พระราชบัญญัติ
กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
“โรงเรียนประถมศึกษา” หมายความว่า โรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๓ ทุกสังกัด
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลังประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามมาตรา ๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เงินของกองทุนให้ใช้จ่ายในการจัดหาประโยชน์ของกองทุนได้ และเฉพาะส่วนที่เป็นดอกผลของกองทุนเท่านั้นที่อาจนำไปใช้จ่ายในกิจการตามมาตรา ๑๑ (๒) และ (๔) ได้
(๑) ทุนประเดิมตามมาตรา ๑๖
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาค
(๔) ดอกผลที่เกิดจากกองทุน
มาตรา ๖ ให้ผู้ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่กองทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหรือผู้แทน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนหรือผู้แทน อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน อธิบดีกรมบัญชีกลางหรือผู้แทน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนหรือผู้แทน ปลัดกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๗ ให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๐ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้การส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๒) จัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนประถมศึกษา โดยคำนึงถึงลำดับความจำเป็นแห่งภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนในแต่ละโรงเรียน
(๓) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้
(๔) ดำเนินการทางด้านประชาสัมพันธ์ให้ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น บรรดาโรงเรียนต่าง ๆ และผู้ปกครองของนักเรียนตลอดจนบุคคลทั่วไปได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนและปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก
(๕) ควบคุม ติดตามผล และประเมินผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
(๖) ออกระเบียบหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๑๓ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน รวมทั้งการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๑๔ การจัดทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา ๑๕ ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้คณะกรรมการเสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมา ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรับรองแล้ว ต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๖ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลจัดสรรเงินให้แก่กองทุนดังนี้ (๑) เป็นเงินทุนประเดิมห้าร้อยล้านบาท และ
(๒) เป็นเงินงบค่าใช้จ่ายห้าสิบล้านบาท
ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๖ เป็นต้นไป ทุกปีงบประมาณให้จัดสรรเงินให้เป็นทุนประเดิมปีละไม่น้อยกว่าห้าร้อยล้านบาท และให้เป็นงบค่าใช้จ่ายปีละไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทจนกว่ากองทุนจะมีเงินตามมาตรา ๕ (๑) และ (๒) รวมกันถึงหกพันล้านบาท
เงินงบค่าใช้จ่ายที่ได้รับตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้กองทุนนำมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ และในการดำเนินการตามวรรคสองไม่ให้นับเงินดังกล่าวเป็นเงินตามมาตรา ๕ (๒)
มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบัน เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการบางส่วนไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการอันมีผลทำให้การเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญาของเด็กนักเรียนเหล่านั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน สมควรให้มีการช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาเด็กนักเรียนตลอดจนลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนดังกล่าวโดยจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้