ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง  พ.ศ. 2522
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง  พ.ศ. 2522

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
จัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
พ.ศ. ๒๕๒๒
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. ๒๕๒๒”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติหมู่บ้านอาสาพัฒนา พ.ศ. ๒๕๑๘
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“หมู่บ้าน” หมายความว่า หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองที่ได้กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการกลาง” หมายความว่า คณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
“ประธานคณะกรรมการกลาง” หมายความว่า ประธานคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
“กรรมการกลาง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
“คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ” หมายความว่า คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประจำหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
“ประธานคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประจำหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ และระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
การกำหนดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
                  
 
มาตรา ๖ การบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ให้ถือเอาหมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่เป็นหลัก ส่วนการจะกำหนดให้หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งหรือตั้งแต่สองหมู่บ้านขึ้นไปเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศเป็นคราวๆ ไป ตามความเหมาะสมแห่งสภาพท้องที่
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยุบเลิกหมู่บ้าน ให้กระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย
การรวมหมู่บ้านต่างอำเภอมากำหนดเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองจะกระทำมิได้
 
หมวด ๒
คณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
                  
 
มาตรา ๗ ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการกลางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการกลาง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านเป็นกรรมการกลางโดยตำแหน่ง และให้มีการเลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิจากราษฎรในหมู่บ้านนั้น มีจำนวนอย่างน้อยห้าคนอย่างมากไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการกลาง กรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิจะมีเท่าใด ให้เป็นไปตามที่นายอำเภอกำหนดตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้าน การเลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามมาตรา ๑๑
หมู่บ้านใดมีผู้ใหญ่บ้านเป็นกำนันอยู่ด้วย ให้กำนันของหมู่บ้านนั้นเป็นประธานคณะกรรมการกลาง ให้สารวัตรกำนัน และหรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหมู่บ้านของกำนันเป็นกรรมการกลางโดยตำแหน่ง
ให้คณะกรรมการกลางเลือกรองประธานคณะกรรมการกลางหนึ่งคน และเลขานุการหนึ่งคนจากกรรมการกลาง การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำโดยเปิดเผยโดยใช้วิธียกมือ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประจำหมู่บ้านได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากข้าราชการหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านนั้น
 
มาตรา ๘ ในกรณีที่มีการรวมหมู่บ้านมากกว่าหนึ่งหมู่บ้าน ถ้าในหมู่บ้านนั้นมีกำนันอยู่ด้วย ให้กำนันเป็นประธานคณะกรรมการกลาง สำหรับกรรมการกลางอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรา ๗ และถ้าหากหมู่บ้านที่มารวมนั้นมีกำนันมากกว่าหนึ่งคน ให้คณะกรรมการกลางเลือกกำนันคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลาง ให้กำนันที่เหลือเป็นรองประธานคณะกรรมการกลาง และมิให้นำมาตรา ๗ วรรคสาม มาใช้บังคับในการเลือกรองประธานคณะกรรมการกลาง แต่ถ้าไม่มีกำนันให้คณะกรรมการกลางเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลาง และให้ประธานคณะกรรมการกลางอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกใหม่ และให้ผู้ที่ได้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
 
มาตรา ๙ ประธานคณะกรรมการกลางตามมาตรา ๘ ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง
(๔) พ้นจากตำแหน่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน
 
มาตรา ๑๐ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุยี่สิบปีบริบูรณ์ตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในวันเลือกตั้ง
(๓) มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรอยู่ในหมู่บ้านนั้นมาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนจนถึงวันเลือกตั้ง
(๔) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(๕) มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาปีที่สี่ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาปีที่สี่ เว้นแต่ท้องที่ซึ่งไม่อาจเลือกผู้มีความรู้ดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาตามที่เห็นสมควรได้
(๖) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๗) ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดไว้สำหรับคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่โดยอนุโลม
(๘) ไม่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
(๙) ไม่เป็นผู้มีชื่อเสียงในทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม
(๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกฐานทุจริตต่อหน้าที่รวมทั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล หรือกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ยังไม่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก
(๑๑) ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ
 
