ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : กฎบัตรสหประชาชาติ
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

กฎบัตรสหประชาชาติ

แชร์กระทู้นี้

เราบรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาตได้ตั้งเจตจำนง
ที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ซึ่งได้นำความวิปโยคอย่างสุดจะพรรณนามาสู่มนุษยชาติในชั่วชีวิตของเราถึงสองครั้งแล้ว และที่จะยืนยันความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชน อันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษยบุคคล ในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี และของประชาชาติใหญ่น้อย และที่จะสถาปนาภาวการณ์อันจะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความเคารพ    ต่อข้อผูกพันทั้งหลายอันเกิดจากสนธิสัญญาและที่มาอื่น ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ และที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคม และมาตรฐานแห่งชีวิตอันดียิ่งขึ้นในอิสภาพที่กว้างขวางยิ่งขึ้นและเพื่อจุดมุ่งหมายปลายทางเหล่านี้
ที่จะปฏิบัติการผ่อนสั้นผ่อนยาว และดำรงชัวิตอยู่ด้วยกันในสันติภาพเยี่ยงเพื่อนบ้านที่ดี และที่จะรวมกำลังของเราเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และที่จะให้ความแน่นอนใจว่าจะไม่มีการใช้กำลังอาวุธ นอกจากเพื่อประโยน์ร่วมกัน โดยการยอมรับหลักการและวิธีการ ที่ตั้งขึ้น และที่จะใช้จักรกลระหว่างประเทศ สำหรับส่งเสริมความรุดหน้าในทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั้งปวง 
จึงได้ลงมติที่จะผสมผสานความพยายามของเรา
ในอันที่จะให้สำเร็จผลตามความมุ่งหมายเหล่านี้
โดยนัยนี้ รัฐบาลของเราโดยลำดับจึงได้ตกลงกันตามกฎบัตรสหประชาชาติฉบับปัจจุบัน โดยทางผู้แทนที่มาร่วมชุมนุมในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งได้แสดงหนังสือมอบอำนาจเต็มของตนอันได้ตรวจแล้วว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้อง และ ณ ที่นี้จึงสถาปนาองค์การระหว่างประเทศขึ้น เรียกว่า สหประชาชาติ
 
หมวดที่ ๑
ความมุ่งประสงค์และหลักการ
                  
 
ความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ คือ
๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อจุดหมายปลายทางนั้น จะได้ดำเนินมาตรการร่วมกันอันมีผลจริงจังเพื่อการป้องกันและการขจัดปัดเป่าการคุกคามต่อสันติภาพ และเพื่อปราบปรามการกระทำการรุกรานหรือการละเมิดอื่น ๆ ต่อสันติภาพ และนำมาซึ่งการแก้ไข หรือระงับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ระหว่างประเทศอันอาจนำไปสู่การละเมิดสันติภาพ โดยสันติวิธีและสอดคล้องกับหลักการแห่งความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ

                       ๒. เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลายโดยยึดการเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิที่เท่าเทียมกันและการกำหนดเจตจำนงของตนเองแห่งประชาชนทั้งหลายเป็นมูลฐาน และจะดำเนินมาตรการอื่น ๆ อันเหมาะสมเพื่อเป็นกำลังแก่สันติภาพสากล

                       ๓. เพื่อให้บรรลุถึงการร่วมมือระหว่างประเทศ ในอันที่จะแก้ปัญหาระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือมนุษยธรรมและในการส่งเสริมและสนับสนุนการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และต่ออิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา และ

๔.เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับประสานการดำเนินการของประชาชาติทั้งหลายให้กลมกลืนกัน ในอันที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางร่วมกันเหล่านี้
 
 
เพื่ออนุวัติตามความมุ่งประสงค์ดังกล่าวในข้อ ๑ องค์การฯ และสมาชิกขององค์การฯ จะดำเนินการโดยสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้
๑. องค์การฯ ยึดหลักการแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยของสมาชิกทั้งปวงเป็นมูลฐาน
๒. เพื่อทำความแน่ใจให้แก่สมาชิกทั้งปวงในสิทธิและผลประโยชน์อันพึงได้รับจากสมาชิกภาพสมาชิกทั้งปวงจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตนยอมรับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันโดยสุจริตใจ
๓. สมาชิกทั้งปวงจะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธี ในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และความยุติธรรม
๔. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงจะต้องละเว้นการคุกคาม หรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใด ๆ หรือการกระทำในลักษณะการอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ
๕. สมาชิกทั้งปวงจะต้องให้ความช่วยเหลือทุกประการแก่สหประชาชาติในการกระทำ   ใด ๆ ที่ดำเนินไปตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และจะต้องละเว้นการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐใด ๆ ที่กำลังถูกสหประชาชาติดำเนินการป้องกันหรือบังคับอยู่
๖. องค์การฯ จะต้องให้ความแน่นอนใจว่า รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับหลักการเหล่านี้เท่าที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
๗. ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซง ในเรื่องซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วตกอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐใด ๆ หรือจะเรียกให้สมาชิกเสนอเรื่อง เช่นว่าเพื่อการระงับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน แต่หลักการนี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้มาตรการบังคับตามหมวดที่ ๗
 
 
หมวดที่ ๒
สมาชิกภาพ
                  
 
สมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติ ได้แก่รัฐซึ่งลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบันและให้สัตยาบันตามข้อ ๑๑๐ โดยได้เข้าร่วมในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก หรือได้ลงนามไว้ก่อนในปฏิญญาโดยสหประชาชาติ ลงวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แล้ว
 
๑. สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติเปิดให้แก่รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และในการวินิจฉัยขององค์การฯ เห็นว่ามีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านี้
๒. การรับรัฐใด ๆ เช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะเป็นผลก็แต่โดยมติของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
 
สมาชิกของสหประชาชาติที่ได้ถูกคณะมนตรีความมั่นคงดำเนินการในทางป้องกันหรือบังคับ อาจถูกสมัชชาสั่งงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพได้ตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงอาจคืนการใช้สิทธิและเอกสิทธิเหล่านี้ให้ได้
 
สมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งได้ละเมิดหลักการอันมีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่เป็นเนืองนิจอาจถูกขับไล่ออกจากองค์การฯ โดยสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
 
 
หมวดที่ ๓
องค์กร
                  
 
๑. องค์กรสำคัญของสหประชาชาติที่ได้สถาปนาขึ้น มีสมัชชาคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการ
๒. องค์กรย่อยอาจสถาปนาขึ้นได้ตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันตามความจำเป็น
 
สหประชาชาติจะไม่วางข้อกำกัดในการรับบุรุษและสตรี เข้าร่วมในองค์กรสำคัญ และองค์กรย่อยของสหประชาชาติไม่ว่าในฐานะใด ๆ และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาค
 
หมวดที่ ๔
สมัชชา
                  
 
องค์ประกอบ
 
๑. สมัชชาจะต้องประกอบด้วยสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ
๒. สมาชิกแต่ละประเทศจะมีผู้แทนในสมัชชาได้ไม่มากกว่าห้าคน
 
หน้าที่และอำนาจ
 
สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใด ๆ หรือเรื่องใด ๆ ภายในขอบข่ายแห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือที่เกี่ยวโยงไปถึงอำนาจและหน้าที่ขององค์การใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ และอาจทำคำแนะนำไปยังสมาชิกของสหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งในปัญหาหรือเรื่องราวใด ๆ เช่นว่านั้นได้ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ ๑๒
 
