ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
พ.ศ. ๒๕๒๔
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเช่านา
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗
 
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม ที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและสหกรณ์นิคมเป็นผู้ให้เช่า
 
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
“เกษตรกรรม” หมายความว่า การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ผู้เช่า” หมายความว่า ผู้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่
“ผู้ให้เช่า” หมายความว่า ผู้ที่ให้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่
“การเช่า” หมายความว่า การเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทที่การเช่าที่ดินเพื่อการนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่า และการทำนิติกรรมอื่นใด อันเป็นการอำพรางการเช่านั้น
“ค่าเช่า” หมายความว่า ผลิตผลเกษตรกรรม เงินหรือทรัพย์สินอื่นใด ซึ่งให้เป็นค่าตอบแทนการเช่า และหมายความรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่ผู้ให้เช่าหรือบุคคลอื่นได้รับเพื่อตอบแทนการให้เช่าทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม
“ปี” หมายความว่า ระยะเวลาสิบสองเดือน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มต้นฤดูการประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่น
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานคร
“อำเภอ” หมายความรวมถึงเขตของกรุงเทพมหานคร
“ตำบล” หมายความรวมถึงแขวงของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
“นายอำเภอ” หมายความรวมถึงหัวหน้าเขตของกรุงเทพมหานคร
“กำนัน” หมายความรวมถึงหัวหน้าแขวงของกรุงเทพมหานคร
“คชก. จังหวัด” หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด
“คชก. ตำบล” หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล
 
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
                       
 
มาตรา ๗ ในจังหวัดหนึ่ง ๆ ให้มี คชก. จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ในกรุงเทพมหานคร คชก. จังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมประมง ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนกรมอัยการ ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนผู้เช่าสี่คน และผู้แทนผู้ให้เช่าสี่คน ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๒) ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร คชก. จังหวัดประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อัยการจังหวัด เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ผู้แทนผู้เช่าประจำจังหวัดสี่คน และผู้แทนผู้ให้เช่าประจำจังหวัดสี่คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้จ่าจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ในจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือปศุสัตว์จังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการซึ่งปฏิบัติราชการในเขตจังหวัดนั้นเป็นกรรมการแทน
 
มาตรา ๘ คชก. จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) วางระเบียบการกำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงสำหรับเป็นแนวปฏิบัติของ คชก. ตำบล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด
(๒) กำหนดผลผลิตหรือรายได้ขั้นสูงของผลิตผลเกษตรกรรมแต่ละประเภทที่นิยมทำในจังหวัดตามการจำแนกคุณภาพของที่ดินและน้ำสำหรับเป็นหลักในการคำนวณอัตราค่าเช่าขั้นสูงของ คชก. ตำบล
(๓) กำหนดท้องที่ที่ห้ามประกอบเกษตรกรรมบางประเภทเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการอนุรักษ์ดินและน้ำ
(๔) รวบรวมข้อมูล สถิติการเช่าในท้องที่ของจังหวัด โดยแยกเป็นอำเภอ ตำบลและประเมินผลเสนอสภาจังหวัดทราบทุกปี
(๕) กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นฤดูการประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่น
(๖) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และมีคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย
การกำหนดตาม (๓) ให้กำหนดล่วงหน้าก่อนฤดูการประกอบเกษตรกรรมไม่น้อยกว่าสามเดือน และให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการตำบลที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง
 
มาตรา ๙ ในตำบลหนึ่ง ๆ ที่มีการเช่า ให้มี คชก. ตำบล ซึ่งประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ในตำบลนอกเขตเทศบาล คชก. ตำบลประกอบด้วย กำนันเป็นประธาน เกษตรอำเภอหรือผู้แทน ที่ดินอำเภอหรือผู้แทน ประมงอำเภอหรือผู้แทน ปศุสัตว์อำเภอหรือผู้แทน ผู้แทนผู้เช่าสี่คน และผู้แทนผู้ให้เช่าสี่คน ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และให้ปลัดอำเภอหรือพัฒนากรซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ อนึ่ง ในการพิจารณาเรื่องอันเกี่ยวกับการเช่าในเขตหมู่บ้านใด ให้ผู้ใหญ่บ้านแห่งหมู่บ้านนั้นเป็นกรรมการด้วย
(๒) ในตำบลในเขตเทศบาล คชก. ตำบลประกอบด้วย นายกเทศมนตรีเป็นประธาน และให้ปลัดเทศบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนกรรมการอื่นให้เป็นไปตาม (๑) แต่ไม่ต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน
(๓) ในแขวงของกรุงเทพมหานคร คชก. ตำบลประกอบด้วยกำนันเป็นประธาน เกษตรอำเภอประจำเขตหรือผู้แทน พนักงานประเมินภาษีหรือผู้แทน ผู้แทนกรมประมง ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนผู้เช่าสี่คน และผู้แทนผู้ให้เช่าสี่คน ซึ่งหัวหน้าเขตแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และให้เจ้าพนักงานปกครองซึ่งหัวหน้าเขตแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ ในแขวงใดที่ไม่มีกำนัน ให้หัวหน้าเขตซึ่งแขวงนั้นอยู่ในเขตอำนาจเป็นประธาน
(๔) ในเขตเมืองพัทยา คชก. ตำบลประกอบด้วยนายกเมืองพัทยาเป็นประธานและให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนกรรมการอื่นให้เป็นไปตาม (๒)
ในกรณีที่พื้นที่ของตำบลใดอยู่ทั้งนอกและในเขตเทศบาล และถ้ามีการเช่าส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล ให้ คชก. ตำบลเป็นไปตามวรรคหนึ่ง (๑) แต่ถ้ามีการเช่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาล ให้ คชก. ตำบลเป็นไปตามวรรคหนึ่ง (๒)
 
มาตรา ๑๐ ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นไม่สมควรมี คชก. ตำบล ตามมาตรา ๙ (๓) ในแขวงใด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุชื่อแขวงที่ไม่ต้องมี คชก. ตำบล
 
