พระราชบัญญัติ
การเนรเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐
เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกกฎหมายเนรเทศ ร.ศ. ๑๓๑ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้“คนต่างด้าว” หมายความว่า ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด มาตรา ๖ เมื่อได้ออกคำสั่งให้เนรเทศผู้ใดแล้ว ให้รัฐมนตรีหรือเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายสั่งให้จับกุมและควบคุมผู้นั้นไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งจนกว่าจะได้จัดการให้เป็นไปตามคำสั่งเนรเทศในขณะที่ดำเนินการขอรับคำสั่งรัฐมนตรีเพื่อเนรเทศผู้ใด พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะจับกุมและควบคุมผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการจับกุมและควบคุมมาใช้บังคับโดยอนุโลมในระหว่างที่ผู้ถูกสั่งเนรเทศถูกควบคุมเพื่อรอการเนรเทศเนื่องจากยังไม่สามารถส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากผู้ถูกสั่งเนรเทศนั้นร้องขอ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งผ่อนผันให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการควบคุมเพื่อรอการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ ทั้งนี้ โดยให้ผู้ถูกสั่งเนรเทศนั้นมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกัน หรือทำทัณฑ์บนไว้ และให้บุคคลดังกล่าวมารายงานตน ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานตนต้องไม่ห่างกันเกินหกเดือนต่อครั้ง มาตรา ๗ ห้ามมิให้ส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรก่อนครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันแจ้งคำสั่งเนรเทศให้ผู้ซึ่งถูกสั่งเนรเทศนั้นทราบในกรณีที่มีการอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๘ ให้รอการเนรเทศไว้จนกว่านายกรัฐมนตรีจะได้มีคำสั่ง มาตรา ๘ ผู้ถูกสั่งเนรเทศมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้เพิกถอนคำสั่งเนรเทศ หรือขอมิให้ส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งเนรเทศ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งเนรเทศ สั่งผ่อนผันโดยประการอื่นใด หรือสั่งให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ ทั้งนี้โดยจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ก็ได้ มาตรา ๙ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ที่จะต้องถูกพิจารณาเนรเทศ ผู้ที่จะต้องถูกพิจารณาเนรเทศนั้นจะต้องเป็นผู้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด มาตรา ๙ ทวิ ผู้ใดหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกควบคุมตามมาตรา ๖ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก ได้กระทำโดยแหกที่ควบคุม โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙ ตรี ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกควบคุมตามมาตรา ๖ หลุดพ้นจากการควบคุมไป มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกกึ่งหนึ่ง มาตรา ๙ จัตวา ผู้ใดให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดให้ผู้ที่หลบหนีจากการควบคุมตามมาตรา ๖ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับผู้ใดให้ผู้ที่หลบหนีจากการควบคุมตามมาตรา ๖ เข้าพำนัก ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นกระทำความผิดตามวรรคแรก เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่รู้โดยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก เป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้ มาตรา ๙ เบญจ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ถูกควบคุมตามมาตรา ๖ กระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกควบคุมนั้นหลุดพ้นจากการควบคุมไปมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก เป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาในวรรคสอง จัดให้ได้ตัวผู้ที่หลุดพ้นจากการควบคุมคืนมาภายในสามเดือน ให้งดการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดนั้น มาตรา ๑๐ ผู้ใดถูกเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วกลับเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนครบกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งเนรเทศ หรือก่อนรัฐมนตรีได้มีคำสั่งเพิกถอนการเนรเทศ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี แล้วให้ส่งตัวเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งเดิม มาตรา ๑๐ ทวิ ผู้ใดได้รับการผ่อนผันตามคำสั่งของรัฐมนตรีที่ให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการควบคุมเพื่อรอการเนรเทศตามมาตรา ๖ วรรคสาม แล้วไม่ไป หรือไม่อยู่ประกอบอาชีพ ณ ที่นั้นตามคำสั่ง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี แล้วให้ส่งตัวควบคุมเพื่อรอการเนรเทศตามคำสั่งเดิม มาตรา ๑๑ ผู้ใดได้รับการผ่อนผันตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการเนรเทศตามมาตรา ๘ แล้ว ไม่ไปหรือไม่อยู่ประกอบอาชีพ ณ ที่นั้นตามคำสั่ง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐมนตรีจะสั่งเนรเทศด้วยก็ได้ มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยกฎหมายเนรเทศ ร.ศ. ๑๓๑ เป็นกฎหมายเก่าล้าสมัย สมควรจะได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง พระราชบัญญัติการเนรเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้ที่หลบหนีไปจากการควบคุม หรือผู้ทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากการควบคุม หรือให้พำนักซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือเมื่อผู้นั้นหลบหนีไปจากการควบคุมตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙ ยังมิได้มีบทบัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายอาญาก็มิได้บัญญัติเป็นความผิดไว้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา จึงสมควรที่จะบัญญัติให้การกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ พระราชบัญญัติการเนรเทศ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙ และพระราชบัญญัติการเนรเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีเหตุขัดข้องในทางปฏิบัติบางประการ เนื่องจากจำนวนผู้ถูกสั่งเนรเทศมีเพิ่มมากขึ้นและบางกรณีไม่สามารถจะส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรได้ สมควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งผ่อนผันให้ส่งผู้ถูกสั่งเนรเทศในระหว่างที่ถูกคุมขังเพื่อรอการเนรเทศไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการควบคุมเพื่อรอการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ และปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น