พระราชบัญญัติ
การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี
พ.ศ. ๒๕๔๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. ๒๕๔๘” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“ผลิตภัณฑ์ซีดี” หมายความว่า แผ่นบันทึกข้อมูลที่ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลโดยวิธีการใด ๆ ที่สามารถจัดถ่ายทอดออกเป็นข้อมูล ภาพ เสียง หรือทั้งภาพและเสียงได้ในลักษณะต่อเนื่องกันไปและให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง“การผลิต” หมายความว่า การทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์ซีดี“เจ้าของลิขสิทธิ์” หมายความว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนลิขสิทธิ์ หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิตงานอันมีลิขสิทธิ์“เครื่องจักร” หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต และให้หมายความรวมถึงอุปกรณ์ของเครื่องจักรตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง“เครื่องหมายรับรองการผลิต” หมายความว่า เครื่องหมายและรหัสที่อธิบดีออกให้เพื่อแสดงให้ทราบถึงแหล่งการผลิตของผลิตภัณฑ์ซีดี“เครื่องหมายรับรองงานต้นแบบ” หมายความว่า เครื่องหมายและรหัสที่อธิบดีออกให้เพื่อแสดงให้ทราบถึงงานที่ผลิตขึ้นอันมีลิขสิทธิ์“สถานที่ผลิต” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่มีเครื่องจักรติดตั้งอยู่“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑
การผลิต
มาตรา ๕ ผู้ใดจะทำการผลิต เมื่อจะเริ่มทำการผลิต ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มทำการผลิตเจ้าของลิขสิทธิ์ใดจะทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิต ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิตทุกครั้ง เว้นแต่การทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิต เพื่อใช้ในการศึกษา เพื่อประโยชน์ในทางราชการ เพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งให้แก่ผู้แจ้งในวันที่ได้รับแจ้งแบบการแจ้ง รายการที่ต้องแจ้ง วิธีการแจ้ง และแบบใบรับแจ้ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๖ แบบการแจ้งสำหรับผู้ทำการผลิตอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ทำการผลิต(๒) ชื่อและที่ตั้งสถานที่ผลิต(๓) รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องจักร(๔) รายการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดแบบการแจ้งสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้(๑) ชื่อและที่อยู่ของเจ้าของลิขสิทธิ์(๒) ชื่อและที่ตั้งสถานที่ผลิต(๓) รายละเอียดเกี่ยวกับงานที่จะทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิต(๔) รายการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดการเปลี่ยนแปลงรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๗ ในกรณีที่ผู้ทำการผลิตมีสถานที่ผลิตมากกว่าหนึ่งแห่ง ให้ผู้ทำการผลิตแจ้งการผลิตตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง สำหรับสถานที่ผลิตทุกแห่งการย้ายสถานที่ผลิตตามที่ระบุในใบรับแจ้งต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนวันที่ย้ายสถานที่ผลิตการแจ้งตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๘ ให้อธิบดีกำหนดเครื่องหมายรับรองการผลิตสำหรับผู้ทำการผลิตและเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อแสดงบนผลิตภัณฑ์ซีดีที่ทำการผลิตโดยผู้ทำการผลิตที่ได้แจ้งตามมาตรา ๕ลักษณะ การทำ และวิธีการแสดงเครื่องหมายรับรองการผลิตและเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๙ เมื่อได้รับแจ้งการทำการผลิตตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้อธิบดีออกเครื่องหมายรับรองการผลิตให้แก่ผู้ทำการผลิตโดยเร็วเพื่อใช้แสดงบนผลิตภัณฑ์ซีดี และให้ทำการผลิตได้นับแต่วันที่ได้รับเครื่องหมายรับรองการผลิตเมื่อได้รับแจ้งการทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิตตามมาตรา ๕ วรรคสอง ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้อธิบดีออกเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์โดยเร็วเพื่อใช้แสดงบนผลิตภัณฑ์ซีดี และให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทำการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิตได้นับแต่วันที่ได้รับเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบการออกเครื่องหมายรับรองการผลิตและเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๑๐ ผู้ทำการผลิตมีหน้าที่ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้(๑) แสดงใบรับแจ้งการผลิตไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ผลิตตามที่ระบุไว้ในใบรับแจ้ง(๒) จัดทำบัญชีแสดงจำนวน ปริมาณการผลิต การขาย การจำหน่าย และการมีไว้ในการครอบครองซึ่งผลิตภัณฑ์ซีดีที่ทำการผลิตโดยให้มีข้อความ รายการ และระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๑๑ ผู้ทำการผลิตมีหน้าที่ต้องทำและแสดงเครื่องหมายรับรองการผลิตและแสดงเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบตามมาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๑๒ เจ้าของลิขสิทธิ์มีหน้าที่ต้องทำเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบตามมาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๑๓ ห้ามผู้ใดใช้เครื่องหมายรับรองการผลิต เว้นแต่เป็นผู้ทำการผลิตที่ได้แจ้งการผลิตตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และได้รับเครื่องหมายรับรองการผลิตตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่งห้ามผู้ใดใช้เครื่องหมายรับรองงานต้นแบบ เว้นแต่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้แจ้งการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิตตามมาตรา ๕ วรรคสอง และได้รับเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบตามมาตรา ๙ วรรคสอง หรือเป็นผู้ทำการผลิตที่รับจ้างทำการผลิตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้แจ้งการผลิตหรือว่าจ้างทำการผลิตตามมาตรา ๕ วรรคสอง และได้รับเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบตามมาตรา ๙ วรรคสอง มาตรา ๑๔ ในกรณีที่ผู้ทำการผลิตเลิกกิจการ หรือไม่สามารถทำการผลิตต่อไปได้ไม่ว่ากรณีใด ให้ผู้ประสงค์จะทำการผลิตต่อไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ทำการผลิตเลิกกิจการ หรือไม่สามารถทำการผลิตต่อไปได้ในระหว่างระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ทำการผลิตเป็นผู้แจ้งตามมาตรา ๕ มาตรา ๑๕ ห้ามผู้ใดปลอม หรือเลียนเครื่องหมายรับรองการผลิตหรือเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายรับรองเช่นว่านั้น