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ไม่มีประมงอำเภอหรือปศุสัตว์อำเภอเป็นกรรมการตามมาตรา ๙ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่มีเกษตรอำเภอประจำเขต หรือพนักงานประเมินภาษีเป็นกรรมการตามมาตรา ๙ (๓) ให้นายอำเภอหรือหัวหน้าเขตแต่งตั้งข้าราชการซึ่งมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการเกษตร ที่ดิน ประมง ปศุสัตว์ หรือการประเมินภาษี แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการแทน
 
มาตรา ๑๒ ผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าตามมาตรา ๗ และมาตรา ๙ ให้แต่งตั้งจากผู้เช่าและผู้ให้เช่าซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการคัดเลือกตามวรรคสองและวรรคสาม แล้วแต่กรณี
ผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. ตำบลนั้น ให้เลือกตั้งขึ้นโดยใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ แต่ในกรณีไม่มีผู้สมัครหรือมีผู้ได้รับเลือกไม่ครบจำนวน ให้มีการคัดเลือกผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าที่เหมาะสมเป็นผู้แทนผู้เช่าหรือผู้แทนผู้ให้เช่าให้ครบจำนวน โดยให้คณะกรรมการสภาตำบล สภาเทศบาล สภากรุงเทพมหานคร หรือสภาเมืองพัทยาเป็นผู้คัดเลือกผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. ตำบล ตามมาตรา ๙ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี
ผู้แทนผู้เช่าหรือผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. จังหวัดนั้น ให้ผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. ตำบล แล้วแต่กรณี เลือกตั้งขึ้นระหว่างผู้ซึ่งเป็นผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. ตำบลด้วยกัน โดยใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ แต่ในกรณีไม่มีผู้สมัครหรือมีผู้ได้รับเลือกไม่ครบจำนวน ให้สภาจังหวัดคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมซึ่งเป็นผู้แทนผู้เช่าหรือผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. ตำบลอยู่แล้วนั้น เป็นผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. จังหวัดให้ครบจำนวน
ให้ประกาศวัน เวลา และสถานที่เลือกตั้งให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า แล้วแต่กรณี ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสิบห้าวัน ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการตำบล และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้แทนผู้เช่าหรือผู้ให้เช่านั้น
ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ การเลือกตั้งหรือคัดเลือกผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๓ คชก. ตำบลมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงของแต่ละท้องที่ในเขตตำบลตามการจำแนกคุณภาพของที่ดินและน้ำ
(๒) พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่า การชำระค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่าตลอดจนข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าและมีคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย
(๓) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ คชก. จังหวัด มอบหมาย
การกำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงตาม (๑) ให้กระทำอย่างน้อยทุกสามปี และให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการของตำบลที่มีการเช่า
ในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทตาม (๒) ให้ คชก. ตำบลมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๑๔ ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่
(๑) ให้คำปรึกษาแก่ คชก. จังหวัดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าในเขตท้องที่
(๒) ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของ คชก. ตำบลในเขตท้องที่
(๓) ประสานงานระหว่าง คชก. จังหวัดกับ คชก. ตำบล และระหว่าง คชก. ตำบลในเขตท้องที่
 
มาตรา ๑๕ กรรมการซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งตามมาตรา ๗ หรือซึ่งนายอำเภอหรือหัวหน้าเขตแต่งตั้งตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๑ อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
 
มาตรา ๑๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๕ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้แต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
 
มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ แล้วกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนผู้เช่า หรือผู้แทนผู้ให้เช่า จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด
 
มาตรา ๑๘ การประชุมของ คชก. จังหวัด หรือ คชก. ตำบลต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ห้ามมิให้กรรมการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีพิพาทรายใด เข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิในการพิจารณาและลงมติในกรณีพิพาทรายนั้น
ในการประชุม ให้กรรมการใน คชก. จังหวัดและ คชก. ตำบล ได้รับเบี้ยประชุมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด
 
มาตรา ๑๙ ให้ คชก. จังหวัด คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจเรียกผู้เช่า ผู้ให้เช่า หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจ้ง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่ามาเพื่อประกอบการพิจารณาของ คชก. จังหวัด หรือ คชก. ตำบล ได้ แล้วแต่กรณี
ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานหรือกรรมการใน คชก. จังหวัด หรือ คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจเข้าไปในที่ดินที่เช่าหรือที่เก็บผลผลิตของผู้เช่า ผู้ให้เช่า หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเช่าได้ ในการนี้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ต้องอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือแก่ประธานหรือกรรมการใน คชก. จังหวัด หรือ คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าวนั้นตามสมควร
ให้ถือว่าประธานและกรรมการใน คชก. จังหวัด หรือ คชก. ตำบล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา ๒๐ ในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัตินี้ของ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัด
(๑) ถ้า คชก. ตำบล หรือ คชก. จังหวัด มีคำสั่งให้ผู้เช่านา หรือผู้ให้เช่านาซึ่งครอบครองนาอยู่นั้นออกจากนา คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้นั้นที่อยู่ในนานั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้เห็นได้ ในการนี้ คชก. ตำบลจะสั่งให้ผู้นั้นต้องชำระค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งจนกว่าจะออกจากนาก็ได้
(๒) ถ้าต้องมีการรังวัดทำแผนที่ การตรวจบุคคล วัตถุ หรือสถานที่ หรือมีการร้องขอให้เสนอคดีต่อศาลให้มีคำพิพากษาบังคับตามคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัด ผู้ยื่นคำร้องขอต้องวางค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้นไว้ด้วย จำนวนค่าใช้จ่าย การวางค่าใช้จ่าย และการยกเว้นไม่ต้องวางค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่มีการวางค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง (๒) ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ย่อมตกแก่ฝ่ายที่แพ้ข้อพิพาท แต่ คชก. ตำบล หรือ คชก. จังหวัด จะใช้ดุลพินิจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทของแต่ละฝ่าย
 
หมวด ๒
การเช่านา
                       
 
มาตรา ๒๑ ในหมวดนี้
“นา” หมายความว่า ที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่
“ทำนา” หมายความว่า การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่
“พืชไร่” หมายความว่า พืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและอายุสั้น หรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน
“พืชหลัก” หมายความว่า ข้าวหรือพืชไร่ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด ซึ่งตามปกติของสภาพแห่งท้องที่ควรเพาะปลูกกันในรอบปีหนึ่ง ๆ และให้ผลเป็นรายได้สำคัญแก่เกษตรกรในรอบปีนั้น ทั้งนี้ตามที่ คชก. ตำบลจะได้กำหนดขึ้นเป็นคราว ๆ แต่ไม่รวมถึงพืชที่เพาะปลูกขึ้นเพื่อเป็นรายได้ประกอบตามสภาพของท้องที่หรือเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
 