มาตรา ๑๑ วิธีเลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ ให้นายอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หรือปลัดอำเภอซึ่งนายอำเภอมอบหมาย เป็นประธาน พร้อมกำนันและผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้น ประชุมราษฎรผู้มีคุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุยี่สิบปีบริบูรณ์ตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในวันเลือกตั้ง
(๓) มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันเลือกตั้ง
(๔) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๕) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
เมื่อราษฎรส่วนมากเลือกผู้ที่ถูกเสนอชื่อผู้ใดเป็นกรรมการกลาง และเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ แล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ และให้นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญตามแบบท้ายระเบียบกระทรวงมหาดไทยไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก
วิธีเลือกตั้งให้กระทำโดยวิธีลับหรือเปิดเผย และให้ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๒ กรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(๓) นายอำเภอให้ออกเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๐
(๔) คณะกรรมการกลางมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางซึ่งจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียประโยชน์ของหมู่บ้าน มติดังกล่าวจะต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของคณะกรรมการกลางที่อยู่ในตำแหน่ง
(๕) นายอำเภอสั่งให้ออกเพราะไม่มาประชุมสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๖) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ยุบคณะกรรมการกลาง หรือคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามมาตรา ๒๙
ถ้าตำแหน่งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงก่อนครบวาระ ให้เลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวัน ยกเว้นกรณีตาม (๖) และให้ผู้ได้รับเลือกตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนกำหนดออกตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่เลือกขึ้นแทนก็ได้
 
มาตรา ๑๓ ที่ปรึกษาคณะกรรมการต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(๓) นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
(๔) ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านนั้นได้
ตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการว่างลงเมื่อใด ให้นายอำเภอท้องที่พิจารณาแต่งตั้งจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๗ วรรคสี่ เป็นที่ปรึกษาต่อไป
 
มาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการกลางมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารหมู่บ้าน หรือดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติหรือได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสภาตำบล นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(๒) พิจารณาวางนโยบายในการปกครองหมู่บ้าน วางแผนและโครงการพัฒนาหมู่บ้านตามความต้องการของราษฎรในหมู่บ้านนั้น
(๓) ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้สำหรับคณะกรรมการหมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(๔) ดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
(๕) ให้ความร่วมมือและประสานงานในแผนการและโครงการพัฒนาตำบลและหมู่บ้านสนับสนุนให้มีการร่วมมือจากองค์การอาสาสมัครหรือองค์การสาธารณกุศล ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องและอุปสรรคที่เกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน
(๖) ร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานของกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอื่นๆ ซึ่งทางราชการจัดตั้งหรือสนับสนุน และดำเนินงานในเขตหมู่บ้านนั้น
(๗) เผยแพร่การดำเนินงานพัฒนาของทางราชการให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบ
(๘) ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างราษฎรในหมู่บ้านเกี่ยวกับความแพ่ง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความยุติธรรม เมื่อได้ดำเนินการอย่างใดแล้ว ให้รายงานให้นายอำเภอทราบ
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ทางราชการจะได้มอบหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานคณะกรรมการกลางเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมติของคณะกรรมการกลาง เว้นแต่คณะกรรมการกลางจะได้มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน
 
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่สาธารณภัย ภัยทางอากาศหรือการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้นหรือใกล้จะเกิดขึ้น ให้ประธานคณะกรรมการกลางในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ หรือประธานคณะกรรมการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งหรืออำนวยการป้องกันและบรรเทาภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาภัยฝ่ายพลเรือนไปก่อนได้ แล้วรายงานผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในเขตท้องที่รับผิดชอบทราบ
 
หมวด ๓
คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประจำหมู่บ้าน
                  
 
มาตรา ๑๖ ในหมู่บ้าน ให้มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการกลางในแต่ละสาขางานตามที่ได้รับมอบ คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ จะมีกี่คณะแล้วแต่คณะกรรมการกลางจะพิจารณาเห็นสมควร โดยปกติควรมีคณะกรรมการพัฒนา คณะกรรมการปกครอง คณะกรรมการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย คณะกรรมการการคลัง คณะกรรมการสาธารณสุข คณะกรรมการศึกษาและวัฒนธรรม คณะกรรมการสวัสดิการและสังคม หรือคณะกรรมการอื่นๆ ที่คณะกรรมการกลางพิจารณาเห็นว่าจำเป็น
 
