พระราชบัญญัติ
รถยนต์
พ.ศ. ๒๕๒๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช ๒๔๗๓
(๒) พระราชบัญญัติรถยนต์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๔
(๓) พระราชบัญญัติรถยนต์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
(๔) พระราชบัญญัติรถยนต์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
(๕) พระราชบัญญัติรถยนต์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
(๖) พระราชบัญญัติรถยนต์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘
(๗) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๘) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๑
(๙) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๑
(๑๐) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๐) พุทธศักราช ๒๔๘๔
(๑๑) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๑) พุทธศักราช ๒๔๘๔
(๑๒) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๒) พุทธศักราช ๒๔๙๔
(๑๓) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๐๒
(๑๔) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๐๓
(๑๕) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๐๖
(๑๖) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๑๒
(๑๗) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๐ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
(๑๘) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ พ.ศ. ๒๕๑๖
(๑๙) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖
(๒๐) พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๑๗
บรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“รถ” หมายความว่า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการ และรถยนต์ส่วนบุคคล
“รถยนต์สาธารณะ” หมายความว่า
(๑) รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่ใช้รับจ้างระหว่างจังหวัด โดยรับส่งคนโดยสารได้เฉพาะที่นายทะเบียนกำหนด
(๒) รถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทาง
“รถยนต์บริการ” หมายความว่า รถยนต์บรรทุกคนโดยสารหรือให้เช่าซึ่งบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ดังต่อไปนี้
(๑) รถยนต์บริการธุรกิจ ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ใช้บรรทุกคนโดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย ที่ทำการของผู้โดยสาร หรือที่ทำการของผู้บริการธุรกิจนั้น
(๒) รถยนต์บริการทัศนาจร ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใช้รับส่งคนโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว
(๓) รถยนต์บริการให้เช่า ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่จัดไว้ให้เช่าซึ่งมิใช่เป็นการเช่าเพื่อนำไปรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสิ่งของ
“รถยนต์ส่วนบุคคล” หมายความว่า
(๑) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน
(๒) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
“รถจักรยานยนต์” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย
“รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล” หมายความว่า รถจักรยานยนต์ที่มิได้ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร
“รถจักรยานยนต์สาธารณะ” หมายความว่า รถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแต่ไม่หมายรวมถึงรถจักรยานยนต์ที่มีพ่วงข้างและรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์
“รถพ่วง” หมายความว่า รถที่เคลื่อนที่ไปโดยใช้รถอื่นลากจูง
“รถบดถนน” หมายความว่า รถที่ใช้ในการบดอัดวัสดุบนพื้นให้แน่น และมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในตัวเอง หรือใช้รถอื่นลากจูง
“รถแทรกเตอร์” หมายความว่า รถที่มีล้อหรือสายพาน และมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในตัวเอง เป็นเครื่องจักรกลขั้นพื้นฐานในงานที่เกี่ยวกับการขุด ตัก ดันหรือฉุดลาก เป็นต้น หรือรถยนต์สำหรับลากจูงซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
“เจ้าของรถ” หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย
“ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการตามพระราชบัญญัตินี้
“นายทะเบียน” หมายความว่า ข้าราชการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียน
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและผู้ตรวจการ กับออกกฎกระทรวงกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถประเภทต่างๆ เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง ลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์ และของรถสำหรับรถประเภทดังกล่าว และการแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถที่ได้เปลี่ยนแปลงแล้ว
(๒) เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถและการใช้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าว เช่น โคม เครื่องมองหลัง แตร เครื่องระงับเสียง ท่อไอเสีย เครื่องสัญญาณไฟ เครื่องปัดน้ำฝนและเครื่องอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น
(๓) เครื่องสื่อสาร และการใช้เครื่องสื่อสารระหว่างรถกับศูนย์บริการหรือสถานที่อื่น
(๔) แผ่นป้ายทะเบียนรถ เครื่องหมายประเภทรถและเครื่องหมายอื่น รวมทั้งวิธีแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายดังกล่าว
(๕) สีและเครื่องหมายสำหรับรถยนต์สาธารณะ
