ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ
พ.ศ. ๒๔๙๙
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ เสียใหม่
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐เป็นต้นไป
 
ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด
                       
 
มาตรา ๓ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดใดในกรณีใช้ชื่อในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของห้างหุ้นส่วน
(๑) ถ้าเป็นอักษรไทย ไม่ใช้คำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ประกอบชื่อ แล้วแต่กรณี
(๒) ถ้าเป็นอักษรต่างประเทศ ไม่ใช้คำซึ่งมีความหมายว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ตามประกาศของกระทรวงเศรษฐการประกอบชื่อ แล้วแต่กรณี
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทและปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๔ ผู้ใดใช้ชื่อหรือยี่ห้อซึ่งมีอักษรไทยประกอบว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” หรืออักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดังกล่าวประกอบ ในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจ โดยมิได้เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด เว้นแต่เป็นการใช้ในการขอจดทะเบียนเกี่ยวกับการตั้งห้างหุ้นส่วน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๔/๑ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดใดไม่จดทะเบียนตามมาตรา ๑๐๖๔/๒ หรือมาตรา ๑๐๗๘/๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๕ บริษัทจำกัดใด นอกจากธนาคาร ในกรณีใช้ชื่อในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท
(๑) ถ้าเป็นอักษรไทย ไม่ใช้คำว่า “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ และ “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อ
(๒) ถ้าเป็นอักษรต่างประเทศ ไม่ใช้คำซึ่งมีความหมายว่า “บริษัทจำกัด” ตามประกาศของกระทรวงเศรษฐการประกอบชื่อ
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๖ ผู้ใดใช้ชื่อหรือยี่ห้อซึ่งมีอักษรไทยประกอบว่า “บริษัทจำกัด”“บริษัท” หรือ “จำกัด” หรืออักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดังกล่าวประกอบในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นบริษัทจำกัด เว้นแต่เป็นการใช้ในการขอจดทะเบียนเกี่ยวกับการตั้งบริษัท หนังสือชี้ชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้นหรือหนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๗ บริษัทจำกัดใดไม่เอาหุ้นซึ่งริบแล้วออกขายทอดตลาด ไม่หักใช้ค่าหุ้นที่เรียกกับดอกเบี้ยค้างชำระ หรือไม่ส่งคืนเงินเหลือให้แก่ผู้ถือหุ้นตามมาตรา ๑๑๒๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๘ บริษัทจำกัดใดไม่ทำใบหุ้นมอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้น หรือเรียกค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่ทำใบหุ้นตามมาตรา ๑๑๒๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๙ บริษัทจำกัดใดออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๐ บริษัทจำกัดใดไม่มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตามมาตรา ๑๑๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๑ บริษัทจำกัดใดไม่รักษาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือเมื่อผู้ถือหุ้นร้องขอไม่เปิดสมุดทะเบียนให้ผู้ถือหุ้นดูตามมาตรา ๑๑๓๙ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๒ บริษัทจำกัดใดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง หรือรับจำนำหุ้นของตนเอง โดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๓ บริษัทจำกัดใดไม่จดทะเบียนตามมาตรา ๑๑๔๖ มาตรา ๑๑๕๗ มาตรา ๑๒๒๘ มาตรา ๑๒๓๙ หรือมาตรา ๑๒๔๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๔ บริษัทจำกัดใดไม่มีสำนักงานบอกทะเบียน หรือไม่ส่งคำบอกกล่าวตามมาตรา ๑๑๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๕ บริษัทจำกัดใดลงพิมพ์หรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๖ บริษัทจำกัดใดไม่เรียกประชุมตามมาตรา ๑๑๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๗ บริษัทจำกัดใดไม่ลงพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ไม่ส่งคำบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้น หรือไม่ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันในคำบอกกล่าวตามมาตรา ๑๑๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๘ บริษัทจำกัดใด
(๑) ไม่ทำบัญชีงบดุลตามมาตรา ๑๑๙๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๒) ไม่จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบดุล ไม่นำบัญชีงบดุลเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ ไม่ส่งสำเนางบดุล หรือไม่มีสำเนางบดุล ตามมาตรา ๑๑๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ
(๓) ไม่จำหน่ายสำเนางบดุลแก่ผู้ปรารถนาจะซื้อตามมาตรา ๑๑๙๙ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๙ บริษัทจำกัดใดจ่ายเงินปันผลโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๐๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือแจกเงินปันผลโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๐๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
เงินใด ๆ ที่จ่าย หรือแจก ให้แก่ผู้ถือหุ้นในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นนอกจากเงินค่าหุ้นให้ถือว่า เป็นเงินปันผลตามมาตรานี้
 