มาตรา ๒๒ ให้การเช่านามีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม
 
มาตรา ๒๓ การจดทะเบียนการเช่านาตามประมวลกฎหมายที่ดินให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
 
มาตรา ๒๔ เมื่อผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านารายใดยื่นคำร้องขอ ให้ คชก. ตำบลทำหลักฐานการเช่านาเป็นหนังสือ ถ้า คชก. ตำบลเห็นว่ามีเหตุเพียงพอให้ฟังเป็นเบื้องต้นได้ว่ามีการเช่านากันตามคำร้องขอ ให้ คชก. ตำบลจัดทำหนังสือหลักฐานการเช่านาขึ้นตามคำร้องขอนั้น แล้วแจ้งให้ผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านาอีกฝ่ายหนึ่งทราบ แล้วแต่กรณี เพื่อให้ลงลายมือชื่อในหนังสือหลักฐานการเช่านาดังกล่าว ในการนี้ให้ คชก. ตำบลแจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเว้นแต่ผู้รับแจ้งจะได้รับแจ้งด้วยตนเองแล้ว ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งผู้ได้รับแจ้งมิได้ลงลายมือชื่อและส่งคืนหรือไม่แจ้งข้อคัดค้านเป็นประการอื่นมายัง คชก. ตำบล ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีการเช่านากันตามหนังสือหลักฐานการเช่านั้น
ในกรณีที่ผู้ได้รับแจ้งหนังสือหลักฐานการเช่านาตามวรรคหนึ่งมีข้อโต้แย้งหรือข้อคัดค้านประการใด ให้คชก. ตำบลดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ยุติ ถ้าไม่สามารถไกล่เกลี่ยเรื่องใดให้ยุติได้ ให้คชก. ตำบล บันทึกไว้เป็นหลักฐานพร้อมกับข้อสังเกตใด ๆ ถ้ามี
หนังสือหลักฐานการเช่านาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด หนังสือนี้ให้ทำเป็นสามฉบับมีข้อความตรงกันมอบให้แก่ผู้เช่านาฉบับหนึ่ง ผู้ให้เช่านาฉบับหนึ่ง และเก็บไว้เป็นหลักฐานของทางราชการอีกฉบับหนึ่ง
หนังสือหลักฐานการเช่านาที่ทำขึ้นจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่ได้ทำหนังสือหลักฐานการเช่านารายใดขึ้นไว้ ให้ คชก. ตำบลติดต่อประสานงานกับส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เพื่อบันทึกการเช่านาหรือการเปลี่ยนแปลงแห่งสิทธิการเช่านาให้ปรากฏไว้ในทะเบียนที่ดินที่มีการเช่านารายนั้นด้วย
 
มาตรา ๒๕ ถ้าปรากฏว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เข้าใช้ที่ดินของผู้อื่นเพื่อทำนามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งฤดูการทำนา ถ้าบุคคลนั้นอ้างว่าตนเป็นผู้เช่านา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้มีการเช่านากันตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เจ้าของที่ดินจะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
 
ส่วนที่ ๑
ระยะเวลาการเช่าและการบอกเลิกการเช่า
                       
 
มาตรา ๒๖ การเช่านา ให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา หรือมีแต่ต่ำกว่าหกปี ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลาหกปี
เมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ให้เช่านามิได้บอกเลิกการให้เช่านาตามมาตรา ๓๗ และผู้เช่านายังทำนาในที่นานั้นต่อไป ให้ถือว่าได้มีการเช่านานั้นต่อไปอีกคราวละหกปี
บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่การเช่าช่วงนา
 
มาตรา ๒๗ เจ้าของนาผู้ใดประสงค์จะให้มีการเช่านาเป็นการชั่วคราวโดยมีระยะเวลาการเช่านาต่ำกว่าหกปี ให้ยื่นคำร้องต่อ คชก. ตำบล
คชก. ตำบลมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการเช่านาเป็นการชั่วคราวได้ตามความจำเป็น มีกำหนดคราวละไม่เกินสองปี เมื่อปรากฏว่า
(๑) เจ้าของนาผู้ยื่นคำร้องได้ทำนาในที่นานั้นด้วยตนเองมาก่อนและมีความจำเป็นชั่วคราวไม่อาจทำนาในปีต่อไปได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และ
(๒) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการให้เช่านาเป็นการชั่วคราวนั้นแล้ว เจ้าของนาจะต้องเข้าทำนานั้นด้วยตนเองต่อไป
ให้นำความในมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับแก่การให้เช่านาเป็นการชั่วคราวโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๘ การเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านาตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๙ ถ้าผู้เช่านาถึงแก่ความตาย สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติสนิทของผู้เช่านา ซึ่งเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวกับการทำนานั้น อาจแสดงความจำนงขอเช่านาต่อผู้ให้เช่านาหรือผู้แทนผู้ให้เช่านาหรือ คชก. ตำบลได้ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่านาถึงแก่ความตาย เมื่อบุคคลดังกล่าวได้แสดงความจำนงแล้วให้ถือว่าผู้แสดงความจำนงนั้นเป็นผู้เช่านาสืบแทนต่อไป หากมีผู้แสดงความจำนงหลายรายและไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ให้ คชก. ตำบลเป็นผู้วินิจฉัย
บุคคลใดจะยกสิทธิในการเช่าที่นาขึ้นต่อสู้กับผู้เช่านาสืบแทนตามวรรคหนึ่งไม่ได้ ในการเช่าสืบแทน ผู้เช่านาสืบแทนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าที่มีต่อผู้ให้เช่าตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๓๐ การเช่านาอาจสิ้นสุดก่อนกำหนดระยะเวลาการเช่านาได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อผู้ให้เช่านาบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา ๓๑
(๒) เมื่อผู้เช่านาบอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือนก่อนเริ่มฤดูการทำนา
(๓) ผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาตกลงเลิกการเช่านา โดยทำเป็นหนังสือต่อหน้านายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย
(๔) เมื่อนาที่เช่าถูกเวนคืนตามกฎหมายหรือโอนไปเป็นของรัฐด้วยประการอื่น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ถูกเวนคืนหรือโอน
การบอกเลิกการเช่านาตาม (๒) หรือการตกลงเลิกการเช่านาตาม (๓) ที่ทำไว้ในขณะเช่านา หรือทำไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาเกินกว่าหกเดือน มิให้ถือว่ามีการบอกเลิกการเช่านา หรือมีการตกลงเลิกการเช่านา
 
