ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
พ.ศ. ๒๕๕๐
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ๒๕๕๐”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๐ และบรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คงใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
เพื่อประโยชน์แห่งการนำพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับ ให้คำบางคำในพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งนั้น มีความหมายดังต่อไปนี้
(๑) ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕
คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในมาตรา ๕ ให้หมายความถึง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”
คำว่า “รัฐมนตรี” ในมาตรา ๗ วรรคสาม มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๓มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๒ มาตรา ๗๗ และมาตรา ๘๘ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “อธิบดีกรมการประกันภัย” ในมาตรา ๔ และมาตรา ๑๑๐ วรรคสี่ ให้หมายความถึง “เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “นายทะเบียน” ในมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๘ วรรคสอง และมาตรา ๗๐ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “กรมการประกันภัย” ในมาตรา ๖๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๑๐๙ และมาตรา ๑๑๐ ให้หมายความถึง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๓๑ (๑๗) ให้หมายความถึง “คณะกรรมการบริษัท”
คำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๑๑๑ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการเปรียบเทียบ”
(๒) ในพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในมาตรา ๖ ให้หมายความถึง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”
คำว่า “รัฐมนตรี” ในมาตรา ๘ วรรคสาม มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๗ มาตรา ๔๗ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๗ มาตรา ๘๒ และมาตรา ๙๓ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “อธิบดีกรมการประกันภัย” ในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๑๖ ให้หมายความถึง“เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “นายทะเบียน” ในมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๕๑ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ มาตรา ๗๓ วรรคสอง มาตรา ๗๕ และมาตรา ๗๗ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “กรมการประกันภัย” ในมาตรา ๖๖ มาตรา ๘๗ มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๑๖ให้หมายความถึง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๓๓ (๑๖) ให้หมายความถึง “คณะกรรมการบริษัท”
คำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๕๗ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการควบคุมบริษัท”
คำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๑๑๗ ให้หมายความถึง “คณะกรรมการเปรียบเทียบ”
(๓) ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๐
คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในมาตรา ๕ ให้หมายความถึง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”
คำว่า “รัฐมนตรี” ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๖ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๔ให้หมายความถึง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “ปลัดกระทรวงพาณิชย์” ในมาตรา ๖ ให้หมายความถึง “ปลัดกระทรวงการคลัง”
คำว่า “อธิบดีกรมการประกันภัย” ในมาตรา ๑๐ ทวิ วรรคหก ให้หมายความถึง“คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “อธิบดีกรมการประกันภัย” ในมาตรา ๔ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๐ ทวิ วรรคสามให้หมายความถึง “เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “กรมการประกันภัย” ในมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ให้หมายความถึง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย”
คำว่า “ผู้แทนกระทรวงการคลัง” ในมาตรา ๖ ให้หมายความถึง “ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์”
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
“บริษัทประกันภัย” หมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
“การประกอบธุรกิจประกันภัย” หมายความว่า การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย การประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมวด ๑
คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
                       
 
มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินแปดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย บัญชี บริหารธุรกิจ การเงิน เศรษฐศาสตร์ หรือการประกันภัย ด้านละไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษ หรือพ้นระยะเวลารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้ว
(๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการบริหารหรือจัดการบริษัทประกันภัย
(๕) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(๖) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๗) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๘) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
 
มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
 
มาตรา ๙ เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งใหม่ภายในหกสิบวัน ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
 
มาตรา ๑๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๗
(๔) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกเพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
 
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
 
มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับ ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัย อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติในการประกอบธุรกิจประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติในการกำกับ ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัย
(๓) ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการออกกฎกระทรวงและประกาศตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และเรื่องอื่นที่รัฐมนตรีมอบหมาย
(๔) ประกาศกำหนดอัตราเงินสมทบที่จะเรียกเก็บโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีตามมาตรา ๔๓
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความเห็นชอบการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย
(๖) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของเลขาธิการ
(๗) กำหนดแผน กลยุทธ์ และแนวทางการบริหารงานของสำนักงาน
(๘) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป การพัสดุ การตรวจสอบภายใน รวมตลอดทั้งการสงเคราะห์และสวัสดิการต่างๆ ของสำนักงาน
(๙) อนุมัติแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน
(๑๐) ควบคุมการบริหารงานและการดำเนินการของสำนักงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
ข้อบังคับตาม (๘) ถ้ามีการจำกัดอำนาจเลขาธิการในการทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอกให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
 
มาตรา ๑๔ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคำสั่งทางปกครองและคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการทำคำสั่งทางปกครองและการประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๕ บรรดาคำสั่งทางปกครองของเลขาธิการในฐานะนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ
 
มาตรา ๑๖ ให้กรรมการและอนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด
 
หมวด ๒
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
                       
 
มาตรา ๑๗ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ
สำนักงานมีฐานะเป็นนิติบุคคล
 
มาตรา ๑๘ ให้สำนักงานมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้
 
มาตรา ๑๙ กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนแต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
 
มาตรา ๒๐ ให้สำนักงานมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการ
(๒) กำกับ ส่งเสริม และพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยตามนโยบายและมติของคณะกรรมการ ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยเพื่อส่งเสริม พัฒนาและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย
(๔) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ
(๕) ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
(๖) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน
(๗) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน
(๘) ลงทุนหาผลประโยชน์ในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
(๙) เรียกเก็บและรับเงินสมทบ เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินงาน
(๑๐) จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(๑๑) ปฏิบัติงานอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน
 
มาตรา ๒๑ ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงานประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๔๙
(๒) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
(๓) เงินสมทบตามมาตรา ๔๓
(๔) เงินเพิ่มตามมาตรา ๔๔
(๕) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินงาน
(๖) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๗) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน
 
มาตรา ๒๒ บรรดารายได้ทั้งปวงที่สำนักงานได้รับจากการดำ เนินงานในปีหนึ่งๆ ให้ตกเป็นของสำนักงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานและค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมราคา ประโยชน์ตอบแทนของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและพนักงานเงินสมทบกองทุนเพื่อการสวัสดิการและการสงเคราะห์ และเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานหรือเพื่อการอื่น
รายได้ตามวรรคหนึ่งไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
 
มาตรา ๒๓ ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานในเรื่องทรัพย์สินของสำนักงานมิได้
 
มาตรา ๒๔ ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจากบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือก
 
มาตรา ๒๕ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) สามารถทำงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา
 
มาตรา ๒๖ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นเลขาธิการ
(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้ว
(๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการบริหารหรือจัดการบริษัทประกันภัย
(๕) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(๖) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๗) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๘) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
 
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
 
มาตรา ๒๘ เลขาธิการอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีเลขาธิการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
 
มาตรา ๒๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๕ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๖
(๔) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๓๖
(๕) คณะกรรมการมีมติให้ออกเพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
 
มาตรา ๓๐ ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงานในการบริหารกิจการของสำนักงาน เลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
 
มาตรา ๓๑ ให้มีรองเลขาธิการตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อช่วยเลขาธิการในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่เลขาธิการมอบหมาย
 
มาตรา ๓๒ เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดแต่ถ้าเป็นพนักงานตำแหน่งรองเลขาธิการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้ตรวจสอบภายใน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับหรือมติที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๓๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้พนักงานกระทำการใดแทนก็ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้ได้รับมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับเลขาธิการในเรื่องที่ได้รับมอบอำนาจนั้น
 
มาตรา ๓๔ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนสำนักงาน เพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดกระทำการแทนก็ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้คณะกรรมการแต่งตั้งรองเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ ในกรณีที่ไม่มีรองเลขาธิการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่ง
เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ
ให้ผู้รักษาการแทนเลขาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับเลขาธิการ
 
มาตรา ๓๖ เลขาธิการต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับสำนักงานหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สำนักงาน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้นไม่เกินอัตราตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่บุพการี คู่สมรส ผู้สืบสันดาน หรือบุพการีของคู่สมรสของเลขาธิการกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเลขาธิการมีส่วนได้เสียในกิจการของสำนักงาน
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีที่เลขาธิการได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้เป็นกรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่สำนักงานเป็นผู้ถือหุ้น
 
มาตรา ๓๗ นิติกรรมใดที่ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามมาตรา ๓๖ ไม่มีผลผูกพันสำนักงาน
 
มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการดำรงตำแหน่งใดในบริษัทประกันภัยเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
 
หมวด ๓
การตรวจสอบและการบัญชี
                       
 
มาตรา ๓๙ ให้สำนักงานวางและรักษาไว้ซึ่งบัญชีที่เป็นไปตามหลักสากลและสอดคล้องกับระบบการบัญชีที่กระทรวงการคลังได้วางไว้
 
มาตรา ๔๐ ให้สำนักงานจัดให้มีการตรวจสอบภายในเป็นประจำ
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลการตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการ
ในการตรวจสอบภายใน ให้ผู้ตรวจสอบภายในรายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบโดยอนุโลม
 
มาตรา ๔๑ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีอิสระที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน
 
มาตรา ๔๒ ให้ผู้สอบบัญชีรายงานผลการสอบบัญชีต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อ
คณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้สำนักงานเผยแพร่งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้วภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีรับทราบ
 
หมวด ๔
เงินสมทบ
                       
 
มาตรา ๔๓ ให้บริษัทประกันภัยนำ ส่งเงินสมทบให้แก่สำนักงานทุกรอบสามเดือนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงาน
อัตราเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยต้องนำส่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีโดยคำนึงถึงรายจ่ายที่เหมาะสมในการดำเนินงานของคณะกรรมการตลอดทั้งแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงานแต่ต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทประกันภัยได้รับจากผู้เอาประกันภัยทุกรอบสามเดือน ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีอาจประกาศให้บริษัทประกันภัยงดการนำส่งเงินสมทบเป็นการชั่วคราวก็ได้
 
มาตรา ๔๔ บริษัทประกันภัยซึ่งไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบโดยไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๔๓ ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของเงินสมทบที่ไม่ได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ
 
หมวด ๕
ความสัมพันธ์กับรัฐบาล
                       
 
มาตรา ๔๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงาน เพื่อการนี้จะสั่งให้สำนักงานชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานเสนอ และมีอำนาจสั่งยับยั้งการกระทำของสำนักงานที่เห็นว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาล
ในกรณีที่คณะกรรมการหรือสำนักงานต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี ให้สำนักงานนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
 
บทกำหนดโทษ
                       
 
มาตรา ๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๔๗ บริษัทประกันภัยใดฝ่าฝืนไม่นำส่งเงินสมทบหรือส่งเงินสมทบไม่ครบตามจำนวนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และถ้าเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
 
มาตรา ๔๘ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้
คณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนและคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้เปรียบเทียบและผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๔๙ ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ เงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย เงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต เงินของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หนี้ สิทธิ และภาระผูกพันของกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับงานประกันวินาศภัย งานประกันชีวิต และงานคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่มีอยู่ในวันที่
พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของสำนักงาน เว้นแต่การดำเนินคดีและการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการหรือลูกจ้างและเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำและเงินต่างๆ ที่จ่ายควบกับเงินเดือนซึ่งมีผู้ครองอยู่ให้โอนไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์
 
มาตรา ๕๐ เมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ และให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมการประกันภัยเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งและผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมการประกันภัยปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการและเลขาธิการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคณะกรรมการหรือเลขาธิการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๕๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๒ ให้ข้าราชการและลูกจ้างของกรมการประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ และให้ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงาน โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์
ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่างๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงาน แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้
 
มาตรา ๕๒ ข้าราชการและลูกจ้างตามมาตรา ๕๑ ซึ่งสมัครใจเปลี่ยนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ให้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สำหรับผู้ไม่ได้แจ้งความจำนงภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์
การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้างตามวรรคหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งใดในสำนักงานให้เป็นไปตามอัตรากำลัง คุณสมบัติและอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คณะกรรมการกำหนด แต่การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการหรือลูกจ้างซึ่งถูกดำเนินคดีหรือดำเนินการทางวินัยจะกระทำได้เมื่อการดำเนินคดีหรือการดำเนินการทางวินัยนั้นสิ้นสุดลงแล้ว
ให้โอนเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำและเงินต่างๆ ที่จ่ายควบกับเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานตามวรรคสอง ไปเป็นของสำนักงานนับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตามมาตรานี้ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
การบรรจุและแต่งตั้งลูกจ้างตามมาตรานี้ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการประกอบธุรกิจประกันภัยได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว รูปแบบการประกันภัยมีความหลากหลาย มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้หลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปี และผู้เอาประกันภัยได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก การประกอบธุรกิจประกันภัยจึงมีลักษณะเป็นธุรกรรมทางการเงินประเภทหนึ่งซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศและต่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภค องค์กรกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงต้องมีความคล่องตัวเพื่อให้ทันต่อพัฒนาการของธุรกิจนี้ และต้องมีอิสระในการดำเนินงาน เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นไปตามหลักวิชาการด้านการประกันภัย แต่การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของการประกอบธุรกิจประกันภัยที่เป็นธุรกรรมทางการเงินที่ควรอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ กรมการประกันภัยมีฐานะเป็นส่วนราชการจึงไม่มีความคล่องตัวและขาดความเป็นอิสระในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยและการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีจึงสมควรให้มีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยขึ้นเป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้