พระราชบัญญัติ
กำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการ
ทำให้เสียสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศไทยกับประเทศ
ที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทยในภาวะสงคราม
พุทธศักราช ๒๔๘๘
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘
เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีกฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทยในภาวะสงคราม จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทยในภาวะสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๘” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ได้มีผู้กระทำการเผยแพร่ข่าวไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ อันอาจทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทย หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเจตจำนงของรัฐบาลอันมีต่อประเทศซึ่งมีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทย ให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือสารวัตรทหารรายงานพฤติการณ์และระบุผู้ถูกกล่าวหาไปยังรัฐบาล เพื่อจัดการแก่บุคคลนั้น มาตรา ๔ เมื่อรัฐบาลได้รับรายงานดังกล่าวในมาตรา ๓ รัฐบาลจะได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามความในพระราชบัญญัตินี้พิจารณา และเพื่อป้องกันมิให้เผยแพร่ข่าวต่อไป ก็ให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือสารวัตรมีอำนาจจับกุมและควบคุมบุคคลนั้นก่อน มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติการตามความในพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งนาย และกรรมการอื่นอีกสี่นาย มาตรา ๖ เมื่อคณะกรรมการได้รับเรื่องจากรัฐบาลแล้ว ถ้าพิจารณาได้ความว่าบุคคลใดกระทำการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวในมาตรา ๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งกักคุมผู้ถูกกล่าวหาไว้มีกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ระยะเวลานั้นให้สิ้นสุดลงในเมื่อได้มีประกาศหรือกฎหมายแสดงว่าภาวะสงครามได้สิ้นสุดลงแล้วในการวินิจฉัยสั่งของคณะกรรมการตามความในวรรคก่อนให้คณะกรรมการมีอำนาจออกหมายเรียกพยานหลักฐานและบังคับให้พยานสาบานหรือปฏิญาณได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ และให้คณะกรรมการให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อหาและยื่นคำให้การให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ควบคุมผู้ถูกกล่าวหาไว้ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการได้ มาตรา ๗ ผู้ที่อยู่ในระหว่างควบคุมหรือกักคุมตามความในพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นผู้อยู่ในระหว่างคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๘ เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการจะเพิกถอนคำสั่งให้กักคุมที่ได้สั่งไปแล้วเสียก็ได้ผู้ที่ถูกคณะกรรมการสั่งกักคุมไว้จะร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องของตนใหม่ โดยอ้างหลักฐานซึ่งได้มาภายหลังการพิจารณาแล้วก็ได้ มาตรา ๙ ผู้ใดขัดขืนไม่มาให้การต่อคณะกรรมการตามหมายเรียก หรือขัดขืนไม่สาบานหรือปฏิญาณตามคำสั่งของคณะกรรมการ หรือขัดขืนไม่นำส่งหนังสือหรือทรัพย์อย่างใด ๆ ที่คณะกรรมการเรียกให้นำมาแสดงต่อคณะกรรมการ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๑๐ ผู้ใดเอาความที่ตนรู้ว่าเป็นความเท็จมาให้การในข้อสำคัญต่อคณะกรรมการ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปถึงพันบาท มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี