พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย
พ.ศ. ๒๕๓๔
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย พ.ศ. ๒๕๓๔”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“บรรษัท” หมายความว่า บรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียซึ่งตั้งขึ้นตามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาแห่งภูมิภาคซึ่งเป็นสมาชิกและสมาชิกสมทบของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิค ทำ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้ลงนาม เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
“บรรณสาร” หมายความว่า บันทึก หนังสือโต้ตอบ เอกสาร เอกสารต้นฉบับ ไมโครฟิล์ม ภาพนิ่ง ภาพยนตร์ ฟิล์มและแถบบันทึกเสียง ซึ่งเป็นของหรืออยู่ในความครอบครองของบรรษัท
มาตรา ๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๖ ให้บรรษัทได้รับยกเว้นภาษีอากรทั้งปวงสำหรับกองทุนเบี้ยประกันภัย เงินได้ที่ได้จากนอกราชอาณาจักร และเงินปันผลของผู้ถือหุ้นของบรรษัท รวมทั้งพันธกรณีที่จะต้องชำระภาษีและหักภาษี ณ ที่จ่าย
มาตรา ๘ ให้บรรษัทได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่สำหรับทรัพย์สินที่ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบรรษัท
มาตรา ๙ ให้เครื่องจักร เครื่องเรือน เครื่องใช้ในสำนักงาน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของบรรษัทที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ และได้รับความเห็นชอบในการนำเข้าจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรและค่าธรรมเนียมอื่น แต่ถ้าต่อมาได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวในราชอาณาจักรให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๑๐ ให้ผู้แทนประเทศสมาชิกของบรรษัทซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย และไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรเฉพาะเงินได้ที่ได้รับจากบรรษัท
มาตรา ๑๑ ให้พนักงานของบรรษัทซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นชอบแล้วได้รับยกเว้น
(๑) ภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรเฉพาะเงินได้ที่ได้รับจากบรรษัท
(๒) การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
(๓) อากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรและค่าธรรมเนียมอื่นสำหรับของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน และรถยนต์หนึ่งคันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันรับหน้าที่ในประเทศไทยและได้รับความเห็นชอบในการนำเข้าจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ถ้าต่อมาได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวในราชอาณาจักรให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(๔) ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นอกจากในส่วนที่ว่าด้วยการเป็นโรคที่ต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และการมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
(๕) การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว
ให้คู่สมรส บิดามารดา และบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะของพนักงานของบรรษัทตามมาตรานี้ และกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ได้รับยกเว้นตาม (๔) และ (๕) ด้วย
มาตรา ๑๒ ให้บรรษัทได้รับยกเว้นภาษีอากรทั้งปวงสำหรับเงินได้ที่ได้จากการลงทุนของบรรษัทในรูปหลักทรัพย์ของรัฐบาลและเงินฝากกับธนาคารหรือสถาบันการเงินภายในวงเงินไม่เกินสี่สิบล้านบาทเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ความตกลงว่าด้วยสำนักงานใหญ่ของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย ทำ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ มีผลใช้บังคับ
มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียซึ่งมีความมุ่งประสงค์ในอันที่จะส่งเสริมและเร่งรัดพัฒนาธุรกิจการประกันต่อของประเทศไทยและของประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นในเอเชีย เพื่อช่วยประหยัดเงินตราที่แต่ละประเทศต้องส่งออกในรูปของการชำระเบี้ยประกันภัยกับประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาแล้ว และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และความตกลงดังกล่าวกำหนดให้มีสำนักงานใหญ่ของบรรษัทขึ้นในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ตกลงที่จะให้ความคุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้