พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรป
และสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย ให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า ประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทยเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(๒) ให้คณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย หัวหน้าคณะผู้แทนและบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนชาติของรัฐภาคีของประชาคมยุโรปที่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประจำในประเทศไทยและสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นเดียวกับที่ได้ให้แก่บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตประจำประเทศไทย
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยและประชาคมยุโรปได้ลงนามในคำแถลงร่วมเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ รับรองสภาพนิติบุคคลของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป และให้ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันเท่ากับคณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานและการให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ดังกล่าว สมควรมีกฎหมายคุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น