มาตรา ๓๑ ผู้ให้เช่านาจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาไม่ได้ เว้นแต่ในเหตุดังต่อไปนี้
(๑) ผู้เช่านาไม่ชำระค่าเช่านารวมกันเป็นเวลาสองปี เว้นแต่จะมีเหตุผลที่ คชก. ตำบล เห็นสมควรผ่อนผันให้
(๒) ผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านา เว้นแต่ผู้ให้เช่านารู้หรือควรจะรู้ว่าผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาแต่ไม่ได้คัดค้าน
(๓) ผู้เช่านาใช้ที่นาเพื่อการอื่นนอกจากการทำนาหรือการทำประโยชน์ตามมาตรา ๔๗ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาหรือทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลง หรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก
(๔) ผู้เช่านาประกอบเกษตรกรรมประเภทที่ คชก. จังหวัดประกาศห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง หรือปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นใดที่ผู้ให้เช่านาได้ห้ามไว้ ตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๖
(๕) ผู้เช่านาละทิ้งนาไปเกินหนึ่งปี
(๖) ผู้เช่านาทำนาน้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนเนื้อที่นาที่เช่าเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน เว้นแต่เพราะเหตุสุดวิสัย
(๗) ผู้เช่านายักย้าย ปิดบัง หรือซ่อนเร้นผลผลิตที่ได้จากนาที่เช่าหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว เพื่อมิให้ผู้ให้เช่านาได้รับค่าเช่านาเต็มตามที่ตกลงกัน หรือ
(๘) ผู้เช่านาไม่ปรับปรุงการทำนาตามคำแนะนำของทางราชการ หรือปล่อยให้นาทรุดโทรม ทั้งนี้ เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงกว่าหนึ่งในสามของผลผลิตปกติ
 
มาตรา ๓๒ ในกรณีผู้เช่านาให้ผู้อื่นทำนาแทนหรือให้เช่าช่วงนาเพราะเหตุที่ตนหรือสมาชิกในครอบครัวของตนซึ่งได้อยู่ช่วยทำนาต้องไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารหรือต้องไปช่วยราชการตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ให้เช่านาจะบอกเลิกการเช่านาเพราะเหตุตามมาตรา ๓๑ (๒) หรือ (๕) ไม่ได้
 
มาตรา ๓๓ ผู้เช่าช่วงนาซึ่งได้ทำนามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งฤดูการทำนามีสิทธิยื่นคำร้องต่อ คชก. ตำบล เพื่อให้วินิจฉัยให้ตนเป็นผู้เช่านาแทนที่ผู้ให้เช่าช่วงนา
เมื่อ คชก. ตำบลได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ คชก. ตำบลแจ้งให้ผู้ให้เช่านาทราบ และในกรณีนี้ผู้ให้เช่านาหมดสิทธิบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา ๓๑ (๒)
ถ้า คชก. ตำบลเห็นว่า ผู้ให้เช่าช่วงนาได้เช่านาโดยมิได้มีเจตนาทำนาด้วยตนเอง ให้ คชก. ตำบลมีอำนาจวินิจฉัยให้ผู้เช่าช่วงนาเป็นผู้เช่านาแทนที่ผู้ให้เช่าช่วงนา และให้แจ้งคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลให้ผู้ให้เช่านาทราบ
ในกรณีที่ผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาเป็นการชั่วคราวเพื่อเพาะปลูกพืชอายุสั้น ภายหลังการเก็บเกี่ยวพืชหลักแล้ว หรือผู้เช่านาจำเป็นต้องให้เช่าช่วงนาเพราะเหตุที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๒ ผู้เช่าช่วงนาจะใช้สิทธิตามมาตรานี้ไม่ได้
 
มาตรา ๓๔ การบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา ๓๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาและส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อประธาน คชก. ตำบล
ภายในเจ็ดวันนับแต่เมื่อได้รับสำเนาหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้ประธาน คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คชก. ตำบลแจ้งให้ผู้เช่านาที่ถูกบอกเลิกการเช่านาทราบเพื่อคัดค้านการบอกเลิกการเช่านาต่อ คชก. ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
 
มาตรา ๓๕ ถ้าผู้เช่านาคัดค้านการบอกเลิกการเช่านา แต่ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การบอกเลิกการเช่านาเป็นไปโดยชอบ ในการมีคำสั่งให้ผู้เช่านาออกจากที่นานั้น ให้ คชก. ตำบล หรือ คชก. จังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดระยะเวลาตามควรเพื่อให้ผู้เช่านาสามารถปฏิบัติตามได้โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้เช่านาถ้าจะต้องออกจากนาในขณะนั้น หรือถ้าต่อมาอาจจะมีการอุทธรณ์และมีการวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของตนนั้นด้วย
 
มาตรา ๓๖ การบอกเลิกการเช่านาเพราะเหตุตามมาตรา ๓๑ (๘) ผู้ให้เช่านาต้องยื่นคำขอต่อประธาน คชก. ตำบล เพื่อบอกเลิกการเช่านา
ถ้า คชก. ตำบลเห็นว่าผู้เช่านากระทำตามมาตรา ๓๑ (๘) คชก. ตำบล อาจวินิจฉัยให้บอกเลิกการเช่านา หรือจะวินิจฉัยให้มีการเช่านาต่อไปโดยกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้เช่านาจะต้องปฏิบัติก็ได้
เมื่อ คชก. ตำบล สั่งให้ผู้เช่านาปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคสอง และผู้เช่านาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาอันสมควร ให้ คชก. ตำบลมีคำวินิจฉัยให้ผู้ให้เช่านาบอกเลิกการเช่านาได้ทันที
 
