พระราชบัญญัติ
กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร
พ.ศ. ๒๔๙๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าของกองทัพบก โรงเรียนนายเรือของกองทัพเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศของกองทัพอากาศ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กองทัพบก โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ กองทัพอากาศ และโรงเรียนแผนที่ กองบัญชาการทหารสูงสุด ตามหลักสูตรที่สภาการศึกษาวิชาการทหารกำหนด ได้รับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่มีการสอนในสถาบันการศึกษานั้น การกำหนดชื่อปริญญา และอักษรย่อในสาขาวิชาตามวรรคหนึ่งให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๓ ทวิ ให้ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กองทัพบก โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ กองทัพเรือ และโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศ ตามหลักสูตรที่สภาการศึกษาวิชาการทหารกำหนด ได้รับปริญญาโทในสาขาวิชาที่มีการสอนในสถาบันการศึกษานั้น
การกำหนดชื่อปริญญา และอักษรย่อในสาขาวิชาตามวรรคหนึ่งให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๓ ตรี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กองทัพบก โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ กองทัพอากาศ โรงเรียนแผนที่ กองบัญชาการทหารสูงสุด และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กองทัพบก โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ กองทัพเรือ และโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศ โดยอนุมัติสภาการศึกษาวิชาการทหาร มีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งเห็นว่าทรงคุณวุฒิและสมควรแก่ปริญญานั้น
หลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาการศึกษาวิชาการทหารกำหนด
มาตรา ๔ นอกจากการให้ได้รับปริญญาตามมาตรา ๓ และมาตรา ๓ ทวิ นักเรียนวิชาการทหารอาจได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงหรือประกาศนียบัตรแสดงว่าสอบความรู้ได้ตามที่สภาการศึกษาวิชาการทหารกำหนด
มาตรา ๕ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีสภาขึ้นเรียกว่า “สภาการศึกษาวิชาการทหาร” มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) พิจารณาอนุมัติการจัดตั้ง รวมและยุบเลิกสาขาวิชา
(๒) พิจารณาอนุมัติหลักสูตรของแต่ละสาขาวิชา
(๓) กำหนดวิธีอันจะยังการศึกษาวิชาการทหารให้เจริญยิ่งขึ้น
(๔) กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าเป็นนักเรียนวิชาการทหาร ระยะเวลาการศึกษา การสอบ และเงื่อนไขในการรับปริญญา
(๕) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง และประกาศนียบัตร
(๖) อนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์
(๗) วางระเบียบและออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และอาจมอบให้สถาบันการศึกษาใดเป็นผู้วางระเบียบและออกข้อบังคับสำหรับสถาบันการศึกษานั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้
เพื่อประโยชน์แก่การรักษามาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง ให้สภาการศึกษาวิชาการทหารคำนึงถึงมาตรฐานโดยทั่วไปที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาด้วย
มาตรา ๖ สภาการศึกษาวิชาการทหารประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหาร เสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารเรือ เสนาธิการทหารอากาศ เจ้ากรมการศึกษาวิจัย เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง ผู้บัญชาการโรงเรียนแผนที่ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ และผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ เป็นกรรมการ ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการด้วย
ให้มีเลขาธิการหนึ่งคน แต่งตั้งและถอดถอนโดยนายกสภาการศึกษาวิชาการทหารตามมติของสภาการศึกษาวิชาการทหาร
มาตรา ๖ ทวิ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ สภาการศึกษาวิชาการทหารอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อให้กระทำการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย แล้วรายงานต่อสภาการศึกษาวิชาการทหาร ให้นำมาตรา ๘ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นนายกสภาการศึกษาวิชาการทหารโดยตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นอุปนายกโดยตำแหน่ง
มาตรา ๘ การประชุมของสภาการศึกษาวิชาการทหารต้องมีกรรมการประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุมได้ การลงมติให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้าในการลงมตินั้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๙ ให้นายกสภาการศึกษาวิชาการทหารเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาการศึกษาวิชาการทหารไม่อยู่ในที่ประชุม ให้อุปนายกสภาการศึกษาวิชาการทหารเป็นประธาน ถ้าอุปนายกสภาการศึกษาวิชาการทหารไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้กรรมการเลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา ๑๐ ให้สภาการศึกษาวิชาการทหารมีอำนาจให้ปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้แก่ผู้สำเร็จวิชาการทหารก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจากโรงเรียน นายร้อยทหารบก โรงเรียนเทคนิคทหารบก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และโรงเรียน แผนที่ของกองทัพบก และโรงเรียนนายเรือของกองทัพเรือ ซึ่งมีหลักสูตรการศึกษาและวิทยฐานะเทียบเท่ากัน