หมวด ๒
เครื่องจักร และเม็ดพลาสติกหรือวัสดุอื่นใด
มาตรา ๑๖ ผู้ใดได้มา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องจักร ต้องแจ้งต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มา หรือมีไว้ในครอบครองการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๑๗ ผู้ใดจำหน่าย จ่าย โอน เครื่องจักร ต้องแจ้งต่ออธิบดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่จำหน่าย จ่าย โอนความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่เครื่องจักรพ้นจากการครอบครองของผู้ครอบครองตามมาตรา ๑๖ ด้วยประการอื่นไม่ว่ากรณีใดการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๑๘ ผู้ใดได้มา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเม็ดพลาสติกหรือวัสดุอื่นใดอันเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ต้องแจ้งต่ออธิบดีถึงประเภท ชนิด ปริมาณ และสถานที่เก็บเม็ดพลาสติกหรือวัสดุอื่นใดนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มา หรือมีไว้ในครอบครองประเภท ชนิด ปริมาณเม็ดพลาสติกหรือวัสดุอื่นใดที่ต้องแจ้งตามวรรคหนึ่ง และหลักเกณฑ์วิธีการในการแจ้ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
หมวด ๓
พนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๑๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้(๑) เข้าไปในสถานที่ผลิตในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการผลิตของสถานที่ผลิตนั้น เพื่อตรวจสอบใบรับแจ้ง เครื่องจักร เม็ดพลาสติกหรือวัสดุอื่นใดอันเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่อาจใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้(๒) สั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งสมุดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า ถ้อยคำ สมุดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานดังกล่าวอาจมีประโยชน์แก่การค้นพบหรือใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องบัตรประจำตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๑ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๒๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท มาตรา ๒๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๒๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาตรา ๒๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท มาตรา ๒๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท มาตรา ๓๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๓๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๓๒ ผู้ใดขัดขวาง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๓๓ ผู้ใดแจ้งตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๓๔ ผู้ใดแจ้งตามมาตรา ๑๘ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๓๕ ความผิดซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับในอัตราอย่างสูงต่ออธิบดี ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๖ ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็น หรือยินยอมด้วย มาตรา ๓๗ ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี ได้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่ศาลกำหนดไว้สำหรับความผิดครั้งหลัง มาตรา ๓๘(มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. .... เฉพาะมาตรา ๓๘ เป็นอันตกไป) มาตรา ๓๙ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัตินี้ บทเฉพาะกาล
มาตรา ๔๐ ผู้ใดทำการผลิตอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะทำการผลิตต่อไป ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๒ มาตรา ๔๑ ผู้ใดได้มา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องจักรอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้แจ้งต่ออธิบดีตามมาตรา ๑๖ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษตามมาตรา ๓๐ และหากแจ้งโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๒ ผู้ใดได้มา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเม็ดพลาสติกหรือวัสดุอื่นใดอันเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้แจ้งต่ออธิบดีตามมาตรา ๑๘ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษตามมาตรา ๓๑ และหากแจ้งโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จต้องระวางโทษตามมาตรา ๓๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปผลิตภัณฑ์ซีดีได้ทวีความรุนแรงจนกระทั่งกลไกของรัฐที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะควบคุม หรือป้องปรามการละเมิดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรมีมาตรการกำกับดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี โดยการกำหนดขั้นตอนการแจ้งการผลิตสำหรับผู้ที่ประสงค์จะประกอบการผลิต การครอบครองเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนการรายงานปริมาณและสถานที่เก็บวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างกลไกการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้นรวมทั้งจะทำให้การจัดเก็บภาษีอากรได้ผลเต็มที่ ทั้งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีดำเนินการผลิตสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้