size="2">พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การโทรคมนาคม
แห่งเอเชียและแปซิฟิก
พ.ศ. ๒๕๒๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“องค์การ” หมายความว่า องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกซึ่งประเทศที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเอเชียและแปซิฟิกได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า องค์การเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย(๒) ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การ ให้องค์การและพนักงานขององค์การได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การตามความตกลงเกี่ยวกับเอกสิทธิและความคุ้มกันที่รัฐบาลแห่งประเทศไทยกับองค์การจะได้ทำขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินเอกสิทธิและความคุ้มกันที่องค์การสหประชาชาติและพนักงานขององค์การสหประชาชาติได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสหประชาชาติฉบับที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ในระหว่างที่ยังมิได้มีความตกลงตาม (๒) ให้องค์การและพนักงานขององค์การได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นเดียวกับที่องค์การสหประชาชาติและพนักงานขององค์การสหประชาชาติได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสหประชาชาติดังกล่าว มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ตกลงเข้าเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงจัดตั้งองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก และตามธรรมนูญขององค์การดังกล่าวซึ่งรัฐบาลแห่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้กำหนดให้องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกเป็นนิติบุคคลและมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก และเพื่อให้องค์การและพนักงานขององค์การได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันในการดำเนินงานและการปฏิบัติงานขององค์การในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น