มาตรา ๓๗ เมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาตามมาตรา ๒๖ การเช่านาไม่สิ้นสุดลง เว้นแต่ผู้ให้เช่านาประสงค์จะใช้นาที่ให้เช่าเพื่อการดังต่อไปนี้ และได้บอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือให้ผู้เช่านาทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๑) ใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองตามความเหมาะสม
(๒) ใช้เพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็น
(๓) ใช้เพื่อทำประโยชน์ตามผังเมืองหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น หรือ
(๔) ใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นอันสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมในทางเศรษฐกิจตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด
ให้ผู้ให้เช่านาส่งสำเนาการบอกเลิกการเช่านาตามวรรคหนึ่ง พร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาไปยัง คชก. ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่านาให้ผู้เช่านาทราบ เมื่อได้รับสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาดังกล่าวแล้ว ให้ คชก. ตำบล พิจารณาวินิจฉัย ถ้า คชก. ตำบล เห็นว่าผู้ให้เช่านายังไม่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะใช้นาตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) และการบอกเลิกการเช่านานั้น จะทำให้ผู้เช่านาเดือดร้อน คชก. ตำบลจะวินิจฉัยให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาไว้ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นเวลาตามที่เห็นสมควรไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปีก็ได้
 
มาตรา ๓๘ ผู้ให้เช่านาซึ่งบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา ๓๗ ต้องลงมือทำประโยชน์ในนานั้นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่การเช่าสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีแล้วถ้าผู้ให้เช่านายังมิได้ลงมือทำประโยชน์และผู้เช่านาเดิมแสดงความจำนงจะเช่านา ผู้ให้เช่านาต้องให้เช่านานั้น เว้นแต่ผู้ให้เช่านาจะร้องขอต่อ คชก. ตำบลก่อนสิ้นกำหนดหนึ่งปีเพื่อขอขยายเวลา แต่ คชก. ตำบลจะวินิจฉัยให้ขยายเวลาออกไปอีกเกินหนึ่งปีไม่ได้
ภายในสองปีนับแต่ผู้ให้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ในนา
(๑) ถ้าผู้ให้เช่านาเลิกทำประโยชน์ตามเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านานั้นเมื่อใด หากผู้เช่านาเดิมแสดงความจำนงจะเช่านาอีก ผู้ให้เช่านาต้องให้เช่านานั้น
(๒) ถ้าผู้ให้เช่านาจะโอนกรรมสิทธิ์นานั้นอันเป็นการขายตามมาตรา ๕๓ ผู้ให้เช่านาจะต้องแจ้งให้ผู้เช่านาเดิมทราบก่อน และให้นำมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ มาใช้บังคับแก่การที่ผู้ให้เช่านาจะขายนาและการที่ผู้เช่านาเดิมจะซื้อนาในกรณีนี้โดยอนุโลม
 
มาตรา ๓๙ ถ้าการเช่านาได้สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดเมื่อผู้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ในนาโดยสุจริตก่อนหน้านั้นแล้ว ให้ผู้เช่านามีสิทธิในนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ต้องเสียค่าเช่านาตามส่วน
สำหรับการทำนาซึ่งการปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง เมื่อเสร็จการเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังจากการเช่านาได้เลิกหรือสิ้นสุดลงแล้ว ถ้าการเพาะปลูกนั้นยังเก็บเกี่ยวได้อีก ผู้เช่านาไม่มีสิทธิในนานั้นต่อไปตามวรรคหนึ่ง
 
ส่วนที่ ๒
ค่าเช่านา
                       
 
มาตรา ๔๐ ให้ คชก. ตำบลประกาศกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่านาอาจเรียกเก็บค่าเช่านาในแต่ละปีตามความเหมาะสมแห่งท้องที่และประเภทของพืชหลัก
ค่าเช่านาให้คิดเป็นรายปี ในอัตราไม่เกินอัตราขั้นสูงที่ คชก. ตำบลกำหนดและให้เรียกเก็บได้เมื่อถึงเวลาที่ คชก. ตำบลกำหนดตามวรรคหนึ่งนั้นแล้ว
ในกรณีที่ คชก. ตำบลกำหนดอัตราค่าเช่านาขั้นสูงขึ้นใหม่ ผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านาอาจขอให้อีกฝ่ายหนึ่งปรับปรุงอัตราค่าเช่านาได้ ถ้าไม่เป็นที่ตกลงกัน ฝ่ายที่ขอให้ปรับปรุงค่าเช่านาอาจร้องขอต่อ คชก. ตำบลให้วินิจฉัยได้ แต่ต้องร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ไม่สามารถตกลงกันได้
ในกรณีที่มิได้มีข้อตกลงกันไว้ ผู้เช่านาจะชำระค่าเช่านาเป็นผลผลิตก็ได้
ในกรณีที่ค่าเช่านากำหนดเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นซึ่งมิใช่ผลผลิต ค่าเช่านาดังกล่าวต้องไม่เกินอัตราค่าเช่านาขั้นสูงที่ คชก. ตำบลกำหนด ทั้งนี้ ให้คำนวณตามราคาซื้อขายผลผลิตที่ซื้อขายกันในท้องที่ที่นานั้นตั้งอยู่ในขณะที่ค่าเช่านาถึงกำหนดชำระ
การเรียกเก็บค่าเช่านาจะต้องกระทำ ณ ภูมิลำเนาของผู้เช่านา และผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือกำหนดวันเรียกเก็บค่าเช่านาให้ผู้เช่านาและประธาน คชก. ตำบลทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ในระหว่างที่ผู้ให้เช่านายังมิได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบถึงการเรียกเก็บค่าเช่านาจะถือว่าผู้เช่านาผิดนัดชำระค่าเช่านามิได้
 