๑. สมัชชาอาจพิจารณาหลักการทั่วไปแห่งความร่วมมือ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการควบคุมการลดอาวุธและการควบคุมกำลังอาวุธ และอาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับหลักการเช่นว่าไปยังสมาชิก หรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งก็ได้
๒. สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอันได้เสนอต่อสมัชชาโดยสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติ หรือโดยคณะมนตรีความมั่นคง หรือโดยรัฐที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติตามข้อ ๓๕ วรรค ๒ และ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ ๑๒ อาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ เช่นว่านั้นไปยังรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือทั้งสองแห่งก็ได้ สมัชชาจะต้องส่งปัญหาใด ๆ เช่นว่า ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการไปยังคณะมนตรีความมั่นคงจะเป็นก่อนหรือหลังการอภิปรายก็ได้
๓. สมัชชาอาจแจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบสถานการณ์ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
๔. อำนาจของสมัชชาตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้จะต้องไม่จำกัดขอบข่ายทั่วไปของข้อ ๑๐
 
๑. ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงกำลังปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ใด ๆ อันได้รับมอบหมายตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่นั้น สมัชชาจะต้องไม่ทำคำแนะนำใด ๆ เกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงจะร้องขอ
๒. โดยความยินยอมของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจะต้องแจ้งให้สมัชชาทราบทุกสมัยประชุมถึงเรื่องราวใด ๆ เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงกำลังดำเนินการอยู่ และในทำนองเดียวกัน จะต้องแจ้งสมัชชาหรือสมาชิกของสหประชาชาติในกรณีที่สมัชชามิได้อยู่ในสมัยประชุมให้ทราบในทันทีที่คณะมนตรีความมั่นคงหยุดดำเนินการในเรื่องเช่นว่านั้น

 

๑. สมัชชาจะต้องริเริ่มการศึกษาและทำคำแนะนำเพื่อความมุ่งประสงค์ในการ
ก. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเมือง และสนับสนุนพัฒนาการก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศและการประมวลกฎหมายนี้
ข. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและอนามัย และช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา
๒. ความรับผิดชอบ หน้าที่ และอำนาจต่อไปของสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องที่ระบุไว้ในวรรค ๑ (ข) ข้างต้น ได้กำหนดไว้ในหมวดที่ ๙ และ ๑๐
 
ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๑๒ สมัชชาอาจแนะนำมาตรการเพื่อการปรับปรุงสถานการณ์ใด ๆ โดยสันติ เมื่อเห็นว่าน่าจะเสื่อมเสียแก่สวัสดิการทั่วไป หรือความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลาย รวมทั้งสถานการณ์ซึ่งเป็นผลการละเมิดบทบัญญัติของกฎบัตรฉบับปัจจุบัน อันได้กำหนดความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไว้ ทั้งนี้โดยมิต้องคำนึงถึงแหล่งกำเนิด
 
๑. สมัชชาจะต้องรับและพิจารณารายงานประจำปีและรายงานพิเศษจากคณะมนตรีความมั่นคงรายงานเหล่านี้จะต้องรวมรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยหรือดำเนินการไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
๒. สมัชชาจะต้องรับและพิจารณารายงานจากองค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติ
 
สมัชชาจะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศดังที่ได้รับมอบหมายตามหมวดที่ ๑๒ และ ๑๓ รวมทั้งเกี่ยวกับความเห็นชอบเรื่องความตกลงภาวะทรัสตีสำหรับดินแดนที่มิได้กำหนดว่าเป็นเขตยุทธศาสตร์
 
๑. สมัชชาจะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่งบประมาณขององค์กรฯ
๒. สมาชิกจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายขององค์การฯ ตามส่วนที่สมัชชาได้กำหนดให้
๓. สมัชชาจะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่ข้อตกลงใด ๆ ทางการเงินและงบประมาณกับทบวงการชำนัญพิเศษดังกล่าวไว้ในข้อ ๕๗ และจะต้องตรวจสอบงบประมาณด้านบริหารของทบวงการชำนัญพิเศษดังกล่าว เพื่อที่จะทำคำแนะนำต่อทบวงการที่เกี่ยวข้อง
 
การลงคะแนนเสียง
 
๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสมัชชาจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน
๒. คำวินิจฉัยของสมัชชาในปัญหาสำคัญ ๆ จะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากสองในสามของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง ปัญหาเหล่านี้จะต้องรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเลือกตั้งสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคง การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีภาวะทรัสตี ตามวรรค ๑ (ค) ของข้อ ๘๖ การรับสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ การงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพ การขับไล่สมาชิกปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบภาวะทรัสตี และปัญหางบประมาณ
๓. คำวินิจฉัยปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งการกำหนดประเภทแห่งปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากสองในสามเพิ่มเติมนั้น จะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง
 
สมาชิกของสหประชาชาติที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงแก่องค์การฯ ย่อมไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชา ถ้าจำนวนเงินค้างชำระเท่าหรือมากกว่าจำนวนเงินค่าบำรุงที่ถึงกำหนดชำระสำหรับสองปีเต็มที่ล่วงมา อย่างไรก็ตาม สมัชชาอาจอนุญาตให้สมาชิกเช่นว่านั้นลงคะแนนเสียงได้ ถ้าทำให้เป็นที่พอใจได้ว่าการไม่ชำระนั้นเนื่องมาแต่ภาวะอันอยู่นอกเหนือการควบคุมของสมาชิกนั้นวิธีดำเนินการประชุม
 
สมัชชาจะต้องประชุมกันในสมัยประชุมสามัญประจำปี และในสมัยประชุมพิเศษเช่นโอกาสที่จำเป็น เลขาธิการจะเรียกประชุมสมัยพิเศษตามคำร้องขอของคณะมนตรีความมั่นคง หรือของสมาชิกข้างมากของสหประชาชาติ
 
สมัชชาจะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง ทั้งจะเลือกตั้งประธานสมัชชาสำหรับแต่ละสมัยประชุมด้วย
 
สมัชชาอาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่นที่เห็นจำเป็น สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนก็ได้
 
หมวดที่ ๕
คณะมนตรีความมั่นคง
                  
 
องค์ประกอบ
 
 
๑. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติสิบห้าประเทศ สาธารณรัฐจีน ฝรั่งเศส สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา จะเป็นสมาชิกประจำของคณะมนตรีความมั่นคง สมัชชาจะต้องเลือกตั้งสมาชิกอื่นของสหประชาชาติอีกสิบประเทศ เป็นสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคง ทั้งนี้จะต้องคำนึงเป็นพิเศษในประการแรกถึงส่วนเกื้อกูลของสมาชิกของสหประชาชาติ ต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และความมุ่งประสงค์อื่น ๆ ขององค์การฯ และทั้งการแจกกระจ่ายตามเขตภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรมอีกด้วย
๒. สมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องได้รับเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสองปี ในการเลือกตั้งครั้งแรกของสมาชิกไม่ประจำ หลังจากการเพิ่มจำนวนสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงจากสิบเอ็ดประเทศเป็นสิบห้าประเทศ สมาชิกสองในสี่ประเทศที่เพิ่มขึ้นจะได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งมีกำหนดเวลาหนึ่งปี สมาชิกที่กำลังพ้นตำแหน่งไม่มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งซ้ำโดยทันที
๓. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงจะมีผู้แทนได้หนึ่งคน
 
หน้าที่และอำนาจ
 
๑. เพื่อประกันการดำเนินการของสหประชาชาติอย่างทันท่วงทีและเป็นผลจริงจัง สมาชิกของสหประชาชาติจึงมอบความรับผิดชอบชั้นต้นสำหรับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่าง ประเทศให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง และตกลงว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามความรับผิดชอบนี้ คณะมนตรีความมั่นคงกระทำในนามของสมาชิก
๒. ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องกระทำตามความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ อำนาจเฉพาะที่มอบให้คณะมนตรีความมั่นคงสำหรับการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ได้กำหนดไว้ในหมวดที่ ๖, ๗, ๘ และ ๑๒
๓. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเสนอรายงานประจำปี และรายงานพิเศษเมื่อจำเป็นต่อสมัชชาเพื่อการพิจารณา
 
