียบเทียบได้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี



อัตราค่าธรรมเนียม
                  
 
๑. การออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
ตามมาตรา ๕ กรณีทำบัตรครั้งแรกหรือบัตรเดิมหมดอายุ             ฉบับละ    ๑๐๐    บาท
กรณีบัตรเดิมสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ             ฉบับละ    ๑๐๐    บาท
กรณีเปลี่ยนบัตรเนื่องจากการแก้ไขรายการผู้ถือบัตร                  ฉบับละ    ๑๐๐    บาท
๒. การขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียน
หรือบัตรประจำตัวตามมาตรา ๖                                         ฉบับละ    ๑๐๐    บาท
๓. การขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนา
รายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามมาตรา ๑๔ (๑)              ฉบับละ    ๑๐๐    บาท
๔. การแจ้งการเกิดตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม
การแจ้งการตายตามมาตรา ๒๑ วรรคสี่ หรือการแจ้ง
การย้ายที่อยู่ตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง หรือวรรคสี่                    ฉบับละ    ๑๐๐    บาท
๕. การขอรับสำเนาทะเบียนบ้านตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง                ฉบับละ    ๑๐๐    บาท


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
 
มาตรา ๒๕ ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน
 
มาตรา ๒๖ ให้สำนักทะเบียนอำเภอ และสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ดำเนินการอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่จัดตั้งตามมาตรา ๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๗ บรรดากฎกระทรวง ระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๒๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรเพื่อให้นายทะเบียนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น และกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการในการแจ้งการเกิด การออกสูติบัตร การออกหนังสือรับรองการเกิด และการจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าวรวมทั้งสมควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้