มาตรา ๔๑ ในการกำหนดอัตราค่าเช่านาขั้นสูงของแต่ละท้องที่ในเขตตำบล ให้ คชก. ตำบลกำหนดเป็นผลผลิตของพืชหลักสำหรับท้องที่นั้น ๆ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้กำหนดพืชหลักสำหรับท้องที่นั้น โดยคำนึงถึงสภาพแห่งท้องที่ตามคุณภาพของที่ดินและน้ำ การทำนาที่นิยมหรือสมควรทำ และการทำงานกับการลงทุนซึ่งเกษตรกรทั่วไปในท้องที่นั้นอาจกระทำได้โดยไม่เป็นภาระเกินควร
(๒) ให้หักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุนทำนาของผู้เช่านาตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด ทั้งนี้ ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของผลผลิตขั้นสูงที่ คชก. จังหวัดกำหนดตามมาตรา ๘ (๒) โดยให้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการทำนาของผู้เช่านาในแต่ละท้องที่
(๓) ผลผลิตขั้นสูงภายหลังการหักค่าใช้จ่ายตาม (๒) แล้ว ให้กำหนดเป็นค่าเช่านาขั้นสูงได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง โดยให้คำนึงถึงราคาผลิตผลนั้นในแต่ละท้องที่
 
มาตรา ๔๒ ในท้องที่ใดที่ คชก. ตำบลเห็นว่าการทำนาในปีใดไม่ได้ผลสมบูรณ์เพราะเหตุแห่งภัยธรรมชาติ คชก. ตำบลจะประกาศท้องที่นั้นเป็นท้องที่ที่เสียหายและกำหนดค่าเช่านาให้ลดลงตามส่วนแห่งความเสียหาย หรืองดเก็บค่าเช่านาสำหรับปีนั้นก็ได้
ผู้ให้เช่านาผู้ใดเห็นว่า การทำนาของผู้เช่านาซึ่งอยู่ในท้องที่ที่เสียหายตามวรรคหนึ่ง ได้รับผลสมบูรณ์ตามปกติหรือเสียหายไม่ถึงอัตราส่วนที่ คชก. ตำบลกำหนด อาจร้องขอต่อ คชก. ตำบลขอเก็บค่าเช่านาตามปกติก็ได้
 
มาตรา ๔๓ ในปีใดการทำนาไม่ได้ผลตามปกติ โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่านา ถ้าได้ผลผลิตต่ำกว่าสามในสี่ของผลผลิตขั้นสูงที่ คชก. จังหวัดกำหนดตามมาตรา ๘ (๒) ให้ผู้เช่านาเสียค่าเช่านาลดลงตามส่วนของผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าผลผลิตขั้นสูงดังกล่าว แต่ถ้าได้ผลผลิตต่ำกว่าหนึ่งในสามของผลผลิตขั้นสูง ผู้ให้เช่านาจะเรียกเก็บค่าเช่านามิได้
 
มาตรา ๔๔ ผู้ให้เช่านาซึ่งถูกงดค่าเช่านาตามมาตรา ๔๒ หรือเรียกเก็บค่าเช่านามิได้ตามมาตรา ๔๓ อาจร้องขอต่อ คชก. ตำบลเพื่อเรียกเก็บค่าเช่านาเฉพาะปีถัดมาสูงกว่าอัตราที่ คชก. ตำบลกำหนดก็ได้
ถ้า คชก. ตำบลเห็นว่าการทำนาของผู้เช่านาในปีถัดมาได้ผลสมบูรณ์ คชก. ตำบลจะวินิจฉัยให้เพิ่มค่าเช่านาเฉพาะปีนั้นสูงกว่าอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๑๓ (๑) ก็ได้ แต่จะเพิ่มให้เกินหนึ่งในห้าของอัตราดังกล่าวไม่ได้
 
ส่วนที่ ๓
สิทธิหน้าที่ของผู้เช่านาและผู้ให้เช่านา
                       
 
มาตรา ๔๕ ผู้เช่านามีสิทธิใช้นาที่เช่าปลูกข้าวหรือพืชไร่ได้ แต่จะปลูกพืชไร่ประเภทที่ คชก. จังหวัดได้ประกาศห้ามตามมาตรา ๘ (๓) มิได้
ข้อจำกัดของผู้ให้เช่านาที่ให้ผู้เช่านาปลูกข้าวหรือพืชไร่อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเฉพาะ ไม่ผูกพันผู้เช่านา เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก คชก. ตำบล
 
มาตรา ๔๖ เมื่อสภาพของนาหรือภาวะตลาดของข้าวหรือพืชไร่ได้เปลี่ยนแปลงไป และการปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เช่านา ผู้เช่านาจะขออนุญาตผู้ให้เช่านาใช้ที่นาที่ถูกจำกัดตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง เพื่อปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นก็ได้ ถ้าผู้ให้เช่านาไม่อนุญาต ผู้เช่านาอาจยื่นคำร้องขอให้ คชก. ตำบลพิจารณาวินิจฉัย
ถ้า คชก. ตำบลพิจารณาเห็นว่าการปลูกข้าวหรือพืชไร่นั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เช่านาและไม่ทำให้สภาพของนาเสื่อมโทรมหรือเปลี่ยนแปลงไป ให้ คชก. ตำบลวินิจฉัยให้ผู้เช่านาปลูกข้าวหรือพืชไร่นั้นได้ตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ คชก. ตำบลเห็นสมควร และให้แจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ผู้ให้เช่านาทราบ
 
มาตรา ๔๗ ผู้เช่านามีสิทธิปลูกพืชอายุสั้นใด ๆ นอกจากพืชหลักในนาที่เช่าได้ รวมทั้งการใช้ที่นาบางส่วนทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการปลูกไม้ยืนต้น ในเมื่อไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก
ผู้ให้เช่านาจะเรียกเก็บค่าเช่านาเพิ่มเพราะเหตุที่ผู้เช่านาใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งมิได้
 
มาตรา ๔๘ ในกรณีที่ผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านาโดยความเห็นชอบของ คชก. ตำบลได้ลงทุนทำการปรับปรุงนาที่เช่าหรือที่ให้เช่าโดยปรับปรุงดิน ขุดคู ทำเหมืองฝาย ลำรางส่งน้ำ ทำทำนบหรือคันกั้นน้ำ ปราบถางจัดระดับพื้นที่ ขุดถอนตอหรือการปรับปรุงอย่างอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การทำนามากขึ้นหรือเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำนา แม้การกระทำนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของนาอื่นด้วยหรือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำก็ตาม ผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านาซึ่งเป็นผู้กระทำการดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อ คชก. ตำบล เพื่อขอเงินหรือผลประโยชน์ชดเชยการลงทุนที่ตนได้ใช้จ่ายไปได้ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการบำรุงรักษาตามปกติหรือประเพณีแห่งท้องถิ่น
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นพร้อมกับรายการการปรับปรุงนาและประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุง
 