สมาชิกของสหประชาชาติ ตกลงยอมรับและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน
 
เพื่อส่งเสริมการสถาปนา และการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยการผันแปรทรัพยากรทางมนุษยชนและทางเศรษฐกิจของโลกมาใช้เพื่อเป็นกำลังอาวุธให้น้อยที่สุด คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องรับผิดชอบในการกำหนดแผนซึ่งจะเสนอต่อสมาชิกของสหประชาชาติเพื่อการสถาปนาระบบอันหนึ่ง สำหรับการควบคุมกำลังอาวุธ ทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหารตามที่ระบุไว้ในข้อ ๔๗
 
 
การลงคะแนนเสียง
 
๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน
๒. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง ในเรื่องวิธีดำเนินการจะต้องกระทำโดยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกเก้าประเทศ
๓. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงในเรื่องอื่นทั้งหมด จะต้องกระทำโดยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกเก้าประเทศ ซึ่งรวมคะแนนเสียงเห็นพ้องกันของบรรดาสมาชิกประจำอยู่ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าในคำวินิจฉัยตามหมวดที่ ๖ และตามวรรค ๓ ของข้อ ๕๒ ผู้เป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาทจะต้องงดเว้นจากการลงคะแนนเสียง
 
วิธีดำเนินการประชุม
 
๑. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องก่อตั้งขึ้นในลักษณะที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยต่อเนื่อง เพื่อความมุ่งประสงค์นี้สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคง จะมีผู้แทนประจำอยู่ทุกเวลา ณ ที่ตั้งขององค์การฯ
๒. คณะมนตรีความมั่นคงจะประชุมกันเป็นครั้งคราว สมาชิกแต่ละประเทศถ้าปรารถนาก็อาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล หรือผู้แทนอื่นที่ได้กำหนดตัวเป็นพิเศษ เป็นผู้แทนของตนเข้าร่วมประชุมนั้นได้
๓. คณะมนตรีความมั่นคงอาจประชุม ณ สถานที่อื่นนอกไปจากที่ตั้งขององค์การฯ หากวินิจฉัยว่าจะอำนวยความสะดวกแก่งานของตนได้ดีที่สุด
 
คณะมนตรีความมั่นคงอาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่นที่เห็นจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน
 
คณะมนตรีความมั่นคง จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย
 
สมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง อาจเข้าร่วมในการอภิปรายปัญหาใด ๆ ที่จะนำมาสู่คณะมนตรีความมั่นคงได้โดยไม่มีคะแนนเสียง เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาว่าผลประโยชน์ของสมาชิกนั้นได้รับความกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ
 
สมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง หรือรัฐใด ๆ ที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ หากตกเป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาท ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับกรณีพิพาทนั้นด้วยโดยไม่มีคะแนนเสียงคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องกำหนดเงื่อนไขเช่นที่เห็นว่ายุติธรรมสำหรับการเข้าร่วมในการอภิปรายของรัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ
 
หมวดที่ ๖
การระงับกรณีพิพาทโดยสันติ
                  
 
๑. ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใด ๆ ซึ่งหากดำเนินอยู่ต่อไปน่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจะต้องแสวงหาทางแก้ไขโดยการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอมอนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การอาศัยทบวงการตัวแทน ส่วนภูมิภาคหรือข้อตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก
๒. เมื่อเห็นว่าจำเป็น คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเรียกร้องให้คู่พิพาทระงับกรณีพิพาทของตนโดยวิธีเช่นว่านั้น
 
คณะมนตรีความมั่นคงอาจสืบสวนกรณีพิพาทใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ หรือก่อให้เกิดกรณีพิพาท เพื่อกำหนดลงไปว่าการดำเนินอยู่ต่อไปของกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น ๆ น่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศหรือไม่
 
๑. สมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติอาจนำกรณีพิพาทใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ อันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ ๓๔ มาเสนอคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาได้
๒. รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติอาจนำกรณีพิพาทใด ๆ ซึ่งตนเป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาทมาเสนอคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาได้ ถ้ารัฐนั้นยอมรับล่วงหน้าซึ่งข้อผูกพันเกี่ยวกับการระงับกรณีพิพาทโดยสันติตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน เพื่อความมุ่งประสงค์ในการระงับกรณีพิพาท
๓. การดำเนินการพิจารณาของสมัชชา ในเรื่องที่เสนอขึ้นมาตามข้อนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๑๑ และ ๑๒
 
๑. คณะมนตรีความมั่นคงอาจแนะนำวิธีดำเนินการ หรือวิธีการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าในระยะใด ๆ แห่งการพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ ๓๓ หรือแห่งสถานการณ์อันมีลักษณะทำนองเดียวกันนั้น
๒. คณะมนตรีความมั่นคงควรพิจารณาวิธีดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับกรณีพิพาทซึ่งคู่พิพาทได้รับปฏิบัติแล้ว
๓. ในการทำคำแนะนำตามข้อนี้ คณะมนตรีความมั่นคงควรพิจารณาด้วยว่ากรณีพิพาทในทางกฎหมายนั้นตามหลักทั่วไป ควรให้คู่พิพาทเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของศาลนั้น
 
๑. หากผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ ๓๓ ไม่สามารถระงับกรณีพิพาทได้โดยวิธีระบุไว้ในข้อนั้นแล้ว ให้เสนอเรื่องนั้นต่อคณะมนตรีความมั่นคง
๒. ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่า โดยพฤติการณ์การดำเนินต่อไปแห่งกรณีพิพาทน่าจะเป็นอันตรายต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว ก็ให้วินิจฉัยว่าจะดำเนินการตามข้อ ๓๖ หรือจะแนะนำข้อกำหนดในการระงับกรณีพิพาทเช่นที่อาจพิจารณาเห็นเหมาะสม
 
โดยไม่กระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติแห่งข้อ ๓๓ ถึง ๓๗ คณะมนตรีความมั่นคงอาจทำคำแนะนำแก่คู่พิพาทด้วยความมุ่งหมายในการระงับกรณีพิพาทโดยสันติ หากผู้เป็นฝ่ายทั้งปวง ในกรณีพิพาทใด ๆ ร้องขอเช่นนั้น
 
หมวดที่ ๗
การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ
การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน
                  
 
คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องกำหนดว่า การคุกคามต่อสันติภาพการละเมิดสันติภาพ หรือการกระทำการรุกรานได้มีขึ้นหรือไม่ และจะต้องทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการใดตาม ข้อ ๔๑ และ ๔๒ เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
 
เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ทวีความร้ายแรงยิ่งขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงอาจเรียกร้องให้คู่กรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องอนุวัติตามมาตรการชั่วคราวเช่นที่เห็นจำเป็นหรือพึงปรารถนา ก่อนที่จะทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓๙ มาตรการชั่วคราวเช่นว่านี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิ สิทธิเรียกร้องหรือฐานะของคู่พิพาทที่เกี่ยวข้องคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องคำนึงถึงการไม่สามารถอนุวัติตามมาตรการชั่วคราวเช่นว่านั้นตามสมควร
 
คณะมนตรีความมั่นคงอาจวินิจฉัยว่า จะต้องใช้มาตรการใดอันไม่มีการใช้กำลังอาวุธ เพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงและอาจเรียกร้องให้สมาชิกของสหประชาชาติใช้มาตรการเช่นว่านั้นมาตรการเหล่านี้อาจรวมถึงการหยุดชะงักซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการคมนาคมทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุ และวิถีทางคมนาคมอย่างอื่นโดยสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน และการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย
 
หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาว่า มาตรการตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔๑ จะไม่เพียงพอ หรือได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ คณะมนตรีฯอาจดำเนินการใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน เช่นที่อาจเห็นจำเป็นเพื่อธำรงไว้ หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การดำเนินการเช่นว่านี้อาจรวมถึงการแสดงแสนยานุภาพ การปิดล้อมและการปฏิบัติการอย่างอื่นโดยกำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน ของบรรดาสมาชิกของสหประชาชาติ
 
๑. เพื่อได้มีส่วนเกื้อกูลในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ รับที่จะจัดสรรกำลังอาวุธ ความช่วยเหลือ และความสะดวก รวมทั้งสิทธิในการผ่านดินแดนตามที่จำเป็นเพื่อความมุ่งประสงค์ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง เมื่อคณะมนตรีฯ เรียกร้องและเป็นไปตามความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับ
๒. ความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับเช่นว่านั้น จะต้องกำหนดจำนวนและประเภทของกำลังขั้นแห่งการเตรียมพร้อมและที่ตั้งโดยทั่วไปของกำลัง และลักษณะของความสะดวกและความช่วยเหลือที่จะจัดหาให้
๓. ให้ดำเนินการเจรจาทำความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับนั้นโดยความริเริ่มของคณะมนตรีความมั่นคงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความตกลงเหล่านี้จะต้องทำกันระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิก หรือระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและกลุ่มสมาชิก และจะต้องได้รับการสัตยาบันโดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐเหล่านั้น
 
เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยที่จะใช้กำลังแล้ว ก่อนที่จะเรียกร้องให้สมาชิกซึ่งมิได้มีผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงจัดส่งกำลังทหารเพื่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ได้ยอมรับตามข้อ ๔๓ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเชิญสมาชิกนั้นให้เข้าร่วมในการวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับการใช้กองกำลังทหารของสมาชิกนั้น หากสมาชิกนั้นปรารถนาเช่นนั้น
 
เพื่อให้สหประชาชาติสามารถดำเนินมาตรการทางทหารได้โดยด่วนสมาชิกจะต้องจัดสรรกองกำลังทางอากาศแห่งชาติไว้ให้พรักพร้อมโดยทันทีเพื่อการดำเนินการบังคับระหว่างประเทศร่วมกัน กำลังและขั้นแห่งการเตรียมพร้อมของกองกำลังเหล่านี้ และแผนการสำหรับการดำเนินการร่วมจะต้องกำหนดโดยคณะมนตรีความมั่นคง ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร ทั้งนี้ ภายในขอบเขตที่วางไว้ในความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อ้างถึงในข้อ ๔๓
 
แผนการสำหรับการใช้สำหรับทหารจะต้องจัดทำโดยคณะมนตรีความมั่นคง ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร
 
๑. ให้จัดสถาปนาคณะกรรมการเสนาธิการทหารขึ้นคณะหนึ่งเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวกับความต้องการทางทหารของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อ การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การใช้และการบังคับบัญชากำลังทหารที่มอบให้อยู่ในอำนาจจัดการของคณะมนตรีฯ การควบคุมกำลังอาวุธ และการลดอาวุธอันจะพึงเป็นไปได้
๒. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจะต้องประกอบด้วยเสนาธิการทหารของสมาชิกประจำของคณะมนตรีความมั่นคงหรือผู้แทนของบุคคลเหล่านี้คณะกรรมการฯ จะต้องเชิญสมาชิกของสหประชาชาติที่มิได้มีผู้แทนประจำอยู่ในคณะกรรมการฯ เข้าร่วมงานกับคณะกรรมการฯ ด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้สมาชิกนั้นเข้าร่วมในการทำงานของคณะกรรมการฯ
๓. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจะต้องรับผิดชอบภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงสำหรับการบัญชาการทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้กำลังทหารใด ๆ ซึ่งได้มอบไว้ให้อยู่ในอำนาจจัดการของคณะมนตรีความมั่นคงเรื่องเกี่ยวกับการบังคับบัญชาทหารเช่นว่านั้นจะได้ดำเนินการในภายหลัง
๔. คณะกรรมการเสนาธิการทหารอาจสถาปนาคณะอนุกรรมการส่วนภูมิภาคขึ้นได้ ทั้งนี้โดยได้รับมอบอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงและหลังจากได้ปรึกษาหารือกับทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคที่เหมาะสมแล้ว
 
๑. การดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องกระทำโดยสมาชิกของสหประชาชาติทั้งปวงหรือแต่บางประเทศ ตามแต่คณะมนตรีความมั่นคงจะพึงกำหนด
๒. คำวินิจฉัยเช่นว่านั้นจะต้องปฏิบัติตามโดยสมาชิกของสหประชาชาติโดยตรง และโดยผ่านการดำเนินการของสมาชิกเหล่านั้นในทบวงการตัวแทนระหว่างประเทศที่เหมาะสมซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่
 
สมาชิกของสหประชาชาติจะต้องร่วมกันอำนวยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยไว้แล้ว
 
หากคณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินมาตรการป้องกันหรือบังคับต่อรัฐใดรัฐอื่นไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาพิเศษทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้น ย่อมมีสิทธิที่จะปรึกษาหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
 
ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังหรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้จะต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันที และจะต้องไม่กระทบกระเทือนอำนาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ประการใด ในอันที่จะดำเนินการเช่นที่เห็นจำเป็นไม่ว่าในเวลาใด เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
 
หมวดที่ ๘
ข้อตกลงส่วนภูมิภาค
                  
 
๑. ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันที่กีดกันการมีข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค เพื่อการจัดการเรื่องที่เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเช่นที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการส่วนภูมิภาค โดยมีเงื่อนไขว่า ข้อตกลงหรือทบวงการตัวแทนเช่นว่าและกิจกรรมนั้น ๆ สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
๒. สมาชิกของสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมในข้อตกลงเช่นว่านั้นหรือประกอบขึ้นเป็นทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้น จะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะบรรลุถึงการระงับกรณีพิพาทแห่งท้องถิ่นโดยสันติ โดยอาศัยข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น ก่อนที่จะเสนอกรณีพิพาทเหล่านั้นไปยังคณะมนตรีความมั่นคง
๓. คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องสนับสนุนพัฒนาการเกี่ยวกับการระงับกรณีพิพาทแห่งท้องถิ่นโดยสันติ โดยอาศัยข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือโดยการเสนอเรื่องมาจากคณะมนตรีความมั่นคง
๔. ข้อนี้ไม่ทำให้เสื่อมเสียโดยประการใด ๆ ต่อการนำข้อ ๓๔ และ ๓๕ มาใช้บังคับ
 
๑. เมื่อเห็นเหมาะสม คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น เพื่อการดำเนินการบังคับภายใต้อำนาจของตน แต่จะมีการดำเนินการบังคับตามข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค โดยปราศจากการมอบอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงไม่ได้ โดยมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับมาตรการที่กระทำต่อรัฐศัตรู ดังที่นิยามไว้ในวรรค ๒ แห้งข้อนี้ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยอนุวัตตามข้อ ๑๐๗ หรือในข้อตกลงส่วนภูมิภาค ซึ่งต่อต้านการรื้อฟื้นนโยบายรุกรานของรัฐศัตรูเช่นว่านั้น จนกว่าจะถึงเวลาที่องค์การฯ อาจเข้ารับผิดชอบเพื่อป้องกันการรุกรานต่อไปโดยรัฐศัตรูเช่นว่าตามคำร้องของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
๒. คำว่ารัฐศัตรูที่ใช้ในวรรค ๑ แห่งข้อนี้ย่อมนำมาใช้กับรัฐใด ๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นศัตรูของรัฐที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน
 
