ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
การทะเบียนคนต่างด้าว
พ.ศ. ๒๔๙๓
                  
 
 
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต กรมพระชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว
 
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พุทธศักราช ๒๔๗๙ พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๓
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“คนต่างด้าว” หมายความว่า คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
“ใบสำคัญประจำตัว” หมายความว่า หนังสือประจำตัวของคนต่างด้าว ซึ่งนายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้
“นายทะเบียน” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าบ้าน” หมายความถึงบุคคลซึ่งครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอย่างอื่นใดก็ตาม
ในกรณีที่เจ้าบ้านไม่อยู่ควบคุมบ้านเอง แต่ได้มอบหมายให้บุคคลใดควบคุมอยู่ ในระหว่างที่ควบคุมอยู่นั้นให้ถือว่าผู้ควบคุมเท่านั้นเป็นเจ้าบ้าน
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ คนต่างด้าวที่มีอายุตั้งแต่สิบสองปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่อยู่ในราชอาณาจักร ต้องมีใบสำคัญประจำตัว
 
มาตรา ๖ การขอใบสำคัญประจำตัวให้ทำเป็นเรื่องราวพร้อมด้วยรูปถ่ายสามรูปยื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่คนต่างด้าวนั้นมีภูมิลำเนา ตามแบบพิมพ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๗ คนต่างด้าวที่มีอายุสิบสองปีบริบูรณ์ หรือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีอายุสิบสองปีบริบูรณ์ หรือวันที่รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองแล้วแต่กรณี เฉพาะในกรณีหลังให้แจ้งด้วยว่าได้นำคนต่างด้าวอายุต่ำกว่าสิบสองปีมาด้วยกี่คน ถ้ามี เพื่อนายทะเบียนจะได้จดลงไว้ในใบสำคัญประจำตัว
 
มาตรา ๘ คนสัญชาติไทยผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนในท้องที่ที่ตนอยู่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าตนได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย
 
มาตรา ๙ เมื่อนายทะเบียนได้ตรวจเรื่องราวขอใบสำคัญประจำตัวเห็นเป็นการถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนออกใบสำคัญประจำตัวให้
ใบสำคัญประจำตัวให้มีลักษณะ ขนาด และรายการตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยให้มีรายการแสดงชื่อ วันเดือนปีเกิด อาชีพ สัญชาติ และที่อยู่ พร้อมด้วยรูปถ่ายของคนต่างด้าวนั้น และลงลายมือชื่อนายทะเบียนไว้ด้วย
 
มาตรา ๑๐ ใบสำคัญประจำตัวนั้น ให้มีกำหนดอายุดังนี้
(๑) ชนิดที่หนึ่ง หนึ่งปี
(๒) ชนิดที่สอง ห้าปี
ทั้งนี้ นับแต่วันออกใบสำคัญประจำตัวให้ ในการขอใบสำคัญประจำตัว ผู้ขอจะขอรับใบสำคัญประจำตัวชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้
 
มาตรา ๑๑ ในการออกใบสำคัญประจำตัวหรือการต่ออายุใบสำคัญประจำตัว ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินปีละสี่ร้อยบาท
ในการออกใบแทนใบสำคัญประจำตัวในกรณีใบสำคัญประจำตัวชำรุดหรือสูญหาย ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินสองร้อยบาท
 
มาตรา ๑๒ คนต่างด้าวคนใดย้ายภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เดิม เพื่อจดข้อความลงไว้ในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้นั้นก่อนที่จะย้ายไป และให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เข้าไปอยู่ใหม่ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันไปถึง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าสามสิบวันนับแต่วันแจ้งย้ายไป
ในกรณีที่คนต่างด้าวออกนอกเขตจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ไปชั่วคราวเกินเจ็ดวัน ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนเข้าไปอยู่ชั่วคราวภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่วันที่ไปถึง การแจ้งในกรณีนี้จะไปแจ้งด้วยตนเองหรือแจ้งเป็นหนังสือตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้
ในกรณีที่คนต่างด้าวตาย ให้เจ้าบ้านแห่งบ้านที่คนต่างด้าวนั้นตายแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่คนต่างด้าวนั้นตาย ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย
 
มาตรา ๑๓ ใบสำคัญประจำตัวของผู้ใดหมดอายุหรือชำรุดในส่วนสำคัญหรือสูญหาย ให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่หมดอายุหรือทราบว่าชำรุดหรือสูญหาย เพื่อขอต่ออายุหรือขอใบแทนใบสำคัญประจำตัวใหม่ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๔ ผู้มีใบสำคัญประจำตัว ถ้าได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญชาติ หรือเปลี่ยนอาชีพ ชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล ให้นำใบสำคัญประจำตัวแจ้งต่อนายทะเบียนที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๕ ผู้ใดเป็นผู้อนุบาลคนต่างด้าวซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือเป็นผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้เพื่อคนต่างด้าวนั้น
 