มาตรา ๒๐ บริษัทจำกัดใดไม่บอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายตามมาตรา ๑๒๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๑ บริษัทจำกัดใดไม่เสนอบรรดาหุ้นที่ออกใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นตามมาตรา ๑๒๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๒  บริษัทจำกัดใดไม่โฆษณา หรือไม่มีหนังสือบอกกล่าวความประสงค์จะลดทุนตามมาตรา ๑๒๒๖ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือจัดการลดทุนโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒๖ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๓ บริษัทจำกัดใดออกหุ้นกู้โดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๔ บริษัทจำกัดใดไม่โฆษณาหรือไม่ส่งคำบอกกล่าวให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากันตามมาตรา ๑๒๔๐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือจัดการควบบริษัทเข้าด้วยกันโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๔๐ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา ๗ ถึงมาตรา ๒๔ กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๖ กรรมการใดของบริษัทจำกัดไม่ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นตามมาตรา ๑๑๓๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๗ กรรมการใดของบริษัทจำกัดไม่เรียกประชุมวิสามัญตามมาตรา ๑๑๗๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๑๗๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๘ กรรมการใดของบริษัทจำกัด
(๑) ไม่ส่งสำเนางบดุลตามมาตรา ๑๑๙๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๒) ไม่จัดให้ถือบัญชีตามมาตรา ๑๒๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ
(๓) ไม่จัดให้จดบันทึก หรือไม่เก็บรักษาสมุดตามมาตรา ๑๒๐๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๙ บริษัทจำกัดใดเสนอหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นที่ซื้อหุ้นใหม่โดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๐ ผู้ถือหุ้นใด รับหรือยอมจะรับประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับตนหรือผู้อื่นเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะลงคะแนนเสียง หรืองดการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ผู้ใดให้ หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์เป็นพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่ผู้ถือหุ้นนั้นจะลงคะแนนเสียงหรืองดการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
 
มาตรา ๓๑ ผู้สอบบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด รับรองงบดุลหรือบัญชีอื่นใดอันไม่ถูกต้อง หรือทำรายงานเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๓๑/๑ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดใดไม่โฆษณาหรือไม่มีหนังสือบอกกล่าวความประสงค์จะแปรสภาพตามมาตรา ๑๒๔๖/๑ (๒) หรือจัดการแปรสภาพโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๔๖/๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๑/๒ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๔๖/๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๑/๓ คณะกรรมการของบริษัทจำกัดใดไม่จดทะเบียนแปรสภาพภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๒๔๖/๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๒ ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ไม่กระทำตามมาตรา ๑๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๓ ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ไม่จดทะเบียนตามมาตรา ๑๒๕๔ มาตรา ๑๒๕๘ มาตรา ๑๒๖๒ หรือมาตรา ๑๒๗๐ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๔ ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ไม่ร้องขอต่อศาลตามมาตรา ๑๒๖๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๕ ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด
(๑) ไม่ทำงบดุล หรือไม่เรียกประชุมใหญ่ตามมาตรา ๑๒๕๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๒) ไม่ทำรายงาน หรือไม่เปิดเผยรายงานตามมาตรา ๑๒๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๓) ไม่ทำรายงาน ไม่เรียกประชุมใหญ่ หรือไม่ชี้แจงกิจการตามมาตรา ๑๒๗๐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ
(๔) ไม่มอบบัญชีและเอกสารตามมาตรา ๑๒๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๖ ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ไม่เรียกประชุมใหญ่ ไม่ทำรายงาน หรือไม่แถลงตามมาตรา ๑๒๖๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๗ ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด แบ่งคืนทรัพย์สินโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๖๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๘ กรรมการ หรือผู้ชำระบัญชีใดของบริษัทจำกัดโดยทุจริต แสดงออกซึ่งความเท็จ หรือปกปิดความจริงต่อที่ประชุมใหญ่ในเรื่องฐานะการเงินของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๓๘/๑ ผู้ใดใช้ชื่อของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดใดที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วในการประกอบกิจการค้า เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดนั้นยังมิได้ถูกขีดชื่อต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทและปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งพันบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้
 