มาตรา ๑๑ ผู้ใดใช้ปริญญา อักษรย่อปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง หรือประกาศนียบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใดเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เวลานี้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าของกองทัพบก โรงเรียนนายเรือของกองทัพเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศของกองทัพอากาศ ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเทียบเข้าขั้นมหาวิทยาลัย เป็นการสมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทั้งสามนี้ โดยให้ได้รับปริญญาเช่นเดียวกับผู้สำเร็จจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ
พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กรมเสนาธิการกลาโหมได้ถูกยุบเลิกไปโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ และได้จัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดขึ้นแทนตำแหน่งเสนาธิการกลาโหมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากรมเสนาธิการกลาโหม และเป็นกรรมการผู้หนึ่งในสภาการศึกษาวิชาการทหารได้ถูกยุบเลิกไปด้วย เห็นควรแต่งตั้งให้เสนาธิการทหารเป็นกรรมการสภาการศึกษาวิชาทหารแทน กับควรแต่งตั้งให้เจ้ากรมการศึกษาวิจัยผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาทางทหารตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นกรรมการเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ให้มีวุฒิขั้นปริญญาแล้ว จึงควรให้ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนแผนที่ กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นอุดมศึกษาเช่นเดียวกันและมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่าสี่ปีได้รับการยกฐานะให้ได้รับปริญญาเช่นเดียวกันด้วย
พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการสภาการศึกษาวิชาการทหาร โดยมิได้กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นกรรมการด้วย สมควรแก้ไขให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๓
มาตรา ๙ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับปริญญาตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งมีอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๐ ในระหว่างที่ยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดปริญญา อักษรย่อปริญญาในสาขาวิชาตามมาตรา ๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้สำเร็จวิชาการทหารได้รับปริญญาและใช้อักษรย่อปริญญา ดังต่อไปนี้ (๑) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กองทัพบก โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ กองทัพอากาศ ได้รับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า “วิทยาศาสตร์บัณฑิต” โดยให้ใช้อักษรย่อของปริญญา ดังนี้
ก. ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากองทัพบก ใช้อักษรย่อว่า “วท.บ.(ทบ.)”
ข. ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ ใช้อักษรย่อว่า “วท.บ.(ทร.)”
ค. ผู้สำเร็จวิชาการทหารจากโรงเรียนนายเรืออากาศ กองทัพอากาศ ใช้อักษรย่อว่า “วท.บ.(ทอ.)”
(๒) โรงเรียนแผนที่ กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้รับปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ เรียกว่า “วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “วศ.บ.(ผท.)”
มาตรา ๑๑ ให้ผู้สำเร็จวิชาการทหารในหลักสูตรชั้นปริญญาโท หรือหลักสูตรการศึกษาเทียบเท่ากันจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กองทัพบก อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ได้รับปริญญาโททางศิลปศาสตร์ เรียกว่า “ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การทหาร)” ใช้อักษรย่อว่า “ศศ.ม.(การทหาร)”
มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการกำหนดวิทยฐานะสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากองทัพบก โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ กองทัพอากาศ และโรงเรียนแผนที่ กองบัญชาการทหารสูงสุด ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันสมควรปรับปรุงให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาวิชาการทหารดังกล่าวสามารถได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง และปริญญาตรงตามสาขาวิชาที่ตนได้ศึกษามา และโดยที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กองทัพบก ได้จัดการศึกษาหลักสูตรชั้นปริญญาโทขึ้นสมควรกำหนดวิทยฐานะสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวให้ได้รับปริญญาโท นอกจากนี้ สมควรกำหนดให้สถาบันการศึกษาวิชาการทหารมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลที่ทรงคุณวุฒิได้ และเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขดังกล่าว สมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของสภาการศึกษาวิชาการทหาร และเพิ่มตำแหน่งกรรมการสภาการศึกษาวิชาการทหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้