มาตรา ๔๙ ในกรณีที่ผู้ให้เช่านาเป็นผู้ลงทุนปรับปรุงนาตามมาตรา ๔๘ และ คชก. ตำบลเห็นว่า การปรับปรุงนานั้นเป็นเหตุให้ผู้เช่านาได้ผลประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ให้ คชก. ตำบลมีอำนาจวินิจฉัยให้ปรับปรุงค่าเช่านาหรือกำหนดเงินชดเชยการลงทุนให้แก่ผู้ให้เช่านาตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้เช่านาได้รับจากการปรับปรุงนา
 
มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ผู้เช่านาเป็นผู้ลงทุนปรับปรุงนาตามมาตรา ๔๘ ให้ผลผลิตหรือผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงนั้นตกเป็นของผู้เช่านาตลอดระยะเวลาการเช่านาที่เหลืออยู่
หากผู้เช่านาต้องขาดจากการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ดี ให้ผู้ให้เช่านาชดเชยการลงทุนปรับปรุงนาดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้เช่านาตามที่ คชก. ตำบลวินิจฉัย
 
มาตรา ๕๑ ให้ผู้ให้เช่านามีบุริมสิทธิพิเศษเหนือผลผลิตจากนาที่ให้เช่าเท่าปริมาณที่จะคำนวณเป็นค่าเช่านา
 
มาตรา ๕๒ ในการเช่านา ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้
(๑) กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการข่มขู่หรือขืนใจให้ผู้เช่านาต้องชำระค่าเช่านาก่อนเวลาที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้
(๒) เรียกเก็บเงินมัดจำหรือเงินกินเปล่า หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนอกเหนือไปจากค่าเช่านาที่เรียกเก็บได้ตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ให้ผู้เช่านาต้องมีหน้าที่หรือรับภาระอื่นเกินกว่าหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้เช่านาจำต้องมีหน้าที่หรือรับภาระ หรือ
(๔) ให้ผู้เช่านาได้รับประโยชน์จากนาที่เช่าลดน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในการเช่านาหรือน้อยกว่าสิทธิที่ผู้เช่านามีอยู่ตามกฎหมาย
 
มาตรา ๕๓ ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก. ตำบลเพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวันและถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก. ตำบลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้
ถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาตามราคาที่จะขายแต่ไม่ตกลงในวิธีการชำระเงิน ให้ คชก. ตำบลมีอำนาจไกล่เกลี่ย มีคำวินิจฉัยให้ขยายกำหนดเวลาการชำระเงิน หรือมีคำสั่งอื่นตามที่เห็นสมควร แต่ คชก. ตำบลจะขยายกำหนดเวลาการชำระเงินเกินกว่าหนึ่งปีต่อจากเวลาที่ผู้ให้เช่านากำหนดไว้มิได้
ถ้าผู้เช่านาไม่แสดงความจำนงจะซื้อนาภายในกำหนดสามสิบวันหรือปฏิเสธเป็นหนังสือไม่ซื้อนาหรือแสดงความจำนงจะซื้อนาแต่ไม่ชำระเงินภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันหรือเวลาที่ คชก. ตำบลกำหนด ให้ถือว่าผู้เช่านาหมดสิทธิที่จะซื้อนาตามมาตรานี้
ในกรณีผู้เช่านาหมดสิทธิที่จะซื้อนาตามวรรคสามแล้วก็ตาม แต่ถ้าผู้ให้เช่านาจะขายนาให้บุคคลอื่นในราคาหรือวิธีการชำระเงินที่แตกต่างไปจากราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้เช่านาต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งใหม่
การขายฝาก การแลกเปลี่ยน และการโอนชำระหนี้จำนอง ให้ถือเป็นการขายตามมาตรานี้ด้วย
 
มาตรา ๕๔ ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓ ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใด ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน แต่ทั้งนี้ผู้เช่านาจะต้องใช้สิทธิซื้อนาดังกล่าวภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันที่ผู้เช่านารู้หรือควรจะรู้ หรือภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่ผู้ให้เช่านาโอนนานั้น
ถ้าผู้รับโอนตามวรรคหนึ่งไม่ยอมขายนาให้แก่ผู้เช่านา ผู้เช่านาอาจร้องขอต่อ คชก. ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้ผู้นั้นขายนาได้
 
มาตรา ๕๕ นาที่ทิ้งว่างไว้โดยไม่ได้ให้เช่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์อย่างอื่น หรือทำประโยชน์เพียงเล็กน้อย ไม่สมควรแก่สภาพของที่ดิน เมื่อมีผู้ขอเช่าเพื่อทำนา เจ้าของนาหรือตัวแทนต้องยินยอมให้เช่า เว้นแต่เจ้าของหรือตัวแทนจะพิสูจน์ต่อ คชก. ตำบลได้ว่าการนั้นเป็นไปเพราะตนมีเหตุผลอันสมควร
ในกรณีที่มีผู้ขอเช่านาเพื่อทำนาหลายราย ให้เจ้าของนามีสิทธิเลือกว่าจะให้ผู้ใดเช่า ถ้าเจ้าของนาไม่ยินยอมเลือก ก็ให้ คชก. ตำบลเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย
ผู้ขอเช่านาต้องเป็นผู้ไม่มีที่ทำนา หรือมีอยู่แล้วแต่ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว
การขอเช่านาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
ส่วนที่ ๔
อุทธรณ์ และการบังคับคดี
                       