มาตรา ๑๗ ให้คณะกรรมการกลางตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ แบ่งหน้าที่กันเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ และให้ประธานคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ คัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ และมีความรู้หรือสนใจในแขนงงานนั้นๆ อย่างน้อยสามคน เข้ามาร่วมบริหารงาน ผู้ได้รับการคัดเลือกในแต่ละฝ่ายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลาง
 
มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ มีหน้าที่ดังนี้
(๑) คณะกรรมการพัฒนา มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพของราษฎร และพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่างๆ โดยร่วมมือกับคณะกรรมการฝ่ายอื่นๆ และตามนโยบายของคณะกรรมการกลาง
(๒) คณะกรรมการปกครอง มีหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและดูแลกิจการในหมู่บ้านให้เป็นไปตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และนโยบายส่วนรวมของชาติ แนะนำและส่งเสริมให้ราษฎรในหมู่บ้านมีความสนใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการเสริมสร้างความสามัคคีของส่วนรวม
บรรดาหน้าที่อื่นใด ถ้ามิได้ระบุว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ และจำเป็นจะต้องกระทำ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกลางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปกครองที่จะดำเนินการ
(๓) คณะกรรมการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน รวมทั้งจัดกำลังป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๔) คณะกรรมการการคลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของหมู่บ้าน
(๕) คณะกรรมการสาธารณสุข มีหน้าที่เกี่ยวกับ การรักษาพยาบาลการอนามัย การวางแผนครอบครัว และการสุขาภิบาล ตลอดจนการรักษาภาวะแวดล้อมของหมู่บ้านและป้องกันอันตรายอันเกิดจากภาวะแวดล้อมในหมู่บ้าน
(๖) คณะกรรมการศึกษาและวัฒนธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การลูกเสือและเยาวชน ตลอดจนกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม การกีฬาและการพักผ่อนหย่อนใจ
(๗) คณะกรรมการสวัสดิการและสังคม มีหน้าที่เกี่ยวกับสวัสดิการของราษฎรและสงเคราะห์ผู้ยากจนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ตามความจำเป็น
ในการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ อาจจัดตั้งกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการแต่ละคณะได้ตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๑๙ ถ้าประธานคณะกรรมการฝ่ายใดพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากพ้นจากตำแหน่งประจำ หรือพ้นจากตำแหน่งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กรรมการฝ่ายนั้นพ้นจากตำแหน่งด้วย
 
หมวด ๔
การประชุม
                       
 
มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการกลางประชุมกันไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง การกำหนดวันประชุมให้ประธานคณะกรรมการกลางเป็นผู้กำหนดและเรียกประชุม โดยคำนึงถึงความสะดวกและการประกอบอาชีพของกรรมการกลางเป็นหลัก
กรณีที่มีการรวมหมู่บ้านตามมาตรา ๘ ในการประชุมครั้งแรก ให้นายอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หรือปลัดอำเภอซึ่งนายอำเภอมอบหมายเป็นผู้นัดประชุม และทำหน้าที่ประธานชั่วคราวเพื่อเลือกประธานคณะกรรมการกลาง
สถานที่สำหรับประชุมคณะกรรมการกลาง ให้ใช้สถานที่ที่คณะกรรมการกลางเห็นสมควร
 
มาตรา ๒๑ การประชุมของคณะกรรมการกลาง ต้องมีกรรมการกลางมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการกลางที่อยู่ในตำแหน่งจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานคณะกรรมการกลางไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานคณะกรรมการกลางเป็นประธานในที่ประชุม
ในกรณีที่ประธานคณะกรรมการกลางและรองประธานคณะกรรมการกลางไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการกลางที่มาประชุมเลือกกรรมการกลางคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมครั้งนั้น
 