(๖) น้ำหนักบรรทุกอย่างมาก และจำนวนคนโดยสารอย่างมาก สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะ
(๗) เงื่อนไขในการใช้ล้อยางตัน
(๘) ประเภท ขนาด และน้ำหนักของรถที่จะไม่ให้เดินบนทางที่มิใช่ทางหลวง
(๙) เงื่อนไขในการใช้รถที่มีล้ออย่างอื่น นอกจากล้อยางเดินบนทางที่มิใช่ทางหลวง
(๑๐) ประเภทรถที่ต้องกำหนดอายุการใช้ในเขตที่กำหนด
(๑๑) ประเภทรถที่ห้ามใช้เดินในเขตที่กำหนด
(๑๒) การงดรับจดทะเบียนรถประเภทใดประเภทหนึ่งในเขตที่กำหนด
(๑๓) จำนวนรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด จังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทางสำหรับรถยนต์ดังกล่าว
(๑๔) อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์สาธารณะและรถจักรยานยนต์สาธารณะ
(๑๕) เครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย ประวัติคนขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถ และการแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถจักรยานยนต์สาธารณะ
(๑๕/๑) ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร
(๑๖) หลักสูตรและอุปกรณ์การสอนและการฝึกหัดขับรถของโรงเรียนฝึกหัดขับรถ
(๑๗) ค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้
(๑๘) กิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินตามมาตรา ๔๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจดทะเบียน เครื่องหมาย และการใช้รถ
มาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียน
ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แต่ยังมิได้เสียภาษีประจำปีสำหรับรถนั้นให้ครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่รถที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรชั่วคราวโดยที่ผู้นำเข้าไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลของประเทศที่ผู้นำเข้ามีสัญชาติ
มาตรา ๗ รถที่จะขอจดทะเบียนได้ต้อง
(๑) เป็นรถที่มีส่วนควบและมีเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และ
(๒) ผ่านการตรวจสภาพรถจากนายทะเบียน หรือจากสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ในเวลาที่ขอจดทะเบียนแล้ว
ในกรณีที่ขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ หรือรถยนต์บริการทัศนาจร รถนั้นต้องมีลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ขอจดทะเบียนต้องแจ้งสถานที่เก็บรถยนต์สาธารณะ หรือรถยนต์บริการซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย
มาตรา ๘ รถดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน
(๑) รถสำหรับเฉพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(๒) รถของกรมตำรวจที่จดทะเบียนและมีเครื่องหมายตามระเบียบที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด
(๓) รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียนและมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
(๔) รถที่เจ้าของแจ้งการไม่ใช้รถตามมาตรา ๓๔
(๕) รถที่ผู้ผลิตหรือประกอบเพื่อจำหน่ายหรือที่ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย ผลิต ประกอบหรือนำเข้า และยังมิได้จำหน่ายให้แก่ผู้อื่น
มาตรา ๙ รถดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถ
(๑) รถดับเพลิง
(๒) รถพยาบาลที่มิใช่เป็นรถสำหรับรับจ้าง
(๓) รถของกระทรวง ทบวง กรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และราชการส่วนท้องถิ่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ เฉพาะรถที่มิได้ใช้ในทางการค้าหรือหากำไร
(๔) รถบดถนนของรัฐวิสาหกิจ
(๕) รถแทรกเตอร์ของรัฐวิสาหกิจ
(๖) รถของสภากาชาดไทย
(๗) รถของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทย
(๘) รถใช้งานเกษตรกรรมตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐ ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนรถ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนา เว้นแต่เจ้าของรถมีความประสงค์จะนำรถไปใช้ในท้องถิ่นอื่น ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องถิ่นนั้นได้
ในกรณีที่ผู้ขอเป็นคนต่างด้าวและไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ตนมีถิ่นที่อยู่
การขอจดทะเบียนและการออกใบคู่มือจดทะเบียนรถให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๐/๑ ให้อธิบดีนำหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกเปิดประมูลเป็นการทั่วไป และให้ถือว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอเป็นอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการใช้หมายเลขทะเบียนนั้น
การเปิดประมูลและการจดทะเบียนรถตามหมายเลขทะเบียนดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
เงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ได้จากการประมูลตามมาตรานี้ ให้นำเข้ากองทุนตามมาตรา ๑๐/๒
มาตรา ๑๐/๒ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกรมการขนส่งทางบก เรียกว่า “กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุน และส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอันเกิดจากการใช้รถใช้ถนนประกอบด้วย
(๑) เงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ได้จากการประมูลตามมาตรา ๑๐/๑
(๒) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
(๓) ดอกผลและรายได้จากกองทุน
(๔) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน
ให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสองคนเป็นกรรมการและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่บริหารกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
การดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ การบริหารกองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเสนองบแสดงฐานะทางการเงินภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุน โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด และเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรับรองงบการเงินแล้ว ให้ทำบันทึกรายงานผลเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๐/๓ ให้นายทะเบียนมีอำนาจอนุญาตให้เจ้าของรถนำหมายเลขทะเบียนที่ออกให้สำหรับรถคันหนึ่งมาใช้กับรถอีกคันหนึ่ง หรือนำหมายเลขทะเบียนที่ยังไม่เคยออกให้สำหรับรถคันใดมาใช้กับรถที่จดทะเบียนแล้วได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๑๑ รถที่จดทะเบียนแล้ว ต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๒ รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่ารถนั้นมีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถนั้นจนกว่าจะจัดให้มีครบถ้วนถูกต้องหรือเอาออกแล้ว
ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าเจ้าของรถไม่อาจจัดให้มีครบถ้วนถูกต้องหรือเอาออกได้ ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถนั้น
เจ้าของรถมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของนายทะเบียน
คำวินิจฉัยของอธิบดีให้เป็นที่สุด
มาตรา ๑๓ รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงสีของรถให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ เจ้าของรถต้องแจ้งนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปลี่ยนแปลง
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๔ รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน
ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ารถที่เปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายในเวลาใช้ ให้สั่งเจ้าของรถแก้ไขและนำรถไปให้ตรวจสภาพก่อนใช้ การตรวจสภาพดังกล่าวนายทะเบียนจะสั่งให้เจ้าของรถนำรถไปให้ตรวจสภาพ ณ สถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกก็ได้ และให้นำมาตรา ๑๒ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้านายทะเบียนเห็นว่ารถนั้นปลอดภัยในเวลาใช้ ให้แก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียน และใบคู่มือจดทะเบียนรถนั้นด้วย
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเห็นว่ารถใดในขณะที่ใช้มีลักษณะที่เห็นได้ว่าน่าจะไม่ปลอดภัยในการใช้ ให้มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของรถนำรถนั้นไปให้นายทะเบียน หรือสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกตรวจสภาพภายในเวลาที่กำหนดได้
มาตรา ๑๕ ทวิ การตรวจสภาพรถตามมาตรา ๗ (๒) มาตรา ๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๓๖ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๖ ในการย้ายรถไปไว้ต่างท้องที่ ให้เจ้าของรถแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันย้าย
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๗ ในการโอนรถที่จดทะเบียนแล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอน
ในกรณีที่ผู้รับโอนจะนำรถตามวรรคหนึ่งออกนอกราชอาณาจักรภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอน ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งด้วย
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง และการขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๗/๑ รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้ว รถพ่วง รถบดถนน และรถแทรคเตอร์ที่จดทะเบียนแล้วให้เป็นทรัพย์สินประเภทที่จำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมาย
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
การจำนองต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และต้องแจ้งจดทะเบียนจำนองต่อนายทะเบียน พร้อมกับการเสียค่าธรรมเนียมในการจดจำนองตามเงื่อนไข วิธีการ และอัตราค่าธรรมเนียมที่ประกาศในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๘ ในการนำรถออกนอกราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง
(๒) การรับจ้างบรรทุกคนโดยสารออกนอกราชอาณาจักร แล้วนำรถกลับเข้ามาตามปกติกิจ
(๓) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๙ ในการอนุญาตตามมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการให้นายทะเบียนอนุญาตและจะให้นายทะเบียนยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติหรือไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นๆ ก็ได้ ตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๒๐ ผู้ใดสั่งหรือนำรถหรือเครื่องยนต์สำหรับรถเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย หรือผลิตหรือประกอบรถหรือเครื่องยนต์สำหรับรถขึ้นใหม่เพื่อจำหน่าย ผู้นั้นต้องส่งบัญชีประจำเดือนในการรับและจำหน่ายรถหรือเครื่องยนต์สำหรับรถให้แก่นายทะเบียนภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป
บัญชีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว
(๒) การใช้รถยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว โดยมีข้อความแสดงไว้ที่รถนั้นให้เห็นได้ง่ายจากภายนอกว่าใช้ในกิจการส่วนตัว