คณะมนตรีความมั่นคง จะต้องได้รับแจ้งโดยครบถ้วนตลอดเวลาถึงกิจกรรมที่ได้กระทำไป หรืออยู่ในความดำริตามข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
 
หมวดที่ ๙
ความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ และสังคม
                  
 
ด้วยความมุ่งหมายในการสถาปนาภาวการณ์แห่งเสถียรภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์โดยสันติและโดยฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งหลาย โดยยึดความเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันเท่าเทียมกันและการกำหนดเจตจำนงของตนเองของประชาชนเป็นมูลฐาน สหประชาชาติจะต้องส่งเสริม
ก. มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น การมีงานทำโดยทั่วถึง และภาวการณ์แห่งความก้าวหน้าและพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม
ข. การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม อนามัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือระหว่างประเทศทางวัฒนธรรมและการศึกษา และ
ค. การเคารพโดยสากล และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา
 
สมาชิกทั้งปวงให้คำมั่นว่าตนจะดำเนินการร่วมกันและแยกกัน ในการร่วมมือกับองค์การฯ เพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๕
 
๑. ทบวงการชำนัญพิเศษต่าง ๆ ที่ได้สถาปนาขึ้น โดยความตกลงระหว่างรัฐบาลและมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัยและอื่น ๆที่เกี่ยวข้องดังได้นิยามไว้ในตราสารก่อตั้งของตน จะต้องนำเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติตามบทบัญญัติของข้อ ๖๓
๒. ทบวงการตัวแทนเช่นว่านี้ด้วยเหตุที่ได้นำเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า ทบวงการชำนัญพิเศษ
 
องค์การฯ จะต้องนำคำแนะนำสำหรับการประสานนโยบายและกิจกรรมของทบวงการชำนัญพิเศษ
 
เมื่อเห็นเหมาะสม องค์การฯ จะต้องริเริ่มการเจรจาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการก่อตั้งทบวงการชำนัญพิเศษใหม่ใด ๆ อันจำเป็นเพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๕
 
ความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การฯ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้จะต้องมอบให้แก่สมัชชา และภายใต้อำนาจของสมัชชาแก่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะต้องมีอำนาจเพื่อความมุ่งประสงค์นี้ตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่ ๑๐
 
หมวดที่ ๑๐
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
                  
 
องค์ประกอบ
 
๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะต้องประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติห้าสิบสี่ประเทศซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยสมัชชา
๒. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของวรรค ๓ แต่ละปีสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมสิบแปดประเทศจะได้รับเลือกตั้งเป็นกำหนดเวลาสามปี สมาชิกที่กำลังพ้นตำแหน่งมีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งซ้ำทันที
๓. ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากเพิ่มจำนวนสมาชิกในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจากยี่สิบเจ็ดประเทศเป็นห้าสิบสี่ประเทศ นอกจากสมาชิกที่ได้รับเลือกเพื่อแทนที่สมาชิกเก้าประเทศซึ่งกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดลงในปลายปีนั้นแล้ว จะได้เลือกสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกยี่สิบเจ็ดประเทศ สมาชิกที่ได้รับเลือกเพิ่มขึ้นยี่สิบเจ็ดประเทศนี้ กำหนดเวลาดำรงตำแหน่งของสมาชิกเก้าประเทศที่ได้รับเลือกจะสิ้นสุดลงในปลายปีแรก และของสมาชิกอีกเก้าประเทศจะสิ้นสุดลงในปลายปีที่สอง ตามข้อตกลงที่สมัชชาได้ทำไว้
๔. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะมีผู้แทนได้หนึ่งคนหน้าที่และอำนาจ
 
๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำหรือริเริ่มการศึกษาและรายงานเกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเช่นว่านั้นเสนอต่อสมัชชา ต่อสมาชิกของสหประชาชาติ และต่อทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง
๒. คณะมนตรีฯ อาจทำคำแนะนำเพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะส่งเสริมการเคารพ และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน
๓. คณะมนตรีฯ อาจจัดเตรียมร่างอนุสัญญา เพื่อเสนอต่อสมัชชาเกี่ยวกับเรื่อทั้งหลายที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีฯ
๔. คณะมนตรีฯ อาจเรียกประชุมระหว่างประเทศ ในเรื่องทั้งหลายที่ตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีฯ ตามข้อบังคับที่สหประชาชาติกำหนดไว้
 
๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจเข้าทำความตกลงกับทบวงการตัวแทนใด ๆ ที่อ้างถึงในข้อ ๕๗ ซึ่งวางข้อกำหนดในการนำทบวงการตัวแทนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ความตกลงเช่นว่านั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมัชชา
๒. คณะมนตรีฯ อาจประสานกิจกรรมของทบวงการชำนัญพิเศษโดยการปรึกษาหารือ และการทำคำแนะนำต่อทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้นและโดยการทำคำแนะนำต่อสมัชชา และต่อสมาชิกของสหประชาชาติ
 
๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับรายงานโดยสม่ำเสมอจากทบวงการชำนัญพิเศษ คณะมนตรีอาจทำข้อตกลงกับสมาชิกของสหประชาชาติและกับทบวงการชำนัญพิเศษ เพื่อให้ได้รับรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการซึ่งได้ทำไปแล้ว เพื่อให้บังเกิดผลตามคำแนะนำของตนและตามคำแนะนำของสมัชชา ในเรื่องที่ตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีฯ
๒. คณะมนตรีฯ อาจแจ้งข้อสังเกตของตนเกี่ยวกับรายงานเหล่านี้ต่อสมัชชา
 
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจจัดหาข้อสนเทศให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง และจะต้องช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงร้องขอ
 
๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของตนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของสมัชชา
๒. ด้วยความเห็นชอบของสมัชชา คณะมนตรีฯ อาจปฏิบัติการตามคำร้องขอของสมาชิกของสหประชาชาติ และตามคำร้องขอของทบวงการชำนัญพิเศษ
๓. คณะมนตรีฯ จะปฏิบัติหน้าที่อื่นเช่นที่ระบุไว้ในที่อื่นใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือเช่นที่สมัชชาอาจมอบหมายให้
 
การลงคะแนนเสียง
 
๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะมีคะแนนเสียงหนึ่ง
คะแนนคำวินิจฉัยของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง
 
วิธีดำเนินการประชุม
 
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม และสำหรับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการอื่นเช่นที่อาจจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน
 
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะต้องเชิญสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติให้เข้าร่วมโดยไม่มีคะแนนเสียง ในการพิจารณาของคณะมนตรีฯ ในเรื่องใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับสมาชิกนั้น
 
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำข้อตกลงสำหรับผู้แทนของทบวงการชำนัญพิเศษ ที่จะเข้าร่วมโดยไม่มีคะแนนเสียงในการพิจารณาของคณะมนตรีฯ และในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่คณะมนตรีฯ ได้สถาปนาขึ้น และสำหรับผู้แทนของตนที่จะเข้าร่วมในการพิจารณาของทบวงการชำนัญพิเศษ
 
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทำข้อตกลงที่เหมาะสมเพื่อการปรึกษาหาหรือกับองค์การที่มิใช่ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอันอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของตน ข้อตกลงเช่นว่าอาจทำกับองค์การระหว่างประเทศและเมื่อเห็นเหมาะสมกับองค์การแห่งชาติ หลังจากการปรึกษาหารือกับสมาชิกของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องแล้ว
 
๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย
๒. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จะต้องประชุมกันเท่าที่จำเป็นตามระเบียบข้อบังคับของตน ซึ่งจะต้องรวมบทบัญญัติสำหรับเรียกประชุมตามคำร้องขอของสมาชิกเสียงข้างมากของคณะมนตรีฯ ไว้ด้วย
 
หมวดที่ ๑๑
ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง
                  
 
สมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งมีหรือเข้ารับเอาความรับผิดชอบในการปกครองดินแดนซึ่งประชาชนยังมิได้มาซึ่งการปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ ยอมรับหลักการว่าผลประโยชน์ของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และยอมรับเป็นภาระมอบหมายอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้อผูกพันที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนเหล่านี้อย่างสุดกำลัง ภายในระบบแห่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ได้สถาปนาขึ้นโดยกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และเพื่อจุดหมายปลายทางนี้
ก. จะประกันความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา การปฏิบัติอันเที่ยงธรรมและการคุ้มครองให้พ้นจากการใช้สิทธิในทางมิชอบ ทั้งนี้ด้วยความเคารพตามสมควรต่อวัฒนธรรมของประชาชนที่เกี่ยวข้อง
ข. จะพัฒนาการปกครองตนเอง จะคำนึงตามสมควรถึงปณิธานทางการเมืองของประชาชน และจะช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ในการพัฒนาสถาบันอิสระทางการเมืองให้ก้าวหน้าตามพฤติการณ์ โดยเฉพาะของดินแดนแต่ละแห่ง และของประชาชนในดินแดนนั้น และขั้นแห่งความรุดหน้าอันต่างกันของประชาชนเหล่านั้น
ค. จะส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ
ง. จะส่งเสริมมาตรการแห่งพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์ จะสนับสนุนการวิจัย และจะร่วมมือซึ่งกันและกัน และเมื่อใด และ ณ ที่ใดที่เห็นเหมาะสม กับองค์กรชำนัญพิเศษระหว่างประเทศด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์โดยแท้จริงทางสังคม เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ดังกล่าวไว้ในข้อนี้ และ
จ. จะส่งข้อสนเทศทางสถิติและทางอื่น อันมีลักษณะทางวิชาการเกี่ยวกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในดินแดนซึ่งตนรับผิดชอบโดยลำดับ นอกเหนือไปจากดินแดนที่หมวดที่ ๑๒ และ ๑๓ ใช้บังคับ ให้แก่เลขาธิการโดยสม่ำเสมอเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสารนิเทศทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเช่นที่ข้อพิจารณาทางความมั่นคงและรัฐธรรมนูญจะพึงมี
 
สมาชิกของสหประชาชาติตกลงด้วยว่า นโยบายของตนเกี่ยวกับดินแดนที่หมวดนี้ใช้บังคับอยู่จะต้องยึดหลักการทั่วไปแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเป็นมูลฐาน ไม่น้อยไปกว่าที่เกี่ยวกับเขตนครหลวงของตนเอง ทั้งนี้โดยคำนึงตามสมควรถึงผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของส่วนอื่นของโลกในเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ และการพาณิชย์ด้วย
 
หมวดที่ ๑๒
ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ
                  
 
สหประชาชาติจะสถาปนาขึ้นภายใต้อำนาจของตน ซึ่งระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ เพื่อการปกครองและการควบคุมดูแลดินแดนเช่นนี้อาจจะนำเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนี้ โดยความตกลงเป็นราย ๆ ไปในภายหลังดินแดนเหล่าต่อไปในที่นี้จะเรียกว่าดินแดนทรัสตี
 
วัตถุประสงค์มูลฐานของระบบภาวะทรัสตี ตามความมุ่งประสงค์ของสหประชาชาติ ที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ของกฎบัตรฉบับปัจจุบัน คือ
ก. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ข. ส่งเสริมความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาของประชาชนผู้อาศัยอยู่ในดินแดนทรัสตีเหล่านั้นและพัฒนาการก้าวหน้าไปสู่การปกครองตนเอง หรือเอกราชตามความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์โดยเฉพาะของดินแดนแต่ละแห่งและของประชาชน และความปรารถนาอันแสดงออกโดยอิสระของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และตามแต่ข้อกำหนดของความตกลงภาวะทรัสตีแต่ละรายจะวางไว้
ค. สนับสนุนความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษาหรือศาสนา และสนับสนุนการยอมรับในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประชาชนของโลก และ
ง. ประกันการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันในเรื่องทางสังคมเศรษฐกิจและการพาณิชย์สำหรับสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ และคนชาติของสมาชิกเหล่านั้น และการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันสำหรับคนชาติของประเทศสมาชิกในการอำนวยความยุติธรรมด้วย ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๘๐
 
๑. ระบบภาวะทรัสตีจะต้องนำมาใช้บังคับกับดินแดนในประเทศดังต่อไปนี้ เช่นที่อาจนำมาไว้ภายใต้ระบบนี้ โดยวิถีทางแห่งความตกลงภาวะทรัสตี
ก. ดินแดนซึ่งบัดนี้อยู่ภายใต้อาณัติ
ข. ดินแดนซึ่งอาจแยกมาจากรัฐศัตรู โดยผลแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง และ
ค. ดินแดนซึ่งรัฐที่รับผิดชอบในการปกครองได้นำเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนี้โดยสมัครใจ
๒. เป็นเรื่องที่จะทำความตกลงกันภายหลังว่าจะให้นำดินแดนใดในประเภทที่กล่าวข้างต้นมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี และโดยมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง
 
ระบบภาวะทรัสตีจะต้องไม่นำมาใช้บังคับกับดินแดนที่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว ซึ่งสัมพันธภาพระหว่างกันจะต้องยึดความเคารพต่อหลักการแห่งความเสนอภาคในอธิปไตยเป็นมูลฐาน
 
ข้อกำหนดแห่งภาวะทรัสตีสำหรับแต่ละดินแดน อันจะนำมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี รวมทั้งข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขใด ๆ จะต้องได้รับการตกลงโดยรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งประเทศที่ใช้อำนาจอาณัติในกรณีที่เป็นดินแดนภายใต้อาณัติอันสมาชิกของสหประชาชาติได้รับมอบหมายและจะต้องได้รับความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๘๓ และ ๘๕
 
๑. นอกจากที่อาจได้ตกลงไว้ในความตกลงภาวะทรัสตีเป็นราย ๆ ไปซึ่งทำขึ้นตามข้อ ๗๗, ๗๙ และ ๘๑ โดยนำเอาดินแดนแต่ละแห่งมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี และจนกว่าจะได้ทำความตกลงเช่นว่านั้นแล้ว ไม่มีข้อความใดในหมวดนี้จะแปลความในหรือโดยตัวเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใด ๆ ซึ่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐหรือประชาชนใด ๆ หรือซึ่งกำหนดในตราสารระหว่างประเทศที่มีอยู่ ซึ่งสมาชิกของสหประชาชาติอาจเป็นภาคีตามลำดับ
๒. วรรค ๑ ของข้อนี้จะต้องไม่ตีความไปในทางที่ถือเป็นมูลเหตุสำหรับการหน่วงเหนี่ยวให้ช้า หรือการผลัดเลื่อนการเจรจา และการทำความตกลง เพื่อนำดินแดนในอาณัติและดินแดนอื่นมาไว้ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๗๗
 
ความตกลงภาวะทรัสตีในแต่ละกรณี จะต้องรวมไว้ซึ่งข้อกำหนดตามที่ดินแดนทรัสตีจะถูกปกครอง และจะกำหนดตัวผู้ทรงอำนาจ ซึ่งจะทำการปกครองดินแดนทรัสตี ผู้ทรงอำนาจเช่นว่านี้ ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่าผู้ใช้อำนาจปกครอง อาจเป็นรัฐเดียว หรือมากกว่านั้นหรือองค์การสหประชาชาติเองก็ได้
 