มาตรา ๒๒ การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการกลางคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ประธานคณะกรรมการกลางหรือกรรมการกลางในขณะทำหน้าที่เป็นประธานอยู่ในที่ประชุมนั้น มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในฐานะกรรมการกลางด้วย และในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานคณะกรรมการกลางมีสิทธิออกเสียงชี้ขาดได้อีกหนึ่งเสียง
การประชุมคณะกรรมการกลางโดยปกติ เป็นการประชุมโดยเปิดเผย และเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าฟังได้ แต่บางกรณีถ้าประธานคณะกรรมการกลางเห็นว่าหัวข้อการประชุมเป็นเรื่องที่ไม่ควรเปิดเผย อาจปรึกษาหารือคณะกรรมการกลางเพื่อขอให้ดำเนินการประชุมลับก็ได้
 
มาตรา ๒๓ เมื่อมีปัญหาโต้เถียงเกี่ยวกับการประชุมซึ่งมิได้กำหนดไว้ในหมวดนี้ ให้ประธานคณะกรรมการกลางนำข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเสนอต่อนายอำเภอ คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้ใช้บังคับได้เฉพาะการประชุมคราวนั้น และให้นายอำเภอรายงานพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
 
มาตรา ๒๔ การประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการประชุมคณะกรรมการกลางโดยอนุโลม
 
หมวด ๕
รายได้
                  
 
มาตรา ๒๕ ให้กระทรวงมหาดไทยและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดสรรรายได้สำหรับการบริหารหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนหรือเงินส่งเสริมจากรัฐบาล
(๒) ภาษีบำรุงท้องที่ที่เก็บได้จากที่ดินในเขตหมู่บ้าน
(๓) เงินภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่างๆ ตามที่จะมีกฎหมายระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และคำสั่ง จัดสรรให้
(๔) เงินอุดหนุนจากราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
(๕) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๖) เงินรายได้ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรให้
(๗) รายได้อื่นๆ
การอุทิศเงินและทรัพย์สินตาม (๕) ต้องมอบแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดแจ้ง
การจัดสรรเงินภาษีบำรุงท้องที่ที่เก็บได้จากที่ดินในเขตหมู่บ้านตาม (๒) ระหว่างหมู่บ้าน ตำบล และจังหวัด ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดตามความจำเป็นของแต่ละหมู่บ้าน
 
มาตรา ๒๖ การใช้จ่ายเงินของหมู่บ้าน ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณและการคลังของหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ในระเบียบดังกล่าวให้กำหนดเรื่องการจัดทำแผนและโครงการไว้ด้วย
 
มาตรา ๒๗ โครงการใช้จ่ายเงินของหมู่บ้าน เมื่อนายอำเภออนุมัติแล้ว ให้นำเข้าข้อบัญญัติจังหวัดตามระเบียบและวิธีการงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
สภาจังหวัดจะเปลี่ยนแปลงโครงการใช้จ่ายเงินของหมู่บ้านมิได้
 
หมวด ๖
การควบคุม
                  
 
มาตรา ๒๘ ให้นายอำเภอเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกลางให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการและมีอำนาจสั่งให้ระงับการดำเนินการใดๆ ซึ่งเห็นว่าเป็นผลเสียหายแก่ท้องที่หรือราชการ แต่ถ้าคณะกรรมการกลางไม่เห็นด้วยอาจอุทธรณ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้วินิจฉัยชี้ขาดได้
 
มาตรา ๒๙ คณะกรรมการกลางหรือคณะกรรมการฝ่ายใดดำเนินการหรือมีพฤติการณ์ที่จะเป็นการเสียหายแก่ท้องที่หรือราชการ เมื่อได้ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นความจริง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งยุบคณะกรรมการกลางหรือคณะกรรมการฝ่ายนั้นได้
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุบคณะกรรมการกลางแล้ว ให้นายอำเภอดำเนินการเลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สั่งยุบ ระหว่างที่คณะกรรมการกลางถูกยุบ ให้นายอำเภอรับผิดชอบการปฏิบัติงานแทนคณะกรรมการกลาง
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุบคณะกรรมการฝ่ายใด ให้คณะกรรมการกลางเลือกประธานคณะกรรมการฝ่ายนั้นโดยมิชักช้า และให้ประธานคณะกรรมการฝ่ายดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้ามาร่วมบริหารงานตามมาตรา ๑๗
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส.โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยหมู่บ้านอาสาพัฒนาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติที่ไม่รัดกุมและเหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน สมควรยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และมีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
  


[url=javascript:history.back(1)]« Back
[/url]
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้