พระราชบัญญัติ
กองอาสารักษาดินแดน
พ.ศ. ๒๔๙๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และจะใช้บังคับในท้องที่ใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๓ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับในท้องที่ใด บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นๆ ซึ่งมีข้อความแย้งหรือขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับในท้องที่นั้น
การจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดน
มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนเป็นองค์การขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “กองอาสารักษาดินแดน”
มาตรา ๕ กองอาสารักษาดินแดนแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ (๑) ส่วนกลาง
(๒) ส่วนภูมิภาค
มาตรา ๖ ให้มีกรรมการคณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน และไม่เกินยี่สิบคน เรียกว่า “คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นรองประธาน โดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่น เลขาธิการและรองเลขาธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจและหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนโดยทั่วไปตามนโยบายและวิชาทางเทคนิคของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และวางระเบียบและข้อบังคับสำหรับกองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดวิธีรับสมัคร วิธีคัดเลือก และการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
(๒) กำหนดยศ ชั้น ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
(๓) กำหนดเหล่าของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
(๔) กำหนดหลักสูตร การอบรม และการฝึก
(๕) กำหนดการใช้จ่ายและงบประมาณของกองอาสารักษาดินแดน
(๖) กำหนดการเก็บ รักษา และการใช้อาวุธ
มาตรา ๘ กองอาสารักษาดินแดนส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ ตามชื่อท้องที่ที่ได้ประกาศตั้งขึ้น
มาตรา ๙ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอำนาจการปกครองบังคับบัญชารวมทั้งการกำหนดอัตรากำลังของแต่ละหน่วยในกองอาสารักษาดินแดน ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐ วินัยและการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยของเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยกองอาสารักษาดินแดน
มาตรา ๑๑ การเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้กระทำโดยวิธีรับสมัครผู้อาสา แต่ถ้าในท้องที่ใดไม่มีบุคคลสมัคร หรือมีบุคคลสมัครไม่เพียงพอตามความต้องการ จะกำหนดให้ท้องที่นั้นมีการเรียกบุคคลให้สมัครเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้ และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นับแต่วันได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือก
มาตรา ๑๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดังนี้ (๑) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่เข้าเป็นสมาชิก
(๒) มีสัญชาติไทย
(๓) มีอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์
(๔) มีร่างกายสมบูรณ์ และสมควรแก่การเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
(๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชแห่งศาสนาใด
(๗) ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด
(๘) ไม่เป็นทหารหรือตำรวจประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
(๙) ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ เช่น เป็นคนเสเพลอันธพาล หรือเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย เป็นต้น
มาตรา ๑๓ ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจะปฏิบัติหน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดนได้ในเมื่อไม่ติดราชการจำเป็น
มาตรา ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมี ๓ ประเภท คือ (๑) ประเภทสำรอง คือสมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัดและอบรม
(๒) ประเภทประจำกอง คือสมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง
(๓) ประเภทกองหนุน คือสมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง
มาตรา ๑๕ การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อรับสมัครหรือคัดเลือก
หน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดน
(๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก
(๒) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
(๓) รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม
(๔) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว
(๕) ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก
(๖) เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น
มาตรา ๑๗ เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบ
(๒) ปฏิบัติตามหน้าที่ ระเบียบ ข้อบังคับ และวินัยของกองอาสารักษาดินแดน
มาตรา ๑๘ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนให้ทำการตามอำนาจหน้าที่ได้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๙ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
ธงประจำกอง เครื่องหมาย และเครื่องแบบ
มาตรา ๒๐ ให้มีธงประจำกอง และเครื่องหมายสำหรับกองอาสารักษาดินแดนกับเครื่องแบบสำหรับสมาชิก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การอบรมและการฝึก
มาตรา ๒๑ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรและระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด
มาตรา ๒๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ถูกเรียกเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรของกองอาสารักษาดินแดนก็ดี หรือในเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างให้ความสะดวกแก่สมาชิกไม่ตัดเงินรายเดือนหรือค่าจ้างภายในกำหนดเวลาไม่เกินสองเดือน และไม่ตัดรอนสิทธิอันควรได้ของสมาชิกเหล่านั้น
สิทธิของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
มาตรา ๒๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองอาจได้รับสิทธิบางประการตลอดระยะเวลาที่ยังประจำกองอยู่ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด
มาตรา ๒๔ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับการรักษาพยาบาลตามที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด
มาตรา ๒๕ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสบอันตรายถึงชีวิตหรือพิการทุพพลภาพ เนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้รับบำนาญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญโดยอนุโลม
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๗ ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ หรือประดับ หรือใช้ธง หรือเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ โดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง ประดับ หรือใช้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๒๘ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา
มาตรา ๓๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ วางระเบียบและออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์สงครามปัจจุบันเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือ และจะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและจัดหน่วยการบังคับบัญชาเตรียมไว้แต่เวลาปกติ
พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๗ บัญญัติให้คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนมีอำนาจหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนตามนโยบายและวิชาการทางเทคนิคของสภาป้องกันราชอาณาจักร แต่บัดนี้ สภาป้องกันราชอาณาจักรต้องถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้สอดคล้องกันด้วย นอกจากนี้สมควรให้กองอาสารักษาดินแดนขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมร่วมกัน และเพิ่มอำนาจและหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนในการกำหนดเหล่าของกองอาสารักษาดินแดนและกำหนดหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนเพิ่มขึ้น