มาตรา ๓๙ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินอันนิติบุคคลดังกล่าวจำนำไว้ ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๐  บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด รู้ว่าเจ้าหนี้ของนิติบุคคลดังกล่าวหรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่นซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้ของนิติบุคคลดังกล่าว บังคับการชำระหนี้จากนิติบุคคลดังกล่าว ใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้
(๑) ย้าย ซ่อน หรือโอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าว หรือ
(๒) แกล้งให้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง
ถ้าได้กระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๑ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๔๒ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด กระทำ หรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือ
(๒) ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำการเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๓ ผู้ใดโฆษณาชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๐๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๔๔ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๔๕ (ยกเลิก)
 
มาตร ๔๖ ผู้ใดโฆษณาโดยอ้างถึงบุคคล ตำแหน่งหน้าที่ บัญชี รายงาน หรือกิจการอันเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด อันเป็นเท็จในสาระสำคัญ หรือปกปิดข้อความอันเป็นสาระสำคัญเพื่อ
(๑) ลวงผู้มีส่วนได้เสียในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้ขาดประโยชน์อันควรได้จากห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทนั้นหรือ
(๒) จูงใจบุคคลให้เข้าเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ให้มอบหมายหรือให้ส่งทรัพย์สินให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น หรือให้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหรือให้ให้ทรัพย์สินเป็นประกันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๔๗ ผู้ใดเข้าร่วมในที่ประชุมตั้งบริษัทจำกัดหรือในที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัด และลงคะแนนออกเสียงหรืองดลงคะแนนออกเสียง โดยลวงว่าตนเป็นผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น ผู้ถือหุ้น หรือผู้มีสิทธิออกเสียงแทนผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น หรือผู้ถือหุ้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ผู้ใดให้อุปการะแก่การกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง โดยส่งมอบเอกสารแสดงการเข้าชื่อซื้อหุ้น หรือใบหุ้นซึ่งได้ใช้เพื่อการดังกล่าวแล้ว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
 
มาตรา ๔๘ ผู้ใดโดยทุจริต กำหนดค่าแรงงาน หรือทรัพย์สินที่นำมาลงในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด แทนเงินค่าหุ้นให้สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
 
มาตรา ๔๘/๑ บรรดาความผิดในหมวด ๑ ตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้วให้คดีเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป
 
มาตรา ๔๘/๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามบทบัญญัติในหมวดนี้
 
ความผิดเกี่ยวกับสมาคมและมูลนิธิ
                       
 
มาตรา ๔๙ ผู้ใดใช้คำว่า “สมาคม” ประกอบกับชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นสมาคมที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายอื่น เว้นแต่เป็นการใช้ในการขอจดทะเบียนเกี่ยวกับการตั้งสมาคมหรือในการแปลอักษรต่างประเทศเป็นอักษรไทยโดยมีอักษรต่างประเทศกำกับไว้ด้วย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทและปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้
 
มาตรา ๕๐ ผู้ใดดำเนินกิจการของคณะบุคคลใดโดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่ากิจการนั้นเป็นสมาคมที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๕๑ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลใดที่ใช้ชื่อว่าสมาคมโดยรู้อยู่ว่าเป็นสมาคมที่มิได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๕๒ สมาคมใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๕๓ สมาคมใดมิได้จดทะเบียนข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๕๔ สมาคมใดมิได้จดทะเบียนการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๘๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๕๕ สมาคมใดไม่ยอมให้สมาชิกของสมาคมตรวจตรากิจการและทรัพย์สินของสมาคมตามมาตรา ๘๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๕๖ กรรมการของสมาคมผู้ใดดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม และการดำเนินกิจการนั้นเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๕๗ ในกรณีที่คณะกรรมการของสมาคมไม่แจ้งการเลิกสมาคมต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมการของสมาคมนั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินคนละหนึ่งหมื่นบาท เว้นแต่กรรมการผู้ใดของสมาคมนั้นจะพิสูจน์ได้ว่า การที่มิได้แจ้งนั้น มิได้เกิดจากการกระทำของตน
 