ในความตกลงภาวะทรัสตีรายใดรายหนึ่ง อาจมีการกำหนดเขตยุทธศาสตร์เขตหนึ่งหรือหลายเขตซึ่งอาจรวมดินแดนทรัสตีแต่บางส่วนหรือทั้งหมดที่ความตกลงใช้บังคับอยู่ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อความตกลงพิเศษฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือหลายฉบับที่ทำไว้ตามข้อ ๔๓
 
๑. หน้าที่ทั้งปวงของสหประชาชาติเกี่ยวกับเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้ง การให้ความเห็นชอบต่อข้อกำหนดของความตกลงภาวะทรัสตี และต่อข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขจะต้องกระทำโดยคณะรัฐมนตรีความมั่นคง
๒. วัตถุประสงค์มูลฐานที่กล่าวไว้ในข้อ ๗๖ จะต้องนำมาใช้บังคับได้กับประชาชนของเขตยุทธศาสตร์แต่ละเขต
๓. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของความตกลงภาวะทรัสตี และโดยไม่กระทบกระเทือนต่อข้อพิจารณาทางความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงจะถือเอาประโยชน์แห่งความช่วยเหลือของคณะมนตรีภาวะทรัสตี ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ของสหประชาชาติ ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในเขตยุทธศาสตร์เหล่านั้น
 
เป็นหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ที่จะประกันว่าดินแดนทรัสตีจะต้องมีส่วนในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเพื่อจุดหมายปลายทางนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองอาจใช้ประโยชน์จากกองทหารอาสาสมัคร ความสะดวก และความช่วยเหลือจากดินแดนทรัสตีในการปฏิบัติตามข้อผูกพันต่อคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองเข้ารับดำเนินการในเรื่องนี้ ตลอดจนการป้องกันดินแดนและการธำรงไว้ซึ่งกฎหมายและระเบียบภายในดินแดนทรัสตีนั้น
 
๑. หน้าที่ของสหประชาชาติเกี่ยวกับความตกลงภาวะทรัสตีสำหรับเขตทั้งปวงที่มิได้กำหนดให้เป็นเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบต่อข้อกำหนดของความตกลงภาวะทรัสตี และต่อข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขจะต้องกระทำโดยสมัชชา
๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตี ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของสมัชชาจะต้องช่วยเหลือสมัชชาในการปฏิบัติตามหน้าที่เหล่านี้
 
หมวดที่ ๑๓
คณะมนตรีภาวะทรัสตี
                  
 
องค์ประกอบ
 
๑. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จะต้องประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติดังต่อไปนี้
ก. สมาชิกที่ปกครองดินแดนทรัสตี
ข. สมาชิกที่ได้ระบุนามไว้ในข้อ ๒๓ ซึ่งมิได้ปกครองดินแดนทรัสตี และ
ค. สมาชิกอื่น ๆ ซึ่งสมัชชาได้เลือกตั้งขึ้นมีกำหนดเวลาสามปีเท่าจำนวนที่จำเป็น เพื่อประกันว่าจำนวนรวมของสมาชิกของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะแบ่งออกได้เท่ากัน ระหว่างจำนวนสมาชิกของสหประชาชาติที่ปกครองดินแดนทรัสตีและที่ไม่ได้ปกครอง
๒. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีภาวะทรัสตี จะต้องกำหนดบุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะคนหนึ่งเป็นผู้แทนในคณะมนตรีฯ
 
หน้าที่และอำนาจ
 
ในการปฏิบัติตามหน้าที่ สมัชชาและคณะมนตรีภาวะทรัสตีภายใต้อำนาจของสมัชชาอาจ
ก. พิจารณารายงานซึ่งเสนอโดยผู้ใช้อำนาจปกครอง
ข. รับคำร้องทุกข์ และตรวจสอบคำร้องเหล่านั้น โดยปรึกษาหารือกับผู้ใช้อำนาจปกครอง
ค. จัดใหีมีการเยี่ยมเยียนดินแดนทรัสตีเป็นครั้งคราว โดยลำดับตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกับผู้ใช้อำนาจปกครอง และ
ง. ดำเนินการเหล่านี้และอื่น ๆ โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดแห่งความตกลงภาวะทรัสตี
 
คณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องจัดทำแบบสอบถาม เกี่ยวกับความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนทรัสตีแต่ละแห่ง และผู้ใช้อำนาจปกครองของดินแดนทรัสตีแต่ละแห่งภายในขอบเขตอำนาจของสมัชชาจะต้องทำรายงานประจำปีเสนอต่อสมัชชา โดยอาศัยมูลฐานแห่งแบบสอบถามเช่นว่านั้น
 
การลงคะแนนเสียง
 
๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน
๒. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง
 
วิธีดำเนินการประชุม
 
๑. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย
๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องประชุมกันเท่าที่จำเป็นตามระเบียบข้อบังคับของตน ซึ่งจะรวมบทบัญญัติสำหรับเรียกประชุมตามคำร้องขอของสมาชิกเสียงข้างมากของคณะมนตรีฯ ด้วย
 
เมื่อเห็นเหมาะสม คณะมนตรีภาวะทรัสตีจะต้องถือเอาประโยชน์แห่งความช่วยเหลือของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และของทบวงการชำนัญพิเศษเกี่ยวกับเรื่องซึ่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และทบวงการชำนัญพิเศษเกี่ยวข้องอยู่โดยลำดับ
 
หมวดที่ ๑๔
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
                  
 
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะเป็นองค์การทางตุลาการอันสำคัญของสหประชาชาติ ศาลฯต้องปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมนูญผนวกท้าย ซึ่งยึดธรรมนูญศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นมูลฐานและซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกฎบัตรฉบับปัจจุบัน
 
๑. สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยพฤตินัย
๒. รัฐซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ โดยเงื่อนไขซึ่งสมัชชาจะได้กำหนดในแต่ละรายตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
 
๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะอนุวัตตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใด ๆ ที่ตนตกเป็นฝ่ายหนึ่ง
๒. ถ้าผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเห็นจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น
 
ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะหวงห้ามสมาชิกของสหประชาชาติมิให้มอบหมายการแก้ไขข้อขัดแย้งตนต่อศาลอื่น โดยอาศัยอำนาจตามความตกลงที่ได้มีอยู่แล้วหรือที่อาจจะทำขึ้นในอนาคต
 
๑. สมัชชาหรือคณะมนตรีความมั่นคง อาจร้องขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้ความเห็นแนะนำในปัญหากฎหมายใด ๆ
๒. องค์กรอื่นของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษ ซึ่งอาจได้รับอำนาจจากสมัชชาในเวลาใด ๆ อาจร้องขอความเห็นแนะนำของศาลเกี่ยวกับปัญหากฎหมายอันเกิดขึ้นภายในขอบข่ายแห่งกิจกรรมของตน
 
หมวดที่ ๑๕
สำนักเลขาธิการ
                  
 
สำนักเลขาธิการจะต้องประกอบด้วยเลขาธิการหนึ่งคน และพนักงานเท่าที่องค์การฯ อาจเห็นจำเป็น เลขาธิการจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจะต้องเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์การฯ
 
เลขาธิการจะต้องปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่นั้น ในการประชุมทั้งปวงของสมัชชา ของคณะมนตรีความมั่นคง ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และของคณะมนตรีภาวะทรัสตี และจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นเช่นที่องค์กรเหล่านี้จะพึงมอบหมายให้ เลขาธิการจะต้องทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานขององค์การฯ เสนอต่อสมัชชา
 
เลขาธิการอาจนำเรื่องใด ๆ ซึ่งตามความเห็นชอบของตนอาจคุกคามการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบ
 
