size="2">พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี
พ.ศ. ๒๕๔๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี พ.ศ. ๒๕๔๕” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี” หมายความว่า อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต สะสม และใช้อาวุธเคมี และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้ ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖“องค์การ” หมายความว่า องค์การห้ามอาวุธเคมีที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์(๑) ให้ยอมรับนับถือว่าองค์การเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย(๒) ให้องค์การ ผู้แทนของรัฐภาคีรวมทั้งผู้แทนสำรองและที่ปรึกษา ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งในคณะมนตรีบริหารรวมทั้งผู้แทนสำรองและที่ปรึกษา ผู้อำนวยการใหญ่ พนักงานขององค์การ พนักงานของสำนักงานเลขาธิการฝ่ายวิชาการ ผู้ตรวจ ผู้ช่วยการตรวจ สมาชิกของคณะผู้ตรวจและผู้สังเกตการณ์ รวมตลอดถึงที่พักอาศัยและสถานที่ของสำนักงานที่ครอบครองโดยคณะผู้ตรวจที่ดำเนินการตรวจตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี กระดาษเอกสารและหนังสือโต้ตอบรวมทั้งบันทึกของคณะผู้ตรวจ สารตัวอย่างและเครื่องมือที่ได้รับการรับรองที่สมาชิกของคณะผู้ตรวจนำมาตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต สะสม และใช้อาวุธเคมี และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้ ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้องค์การห้ามอาวุธเคมีเป็นผู้ดำเนินงานและปฏิบัติภารกิจอันเป็นหน้าที่ขององค์การให้เป็นไปตามอนุสัญญา และกำหนดพันธกรณีให้รัฐภาคีต้องกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่องค์การ เจ้าหน้าที่ขององค์การ ผู้สังเกตการณ์ เอกสาร สถานที่ รวมทั้งสารตัวอย่าง อุปกรณ์ และเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานและการปฏิบัติงานขององค์การในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้