พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานของทบวง
การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๐๕
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สังวาลย์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในประเทศไทย
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(๒) ให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์และบรรณสารของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และให้ผู้แทนของสมาชิกและพนักงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ทั้งนี้ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศฉบับที่คณะผู้ว่าการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เพียงเท่าที่รัฐบาลได้รับใช้บทแห่งความตกลงนั้นหรือความตกลงที่รัฐบาลได้ทำไว้หรือจะได้ทำต่อไปกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และมีพันธกรณีที่จะต้องให้เอกสิทธิและความคุ้มกันในประเทศไทย ตามความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศฉบับที่คณะผู้ว่าการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๒ จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่ออนุวัตตามบทของมาตรา ๓๘ แห่งความตกลงดังกล่าว