๑. ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เลขาธิการและพนักงานจะต้องไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลใด ๆ หรือจากเจ้าหน้าที่อื่นใดภายนอกองค์การฯ บุคคลเหล่านี้จะต้องละเว้นจากการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบต่อองค์การฯ เท่านั้น
๒. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ รับที่จะเคารพต่อความรับผิดชอบของเลขาธิการและพนักงาน อันมีลักษณะระหว่างประเทศโดยเฉพาะ และจะไม่พยายามใช้อิทธิพลต่อบุคคลเหล่านั้นในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของเขา
 
๑. พนักงานจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยเลขาธิการ ตามข้อบังคับที่สมัชชาได้สถาปนาขึ้น
๒. พนักงานที่เหมาะสมจะต้องได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่เป็นการถาวรในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ในคณะมนตรีภาวะทรัสตีและในองค์กรอื่นของสหประชาชาติตามที่จำเป็น พนักงานเหล่านี้จะต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการ
๓. ข้อพิจารณาอันสำคัญยิ่งในการว่าจ้างพนักงาน และในการกำหนดเงื่อนไขแห่งบริการได้แก่ความจำเป็นที่จะต้องให้ได้มาซึ่งมาตรฐานอันสูงสุดแห่งสมรรถภาพ ความสามารถ และความซื่อสัตย์มั่นคงจะต้องคำนึงตามสมควรถึงความสำคัญในการจัดหาพนักงาน โดยยึดมูลฐานทางภูมิศาสตร์ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
 
หมวดที่ ๑๖
บทเบ็ดเตล็ด
                  
 
๑. สนธิสัญญาทุกฉบับ และความตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับซึ่งสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติได้เข้าเป็นภาคีภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ใช้บังคับ จะต้องจดทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และจะต้องพิมพ์โฆษณาโดยสำนักเลขาธิการนี้
๒. ภาคีแห่งสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่าใด ๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ตามบทบัญญัติในวรรค ๑ ของข้อนี้ไม่อาจยกเอาสนธิสัญญาหรือความตกลงนั้น ๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ
 
ในกรณีแห่งการขัดแย้งระหว่างข้อผูกพันของสมาชิกของสหประชาชาติตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และตามข้อผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศอื่นใด ข้อผูกพันตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะต้องใช้บังคับ
 
องค์การฯ จะมีความสามารถทางกฎหมายในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การฯ เท่าที่จำเป็น เพื่อการปฏิบัติหน้าที่และเพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ขององค์การฯ
 
๑. องค์การฯ จะอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การฯ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ขององค์การฯ
๒. ผู้แทนของสมาชิกของสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ จะอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านั้นเท่าที่จำเป็น เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเกี่ยวกับองค์การฯ โดยอิสระ
๓. สมัชชาอาจทำคำแนะนำ ด้วยความมุ่งหมายในการกำหนดรายละเอียดของการนำวรรค ๑ และ ๒ ของข้อนี้มาใช้บังคับ หรืออาจเสนออนุสัญญาต่อสมาชิกของสหประชาชาติ เพื่อความมุ่งประสงค์นี้
 
หมวดที่ ๑๗
ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
                  
 
ในระหว่างที่ความตกลงพิเศษดังที่อ้างถึงในข้อ ๔๓ ยังมิได้ใช้บังคับ ซึ่งตามเห็นของคณะมนตรีความมั่นคง จะช่วยให้ตนได้เริ่มปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนตามข้อ ๔๒ ภาคีแห่งปฏิญญาสี่ประชาชาติได้ลงนามกัน ณ กรุงมอสโกในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ และฝรั่งเศส จะปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน และกับสมาชิกอื่น ๆ ของสหประชาชาติเมื่อจำเป็น ตามบทบัญญัติของวรรค ๕ ของปฏิญญานั้น ด้วยความมุ่งหมายที่จะดำเนินการร่วมกันในนามขององค์การฯ เช่นที่อาจจำเป็น เพื่อความมุ่งประสงค์ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
 
ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะทำให้ไม่สมบูรณ์ หรือลบล้างซึ่งการดำเนินการในความเกี่ยวพันกับรัฐใด ๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นศัตรูของรัฐใด ๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลที่รับผิดชอบการดำเนินการเช่นว่านั้นได้กระทำไป หรือได้ให้อำนาจกระทำไปโดยผลแห่งสงครามนั้น
 
หมวดที่ ๑๘
การแก้ไข
                  
 
การแก้ไขกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะมีผลใช้บังคับกับสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติเมื่อการแก้ไขนั้นได้รับคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกของสมัชชาลงมติให้ และได้รับการสัตยาบัน ตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญจากสองในสามของสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงสมาชิกประจำทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงด้วย
 
๑. การประชุมทั่วไปของสมาชิกของสหประชาชาติ เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะทบทวนกฎบัตรฉบับปัจจุบัน อาจจัดให้มีขึ้นตามวันที่และสถานที่ซึ่งจะกำหนดโดยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกของสมัชชา และโดยคะแนนเสียงของสมาชิกใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเก้าประเทศ สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ จะมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนนในการประชุมนี้
๒. การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้รับคำแนะนำโดยคะแนนเสียงสองในสามของที่ประชุม จะมีผลเมื่อได้รับการสัตยาบันตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญจากสองในสามของสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงสมาชิกประจำทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงด้วย
๓. ถ้าการประชุมเช่นว่ายังมิได้จัดให้มีขึ้นก่อนสมัยประชุมประจำปีครั้งที่สิบของสมัชชา นับแต่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้มีผลใช้บังคับแล้ว ข้อเสนอที่จะให้เรียกประชุมเช่นว่านั้นจะต้องนำเข้าระเบียบวาระของสมัยประชุมนั้นของสมัชชา และการประชุมจะต้องจัดให้มีขึ้นหากได้วินิจฉัยเช่นนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกของสมัชชาและโดยคะแนนเสียงของสมาชิกใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงเจ็ดประเทศ
 
หมวดที่ ๑๙
การสัตยาบันและการลงนาม
                  
 
๑. กฎบัตรฉบับปัจจุบันจะต้องได้รับการสัตยาบันโดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐตน
๒. สัตยาบันจะต้องมอบไว้กับรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องแจ้งให้รัฐที่ลงนามทั้งปวง ตลอดจนเลขาธิการขององค์การฯ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ให้ทราบถึงการมอบแต่ละครั้ง
๓. กฎบัตรฉบับปัจจุบันจะมีผลใช้บังคับ เมื่อสาธารณรัฐจีนฝรั่งเศส สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา และจำนวนข้างมากของรัฐอื่น ๆ ที่ลงนามได้มอบสัตยาบันแล้ว พิธีสารแห่งสัตยาบันที่ได้มอบไว้นั้นจะต้องจัดทำขึ้นโดยรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องส่งสำเนาพิธีสารนั้นไปยังรัฐที่ลงนามทั้งปวง
๔. รัฐที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และให้สัตยาบันภายหลังที่กฎบัตรมีผลใช้บังคับแล้ว จะเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติในวันที่มอบสัตยาบันของตน
 
กฎบัตรฉบับปัจจุบันซึ่งตัวบทภาษาจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสเปน ถูกต้องเท่าเทียมกัน จะต้องมอบไว้ในบรรณสารของรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลนั้นจะต้องส่งสำเนาซึ่งรับรองโดยถูกต้องแล้วไปยังรัฐบาลของรัฐที่ลงนามอื่น ๆ
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้แทนของรัฐบาลทั้งหลายของสหประชาชาติได้ลงนามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน
 
ทำขึ้น ณ นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ยี่สิบหก มิถุนายน คริสต์ศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยสี่สิบห้า
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้