มาตรา ๑๖ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังต่อไปนี้
๑. ผู้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในรัฐบาลไทย โดยมีหนังสือสัญญาต่อกันตลอดเวลาที่หนังสือสัญญานั้นมีผลบังคับ
๒. ผู้ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลว่า เข้ามาในราชการ และครอบครัวของบุคคลที่กล่าวนี้ ตลอดเวลาที่ผู้นั้นอยู่เพื่อปฏิบัติราชการ
๓. ผู้ถือเอกสารเดินทางซึ่งออกให้โดยองค์การสหประชาชาติและเอกสารนั้นยังสมบูรณ์อยู่
๔. บุคคลที่ไม่นับเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
คนต่างด้าวซึ่งได้รับความยกเว้นดังกล่าวข้างต้น ถ้าประสงค์จะขอรับใบสำคัญประจำตัว ก็ให้ส่งรูปถ่ายของตนต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนออกใบสำคัญประจำตัวให้ในกรณีเช่นว่านี้คนต่างด้าวนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและไม่จำต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่ว่าด้วยใบสำคัญประจำตัว
 
มาตรา ๑๗ คนต่างด้าวซึ่งต้องมีใบสำคัญประจำตัว ต้องมีใบสำคัญประจำตัวติดตัวหรือเก็บไว้ในลักษณะซึ่งจะแสดงต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้เสมอในเมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเรียกร้องให้แสดง
 
มาตรา ๑๘ ใบสำคัญประจำตัวของผู้ต้องเนรเทศออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ หรือของผู้ที่ต้องถูกส่งกลับตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือของผู้ออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ออกไปชั่วคราวโดยได้รับอนุญาตให้กลับนั้น ให้เป็นอันเพิกถอนและให้คนต่างด้าวนั้นส่งใบสำคัญประจำตัวคืนนายทะเบียน
ใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวที่ตาย ให้ผู้ครอบครองหรือผู้พบส่งคืนนายทะเบียน
 
มาตรา ๑๙ ในเขตหรือกรณีใด ซึ่งรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรที่จะผ่อนผันหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะผ่อนผันหรือยกเว้นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีพิเศษเฉพาะรายบุคคล รัฐมนตรีจะผ่อนผันหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร
 
มาตรา ๒๐ ผู้ใดไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามความในมาตรา ๕ หรือไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวที่หมดอายุแล้วตามความในมาตรา ๑๓ หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา ๗ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นรายปี ปีละไม่เกินห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติดังกล่าวแล้ว เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
 
มาตรา ๒๑ ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา ๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
 
มาตรา ๒๒ ผู้ใดละเลยไม่ขอใบแทนใบสำคัญประจำตัวที่ชำรุดหรือสูญหายตามความในมาตรา ๑๓ หรือไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
 
มาตรา ๒๓ ผู้ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อคนต่างด้าวตามความในมาตรา ๑๕ และผู้นั้นละเลยไม่ปฏิบัติ มีความผิดต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๒ แล้วแต่กรณี
ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เยาว์ซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ ไม่ต้องรับอาญาในความผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เฉพาะในกรณีที่มีผู้อนุบาลหรือผู้ปกครอง หรือผู้แทนโดยชอบธรรม
 
มาตรา ๒๔ ใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวที่มีอยู่แล้วก่อนวันใช้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุของใบสำคัญประจำตัวนั้น
 
มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี



พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕
 
มาตรา ๗ ใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวซึ่งมีอยู่แล้วก่อนวันใช้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุใบสำคัญประจำตัวนั้น เว้นแต่ผู้ใดถือใบสำคัญประจำตัวชนิดที่ ๒ ตามความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓ ผู้นั้นต้องนำเงินค่าธรรมเนียมไปชำระเพิ่มเติมให้ครบจำนวนสำหรับระยะปีต่อไปที่ยังเหลืออยู่ภายหลังวันใช้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้นำความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓ มาใช้บังคับแก่กรณีดั่งกล่าวนี้
 
มาตรา ๘ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หากกำหนดโทษปรับอย่างเดียว ให้อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทนมีอำนาจสั่งเปรียบเทียบได้
 
มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๗
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่คนต่างด้าวไม่สนใจในเรื่องแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ เป็นเหตุให้การควบคุมไม่รัดกุมและได้ผลเพียงพอตามความมุ่งหมายของทางราชการ ในระยะเวลาที่กฎหมายเดิมได้บัญญัติไว้ให้แจ้งย้ายภายในกำหนด ๗ วันนั้น เห็นว่าเป็นระยะห่างเกินไปกว่าที่จะติดตามตัวได้ทันท่วงทีเมื่อจำเป็น จึงให้กำหนดแจ้งย้ายหรือแจ้งให้ทราบภายในกำหนด ๔๘ ชั่วโมง นับแต่วันที่ไปถึงท้องที่ใหม่
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้