มาตรา ๕๘ ผู้ใดแบ่งทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่เมื่อได้ชำระบัญชีแล้วให้แก่สมาชิกของสมาคม หรือโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๕๙ ผู้ใดยังขืนแสดงตนเป็นกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมโดยรู้อยู่ว่านายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนแล้วตามมาตรา ๑๐๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือศาลได้สั่งให้เลิกสมาคมแล้วตามมาตรา ๑๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๖๐ ผู้ใดใช้คำว่า “มูลนิธิ” ประกอบกับชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจ โดยมิได้เป็นมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่เป็นการใช้ในการขอจดทะเบียนเกี่ยวกับการตั้งมูลนิธิ หรือในการแปลอักษรต่างประเทศเป็นอักษรไทยโดยมีอักษรต่างประเทศกำกับไว้ด้วย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้
 
มาตรา ๖๑ ผู้ใดดำเนินกิจการใดโดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่ากิจการนั้นเป็นมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๒ มูลนิธิใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๖๓ มูลนิธิใดมิได้จดทะเบียนการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๒๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๖๔ มูลนิธิใดมิได้จดทะเบียนข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๖๕ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๑๒๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปตรวจสอบกิจการของมูลนิธิตามมาตรา ๑๒๘ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๖ กรรมการของมูลนิธิผู้ใดดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และการดำเนินกิจการนั้นน่าจะเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๗ ในกรณีที่คณะกรรมการของมูลนิธิไม่แจ้งการเลิกมูลนิธิต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๓๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมการของมูลนิธินั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินคนละหนึ่งหมื่นบาท เว้นแต่กรรมการผู้ใดของมูลนิธินั้นจะพิสูจน์ได้ว่าการที่มิได้แจ้งนั้น มิได้เกิดจากการกระทำของตน
 
มาตรา ๖๘ ผู้ใดโอนทรัพย์สินของมูลนิธิที่เหลืออยู่เมื่อได้ชำระบัญชีแล้วให้แก่บุคคลอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๖๙ ให้นำความในมาตรา ๓๑ ถึงมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับแก่บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของสมาคมหรือมูลนิธิด้วยโดยอนุโลม
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ความผิดอันเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ จะได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ และในร่างประมวลกฎหมายอาญาใหม่ก็มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดในเรื่องนี้ไว้ อีกประการหนึ่ง ในกฎหมายของต่างประเทศไม่ปรากฏว่าได้รวมความผิดอันเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธินี้เข้าไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ฉะนั้น จึงสมควรที่จะบัญญัติความผิดดังกล่าวนี้ขึ้นไว้เป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งต่างหาก
 
พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๙ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๑๑ วรรคสอง และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๒ มาตรา ๖๐ และมาตรา๖๒ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่สมาคมหรือมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มิได้ใช้คำว่า “สมาคม” หรือ “มูลนิธิ” ประกอบชื่อของตน หรือมูลนิธิที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้บังคับและมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่ใช้คำว่า “มูลนิธิ” ประกอบชื่อของตน แล้วแต่กรณี
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และได้นำบทบัญญัติลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมมาบัญญัติรวมไว้ในบรรพ ๑ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ด้วย โดยได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาคมและมูลนิธิเสียใหม่ให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดและการลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้สอดคล้องกันและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราโทษใหม่ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๙
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัทของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่งของหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด และการลาออกจากตำแหน่งของกรรมการบริษัทจำกัด โดยกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดต้องไปดำเนินการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้ต่อนายทะเบียนด้วย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิให้สอดคล้องกัน เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวยังมิได้บัญญัติความผิดและบทลงโทษสำหรับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด กรณีที่มิได้ดำเนินการจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัทของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ห้างหุ้นส่วนสามารถแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้และให้นายทะเบียนมีอำนาจถอนห้างหุ้นส่วนร้างออกจากทะเบียนจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ เพื่อกำหนดความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดและการถอนทะเบียนร้างที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดจำนวนคดีเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่ฟ้องร้องต่อศาล สมควรกำหนดให้มีการเปรียบเทียบความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดที่มีโทษปรับสถานเดียวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้