 
มาตรา ๕๖ ผู้เช่านา ผู้เช่าช่วงนา หรือผู้ให้เช่านาที่เป็นคู่กรณี หรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านา อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลต่อ คชก. จังหวัดได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก. ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก. ตำบลได้มีคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบล ที่มิได้อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด
ให้ประธาน คชก. ตำบล ส่งคำอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังประธาน คชก. จังหวัด ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุทุเลาการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบล เว้นแต่ คชก. ตำบลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในการให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น คชก. ตำบลจะเรียกให้ผู้อุทธรณ์ทำทัณฑ์บนหรือจัดหาประกันหรือวางเงินประกันตามที่เห็นสมควรก่อนสั่งให้มีการทุเลาการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยก็ได้ ถ้าพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
การที่ คชก. จังหวัดมีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลนั้นไม่เป็นเหตุที่จะนำมาฟ้องร้องกันได้ และให้ฝ่ายที่ลงมือทำนาไปตามคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลนั้น ได้ทำนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยว และให้นำมาตรา ๓๙ และมาตรา ๕๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๕๗ คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัด แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย
ให้นำมาตรา ๕๖ วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับแก่การมีคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดโดยอนุโลม
 
มาตรา ๕๘ ในกรณีมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัด ถ้าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นมิใช่เป็นกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๒ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลในการพิจารณาของศาลให้ถือว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งดังกล่าวเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดในกรณีนี้โดยอนุโลม
เมื่อมีผู้ร้องขอต่อ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดให้บังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ให้ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดซึ่งได้รับการร้องขอมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลตามวรรคหนึ่งได้ด้วย
 
ส่วนที่ ๕
บทกำหนดโทษ
                       
 
มาตรา ๕๙ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวก ไม่ช่วยเหลือ ไม่ให้ถ้อยคำ ไม่ชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานแก่ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๐ ผู้ใดแจ้งข้อความหรือแสดงข้อโต้แย้งหรือข้อคัดค้านอันเป็นเท็จต่อ คชก. ตำบลในการทำหนังสือหลักฐานการเช่านาตามมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๑ ผู้ใดเรียกหรือรับค่าเช่านาเกินอัตราค่าเช่านาขั้นสูงที่ คชก. ตำบลกำหนดหรือแสดงรายการปรับปรุงนาตามมาตรา ๔๘ อันเป็นเท็จ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก. ตำบล หรือ คชก. จังหวัดที่ห้ามมิให้ผู้นั้นขัดขวางการทำนาของผู้มีสิทธิในนาหรือที่ให้ผู้นั้นออกจากนาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
หมวด ๓
การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างอื่น
                       
 
มาตรา ๖๓ ในกรณีที่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใด นอกจากการเช่านา เป็นช่องทางให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรผู้เช่าโดยไม่เป็นธรรมจนเกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว ก็ให้มีอำนาจกระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับแก่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใดแล้ว ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ มาใช้บังคับแก่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นโดยอนุโลม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้ระยะเวลาการเช่า การบอกเลิกการเช่า ค่าเช่า และสิทธิหน้าที่ของผู้เช่าและผู้ให้เช่าแตกต่างเป็นอย่างอื่น เพื่อให้เหมาะสมแก่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นก็ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติในส่วนที่ ๔ และส่วนที่ ๕
 
มาตรา ๖๔ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๖๓ ใช้บังคับแก่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใดแล้ว ถ้าการเช่าที่ดินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาหรือมีกำหนดเวลา แต่ต่ำกว่าระยะเวลาการเช่าที่กฎหมายกำหนด ให้การเช่าที่ดินรายนั้นมีระยะเวลาการเช่าเท่าที่กฎหมายกำหนดนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานั้นใช้บังคับ หรือมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเท่าที่กฎหมายกำหนดนับแต่วันที่มีการเช่าที่ดินนั้น แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๖๕ การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมรายใดที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา ๖๓ ใช้บังคับ ถ้ามีการตกลงเรียกเก็บหรือชำระค่าเช่ากันเกินอัตราขั้นสูงที่ คชก. ตำบลกำหนดก็ให้ลดลงเหลือไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดไว้นั้น
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๖๖ การเช่านารายใดอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นเป็นการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ต่อไป
 
มาตรา ๖๗ ให้ คชก. ตำบลกำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงตามมาตรา ๑๓ (๑) ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ คชก. ตำบลยังมิได้กำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าอัตราค่าเช่านาขั้นสูงที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นอัตราค่าเช่าขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนดตามมาตรา ๑๓ (๑)
 
มาตรา ๖๘ ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนผู้เช่าและผู้แทนผู้ให้เช่าใน คชก. จังหวัดและ คชก. ตำบลตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา ๑๒ ให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗ และมาตรา ๙ มาใช้บังคับ และให้คณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำตำบลตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในเขตอำนาจของตน โดยให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ คชก. จังหวัดหรือ คชก. ตำบลตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๖๙ บรรดาคำร้องหรืออุทธรณ์ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการของคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำตำบลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๗๐ คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านา ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดที่ได้วินิจฉัยหรือมีคำสั่งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะฟ้องหรือร้องต่อศาล ต้องฟ้องหรือร้องต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๗๑ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้ใดเป็นผู้ให้เช่านาซึ่งได้เคยทำนาในนาที่ให้เช่าด้วยตนเองมาก่อนแต่มีความจำเป็นชั่วคราวไม่อาจทำนาได้ และได้ให้เช่านานั้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองในที่ดินนั้นตามจำนวนพอสมควรแก่การเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวให้ร้องขอต่อ คชก. ตำบล
เมื่อ คชก. ตำบลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีกรณีตามวรรคหนึ่ง และผู้ให้เช่านาไม่มีรายได้อื่นเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว ให้อนุญาตให้บอกเลิกการเช่านาได้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยคำนึงถึงคุณภาพของที่ดินและน้ำ ความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ และประเภทของเกษตรกรรมที่นิยมทำในท้องถิ่น และความเดือดร้อนของผู้เช่านาและผู้ให้เช่านามาประกอบกัน
ในการวินิจฉัยให้บอกเลิกการเช่านาตามวรรคสอง ให้ คชก. ตำบลมีอำนาจกำหนดค่าชดเชยตามมาตรา ๕๐ วรรคสอง หรือกำหนดค่าเช่านาตามมาตรา ๓๙ แล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านาอาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดได้และให้นำมาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ และมาตรา ๖๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๗๒ บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศซึ่งได้ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้คงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเช่านา ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น มีรายละเอียดที่ไม่เหมาะสมหลายประการ สมควรแก้ไขให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับสมควรขยายให้สามารถใช้ครอบคลุมถึงการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างอื่นด้วยเมื่อมีความจำเป็น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้