(๓) การใช้รถยนต์สาธารณะบรรทุกของที่ติดตัวไปกับผู้โดยสาร
(๓ ทวิ) การใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
(๔) ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถยนต์อื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทางรับจ้างรับคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในทางที่ได้รับอนุญาตให้มีรถยนต์โดยสารประจำทางหรือในเขตจากทางนั้นไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับในกรณีที่เป็นการรับจ้างรับส่งนักเรียน คนงาน นักท่องเที่ยว หรือการรับส่งผู้โดยสาร เป็นครั้งคราวซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าในท้องที่ใดการประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์บรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนหรือรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด สมควรให้ดำเนินการโดยบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัดหรือสหกรณ์ และต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุท้องที่สำหรับการรับจ้างดังกล่าว
ประกาศตามวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับแก่การประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคนหรือรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดซึ่งได้จดทะเบียนอยู่ก่อนวันประกาศจนกว่าจะพ้นสามปีนับแต่วันประกาศ
กำหนดเวลาสามปีตามวรรคสอง ถ้ามีเหตุผลสมควร รัฐมนตรีอาจขยายออกไปได้อีกครั้งละไม่เกินสองปี แต่จะขยายระยะเวลาเกินสองครั้งไม่ได้ การขยายระยะเวลาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๓/๑ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถจักรยานยนต์เพื่อรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่รถจักรยานยนต์นั้นได้จดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ
ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้เมื่อมีการปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงและระเบียบที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๐
กฎกระทรวงตามวรรคสองต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการประจำจังหวัด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรถยนต์ การจราจร หรือการขนส่ง และบุคคลอื่นตามจำนวนที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่กำหนดสถานที่รอรับคนโดยสาร เส้นทางหรือท้องที่ในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร และหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะให้กับผู้ประสงค์จะจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะเพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามวรรคสอง ในการนี้อาจกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการประจำท้องที่ด้วยก็ได้
การกำหนดอายุและการเพิกถอนทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔ ใบอนุญาตตามมาตรา ๒๓ มีอายุสามปีนับแต่วันออกใบอนุญาตแต่อาจต่ออายุได้คราวละสามปี
ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตนั้นหมดอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว จะประกอบการต่อไปก็ได้จนกว่านายทะเบียนจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น
การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔/๑ ในกรณีที่ใบอนุญาตตามมาตรา ๒๓ สูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบเหตุ หากภายหลังได้ใบอนุญาตที่สูญหายคืนมา ให้ส่งใบแทนใบอนุญาตนั้นแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้คืน
การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๒๕ ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๓ ซึ่งไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
ให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตส่งคืนใบอนุญาตแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตตามมาตรา ๒๓ ไม่ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๒๔ หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๒๕ ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต หรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งนายทะเบียน
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๕ ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ รัฐมนตรีอาจอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบการไปพลางก่อนได้เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์
มาตรา ๒๗ ผู้ใดมีรถยนต์ไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ถ้าจะขับเองหรือให้ผู้อื่นขับเพื่อการนั้น ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และให้ขับได้ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เว้นแต่มีความจำเป็นและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในการออกใบอนุญาต ให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายพิเศษและสมุดคู่มือประจำรถให้ด้วย
เครื่องหมายพิเศษและสมุดคู่มือประจำรถ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ใช้สับเปลี่ยนกันได้ไม่เฉพาะคันรถ
มาตรา ๒๘ ในการขับรถยนต์ตามมาตรา ๒๗ ผู้ขับต้องบันทึกรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อรถ หมายเลขตัวรถ และหมายเลขเครื่องยนต์ของรถ
(๒) ความประสงค์ในการขับรถยนต์
(๓) วันเดือนปี และเวลาที่นำรถออกไปขับและกลับถึงที่
(๔) ชื่อและชื่อสกุลของผู้ขับ